ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>

ภาวะวิทยา ญาณวิทยา และวิธีวิทยา

แนวพินิจทางรัฐศาสตร์
ภาวะวิทยา ญาณวิทยา และวิธีวิทยา

ผศ. เชิญ ชวิณณ์ ศรีสุวรรณ

พัฒนาการของรัฐศาสตร์ในแง่สาขาวิชา
ลักษณะเด่นของ “พฤติกรรมศาสตร์”
สาระสำคัญของวิชารัฐศาสตร์ช่วงหลังทศวรรษ 1970
ความหมายทั่วไปของ Approach
แนวพินิจการแจกแจงอำนาจ (Power Distribution Approach)
ลักษณะสำคัญของพหุนิยม
วิพากษ์ “พหุนิยม”
แนวพินิจชนชั้นนำ (Elite Approach)
วิเคราะห์ Classical Elitists
พื้นฐานคุณลักษณะทางจิตฯ 6 ชั้น
จุดเน้นของแนวพินิจชนชั้นนำแบบคลาสสิก
แนวพินิจชนชั้นนำแบบใหม่

สาระสำคัญของวิชารัฐศาสตร์ช่วงหลังทศวรรษ 1970

ซึ่งมักเรียกกันว่า “ยุคหลังพฤติกรรมศาสตร์ (Post-behavioral Era)”, มีดังต่อไปนี้

1. เนื้อหาสาระ (Substance) ของรัฐศาสตร์ จะต้องอยู่เหนือกว่า หรือ สำคัญกว่า เทคนิคในการวิจัย. ผลการศึกษาในทางรัฐศาสตร์ จะต้อง สอดรับกับประเด็นปัญหาในสังคม, และ มีความหมายต่อการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในสังคม. ตัวเลข หรือ สถิติที่ใช้ในการศึกษาวิจัย ไม่สำคัญเท่ากับ การที่งานวิจัยนั้น ช่วยแก้ปัญหาอะไรให้สังคมได้บ้าง. ถ้าฝ่ายพฤติกรรมศาสตร์เห็นว่า “ผิดพลาดดีกว่าคลุมเครือ”, ฝ่ายหลังพฤติกรรมศาสตร์ กลับเห็นว่า “คลุมเครือดีกว่าไม่ตรงประเด็น”.

2. รัฐศาสตร์ ต้องให้ความสำคัญกับ “การเปลี่ยนแปลงในสังคม” ไม่ใช่การ “รักษาสถานภาพเดิมของผู้มีอำนาจในสังคม” ไว้, อย่างที่ฝ่าย “พฤติกรรมศาสตร์” ได้กระทำ, คือ มุ่งวิเคราะห์ “ข้อเท็จจริง” ออกมาเป็นตัวเลข, โดยมิได้พิจารณาว่า “ข้อเท็จจริง” นั้น มี “นัยสำคัญ” ในทางสังคมอย่างไรบ้าง. ไม่ต่างอะไรกันกับพวกที่ยึดอุดมการณ์แบบอนุรักษ์นิยม, ซึ่งมองไม่เห็นว่า สังคมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา. อาจมองได้ว่า ฝ่ายพฤติกรรมศาสตร์ ได้ “ซ่อนเร้น” อุดมการณ์แบบอนุรักษ์นิยมเอาไว้ ด้วยการ “ไม่วิพากษ์วิจารณ์” ระบบการเมือง หรือ โครงสร้างอำนาจทางการเมือง ที่ดำรงอยู่ในขณะนั้น, แต่จำกัดขอบเขตของ “วิธีการศึกษา” ไว้เพียงแค่ การวิเคราะห์ข้อมูล ให้ออกมาเป็น “ตัวเลขทางสถิติ”, โดยมิได้สนใจที่จะอธิบาย “สิ่งที่มีความหมายมากกว่า” การพรรณนาถึงตัวเลข ที่ได้แสดงให้เห็น.

ยกตัวอย่างเช่น การวิเคราะห์ว่า นายเหลี่ยม ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้ง คิดเป็นร้อยละ 78 ในขณะที่ นายแหลม ได้รับคะแนนเสียง ร้อยละ 22, ไม่ได้ทำให้เกิด “ความรู้ในทางการเมือง” หรือ “ความหมายที่สังคมควรรับรู้” เลยว่า แท้ที่จริง นายเหลี่ยมได้ใช้กลโกงทางการเมือง, จนกระทั่งได้คะแนนเสียงมากกว่านายแหลม อย่างไรบ้าง

3. รัฐศาสตร์แบบพฤติกรรมศาสตร์ ได้แยกตนเองออกจาก “ความเป็นจริงทางการเมือง” อย่างสิ้นเชิง. ความลุ่มหลงในเทคนิคการวิจัย ทำให้มองไม่เห็น “ความขัดแย้งในสังคม”, รวมทั้ง อนาคตของสังคม. ถ้ารัฐศาสตร์ไม่สนใจความเป็นไป รวมทั้ง ความเปลี่ยนแปลงในสังคม, รัฐศาสตร์ที่สนใจแต่ การวัดผลเชิงปริมาณ จะเป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับอะไร, และจะเป็นวิชาที่มีประโยชน์ต่อสังคม ได้อย่างไร. รัฐศาสตร์แบบหลังพฤติกรรมศาสตร์ จึงมีภารกิจ ที่จะต้องทำลาย “กำแพงแห่งความเงียบงัน” ของรัฐศาสตร์แบบพฤติกรรมศาสตร์ ซึ่งได้ปิดปากตัวเองที่จะวิพากษ์วิจารณ์การเมือง, และได้บิดเบือนภาพของการเมือง ที่มีการแข่งขันแย่งชิงผลประโยชน์ รวมทั้งอำนาจ ให้เห็นเฉพาะ “การวิเคราะห์ที่เต็มไปด้วยตัวเลข” หรือ ที่เรียกอย่างโก้เก๋ว่า “การวิเคราะห์เชิงปริมาณ”, พร้อมกับ ทำให้วิชารัฐศาสตร์ เป็น “ที่พึ่ง” ของมวลมนุษยชาติ โดยเฉพาะ ในยามที่เกิด “วิกฤตการณ์”, เพื่อที่ว่า สังคมจะได้รับทราบ “คำตอบ” และ “ทางเลือก” ที่ “ดีกว่า” การแสดงให้เห็นด้วย “ตัวเลข” ที่ไม่มีความหมายใดๆ เพียงอย่างเดียว.

4. การที่ฝ่ายพฤติกรรมศาสตร์อ้างว่า ได้นำ “วิธีการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์” และ การวัดผลเชิงปริมาณ, เข้ามาช่วยอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมือง และ พฤติกรรมทางการเมือง, โดยไม่นำ “ค่านิยม” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย, โดยอ้างข้อดีของ “ความเป็นปรนัยภาพ” หรือ ปลอดจากการใช้ค่านิยมส่วนตัว หรือ อัตตวิสัย, นับว่า เป็น “อันตราย” ต่อวิชารัฐศาสตร์ อย่างยิ่ง. เพราะถ้าหากการศึกษาเกี่ยวกับการเมือง ไม่สามารถที่จะใช้ “ค่านิยม” มาตอบว่า การศึกษาดังกล่าว “ถูกต้อง” หรือ “ตรงตามจุดมุ่งหมายที่ถูกต้อง” หรือไม่, สิ่งที่ได้มาจากการศึกษา ก็อาจจะผิดไปจากจุดมุ่งหมาย ไปก็ได้. สิ่งที่ได้จากการศึกษาที่ผิดพลาด จะมีฐานะเป็น “ความรู้” ไปไม่ได้เลย.

ยกตัวอย่าง เช่น การศึกษาว่า การที่รัฐบาลชุดก่อน ได้คอรัปชั่น ไปมาก, แต่ก็สร้างผลงานไว้มาก, จึงถือว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามปกติ ของการเมือง. อย่างนี้ ย่อมขัดกับหลักคุณธรรมและจริยธรรมในทางรัฐศาสตร์, จะถือว่า ผลของการศึกษาดังกล่าว เป็น องค์ความรู้ ย่อมไม่ได้

5. นักรัฐศาสตร์ยุคหลังพฤติกรรมศาสตร์ มี “ภารกิจ” ที่จะต้อง ปกป้อง ค่านิยมด้าน “ความมีอารยธรรมของมนุษย์”. มนุษย์ต่างจากสัตว์อื่นๆ ตรงที่ สามารถแยกแยะว่า อะไรดี, อะไรชั่ว, อะไรถูก, อะไรผิด. ถ้านักรัฐศาสตร์(แบบพฤติกรรมศาสตร์) ทำตัวเป็นผู้เคร่งครัดในปรนัยภาพ คือ ไม่นำพาต่อค่านิยมใดๆ, มุ่งเน้น การวิจัยเชิงเทคนิค, มุ่งเน้นเทคนิคการวิจัย, นักรัฐศาสตร์ประเภทนี้ ก็ไม่ได้ต่างจาก ช่างไร้ฝีมือ ที่มีชีวิตอยู่ไปวันๆ. นักรัฐศาสตร์ประเภทนี้ ก็ไม่สมควรได้รับ “อภิสิทธิ์” ใดๆ, โดยเฉพาะ เสรีภาพทางวิชาการ, ซึ่งเสมือนหนึ่งเป็น “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” กลายๆ, จากประชาคมวิชาการ อีกต่อไป, เพราะมิได้ปกป้อง “ค่านิยม” ที่เน้นความมีมนุษยธรรม, อันเป็นรากฐานของ “อารยธรรม” ของมนุษย์, แม้แต่น้อย.

6. นักรัฐศาสตร์ ที่เข้าใจปัญหาสังคม จะหนีปัญหาสังคมไปไม่ได้, แต่จะกระทำการอย่างใด อย่างหนึ่ง เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาให้กับสังคม. ภารกิจสำคัญของนักรัฐศาสตร์ก็คือ การทำให้สังคมดีขึ้นกว่าเดิม, ด้วยการนำความรู้ที่ได้มานั้น ไปใช้ประโยชน์ให้เกิดแก่สังคม, แม้ว่าความรู้ในทางรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นวิทยาการที่เน้นการปฏิบัติ(Action Science) อาจจะส่งผล ให้เกิดความขัดแย้งในเรื่อง อุดมคติ หรือ อุดมการณ์ ก็ตาม.

7. เมื่อตระหนักถึง การเข้าไปมีบทบาทเชิงสร้างสรรค์ ในสังคม และ การที่จะทำให้สังคมมุ่งไปสู่ทิศทางที่เหมาะสม, นักรัฐศาสตร์จึงต้องเน้นเรื่องของการมีส่วนร่วมในทางเมือง, หรือ การเมืองที่ปฏิบัติจริง(political praxis) ให้มากขึ้น, เพราะนี่คือ สิ่งที่พึงปรารถนาอย่างยิ่ง.



David Easton เรียก สาระสำคัญของรัฐศาสตร์หลังพฤติกรรมศาสตร์ ดังกล่าวนั้นว่า Credo of Relevance – บัญญัติแห่งประเด็น, หรือ

“การกลั่นภาพลักษณ์สูงสุด (Distillation of the Maximal Image)”. ช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1960, หลังจากที่ David Easton (ซึ่งก็เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยชิคาโก, แต่กลับปฏิเสธแนวทางของ “สำนักชิคาโก” ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ “ฝ่ายพฤติกรรมศาสตร์” โดย “บัญญัติแห่งประเด็น” 7 ประการตามข้างต้น), นักรัฐศาสตร์แนวพฤติกรรมศาสตร์ ก็เริ่มยอมรับว่า ผลการศึกษาวิจัยของพวกตนนั้น เป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ หรือ ที่มีสำนวนร่วมสมัยเรียกว่า “จิ๊บจ๊อย (trivial)”, และไม่ตรงกับประเด็นปัญหาทางการเมือง(irrelevant). เพราะขณะที่พวกตนมัวสาละวนกับการทำงานภาคสนาม, และมัวยุ่งอยู่กับการเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถาม, แล้วนำมาประมวลผลให้เป็นตัวเลขทางสถิติ นั้น, สังคมอเมริกัน กำลังเกิดกระแสประท้วงสงครามเวียดนามอย่างเข้มข้น เพราะทั้งรัฐบาลอเมริกัน และฝ่ายเวียดกงที่ต่อสู้กันนั้น ได้ส่งกองกำลังทหารของตนเข้าไปเข่นฆ่าคนเวียดนาม ที่เป็นผู้บริสุทธิ์, ปรากฏเป็นข่าวไปทั่วโลก, แต่นักรัฐศาสตร์ฝ่ายพฤติกรรมศาสตร์ ไม่ได้มีการศึกษาวิจัยเรื่องสงครามเวียดนาม แต่ประการใด, ยังคงมีความสุขกับการค้นหา วิธีวิทยาและเทคนิคทางสถิติ, รวมทั้งรับค่าตอบแทนการวิจัยที่สูงลิ่ว, ทั้งที่สาระสำคัญของงานวิจัยดังกล่าว ไม่ได้มีลักษณะสร้างสรรค์, ไม่ได้ให้คำตอบที่มีคุณค่า, และไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยส่วนรวมเลย.

วิชารัฐศาสตร์ในอเมริกา ช่วงปลายทศวรรษ 1960 ซึ่งประสบปัญหาที่ ปรัชญาการเมือง ไม่สามารถให้คำตอบต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้, ประวัติศาสตร์ ก็ไม่ได้ให้คำตอบที่ตรงกับยุคสมัย, กระแสพฤติกรรมศาสตร์ ก็กลายเป็นพวก “บ้าคลั่งข้อมูล (Hyperfactualism)” ตามศัพท์ที่ David Easton เรียก , Easton จึงได้เริ่มเสนอ “แนวพินิจระบบการเมือง” ว่า น่าจะมีส่วนช่วยให้งานวิจัยที่เกี่ยวกับประเด็นปัญหาในสังคมจริงๆ ได้มองปัญหาอย่างมีจุดมุ่งหมาย ที่สามารถนำไปแก้ปัญหาได้จริง  ในขณะเดียวกัน, วิกฤตรัฐศาสตร์ ในแง่ของสาขาวิชา ก็ได้ทำให้ผู้รอบรู้รัฐศาสตร์อเมริกัน ที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยชื่อดัง จำนวน 20 คน, และนักรัฐศาสตร์อื่นๆอีกจำนวนมาก, ได้ตอบรับ ที่จะเข้าร่วมสัมมนา ณ เมืองฟิลาเดลเฟีย, รัฐเพนน์ซิลเวเนีย, ระหว่างวันที่ 28-29 ธันวาคม 1965. ผู้รอบรู้ จำนวน 20 ท่าน ประกอบด้วย :

Alfred de Grazia จากมหาวิทยาลัย New York
Karl W. Deutsch จากมหาวิทยาลัย Yale
David Easton จากมหาวิทยาลัย Chicago
Harry Eckstein จากมหาวิทยาลัย Princeton
Heinz Eulau จากมหาวิทยาลัย Stanford
Lee S. Greene จากมหาวิทยาลัย Tennessee
Alan P. Grimes จากมหาวิทยาลัย Michigan State
Harold Guetzkow จากมหาวิทยาลัย Nothwestern
Louis Hartz จากมหาวิทยาลัย Harvard
Alpheus T. Mason จากมหาวิทยาลัย Princeton
Hans J. Morgenthau จากมหาวิทยาลัย Chicago
Norman D. Palmer จากมหาวิทยาลัย Pennsylvania
Robert V. Presthus จากมหาวิทยาลัย Cornell
David Spitz จากมหาวิทยาลัย Ohio State
Vernon Van Dyke จากมหาวิทยาลัย Iowa
Frederick M. Watkins จากมหาวิทยาลัย Yale
Paul N. Ylvisaker จาก มูลนิธิ Ford
Roland Young จากมหาวิทยาลัย Northwestern

การสัมมนาครั้งนี้ จัดโดย The American Academy of Political and Social Science, มี James C. Charleswoth เป็นประธานการประชุมสัมมนา. แต่ศาสตราจารย์ Easton, Eckstein, Greene, Mason และ Presthus ไม่สามารถมาร่วมประชุมได้ เพราะป่วยและติดงานสำคัญ. แต่ท่านผู้รอบรู้ที่มาร่วมงานไม่ได้ ก็ยังได้วิพากษ์วิจารณ์บทความที่นำเสนอในที่ประชุม ไว้ล่วงหน้าก่อนการสัมมนา

อันที่จริง ในเดือนตุลาคม ปี 1962, The American Academy of Political and Social Science ก็ได้จัดพิมพ์เอกสารทางวิชาการ(Monograph) โดยมี James C. Charleswoth เป็นบรรณาธิการ, ในชื่อเรื่อง The Limits of Behavioralism in Political Science และได้พิมพ์ซ้ำ ในปี 1965; และในเดือนกุมภาพันธ์ 1965 ก็ได้จัดพิมพ์เอกสารทางวิชาการ โดยมี Don Martindale เป็นบรรณาธิการ, ในชื่อเรื่อง Functionalism in the Social Sciences: The Strength and Limits of Functionalism in Anthropology, Economics, Political Science, and Sociology ก่อนที่จะพิมพ์เอกสารทางวิชาการ จากการสัมมนาช่วงปลายเดือนธันวาคม ปี 1965, ในปี 1966, โดยมี James C. Charleswoth เป็นบรรณาธิการ, ในชื่อเรื่อง A Design for Political Science: Scope, Objectives, and Methods.

ในปี 1967, James C. Charleswoth ก็ได้คัดเลือกบทความจากเอกสารทางวิชาการทั้ง 3 เล่มข้างต้น มาจัดพิมพ์ เป็นหนังสือเล่มแรกที่เสนอการวิเคราะห์การเมืองแนวใหม่ มีชื่อหนังสือว่า Contemporary Political Analysis (New York: Free Press, 1967). จุดนี้เอง ถือเป็น “จุดเริ่ม” ของวิชารัฐศาสตร์ ที่ได้ละทิ้ง ปรัชญาการเมือง, ประวัติศาสตร์, และกฎหมาย, ซึ่งเคยมีอิทธิพลต่อวิชารัฐศาสตร์ ในอดีต, มาเป็นเวลาช้านาน, มาสู่การวาง “กรอบความคิด” ซึ่ง อาจจะอยู่ในรูปของ Approaches, Models, Theories และ “ญาณวิทยา” ใหม่, เพื่อสร้างวิชารัฐศาสตร์ให้เป็น วิทยาศาสตร์การเมือง ที่มีความน่าเชื่อถือ, มีความถูกต้อง, และมีอำนาจในการอธิบาย, ได้มากกว่าที่เคยเป็นมา.

การที่จะทำความเข้าใจต่อ กรอบความคิด และ ญาณวิทยาใหม่ ของวิชารัฐศาสตร์, จำเป็นที่จะต้องพิจารณา วรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Approaches, ในช่วงเวลาต่างๆ ตามลำดับก่อนหลัง, เพื่อจะได้เห็นภาพในวงกว้างก่อน แล้วจึงจะนำเสนอ ขอบเขตของสาระสำคัญ ที่เป็นรายละเอียดของ กรอบความคิดใหม่ทางรัฐศาสตร์ เพื่อจะเห็นภาพในระดับลุ่มลึก ที่ชัดเจนมากขึ้น. ท้ายสุด จึงจะประเมินจุดแข็ง และจุดอ่อน ของ กรอบความคิดแบบต่างๆ, เพื่อประโยชน์ในการศึกษาต่อไปในเชิงของ ญาณวิทยา และ วิธีวิทยา ในทางรัฐศาสตร์.

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย