ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>

ภาวะวิทยา ญาณวิทยา และวิธีวิทยา

แนวพินิจทางรัฐศาสตร์
ภาวะวิทยา ญาณวิทยา และวิธีวิทยา

ผศ. เชิญ ชวิณณ์ ศรีสุวรรณ

พัฒนาการของรัฐศาสตร์ในแง่สาขาวิชา
ลักษณะเด่นของ “พฤติกรรมศาสตร์”
สาระสำคัญของวิชารัฐศาสตร์ช่วงหลังทศวรรษ 1970
ความหมายทั่วไปของ Approach
แนวพินิจการแจกแจงอำนาจ (Power Distribution Approach)
ลักษณะสำคัญของพหุนิยม
วิพากษ์ “พหุนิยม”
แนวพินิจชนชั้นนำ (Elite Approach)
วิเคราะห์ Classical Elitists
พื้นฐานคุณลักษณะทางจิตฯ 6 ชั้น
จุดเน้นของแนวพินิจชนชั้นนำแบบคลาสสิก
แนวพินิจชนชั้นนำแบบใหม่

แนวพินิจการแจกแจงอำนาจ (Power Distribution Approach)

แนวพินิจระดับจุลภาค ที่สำคัญ ได้แก่ “แนวพินิจการแจกแจงอำนาจ(Power Distribution Approach)” ซึ่งมองว่า “อำนาจ” (Power, หรือ Macht ในภาษาเยอรมัน) คือ “สาระสำคัญ” ของการเมือง.

นักรัฐศาสตร์ “แนวพินิจการแจกแจงอำนาจ” มี 2 กลุ่ม ซึ่งมองการแบ่งสรรอำนาจในสังคม ต่างกัน.

กลุ่มที่ 1 มองว่า “อำนาจ” ในสังคม “กระจาย (Diffused)” ไปยัง “กลุ่ม” ต่างๆ ซึ่งมี “หลากหลาย”, อันเนื่องมาจาก การรวมกลุ่มกันตาม “อาชีพ” เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางวิชาชีพ (เช่น แพทยสภา, คุรุสภา, สมาคมผู้ประกอบการโรงแรม); การรวมกลุ่มตาม “เชื้อชาติ” (เช่น สมาคมชาวไทยในนิวยอร์ก, สมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย); การรวมกลุ่มตาม “อุดมการณ์” (เช่น กลุ่ม Green Peace, ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคแห่งประเทศไทย, พันธมิตรประชาธิปไตยเพื่อประชาชน); การรวมกลุ่มตาม “ภูมิภาค” (เช่น สมาคมชาวเหนือ, สมาคมปักษ์ใต้ ใน กทม.).

กลุ่มที่ 2 มองว่า “อำนาจ” ในสังคม “กระจุกตัว (Concentated)” อยู่ที่ “ชนชั้นนำ (Elite)” ซึ่ง เป็นคนกลุ่มเล็กๆ ที่มี “ฐานะได้เปรียบ” คนในสังคมทั้งหมด, ทั้งในแง่ อำนาจทางการเมือง (เช่น เป็นผู้สนับสนุนพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาล หรือ มีตำแหน่งในรัฐบาล), อำนาจทางเศรษฐกิจ (เช่น การมีรายได้สูงมาก และ มีอิทธิพลในระดับ “ผูกขาด” ด้านการตลาด), อำนาจทางวัฒนธรรม (เช่น เป็นเจ้าของ หรือ หุ้นส่วน ที่สามารถควบคุม สื่อมวลชน, ควบคุมการนำเสนอข่าวและการบันเทิง) , และ อำนาจทางสังคม (เช่น มีการศึกษาดีกว่า และสูงกว่าคนโดยทั่วไป).

กลุ่มที่เชื่อว่า “อำนาจกระจายตัว” ถูกเรียกว่า “พวกพหุนิยม (Pluralism)” เพราะวางฐานความเชื่อไว้ว่า สังคมประกอบด้วย “กลุ่ม” ต่างๆอย่างหลากหลาย. ด้วยเหตุนี้ สังคมส่วนใหญ่ในโลกจึงมีแนวโน้มที่จะเป็น “พหุสังคม” คือ มีการผสมผสานของกลุ่มชาติพันธุ์, กลุ่มภูมิภาคต่างๆ ในสังคม, และมีกลุ่มอาชีพ ที่รวมตัวเป็น “กลุ่มผลประโยชน์” เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อปกป้อง และเพิ่มพูนผลประโยชน์ในวิชาชีพ.



“กลุ่มหลากหลาย” ในสังคมนี้เอง ที่จะ “ร่วมมือ” กัน ถ้าผลประโยชน์สอดคล้องกัน, และจะ “แข่งขัน” กัน ถ้าผลประโยชน์ขัดแย้งกัน. ดังนั้น จึงไม่มีกลุ่มใด ที่จะสามารถ “ผูกขาด” หรือ “ครอบงำ” อำนาจทางการเมือง ได้โดยเด็ดขาดตามลำพัง เพียงกลุ่มเดียว, เพราะจะถูกกลุ่มอื่นๆ รวมตัวกัน เพื่อ “คานอำนาจ” หรือ “โค่นอำนาจ” เพื่อรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มต่างๆและของสังคมโดยรวม ให้ดำรงอยู่ต่อไป.

กลุ่มที่เชื่อว่า “อำนาจกระจุกตัวที่ชนชั้นนำ” ถูกเรียกว่า “ชนชั้นนำนิยม (Elitists)” เพราะวางฐานความเชื่อไว้ว่า อำนาจในสังคม ไม่ได้ถูกแบ่งสรรให้แก่กลุ่มในสังคม อย่างเท่าเทียมกัน แต่อย่างใด. ทั้งนี้เพราะ นับตั้งแต่มนุษย์เริ่มตั้งถิ่นฐาน เป็นครอบครัว, วงศ์วานว่านเครือ, เผ่าชน, นครรัฐ, และรัฐ ในปัจจุบัน, มนุษย์ได้เริ่ม “แบ่งงานกันทำ” และเริ่มมี “การจัดระเบียบในสังคม” ด้วยการ “แบ่งช่วงชั้นทางสังคม (Social Stratification)” โดยตั้งกฎ, เกณฑ์, หรือ มาตรฐาน, ที่จะ “แบ่ง” กลุ่มคนในสังคม ออกเป็น “ชั้นชน (Class)” คือ ชนชั้นสูง, ชนชั้นกลาง, ชนชั้นต่ำ.

การแบ่งช่วงชั้นทางสังคม ได้ทำให้เกิด “ความไม่เท่าเทียม” ในสังคม หลายประการ, เช่น ชนชั้นสูง และชนชั้นกลาง จะมีความเป็นอยู่ดีกว่า ชนชั้นต่ำ, เพราะมีรายได้มากกว่า, มีเกียรติภูมิมากกว่า เพราะได้รับการยกย่องนับถือ จากสังคม มากกว่า, มีการศึกษาสูงกว่า, จึง “มีโอกาสมากกว่า” ที่จะ “เข้าถึง” และ “ได้มา” ซึ่งตำแหน่งที่มีอำนาจในสังคม.

แนวพินิจ “ชนชั้นนำนิยม” และ แนวพินิจ “พหุนิยม” แม้จะอยู่ใน “แนวพินิจการแบ่งสรรอำนาจ” แต่เนื่องจาก มีมุมมองเรื่อง “อำนาจ” แตกต่างกันสุดขั้ว, จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจ ในประเด็นสำคัญ ที่ทั้ง 2 ฝ่าย ได้นำเสนอ เพื่อจะได้ไม่หลงประเด็น และไขว้เขวไปจำแนก “ชนชั้นนำนิยม” กับ “พหุนิยม” ออกเป็น “แนวพินิจ” ที่ไม่เกี่ยวข้องกัน.

จุดกำเนิดของ “พหุนิยม” เกิดขึ้นในยุโรป, ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1. ปัญญาชนยุโรป อย่างเช่น Harold Laski (1893-1950) นักรัฐศาสตร์ชาวอังกฤษ, และ Léon Duguit (เล-ยอง ดูชุย) (1859-1928) นักนิติปรัชญาชาวฝรั่งเศส, เห็นว่า สภาพสังคมแบบอุตสาหกรรม ที่เน้นการทำงานเป็นกลุ่ม, ทำให้ความเป็น “ปัจเจกชน” หายไป. คนหนึ่งคน ในระบบอุตสาหกรรม ไม่มีความหมายอะไรเลย, นายจ้างจึงปลด “คนงาน” ได้ โดยไม่มีความรู้สึกว่า “คนงาน” จะลำบากในชีวิตอย่างไรบ้าง.

ในทางการเมือง, “ผู้แทน” ก็ไม่ได้เป็น “ตัวแทนที่แท้จริง” ของประชาชนในแต่ละชุมชน, เพราะ “เขตเลือกตั้ง” กว้างขวางมาก, ทำให้ “ผู้แทน” ห่างเหินจากประชาชน, และประชาชน ก็รู้สึก “แปลกแยก” จาก “ผู้แทน”.

ในแง่ของ “ประชาธิปไตย” ตั้งแต่แรกเริ่ม, ถือว่า “ปัจเจกชนนิยม (Individualism)” หรือ ความสำคัญของ คนหนึ่งคน, มีความหมายมาก. ทั้งนี้เพราะ ความคิดและการกระทำของคนหนึ่งคน อาจจะสร้างสรรค์และช่วยพัฒนาสังคมโดยรวมได้. สังคมจึงต้องยอมรับ ความหลากหลายและความแตกต่างในความคิด, แม้จะเป็นความคิดของ คนเพียงหนึ่งคนก็ตาม. ประชาธิปไตย จึงยอมรับ “หลักการสิทธิของเสียงข้างน้อย” มาโดยตลอด.

ถ้าปัจเจกชน ไม่สามารถ “รวมกลุ่ม” กันได้, ชนชั้นสูง ที่ได้เปรียบคนอื่นๆในสังคม ก็จะร่วมมือกับ “ผู้ชำนาญการ (Technocrats)” ยึดกุม และผูกขาด อำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ, ส่งผลให้สังคมโดยรวม ตกอยู่ใต้การปกครองของ “นักเลือกตั้ง” ที่มี “นายทุน” หนุนหลัง เพื่อรอรับประโยชน์จากนโยบายสาธารณะ ที่ฝ่ายมีอำนาจทางการเมือง จะ “ตอบแทนผลประโยชน์” ให้, และทำให้ “สังคม” ได้รับประโยชน์ น้อยกว่า ผู้มีอำนาจทางการเมือง และนายทุนพันธมิตร.

ปัญญาชนยุโรป จึงเริ่มเรียกร้องให้ ปัจเจกชน “รวมกลุ่ม” เป็น “กลุ่มหลากหลาย” เพื่อจะได้ ตรวจสอบ, ถ่วงดุล, และ คานอำนาจ หรือ โค่นอำนาจ ของผู้มีอำนาจทางการเมือง ในกรณีที่ ผลประโยชน์ส่วนรวม เสียหาย จนสังคมไม่อาจจะดำรงสถานภาพที่ดีดังเดิมได้.

พหุนิยมในสหรัฐอเมริกา, เริ่มต้นเมื่อ นักรัฐศาสตร์ชื่อ Arthur Fisher Bentley (1870-1957) เขียนหนังสือชื่อ The Process of Government : A Study of Social Pressure (Broomington, Principia, 1908) เน้นสาระสำคัญ 3 ประการ

  1. การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมือง เกิดจาก “ปฏิสัมพันธ์ (Interaction)” ของกลุ่มต่างๆ, ในแต่ละช่วงเวลา ว่า จะร่วมมือกัน, หรือ แข่งขันกัน, หรือ ประนีประนอมกัน.
  2. รัฐบาล เป็นเพียง “เครื่องมือ” หรือ “กรรมการ” ที่ทำหน้าที่ รักษา “ดุล” ของ การร่วมมือของกลุ่ม (ไม่ให้เกิดการควบรวมกิจการ เพื่อผูกขาดอำนาจ), และ การแข่งขันของกลุ่ม (ไม่ให้เกิดการทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม เพื่อผูกขาดอำนาจ). ไม่ปล่อยให้ กลุ่มเพียงกลุ่มเดียว มีอำนาจ.
  3. เพราะฉะนั้น, การกดดันของกลุ่มต่างๆ, ซึ่งมีความเป็น “อิสระ” ในตัวเอง, ไม่ได้เกิดจาก การ “จัดตั้ง” ของรัฐบาล, ที่มีต่อรัฐบาล และต่อการตัดสินใจของรัฐบาล, ทำให้เกิด นโยบายสาธารณะที่มีลักษณะ “ประนีประนอมและประสานประโยชน์” ระหว่างกลุ่มต่างๆ.

แนวพินิจพหุนิยม ที่สำคัญ อาจดูจาก : Denise L. Baer and David A. Bositis, Politics and Linkage in a Democratic Society (New Jersey: Prentice-Hall, 1993); และ มนตรี เจนวิทย์การ, บทบาทของกลุ่มผลประโยชน์ต่อรัฐบาล ระบบราชการ ประชาชน และการพัฒนาประเทศ (กทม. : คณะรัฐศาสตร์ธรรมศาสตร์, 1985).

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย