ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

มนุษย์กับการใช้เหตุผล

ความหมายและความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์
มนุษย์คือใคร: ทัศนะด้านศาสนา
มนุษย์ในทัศนะของศาสนาอินดู
มนุษย์ในทัศนะของศาสนาพุทธ
มนุษย์ในทัศนะของศาสนาคริสต์และอิสลาม
มนุษย์ในทัศนะของศาสนาขงจื้อ
มนุษย์คือใคร : ทัศนะด้านปรัชญา
มนุษย์คือใคร : ทัศนะด้านวิทยาศาสตร์
มนุษย์คือใคร : ทัศนะด้านสังคมศาสตร์
ความหมายของการใช้เหตุผล
สมองกับพัฒนาการการใช้เหตุผลของมนุษย์
สมองซีกซ้ายและสมองซีกขวา
ความเป็นมาและรูปแบบของการใช้เหตุผล
ความสำคัญและประโยชน์ของการใช้เหตุผล
การคิดและการใช้เหตุผลของตะวันตกและตะวันออก

มนุษย์คือใคร : ทัศนะด้านสังคมศาสตร์

การศึกษามนุษย์ในเชิงสังคมศาสตร์เป็นการศึกษาเกี่ยวกับสังคมและคุณค่า ดีชั่ว ที่มนุษย์ยึดถือ และเป็นการศึกษาในเชิงข้อเท็จจริงว่า เป็น “อะไร” “อย่างไร” เท่านั้น มิได้ประเมินค่าว่าอะไร “ควร” “ไม่ควร” ดังนั้นสังคมศาสตร์แม้จะศึกษา วัฒนธรรม ประเพณี ศาสนาก็มิได้ศึกษาในเชิงประเมินค่า แต่ศึกษาว่า สังคมใดยึดถือประเพณีหรือความเชื่ออะไร ปฏิบัติอย่างไร และอะไรเป็นสาเหตุ ที่ทำให้เกิดประเพณีหรือความเชื่อเช่นนั้น (สมภาร พรหมทา, 2543: 1-2) ในความเป็นจริงนักสังคมศาสตร์ก็คือนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิทยาศาสตร์ที่ยึดเอาสังคมมนุษย์เป็นหน่วยในการศึกษา ความรู้และความเข้าเกี่ยวกับมนุษย์ในทัศนะของนักสังคมศาสตร์สามารถสะท้อนให้เห็นถึงภาพรวมของมนุษย์ในระดับสังคมและวัฒนธรรมมากกว่าระดับปัจเจกชน

สังคมศาสตร์นั้นมีมโนทัศน์เกี่ยวกับมนุษย์ที่สำคัญอยู่ 3 อย่าง คือ
(1) มนุษย์เป็นสัตว์สังคม
(2) มนุษย์คือสัตว์เศรษฐกิจที่มุ่งแสวงหากำไรสูงสุด และ
(3) มนุษย์คือผู้มีชีวิตอยู่เพื่อค้นหาความหมายและคุณค่าของชีวิต

ซึ่งสามารถอธิบายได้ ดังนี้

  • มนุษย์เป็นสัตว์สังคม อริสโตเติล ถือว่าเป็นนักคิดคนแรกที่ให้คำนิยามเกี่ยวกับมนุษย์ในเชิงสังคมและการเมือง ที่มีธรรมชาติอยู่ร่วมกันในสังคมขนาดใหญ่ที่เรียกว่าเมือง หรือรัฐ (พระราชวรมุนี, 2544: 263) เพราะเขามองว่ามนุษย์ไม่อาจจะมีชีวิตอยู่ได้ตามลำพังเพราะนับตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิตมนุษย์ต่างก็มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการเป็นสมาชิกของสังคมและมีบทบาทหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งในสังคม และมนุษย์สามารถค้นพบจุดหมายปลายทางแห่งชีวิตได้ภายในรัฐเท่านั้น หากไม่มีรัฐ มนุษย์ก็ไม่ต่างอะไรกับสัตว์ป่า ดังที่อริสโตเติลกล่าวว่า “ผู้ไม่อาจอยู่ในสังคมหรือไม่ต้องการอยู่ในสังคม เพราะพึ่งตนเองได้นั้น ถ้าไม่เป็นสัตว์ก็ต้องเป็นเทพเจ้า” (Aristotle, Politics, 1253a, 1-2, อ้างใน พระราชวรมุนี, อ้างแล้ว) มรดกทางภูมิปัญญาจากอารยธรรมกรีกโบราณข้อนี้นับได้ว่ามีอิทธิพลอย่างมหาศาลต่อวิชาสังคมศาสตรืแทบทุกแขนงพัฒนาการของวิชาสังคมศาสตร์ส่วนใหญ่เริ่มด้วยการยึดเอาข้อสรุปเบื้องต้นนี้เป็นพื้นฐาน
  • มนุษย์คือสัตว์เศรษฐกิจที่มุ่งแสวงหาผลกำไรสูงสุดในทางเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ มนุษย์ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจและการเมืองที่ต้องเกี่ยวข้องและพึ่งพากิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเมืองอยู่ตลอดเวลา กิจกรรมพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ว่านี้ ได้แก่ การผลิต การบริโภคและการแลกเปลี่ยนหรือการกระจายผลผลิตในรูปแบบต่างๆ มนุษย์ในแง่นี้จึงเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเมือง เต็มไปด้วยการแก่งแย่งแข่งขันและต่อสู้ช่วงชิงเพื่อจัดสรรและเข้าถึงอำนาจในการจัดการทรัพยากรต่างๆ ในสังคม เช่น โภคทรัพย์และเกียรติยศชื่อเสียงในรูปแบบต่างๆ

    นักทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ได้นำเสนอแนวคิดที่สำคัญในการอธิบายธรรมชาติของมนุษย์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและการเมือง สำนักคิดที่สำคัญได้แก่ เสรีนิยม (Liberalism) กับสังคมนิยม (socialism) นักทฤษฎีในสำนักเสรีนิยมและสังคมนิยมมีความคิดเกี่ยวกับธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์ตรงกัน เช่น มนุษย์มีจิตที่ว่างเปล่ามาแต่กำเนิด จริยธรรม ความรู้และประสบการณ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและเรียนรู้ภายหลัง ทุกคนมีสิทธิตามธรรมชาติหรือสิทธิในชีวิต อิสรภาพและทรัพย์สิน แต่เมื่อมาอยู่รวมกันเป็นกลุ่มมนุษย์ต้องสละสิทธิตามธรรมชาติบางอย่างแล้วมอบอำนาจให้กับรัฐเป็นผู้จัดการ ธรรมชาติของมนุษย์นั้นรักตัวเอง เห็นแก่ตัว ต้องการที่จะแสวงหาความสุขส่วนตัว อย่างไรก็ตามทั้งสองสำนักมีความแตกต่างกันอย่างมากในการนำเสนอวิธีการที่จะจัดการระบบระเบียบต่างๆ ในทางเศรษฐกิจและการเมือง

  • มนุษย์คือผู้มีชีวิตอยู่เพื่อค้นหาความหมายและคุณค่าของชีวิต  นักสังคมศาสตร์จำนวนหนึ่งได้พยายามที่จะนำเสนอว่า มนุษย์คือผู้มีชีวิตอยู่เพื่อค้นหาความหมายและคุณค่าของชีวิต นักสังคมศาสตร์ในกลุ่มนี้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการกระทำเชิงสัญลักษณ์และความหมายต่างๆ ที่เกิดจากการตีความและพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ นักสังคมวิทยา เช่น แมกซ์ เวเบอร์ (Max Weber) และจอร์จ เฮอร์เบิร์ต มีด (George H. Head) และนักมานุษยวิทยา เช่น ฟรานซ์ โบแอช (Franz Boas) มากาเร็ต มีด (Magaret Mead) และคลิฟฟอร์ด เกียรซ์ (Clifford geertz) ต่างก็ให้ความสำคัญในการอธิบายธรรมชาติของมนุษย์ในฐานะที่เป็นมนุษย์ผู้มีชีวิตอยู่ได้ด้วยความหมายและความเข้าใจที่มีต่อตัวเอง สังคมรอบข้างและต่อสภาพแวดล้อม มนุษย์ไม่เพียงแต่เป็นสัตว์สังคมที่มีเหตุผล ไม่เพียงแต่เป็นสัตว์เศรษฐกิจและการเมือง หากพวกเขาคือนักปราชญ์ผู้ไม่อาจจะดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยปราศจากการทำความเข้าใจความหมายของชีวิตและระบบสังคมวัฒนธรรมของตน มนุษย์ในแง่นี้จึงเป็นเสมือนผู้สร้างภาพลักษณ์ของตัวเองและนิยามตัวเองอยู่ตลอดเวลา

จากการศึกษาองค์ความรู้จากศาสตร์ด้านต่างๆ เกี่ยวกับมนุษย์ จะเห็นว่ามีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์ที่หลากหลายและแตกต่างออกไปตามบริบทของแต่ละศาสตร์ เราได้เห็นมนุษย์ในทัศนะของศาสนาบางศาสนามีชีวิตขึ้นอยู่กับอำนาจเหนือธรรมชาติหรือพระเจ้า แต่บางศาสนานั้นเน้นไปที่การกระทำเป็นตัวตัดสินตัวเอง ด้านปรัชญาก็เน้นไปที่ทัศนะสองขั้ว คือ มนุษย์ในทัศนะของสสารนิยมและจิตนิยม ทั้งสองสำนักต่างให้คำนิยามและชี้ให้เห็นความหมายของมนุษย์ที่แตกต่างออกไป และทัศนะทั้งสองก็มีความคิดที่ตรงกันข้ามกับศาสนาและความเชื่ออย่างสิ้นเชิง ถือว่าเป็นมุมมองเกี่ยวกับมนุษย์ที่ขัดแย้งกันอย่างเปิดเผยในโลกของความเชื่อและวิชาการ จากมุมมองตรงนี้ทำให้เกิดอิทธิพลต่อการแสวงหาความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ขึ้น โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ และส่วนใหญ่ก็ให้ความสำคัญกับมนุษย์ในฐานะที่เป้นสิ่งมีชีวิตที่มีความสลับซับซ้อนทั้งในทางร่างกายและสังคม ส่วนนักสังคมศาสตร์ก็ให้มุมมองเกี่ยวกับมนุษย์ในฐานะที่เป็นสัตว์สังคม เป็นผู้ที่มีความเกี่ยวพันธ์กับการดำรงชีวิตเชิงเศรษฐกิจและการเมือง และมนุษย์ในฐานะดังกล่าวก็พยายามค้นหาความหมายของชีวิตและคุณค่าทางจริยธรรม เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินชีวิตของตนเอง

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย