สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้  >>

คุณค่าทางอาหารและทางยาของสมุนไพรมะรุม

ภก. ปฐม โสมวงศ์

        มะรุมเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางที่ถูกปลูกไว้ในบริเวณบ้านไทยมาแต่โบราณ ต้นมะรุมพบได้ทุกภาคในประเทศไทย ทางภาคเหนือเรียกว่า "ผักมะค้อนก้อม" ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียก "ผักอีฮุม หรือผักอีฮึม" ชาวกะเหรี่ยงแถบกาญจนบุรีเรียก "กาแน้งเดิง" ส่วนชานฉานแถบแม่ฮ่องสอนเรียก "ผักเนื้อไก่" เป็นต้น มะรุม (Moringa oleifera syn. M. ptreygosperma Gaertn.) จัดเป็นพืชในวงศ์ Moringaceae และเป็นพืชท้องถิ่นของประเทศอินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ และแอฟกานิสถาน ซึ่งในปัจจุบันได้มีการกระจายพันธุ์ไปสู่ประเทศฟิลิปปินส์ กัมพูชา ทวีปอเมริกา และหมู่เกาะคาริบเบียน ดังนั้น Moringa oleifera จึงมีชื่อท้องถิ่นหลากหลาย เช่น drumstick tree, horse radish tree, kelor tree, Shagara al Rauwaq (หมายถึง tree of purifying) และ Sohanjna

มะรุมจัดเป็นพืชที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะสามารถใช้เป็นอาหาร โดยส่วนใบ ผล (ฝัก) ดอก และ ผลอ่อนของมะรุมได้รับการจัดให้เป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูงในหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศอินเดีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ฮาวาย และอีกหลายประเทศในทวีปแอฟริกา มีรายงานว่าใบของมะรุมประกอบด้วยเบต้าแคโรทีน โปรตีน วิตามินซี แคลเซียม และโปแตสเซียมปริมาณสูง ซึ่งจัดเป็นสารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติที่ดี จึงช่วยยืดอายุของอาหารที่มีไขมันปริมาณสูงได้เนื่องจากมีสารต้านอนุมูลอิสระที่หลากหลาย ได้แก่ กรดแอสคอร์บิก สารประกอบฟลาโวนอยด์ ฟีนอลลิก และแคโรทีนอยด์ ในประเทศฟิลิปปินส์ มะรุมถูกเรียกว่า mother’s best friend เพราะสามารถช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนมในหญิงให้นมบุตรได้ และในบางครั้งก็อาจใช้สำหรับรักษาโลหิตจางด้วย น

อกจากนี้ทุกส่วนของต้นมะรุมยังถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกมากมาย เช่น ส่วนใบและกากเมล็ดที่เหลือจากการบีบน้ำมันนำมาทำเป็นอาหารสัตว์ ใบนำมาทำปุ๋ยและก๊าซชีวภาพ เนื้อไม้ให้สีย้อมสีน้ำเงิน น้ำหวานจากเกสรดอกไม้นำมาทำน้ำผึ้ง เปลือกไม้ใช้ทำเชือก หรือเนื้อไม้ใช้ทำกระดาษ เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้นมะรุมยังมีคุณสมบัติทางยาอีกมากมาย เช่น ต้านการอักเสบ ขับลม แก้ไข้ แก้เจ็บคอ ลดความดัน เป็นต้น เกือบทุกส่วนของมะรุม ได้แก่ ราก เปลือกต้น ยางไม้ ใบ ผล (ฝัก) ดอก เมล็ด และน้ำมันจากเมล็ด เคยใช้เป็นยาพื้นบ้านของทวีปเอเชียใต้ เช่น ใช้รักษาอาการอักเสบและติดเชื้อ โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินอาหาร และความผิดปกติของตับและไต น้ำมันที่สกัดจากเมล็ด (ben oil) สามารถใช้ทำอาหาร รักษาโรคปวดตามข้อ โรคเก๊าต์ รักษาโรครูมาติซัม และรักษาโรคผิวหนัง แก้ผิวแห้ง ใช้แทนยารักษาผิวให้ชุ่มชื้น รักษาโรคอันเกิดจากเชื้อรา เนื้อในเมล็ดมะรุมใช้แก้ไอได้ดี การรับประทานเนื้อในเมล็ดเป็นประจำสามารถเพิ่มภูมิต้านทานให้ร่างกายได้ ใบช่วยแก้เลือดออกตามไรฟัน แก้อักเสบ ใบสดมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ เป็นต้น

คุณค่าทางอาหารและสารอาหารที่พบในมะรุม

ใบมะรุมมีคุณค่าทางอาหารสูง เหมาะสำหรับคนทุกเพศและวัย ในบางประเทศ เช่น เซเนกาลและเฮติ บุคลากรทางการสาธารณสุขจะใช้ผงของใบมะรุมตากแห้งในการรักษาภาวะทุพลภาพในเด็กเล็ก สตรีมีครรภ์ และให้นมบุตร ใบมะรุมทั้งรูปแบบดิบ ทำให้สุกแล้ว หรือตากแห้ง มีวิตามินและเกลือแร่ปริมาณสูงมาก Fuglie รายงานว่าผงใบแห้งขนาด 8 กรัม เพียงพอสำหรับเด็กอายุ 1-3 ปี เพราะมีโปรตีน (14%) แคลเซียม (40%) เหล็ก (23%) และวิตามินเอ ซึ่งเด็กต้องการในแต่ละวัน และใบขนาด 100 กรัม สามารถให้ปริมาณแคลเซียมถึงหนึ่งในสามที่ผู้หญิงต้องการในแต่วัน และยังให้ธาตุเหล็ก โปรตีน ทองแดง กำมะถัน และวิตามินบีด้วย

จากการเปรียบเทียบคุณค่าทางอาหารของใบมะรุมกับอาหารชนิดอื่น พบว่าใบมะรุมมีวิตามินเอมากกว่าแครอท มีแคลเซียมมากกว่าน้ำนม มีธาตุเหล็กมากกว่าผักโขม มีวิตามินซีมากกว่าส้ม และมีโปแตสเซียมมากกว่ากล้วย เป็นต้น(

เนื่องจากมะรุมเป็นพืชที่มีธาตุอาหารปริมาณสูงมาก ในบางประเทศมีการส่งเสริมให้นำมะรุมมารับประทานเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพื่อป้องกันและรักษาภาวะทุพ-โภชนาการดังนั้นจึงมีการค้นคว้าและวิจัยอย่างกว้างขวางเพื่อที่จะนำพืชชนิดนี้มาใช้รักษาความเจ็บป่วยของมนุษย์



คุณค่าทางยาและฤทธิ์ทางชีวภาพของมะรุม

มะรุม มีสารพฤกษเคมีที่หลากหลาย เช่น glucosinolates, isothiocyanates, alkaloids (moringine และ moringinine), flavonoids (kaemferol, rhamnetin, isoquercitrin และ kaempferitrin), b-sitosterol ซึ่งสารเหล่านี้ล้วนมีฤทธิ์ทางชีวภาพ จึงทำให้มะรุมมีฤทธิ์ชีวภาพที่น่าสนใจ เช่น ลดความดัน (antihypertensive) ลดไขมันในเส้นเลือด แก้ปวดเกร็งในช่องท้อง รักษาแผลในทางเดินอาหาร ป้องกันตับ ต้านแบคทีเรียและรา ต้านเนื้องอก ต้านมะเร็ง เป็นต้น

มีรายงานพบว่าสาร Nitrile, mustard oil glycosides และ thiocarbamate glycosides ซึ่งสกัดแยกได้จากใบมะรุม มีฤทธิ์ลดระดับความดันโลหิต ซึ่งสารที่พบในกลุ่มนี้ทั้งหมดเป็นสารในกลุ่ม glycosides ที่ผ่านปฏิกิริยา acetylation และพบปริมาณน้อยในธรรมชาติ แต่มีความสำคัญทางเภสัชวิทยา และเมื่อทำการสกัดใบมะรุมด้วยตัวทำละลาย ethanol และแยกสารสำคัญ จากสารสกัดดังกล่าว พบว่าได้สารบริสุทธิ์ 4 ชนิด ได้แก่ niazinin A, niazinin B, niazimicin และ niazinin A+B ซึ่งทั้งหมดแสดงฤทธิ์ลดความดันโลหิตในหนูทดลอง

รวมไปถึงมีการศึกษาค้นคว้าฤทธิ์ชีวภาพของสารสกัดใบมะรุม ทั้งนี้มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนให้มีการผลิตเพื่อเป็นยาสมุนไพร มีรายงานพบว่าใบมะรุม เป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติที่ดี เนื่องจากพบกลุ่มของสารดังกล่าว เช่น vitamin C, α-tocopherol, flavonoids, phenolics, carotenoids ซึ่งชะลอความเสื่อมของเซลล์และป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง นอกจากนี้ยังพบ สารกลุ่ม oestrogenics และ β-sitosterol อยู่เป็นปริมาณมาก ซึ่งแสดงถึงความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาใบมะรุม และฝักมะรุม เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

แนวทางการพัฒนาสมุนไพรมะรุมเป็นผลิตภัณฑ์

ปัจจุบันมะรุมกำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในการนำมารับประทานเป็นอาหารต้านโรค หรือเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และมีศักยภาพที่จะได้รับการส่งเสริมให้เป็นยาสมุนไพรต่อไป แต่เนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีข้อกำหนดมาตรฐานที่จะใช้ควบคุมหรือตรวจสอบคุณภาพของสมุนไพรดังกล่าว

การนำสมุนไพรมาใช้เป็นยา หรือส่งเสริมเพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้น สิ่งที่จำเป็นคือต้องแน่ใจว่าเป็นสมุนไพรชนิดนั้นจริง และจำเป็นต้องมีการควบคุมมาตรฐานของสมุนไพรที่นำมาปรุงเป็นยาในแต่ละครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่ายาสมุนไพรที่ได้มีคุณสมบัติหรือฤทธิ์ทางการรักษาตามที่ต้องการเหมือนกันทุกครั้ง มาตรฐานของสมุนไพรบางชนิดกำหนดไว้ใน Thai Herbal Pharmacopoeia นอกจากนี้ยังศึกษาได้จากหลักการทั่วไปในการประกันคุณภาพยาจากสมุนไพร ตามมาตรฐานของประเทศเยอรมัน (German Commission E) รวมถึงแนวทางขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization; WHO) ที่เกี่ยวกับการควบคุมมาตรฐานของสมุนไพร โดยการควบคุมมาตรฐานสมุนไพรส่วนใหญ่จะตรวจสอบเอกลักษณ์ว่าเป็นพืชชนิดนั้นจริงโดยดูจากลักษณะภายนอกและลักษณะเฉพาะของยาภายใต้กล้องจุลทรรศน์ การตรวจสอบสิ่งปลอมปน การตรวจหาปริมาณสารสำคัญ การหาปริมาณความชื้นและน้ำหนักที่หายไปเมื่อทำให้แห้ง การตรวจหาปริมาณเถ้า การหาสารตกค้างที่เป็นยาฆ่าแมลง และการหาสิ่งปนเปื้อนรวมทั้งเชื้อก่อโรค เป็นต้น

ดังนั้นแนวทางการพัฒนาหรือยกระดับผลิตภัณฑ์สมุนไพรมะรุมจึงจำเป็นต้องจัดทำข้อกำหนดทางเภสัชเวทและมาตรฐานของมะรุมที่ปลูกในประเทศไทย และจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลพื้นฐานชนิดของสารสำคัญที่มีฤทธิ์ชีวภาพที่พบในสารสกัดใบมะรุม และปริมาณสารสำคัญดังกล่าวที่พบในธรรมชาติ ซึ่งจะใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดมาตรฐานวัตถุดิบสมุนไพร

ยกตัวอย่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศอินเดีย ได้มีการกำหนดมาตรฐานของผลิตภัณฑ์อาหารจากใบมะรุม โดยมีการวิเคราะห์คุณภาพสารอาหารในใบมะรุม โดยผลิตภัณฑ์อาหารดังกล่าวในขนาดรับประทานแต่ละครั้งประกอบด้วย β-carotene 3955 µg (equivalent to retinol 665 µg), ascorbic acid 46 mg และ iron 1.6 mg ซึ่งการกำหนดคุณภาพดังกล่าวทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารจากใบมะรุมมีมูลค่าสูงขึ้นในแง่ของการผลิตในระดับอุตสาหกรรม

ดังนั้นข้อมูลทางด้านเภสัชเวทของสมุนไพรและการจัดทำมาตรฐานสมุนไพรมะรุมถือเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์มะรุมที่สนใจรับประทานได้ หรือเพื่อให้ผู้ผลิตใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการผลิตสมุนไพรมะรุมที่มีคุณภาพต่อไป ทั้งนี้เพื่อให้สมุนไพรไทยมีมาตรฐานและศักยภาพในการแข่งขันกับสมุนไพรต่างประเทศ

เอกสารอ้างอิง

  • Mughul MH, Ali G, Srivastava PS, Iqbal M. 1999. Improvement of drumstick (Moringa pterygosperma Gaertn.) - a unique source of food and medicine through tissue culture. Hamdard Med 42: 37-42.
  • Siddhuraju P, Becker K. 2003. Antioxidant properties of various solvent extracts of total phenolic constituents from three different agro-climatic origins of drumstick tree (Moringa oleifera Lam.). J Agric Food Chem 15: 2144-2155.
  • Estrella MCP, Mantaring JBV, David GZ. 2000. A double blind, randomized controlled trial on the use of malunggay (Moringa oleifera) for augmentation of the volume of breastmilk among non-nursing mothers of preterm infants. Philipp J Pediatr 49: 3-6.
  • Singh KK, Kumar K. Ethnotherapeutics of some medicinal plants used as antipyretic agent among the tribals on India. J Econ Taxon Bot 23: 135-141.
  • Fuglie LJ. 2005. The Moringa Tree: a local solution to malnutrition? Church World Service in Senegal.
  • http://www.dolcas-biotech.com/pdf/Moringa.pdf access on 24 April 2009
  • Fahey JW. 2005. Moringa oleifera: A Review of the Medical Evidence for Its Nutritional, Therapeutic, and Prophylactic Properties. Part 1. Tree for Life Journal 1: 5-19.
  • Jansakul C., Wun-Noi A., Croft K. and Byrne L. 1997. Pharmacological studies of thiocarbamate glycosides isolated from Moringa oleifera. J. Sci. Soc. Thailand 23: 335-346.
  • Makkar HPS. and Becker K. 1996. Nutritional value and antinutritional components of whole and ethanol extracted Moringa oleifera leaves. Anim Feed Sci Technol 63: 211-228.
  • Nambiar VS. and Parnami S. 2008. Standardization and Organoleptic Evaluation of Drumstick (Moringa oleifera) Leaves Incorporated into Traditional Indian Recipes. Trees for Life Journal 3: 1-7.

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย