ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

มนุษย์กับการใช้เหตุผล

ความหมายและความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์
มนุษย์คือใคร: ทัศนะด้านศาสนา
มนุษย์ในทัศนะของศาสนาอินดู
มนุษย์ในทัศนะของศาสนาพุทธ
มนุษย์ในทัศนะของศาสนาคริสต์และอิสลาม
มนุษย์ในทัศนะของศาสนาขงจื้อ
มนุษย์คือใคร : ทัศนะด้านปรัชญา
มนุษย์คือใคร : ทัศนะด้านวิทยาศาสตร์
มนุษย์คือใคร : ทัศนะด้านสังคมศาสตร์
ความหมายของการใช้เหตุผล
สมองกับพัฒนาการการใช้เหตุผลของมนุษย์
สมองซีกซ้ายและสมองซีกขวา
ความเป็นมาและรูปแบบของการใช้เหตุผล
ความสำคัญและประโยชน์ของการใช้เหตุผล
การคิดและการใช้เหตุผลของตะวันตกและตะวันออก

ความเป็นมาและรูปแบบของการใช้เหตุผล

การรู้การใช้เหตุผลอย่างเป็นรูปแบบของมนุษยชาติมีความเป็นมาที่ยาวนานทั้งตะวันออกและตะวันตก

โดยเฉพาะรูปแบบการใช้เหตุผลของชาวกรีกโบราณ อริสโตเติลถือว่าเป็นนักปราชญ์ ท่านหนึ่งที่เสนอแนวคิดที่ว่า “มนุษย์ คือสัตว์ที่มีเหตุผล” (Man is rational animal.) การรู้จักการใช้เหตุผลทำให้มนุษย์สามารถเรียนรู้และพัฒนาสูงกว่าสัตว์ชนิดใดในโลก หลักการการใช้เหตุผลที่อริสโตเติลนำมาใช้เรียกว่า “การอ้างเหตุผลแบบ นิรนัย” (Deductive Reasoning) รูปแบบการใช้เหตุผลของอริสโตเติลมีอิทธิพลแผ่คลุมโลกตะวันตกในสมัยนั้นและต่ามาถึงสมัยกลางและสมัยใหม่เมื่อประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งนับว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน (ดูวิธีการใช้เหตุผลแบบเหตุผลนิยมประกอบ)

แต่ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 นักปราชญ์ชาวอังกฤษชื่อ ฟรานซิส เบคอน สังเกตเห็นว่านักปราชญ์ตั้งแต่ต้นจนถึงสมัยของท่าน ยังไม่สามารถตกลงปัญหาอะไรกันได้เลยแม้แต่ปัญหาเดียว เบคอนมีความเห็นว่า ถ้าเรามีวิธีการค้นหาความจริงที่ถูกวิธี เราจะได้ความจริงตรงกัน ไม่ว่าความจริงในด้านใด เบคอนจึงได้เสนอวิธีการใช้เหตุผลแบบอุปนัย (Inductive Reasoning) หรือวิธีการแบบวิทยาศาสตร์ (สถิต วงศ์สวรรค์, 2543: 60) เพราะเขามองเห็นว่าแบบนิรนัยนั้นเป็นการอ้างเหตุผลที่วกวนเหมือนกับพายเรือในอ่างไม่สามารถให้ความรู้อะไรใหม่ จึงไม่มีประโยชน์ ความรู้ที่แท้จริงของมนุษย์น่าจะได้มาจากการใช้เหตุผลแบบอุปนัยมากกว่า ต่อมาการอ้างเหตุผลแบบอุปนัยของเบคอนได้รับการจัดให้สมบูรณ์ขึ้นโดย จอห์น สจวต มิลล์ (John Stuart Mill) ทำให้อุปนัยที่มีชื่อเรียกว่า วิธีการของมิลล์ เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน (ดูวิธีการใช้เหตุผลแบบประโยชน์นิยมประกอบ)



ดังนั้น รูปแบบการใช้เหตุผลใหญ่ๆ นิยมใช้กันอยู่ 2 ประเภท คือ แบบนิรนัย และอุปนัย การใช้เหตุผลที่ดีหรือสมบูรณ์แบบจึงมีเงื่อนไข 2 ข้อ (ปรีชา ช้างขวัญยืน, 2543: 19-20) คือ ข้ออ้างจริง และมีความถูกต้องแบบนิรนัยหรืออุปนัยอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเราคำนึงถึงว่า เราอ้างเหตุผลเพื่อหาความจริง ก็จะมีวิธีการให้คำนิยามความถูกต้องแบบนิรนัยและอุปนัยอีกอย่างหนึ่ง คือ

  1. การอ้างเหตุผลที่ถูกต้องแบบนิรนัย คือการอ้างเหตุผลที่ถ้าข้ออ้างจริง เป็นไปไม่ได้ที่ข้อสรุปจะเป็นเท็จ
  2. การอ้างเหตุผลที่ถูกต้องแบบอุปนัย คือการอ้างเหตุผลที่ถ้าข้ออ้างจริง มีความน่าจะเป็นสูงที่ข้อสรุปจะจริง

ให้สังเกตคำว่า “ถ้า” เพราะเป็นคำสำคัญ การที่มีคำนี้อยู่ไม่ได้หมายความว่าการอ้างเหตุผลที่ถูกต้องจะต้องมีข้ออ้างที่จริง แต่หมายความว่าการอ้างเหตุผลที่ถุกต้องไม่จำเป็นต้องมีข้ออ้างที่จริง แต่ถ้าข้ออ้างจริง การอ้างที่ถูกต้องจะนำเราไปสู่ความจริง กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ เรื่องข้ออ้างจริง กับเรื่องการอ้างเหตุผลอย่างถูกต้องเป็นคนละเรื่องกัน ความจริงเป็นคุณสมบัติของข้อความ ส่วนการอ้างเหตุผลถูกต้องเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างข้อความ ดังนั้น การอ้างเหตุผลหนึ่งอาจจะมีข้ออ้างเท็จทั้งหมด แต่อ้างไปสู่ข้อสรุปได้ถูกต้อง เช่น “คนทุกคนมีปีก และอะไรที่มีปีกบินได้ทั้งนั้น ดังนั้น คนทุกคนบินได้” และการอ้างเหตุผลหนึ่งอาจจะมีข้ออ้างจริงทั้งหมด แต่อ้างไปสู่ข้อสรุปได้ไม่ถูกต้อง เช่น “ค้างคาวทุกตัวบินได้และนกแทบทุชนิดบินได้ ดังนั้น ค้างคาวทุกตัวเป็นนก”

ในกรณีของการอ้างเหตุผลที่มีความถูกต้องแบบนิรนัย เหตุผลที่ถ้าข้ออ้างจริงทั้งหมดแล้วข้อสรุปจะเป็นเท็จไม่ได้นั้น เป็นเพราะข้อสรุปมิได้ให้เนื้อหาหรือความรู้อะไรใหม่ไปกว่าเนื้อหาในข้ออ้าง เป็นแต่เพียงการดึงเอาสิ่งที่แฝงอยู่ในข้ออ้างออกมาให้ปรากฏชัดเท่านั้น เช่น “นิสิต มมส. ทุกคนฉลาด พรทิพย์เป็นนิสิต มมส. ดังนั้น พรทิพย์ฉลาด”

จากตัวอย่างข้างบน จะเห็นว่า ประโยคที่เป็นข้ออ้างทั้งสองประโยคไม่ได้บอกว่าพรทิพย์ฉลาด แต่ข้อความนี้ก็แฝงอยู่ในข้ออ้างในแง่ที่ว่า ในเมื่อพรทิพย์เป็นนิสิต มมส. คนหนึ่ง ก็ย่อมมีลักษณะตามที่ข้ออ้างแรกกล่าวคือมีความลาดด้วย องค์ประกอบที่เป็นเนื้อหาในข้อสรุปมีอยู่แล้วในข้ออ้าง แต่อาจจะมิได้มาโยงกันตามในข้อสรุป ข้อสรุปเพียงแต่เอาองค์ประกอบที่มีอยู่แล้วมาเชื่อมโยงกัน มองในแง่นั้นข้อสรุปของการอ้างเหตุผลที่มีความถูกต้องแบบนิรนัยมิได้ให้ความรู้ใหม่แต่อย่างใด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการอ้างเหตุผลเช่นนี้ไม่มีคุณค่า บ่อยครั้งที่เรามีข้ออ้างที่ซับซ้อนมีข้อมูลที่มีคุณค่าแฝงอยู่ จำเป็นที่จะต้องดึงออกมาให้เห็นชัด ในกรณีเช่นนี้การใช้การอ้างเหตุผลที่มีความถูกต้องแบบนิรนัยเป็นสิ่งจำเป็น ตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือ คณิตศาสตร์ การอ้างเหตุผลในวิชานี้เป็นการอ้างเหตุผลที่มีความถูกต้องแบบนิรนัย ข้อสรุปที่ได้ในทางเลขคณิตและเรขาคณิตแม้จะไม่ให้ความรู้ใหม่นอกเหนือจากที่มีในข้ออ้าง แต่ก็เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับมนุษย์ (ปรีชา ช้างขวัญยืน, 2543: 20-21)

ในทางตรงกันข้าม การอ้างเหตุผลที่มีความถูกต้องแบบอุปนัยให้ความรู้ใหม่เพิ่มเติมจากที่มีอยู่ในข้ออ้างและถือว่าการอ้างเหตุผลประเภทนี้เป็นการสรุปความจริงทั่วไปหรือความจริงสากล (Truth) จากความจริงเฉพาะ (Fact) ที่ได้จากประสบการณ์ ความจริงเฉพาะ หมายถึง ความจริงของสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือปรากกฎการณ์ใดปรากฎการณ์หนึ่งโดยเฉพาะ ส่วนความจริงสากลนั้น หมายถึง ความจริงของสิ่งทุกสิ่งหรือปรากฎการณ์ทุกอย่างที่อยู่ในประเภทเดียวกัน เช่น เราทานส้มลูกหรือสองลูก ( อาจจะเป็นโชกุน บางมดหรืออะไรก็ได้) ที่อยู่ในประเภทเดียวกัน แล้วเราก็สรุปว่า ส้มประเภทนี้ มีรสหวานเหมือนกันทั้งหมด ซึ่งความเป็นจริงเราไม่ได้ทานหรือซิมส้มทั้งหมดในร้าน หรือในสวน จากการทานเพียงแค่ลูกหรือสองลูกเท่านั้น การสรุปแบบนี้ถือวาเป็นการสรุปแบบอุปนัย ซึ่งเป็นการสรุปจากหน่วยย่อย (part) คือส้มเพียงบางลูก ไปหาส่วนรวม (whole)คือส้มทุกลูก การสรุปในลักษณะนี้เป็นการกระโดดจากบางส่วนไปหาทุกส่วน หรือเป็นการเอาลักษณะร่วมที่รู้จากส่วนย่อยมายกให้เป็นลักษณะของส่วนรวมทั้งหมดในประเภทเดียวกันการอ้างเหตุผลเช่นนี้มีมากในวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ เช่นในการทำโพล เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าการอ้างเหตุผลทั้งสองแบบมีทั้งข้อดีและข้อเสียต่างกัน และมีความเหมาะสมสำหรับจุดประสงค์ที่ต่างกัน การเลือกใช้ระหว่างสองแบบนี้จึงขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้ใช้ เราจะกล่าวว่าโดยทั่วไปแล้ว ชนิดหนึ่งมีประสิทธิภาพเหนือกว่าอีกชนิดหนึ่งไม่ได้ เพราะบางสาขาวิชา เช่น ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เป็นต้น นำการอ้างเหตุผลทั้งสองแบบมาใช้ควบคู่กัน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย