ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

มนุษย์กับการใช้เหตุผล

ความหมายและความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์
มนุษย์คือใคร: ทัศนะด้านศาสนา
มนุษย์ในทัศนะของศาสนาอินดู
มนุษย์ในทัศนะของศาสนาพุทธ
มนุษย์ในทัศนะของศาสนาคริสต์และอิสลาม
มนุษย์ในทัศนะของศาสนาขงจื้อ
มนุษย์คือใคร : ทัศนะด้านปรัชญา
มนุษย์คือใคร : ทัศนะด้านวิทยาศาสตร์
มนุษย์คือใคร : ทัศนะด้านสังคมศาสตร์
ความหมายของการใช้เหตุผล
สมองกับพัฒนาการการใช้เหตุผลของมนุษย์
สมองซีกซ้ายและสมองซีกขวา
ความเป็นมาและรูปแบบของการใช้เหตุผล
ความสำคัญและประโยชน์ของการใช้เหตุผล
การคิดและการใช้เหตุผลของตะวันตกและตะวันออก

การคิดและการใช้เหตุผลของตะวันตกและตะวันออก

ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเป็นที่ยอมรับกันว่า ความรู้ของมนุษย์นั้นมีสองลักษณะ คือ ความรู้ที่เกิดจากการคิดในแนวเหตุผล และความรู้ที่ผุดขึ้นในใจหรือญาณทัศน์ (rational and intuitive)ซึ่งเทียบได้กับวิทยาศาสตร์และศาสนาตามลำดับ ในตะวันตกความรู้ชนิดหลังถูกถือว่าด้อยกว่าความรู้ในเชิงเหตุผลและเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ในตะวันออกทัศนคติเกี่ยวกับความรู้นี้กลับตรงกันข้าม ความคิดของปราชญ์จากสองฝั่ง คือ ตะวันตกและตะวันออก ซึ่งแสดงออกในประโยคต่อไปนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีของวิธีคิดที่เป็นที่มาของความรู้ โสเครติสของกรีก กล่าวประโยคซึ่งมีชื่อเสียงว่า “ข้าพเจ้ารู้ว่า ข้าพเจ้าไม่รู้อะไร” และเหลาจื้อของจีนกล่าววา “การไม่รู้ว่าตนรู้อะไร เป็นการดีที่สุด” ในตะวันออกคุณค่าของความรู้ทั้งสองประการปรากฏชัดเจนในชื่อที่เรีกยว ตัวอย่างเช่น ในคัมภีร์อุปนิษัทกล่าวถึงความรู้อย่างสูงและความรู้อย่างต่ำ และอธิบายว่า ความรู้อย่างต่ำคือความรู้ในวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ ความรู้อย่างสูงคือความรู้ในทางศาสนา ชาวพุทธกล่าวถึงความรู้สัมพัทธ์และความรู้สัมบูรณ์ หรือ “สมมติสัจจะ” และ “ปรมัตถสัจจะ” ในทางตรงกันข้ามปรัชญาจีนกลับสอนว่าความรู้ทั้งสองประการนั้นสนับสนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งแสดงออกในคู่หยินและหยางอันเป็นพื้นฐานของความคิดจีน (ฟริตจ๊อฟ คาปร้า, 3530: 31)

ในโลกตะวันตก (กรีกโบราณ) นักปราชญ์ 3 คน คือ โสเครติส เพลโต และอริสโตเติล ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของการคิดแบบตะวันตก ทั้งสามท่านใส่ใจกับเรื่องกฎระเบียบแบบแผน กฎเกณฑ์ ความเป็นจริง ความสมบูรณ์ และหลักการที่จะทำให้เราสามารถทำการตัดสินอย่างมีสติได้และสิ่งเหล่านี้ก็ได้ถูกปลูกฝังยัดเยียดลงไปในการคิดและบรรดานักคิดรุ่นต่อๆ มาก็ยึดติดกับกฎระเบียบแบบแผนนั้นก่อให้เกิดความคิดแห่งอารยธรรมตะวันตก เอดเวิร์ด เดอ โบโน (2548: 18,21) กล่าวว่า วิธีการ(คิด)ของโสเครตีส ก็คือ วิธีการที่ปรากฏในงานเขียนของเพลโตที่ว่า “เรากำลังแสวงหาความจริงอะไร? และจะรู้ได้อย่างไรว่าเราพบความจริงนั้นแล้ว? ทำไมเราจึงเชื่อว่ามีความจริงอยู่” คำว่า “วิธีการของโสเครติส” ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ หมายถึง “การแสวงหาความจริง โดยการตั้งคำถามอย่างไม่สิ้นสุด” แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรากำลังแสวงหาความจริงอะไร? จะรู้ได้อย่างไรว่าเราพบความจริงนั้นแล้ว และทำไม่เราจึงเชื่อว่ามีความจริงอยู่? เราต้องคำถามแบบไหนท เราจะตัดสินและใช้คำตอบที่ได้อย่างไร? หลังจากได้คำตอบแล้ว เราจะดำเนินการต่อไปอย่างไรเพื่อไปสู่ความจริงนั้น เราจะต้องพิจารณาว่าอะไรจริง และอะไรไม่จริง ต้องตัดสินและโต้แย้ง ต้องกำหนดนิยาม สร้างกรอบ และสรุปรวบยอด ซึ่งทั้งหมดนี้ คือระบบการคิดของตะวันตกแบบดั้งเดิม

เอดเวิร์ด เดอ โบโน ได้กล่าวถึงลักษณะของวิธีคิดแบบดั้งเดิมในการเขียนหนังสือชื่อว่า คิดแนวขนาน (Parallel Thinking) ไว้อย่างน่าสนใจว่า การคิดแบบดั้งเดิมเป็นการค้นหาและค้นพบ การคิดแบบดั้งเดิม ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการตัดสินอย่างเด็ดขาดแบบทันทีทันใด (ใช่/ไม่ใช่, ถูก/ผิด, จริง/เท็จ) การคิดแบบดั้งเดิมจะเกี่ยวข้องกับตรรกะ การคิดแบบดั้งเดิมใช้กล่องการตัดสินที่เฉียบขาด ใช้นิยามและการแบ่งประเภท การคิดแบบดั้งเดิมจะสร้างขั้วที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนและความขัดแย้ง เพื่อให้เกิดการเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และการคิดแบบดั้งเดิมใช้การโต้แย้งเชิงปรปักษ์ และการหักล้างเพื่อสำรวจหัวข้อที่อยู่ในการพิจารณา (2548: 5)

อิทธิพลของแนวคิดแบบแยกส่วน หรือเชิงปรปักษ์ของกรีกโบราณ โดยเฉพาะวิธีคิดและแนวคิดของอริสโตเติล มีอิทธิพลต่อสังคมตะวันตกกว่า 2000 ปี แต่พอมาถึงยุคต่อมา (ยุคสมัยใหม่) ก็มีนักคิดตะวันตกหลายท่านที่มีความคิดว่า วิธีคิดแบบอริสโตเติบนั้น (หมายถึงวิธีคิดแบบนิรนัย) อาจจะไม่เพียงพอต่อการตอบคำถามที่เกิดขึ้นในสมัยต่อมา ซึ่งสอดคล้องกับคำพูดของเอดเวิร์ด เดอ โบโนที่ว่า “เป็นไปได้ไหมที่วิธีคิดที่ไม่ดีพอ คืออุปสรรคในการทำให้สิ่งต่างๆ ถูกต้องเหมาะสม” โดยเขาได้ตั้งข้อสังเกตเชิงคำถามว่า

  1. เป็นไปได้ไหมที่ปัญหาความยุ่งยากบางอย่างของพวกเรานั้นจริงๆ แล้วมีสาเหตุมาจากนิสัยการคิดที่ไม่ดีพอ?
  2. เป็นไปได้ไหมที่อุปสรรคในการทำให้สิ่งต่างๆ ดำเนินไปอย่างถูกต้องเหมาะสมนั้นเกิดจากวิธีคิดที่ไม่ดีพอ?
  3. เป็นไปได้ไหมว่าการคิดที่ดีขึ้นจะทำให้สิ่งต่างๆ ดีขึ้น? ((2548: 12-13)

นักคิดตะวันตกสมัยใหม่ (ศตวรรษที่ 16-19) หลายท่าน โดยเฉพาะฟราสซิส เบคอน (Francis Bacon 1561-1626) จึงได้เสนอวิธีคิดแบบใหม่ขึ้นมานั้น คือ วิธีแบบอุปนัย (ดูรายละเอียดข้างบน) วิธีคิดแบบนี้ก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เป็นอย่างมาก และมีอิทธิพลต่อสังคมตะวันตกจนกระทั้งปัจจุบัน ซึ่งในช่วงระยะเวลาสมัยใหม่และสมัยปัจจุบัน (ศตวรรษที่ 20-ปัจจุบัน) นี้ได้เกิดแนวคิดในการให้ความรู้และเสนอเหตุผลขึ้นมากมาย เช่น แนวคิดแบบเหตุผลนิยม แนวคิดแบบปฏิบัตินิยมหรือประจักษ์นิยม แนวคิดแบบธรรมชาตินิยม ทวินิยม และประโยชน์นิยม เป็นต้น แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า วิธีคิดของแนวคิดเหล่านี้ยังเน้นไปที่การมองสรรพสิ่ง เช่น มนุษย์ เผ่าพันธุ์ สิ่งแวดล้อม เป็นต้นแบบแยกส่วนเหมือนเดิม ซึ่งไม่ต่างอะไรกับวิธีคิดของนักคิดกรีกโบราณมากนัก

ถ้าพิจารณาจากภูมิปัญญาในทางตะวันออก ทัศนะการมองเชิงแบ่งแยกนี้ถูกตั้งข้อสังเกตโดยนักคิดสมัยปัจจุบันหลายท่าน เช่น ฟริตจ๊อฟ คาปร้า (2530: 26-27, 32-33) ที่กล่าวว่า การแบ่งแยกภายในตัวมนุษย์นี้สะท้อนภาพทัศนะต่อโลก “ภายนอก” ซึ่งถือว่าเป็นการรวมของวัตถุและเหตุการณ์ต่างๆ ที่แยกจากกันได้ สภาพแวดล้อมธรรมชาติถูกกระทำเหมือนมีส่วนประกอบที่แยกจากกันได้หลายๆ ส่วนและถูกตักตวงใช้และทำลายลงโดยกลุ่มผลประโยชน์หลายๆ กลุ่ม ทัศนะแห่งการแบ่งแยกนี้ได้แผ่ขยายไปในสังคม มีการแบ่งแยกเป็นชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนา และกลุ่มการเมืองต่างๆ ความเชื่อว่าส่วนย่อยต่างๆ เหล่านี้ ภายในตัวเรา ในสภาพแวดล้อม และสังคม แยกจากกันอย่างแท้จริง เป็นสาเหตุสำคัญของวิกฤติการณ์ในทางสังคม ทางนิเวศวิทยา และทางวัฒนธรรมในปัจจุบัน ทำให้เราห่างเหินจากธรรมชาติและจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ทำให้เกิดการแบ่งสันทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้เกิดความยุ่งยากในทางเศรษฐกิจและการเมือง ความรุนแรงขยายตัวขึ้น ทั้งที่เป็นไปเองและจากสถาบันต่างๆ สภาพแวดล้อมเป็นพิษและน่ารังเกียจ ส่งผลให้ชีวิตในทางร่างกายและจิตใจเสื่อมทรามลง



การเน้นที่วิธีการทางวิทยาศาสตร์และการคิดวิเคราะห์แบบเหตุผลมากเกินไป ได้นำไปสู่ทัศนะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อนิเวศวิทยาอย่างลึกชึ้ง ความจริงแล้วจิตสำนึกแบบเหตุผลเป็นอุปสรรคต่อการทำความเข้าใจระบบนิเวศวิทยา เพราะการคิดแบบนี้มีลักษณะเป็นเส้นตรง ตัวอย่าง กิจการที่เป็นลำดับเส้นตรง เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีอย่างไม่มีที่สินสุดนั้นเอง

วิธีคิดและแนวคิดของกรีกก่อให้เกิดวัฒนธรรมและอารยธรรมตะวันตก แต่อารยธรรมแบบตะวันตก โดยเฉพาะอารยธรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เน้นวัตถุมากจนเกินไป ก่อให้เกิดความรุนแรงในหลายๆ ด้าน ในการเขียนคำนำหนังสื่อ “พุทธศาสนาไทยในอนาคต แนวโน้มและทางออกจากวิกฤต” ประเวศ วะสี (2546: (1),) กล่าวว่า อารยธรรมตะวันตกเป็นอารยธรรมวัตถุนิยม(และ)บริโภคนิยม ที่มีเงินเป็นสัญลักษณ์ …..ก่อให้เกิดการทำลายความเป็นมนุษย์อย่างรุนแรง ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำลายการอยู่ร่วมกันหรือสังสัง ทำลายวัฒนธรรม ทำลายมิติทางศาสนธรรม”

คาโรลิน เมอร์ช้านท์(Merchant, 1980: xvii) นักประวัติศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียกล่าวไว้ว่า “ในการสำรวจเข้าไปถึงรากของปัญหาสภาพแวดล้อมของเราในปัจจุบัน และความเกี่ยวพันของปัญหานี้กับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและเศรษฐกิจแล้ว ทำให้เราจำต้องหันมาตรวจสอบการก่อกำเนิดโลกทัศน์และวิทยาศาสตร์แบบหนึ่ง ที่สนับสนุนการกดขี่ครอบงำธรรมชาติและผู้หญิง ทัศนะดังกล่าวมองความเป็นจริงเป้นเครื่องจักรแทนที่จะเห็นคุณูปการแก่การวางรากฐานของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่อย่างฟรานซิส เบคอน วิลเลียม อาร์วีย์ เรอเน เดส์คาตส์ ทอมัส ฮอบส์และไอแซก นิวตันต่างตวรจะได้รับการะประเมินค่าใหม่ด้วย”

อีกอย่างคือ ทัศนะที่เห็นว่ามนุษย์ควรเป็นนายเหนือธรรมชาติ และเหนือผู้หญิงกับความเชื่อในบทบาทเด่นของสำนึกทางเหตุผลนี้ ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมโดยขนบประเพณียิว-คริสเตียนด้วย เพราะถือกันว่าพระเป็นเจ้าเป็นเพศชาย ซึ่งเป็นตัวแทนของเหตุผลสูงสุดและเป็นแหล่งกำเนิดอำนาจสูงสุด พระองค์ทรง ปกครองโลกด้วยการออกกฎศักดิ์สิทธิ์จากเบื้องบน กฎธรรมชาติที่นักวิทยาศาสตร์แวงหานั้น ถือกันว่า สะท้อนออกจากกฎศักดิ์สิทธิ์นี้ โดยมีแหล่งกำเนิดดั้งเดิมที่จิตใจของพระผู้เป็นเจ้า

จากมุมมองข้างต้นฟริตจ๊อฟ คาปร้า ให้ทัศนะเชิงเปรียบเทียบกับวิธีคิดแบบตะวันออกว่า โลกทัศน์ของตะวันออกเป็นแบบ “องค์รวม” (Organic) ในสายตาของปราชญ์ชาวตะวันออก สรรพสิ่งและเหตุการณ์ทั้งมวลซึ่งรับรู้ได้ทางประสาทสัมผัสต่างเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน และเป็นเพียงการแสดงออกในหลายแง่มุมของสัจธรรมอันเดียวกัน ในทัศนะของตะวันออก การแบ่งแยกธรรมชาติออกเป็นวัตถุต่างๆ กันมิใช่สิ่งพื้นฐาน และสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็อยู่ในสภาพแห่งการเปลี่ยนแปลงเลื่อนไหลตลอดเวลา ดังนั้นโลกทัศน์ของตะวันออกโดยเนื้อหาจึงเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับการเคลื่อนไหว มีเวลาและการเปลี่ยนแปลงเป็นลักษณะสำคัญ เอกภพเป็นความจริงหนึ่งเดียวซึ่งไม่อาจแบ่งแยก เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา มีชีวิต เป็นองค์รวม เป็นทั้งจิตใจและวัตถุในเวลาเดียวกัน (2530: 28)

นักปราชญ์จีนมองว่า สรรพสิ่งมีพลังขับเคลื่อนภายในตัวเองพลังขับเคลื่อนนี้ “เต๋า” ลักษณะหลักของเต๋าก็คือธรรมชาติการเคลื่อนไหวเป็นวัฏจักรอย่างไม่หยุดยั้ง พัฒนาการทั้งหมดในธรรมชาติแสดงออกในรูปของวัฏจักรอย่างไม่หยุดยั้ง พัฒนาการทั้งหมดในธรรมชาติแสดงออกในรูปวัฎจักรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโลกที่เป็นวัตถุหรือในอาณาจักรของจิตใจและสังคม ชาวจีนให้หาโครงสร้างที่แน่นอนให้แก่คติเรื่องวัฏจักรนี้ โดยเสนอความคิดเรื่องคู่ตรงข้าม “หยิน-หยาง” มาจำกัดขอบเขตวัฏจักรแห่งการเปลี่ยนแปลง “เมื่อหยางขึ้นถึงจุดสูงสุดก็จะเปิดทางให้แก่หยิน เมื่อหยินขึ้นถึงจุดสูงสุดก็จะเปิดทางให้แก่หยาง” (Wang Ch’ung, 1975: 106, อ้างในฟริตจ๊อฟ คาปร้า, 2546: 24)

ในทัศนะแบบจีน ปรากฏการณ์ทั้งหมดของเต๋าเกิดจากความสัมพันธ์แบบพลวัตของคู่ตรงข้ามทั้งสองนี้ โดยจะใช้ภาพพจน์ของสิ่งตรงกันข้ามจากธรรมชาติ และจากชีวิตสังคมหลายอย่างมาอธิบาย ประเด็นสำคัญและยากแก่การเข้าใจสำหรับชาวตะวันตกก็คือคู่ตรงข้ามนี้มิใช่ของสองสิ่ง แต่เป็นสองขั้วสุดของสิ่งเดียวกัน ไม่มีอะไรที่เป็นเพียงหยินหรือเป็นเพียงหยาง ปรากฏการณ์ทางะรรมชาติทั้งหมดเป็นการแสดงออกของการเคลื่อนไหมาของสิ่งต่างๆ ระหว่างขั้วทั้งสองนี้ การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดเกิดขึ้นอย่างช้าๆ และต่อเนื่องไม่ขาดสาย ระเบียบตามธรรมชาติก็คือภาวะสมดุลที่เป้นพลวัตระหว่างหยินกับหยาง

ในมุมมองอีกส่วนหนึ่งก็คือ วิธีคิดแบบพุทธ ซึ่งโดยธรรมชาติของหลักคำสอน ปฏิเสธการมองแบบแยกส่วน และให้ความสำคัญของเหตุและผลแบบเชื่อมโยง โดยได้เสนอหลักการที่สำคัญซึ่งใช้ประกอบในการพิจารณาเหตุการณ์ ปรากฏการณ์ หรือแม้แต่การรับข้อมูลข่าวสารในปัจจุบัน เช่น หลักกาลามสูตร และวิธีคิดแบบต่างๆ เป็น เพื่อเป็นฐานในการดำเนินชีวิตตามหลักคำสอนของตนเอง ซึ่งจะได้กล่าวโดยละเอียดในบทที่ 4 ส่วนวิธีคิกและการใช้เหตุผลแบบต่างๆ ในส่วนของตะวันตกนั้น มิได้หมายความว่าจะไม่มีประโยชน์เสียที่เดียว เพราะวิธีคิดและแนวคิดในส่วนตะวันตกนั้นมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาตลอด ซึ่งมีความจำเป็นที่ต้องศึกษา วิธีคิดและการใช้เหตุผลแนวตะวันตกนี้จะได้กล่าวอย่างรายละเอียดในบทที่ 3 และที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ถึงแม้เราจะเรียนวิธีคิดหรือทฤษฎีเดียวกันหรือเหมือนกัน แต่มีไม่น้อยเลยที่เวลาใช้เหตุผล หรือคิดมักจะมีความเห็นที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งก็ถือว่าไม่เป็นเรื่องแปลกแต่อย่างใด แต่เพื่อความเข้าใจสาเหตุหรือพื้นฐานการใช้เหตุผลด้านต่างๆ ของแต่ละสังคม วัฒนธรรม ค่านิยม จารีตประเพณี กฎหมาย รวมถึงสถาบันการศึกษา ระบบการศึกษา และศาสตร์ต่างๆ เป็นต้น

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย