ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

มนุษยนิยมในปรัชญามาร์กซ์

กำเนิดแนวคิดแบบมนุษยนิยมในปรัชญามาร์กซ์
มนุษย์ในฐานะที่เป็นสิ่งธรรมชาติ (man as a natural being)
มนุษย์ในฐานะที่เป็นมนุษย์ (man as a human being)
มนุษย์กับภาวะแปลกแยก (man and his alienation)
มนุษย์คอมมิวนิสต์ (the communist man)
บทสรุป
บรรณานุกรม

กำเนิดแนวคิดแบบมนุษยนิยมในปรัชญามาร์กซ์

พัฒนาการทางปรัชญาของมาร์กซ์ แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ วัยหนุ่ม (Young Marx) คือช่วงที่มาร์กซ์เขียนหนังสือ Economic & Philosophic Manuscripts of 1844 และ วัยสูงอายุ (Old Marx) ซึ่งถัดจากวัยหนุ่มอีกประมาณ 20 ปี อันเป็นช่วงที่เขียนหนังสือ Capital แนวคิดแบบมนุษยนิยมของมาร์กซ์ปรากฏอย่างชัดเจนในช่วงวัยหนุ่ม ส่วนในวัยสูงอายุแม้จุดยืนเกี่ยวกับมนุษยนิยมจะยังเหมือนเดิม แต่มาร์กซ์จะเน้นหนักไปในด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง (political economy) มากกว่า บทความนี้จะศึกษาแนวคิดแบบมนุษยนิยมของมาร์กซ์ในช่วงวัยหนุ่มตามที่ปรากฏในหนังสือ Economic & Philosophic Manuscripts of 1844 เป็นหลัก

ในปรัชญาตะวันตก มนุษยนิยมหมายถึงแนวความคิดที่ยึดเอามนุษย์เป็นศูนย์กลางในฐานะเป็นแหล่งความดีและการสร้างสรรค์ทั้งมวล ซึ่งตรงกันข้ามกับความเชื่อแบบเทวนิยม (Theism) และ สัมบูรณ์นิยม (Absolutism) ที่เชื่อว่ามนุษย์นั้นมีฐานะต่ำต้อยและต้องขึ้นกับอำนาจสูงสุดบางอย่าง เช่น พระเป็นเจ้า เป็นต้น แนวคิดนี้เริ่มแต่สมัยกรีกโบราณ เมื่อโปรทากอรัส (Protagoras / 490 – 410 B.C.) กล่าวว่า มนุษย์เป็นผู้รู้สิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเขาเอง และพัฒนาเรื่อยมาจนถึงยุคสว่างทางปัญญา (The Age of Enlightenment) ในคริสต์วรรษที่ 18 ที่เชื่อในอำนาจเหตุผลของมนุษย์ในการเข้าใจตัวเองและสิ่งต่าง ๆ ปรัชญามาร์กซ์ก็เช่นเดียวกัน “มีรากฐานมาจากประเพณีปรัชญามนุษยนิยมตะวันตก” (Fromm, 1983 : V)

อย่างไรก็ดี ปรัชญามาร์กซ์ไม่ได้เหมือนกับแนวคิดมนุษยนิยมในปรัชญาตะวันตกไปเสียทั้งหมด จะเหมือนก็ตรงที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลางทางปรัชญาเท่านั้น แต่ความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์แตกต่างกัน เช่น โปรทากอรัสและนักคิดสมัยยุคสว่างทางปัญญาจะสนใจมนุษย์ในประเด็นของญาณวิทยา ส่วนปรัชญามาร์กซ์มองมนุษย์เชิงประวัติศาสตร์ผ่านชีวิตทางการผลิตของสังคม มนุษย์เป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ ขณะเดียวกันก็ขึ้นอยู่กับประวัติศาสตร์ด้วย ประวัติศาสตร์จะเปิดเผยธรรมชาติของมนุษย์แต่ละยุค แม้แนวคิดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์นี้จะได้รับอิทธิพลจาก เฮเกล (1770 – 1831) แต่ปรัชญามาร์กซ์เห็นตรงกันข้ามกับเฮเกล โดยเห็นว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของวัตถุ ส่วนของเฮเกลเป็นเรื่องของจิตใจ กล่าวคือ ประวัติศาสตร์คือภาพสะท้อนความสมบูรณ์ในเหตุผลของมนุษย์ ข้อแตกต่างนี้ทำให้มาร์กซ์กล่าวว่า “เฮเกลเป็นคนเอาหัวยืนต่างเท้า ที่ถูกต้องใช้เท้ายืน หากต้องการจะเข้าใจสิ่งต่าง ๆ อย่างถูกต้อง” (Marx, 1977 : 29)

ฉะนั้น ในเมื่อปรัชญามาร์กซ์เกิดขึ้นในยุคทุนนิยม มนุษยนิยมในปรัชญามาร์กซ์ย่อมเป็นผลของยุคสมัยที่กำเนิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาของมนุษย์ที่ประสบความทุกข์ยากจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย