วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>
วรรณกรรมล้อ
เสาวณิต จุลวงศ์
วรรณกรรมที่เกิดร่วมยุคสมัยเดียวกันมักมีทั้งลักษณะร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับวรรณกรรมอื่นๆ
ในยุคสมัยนั้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีความต่าง
เป็นลักษณะเฉพาะของวรรณกรรมแต่ละเรื่องด้วย
ลักษณะร่วมนั้นเกิดจากความรู้ความคิดและค่านิยมแห่งยุคสมัยที่ได้หล่อหลอมผู้แต่งให้สร้างสรรค์ผลงานจากแนวนิยมและความคิดที่ไหลเวียนอยู่ในช่วงเวลานั้นกล่าวได้ว่าวรรณกรรมแต่ละเรื่องอาศัยแนวนิยมและความคิดร่วมกันในการแต่ง
ส่วนลักษณะเฉพาะของวรรณกรรมแต่ละเรื่องเกิดจากความเป็นปัจเจกของผู้แต่งผู้แต่งแต่ละคนย่อมได้รับประสบการณ์ความรู้ความคิดและค่านิยมในยุคสมัยของตนแล้วเกิดมีความคิดเฉพาะตนขึ้นเมื่อผนวกกับความรู้ความสามารถอันเป็นสิ่งเฉพาะตนอยู่แล้ว
จึงก่อให้เกิดผลงานอันมีลักษณะเฉพาะ ต่างกับวรรณกรรมที่ร่วมยุคสมัยเดียวกันได้
วรรณกรรมประเภทหนึ่งที่แสดงถึงการมีลักษณะร่วมและลักษณะเฉพาะในแต่ละยุคสมัยได้คือวรรณกรรมล้อ
หรือ parody วรรณกรรมล้อ
เป็นศัพท์ที่ราชบัณฑิตยสถานบัญญัติขึ้นใช้แทนคำภาษาอังกฤษว่า parody
หมายถึงงานเขียนที่เลียนคำพูดลีลาทัศนคติน้ำเสียงและความคิดของนักเขียนคนใดคนหนึ่งโดยทำให้กลายเป็นเรื่องตลกขบขันน่าหัวเราะ
ด้วยการนำลักษณะบางประการมาเน้นทำให้เกินความเป็นจริง
ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับที่นักเขียนการ์ตูนเขียนภาพล้อ
จัดว่าเป็นการล้อเชิงเสียดสีประเภทหนึ่ง
และจุดประสงค์ก็อาจจะเป็นได้ทั้งเพื่อท้วงติงหรือเพื่อเยาะเย้ยถากถาง
คำอธิบายข้างต้นเน้นลักษณะของวรรณกรรมล้อที่ความขบขันและการเลียนแบบลักษณะบางประการของนักเขียนอื่นซึ่งลักษณะดังกล่าวอาจปรากฏสอดแทรกเป็นบางส่วนบางตอนของวรรณกรรมเรื่องหนึ่งๆหรือเป็นลักษณะทั้งหมดของวรรณกรรมเรื่องใดเรื่องหนึ่งทั้งเรื่องก็ได้ ส่วนคำอธิบายของแอบรัมส์(M.H.Abrams)กล่าวถึงparodyว่าเป็นการ เลียนงานวรรณกรรมเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่มีเนื้อหาและวิธีเขียนเคร่งขรึมจริงจังหรือเอาท่วงทำนองเขียนอันมีลักษณะพิเศษของนักประพันธ์คนใดคนหนึ่งมาล้อเลียนโดยใช้กับเรื่องที่ชั้นต่ำกว่า และใน The Concise Oxford Companion to English Literature อธิบายถึง parody ว่า The term parody first referred to a narrative poem in epic metre, but is not generally restricted in later use. The parodist must both imitiate and create incongruity in relation to the pretext, and parody has, contrary to pastiche, traditionally had a comic dimension. Unlike satire, parody targets a pre-existing text, rather than persons or events in real world.
คำอธิบายทั้งสองนี้เน้นถึงลักษณะของparodyที่เป็นวรรณกรรมซึ่งแต่งขึ้นเลียนแบบและล้อวรรณกรรมเรื่องอื่น โดยมีลักษณะเฉพาะประการสำคัญคือการสร้างความตลกขบขัน น่าหัวเราะ นอกจากนี้ คำว่า parody ยังมีความหมายที่แบ่งออกได้เป็น 2 ประการ ประการแรกคือ กลวิธี (technique)การเลียนแบบและล้อลักษณะบางประการของนักเขียนหรือวรรณกรรมเรื่องอื่นซึ่งผู้แต่งนำมาสอดแทรกไว้ในวรรณกรรมที่แต่งขึ้นแต่การเลียนแบบและล้อนั้นมิได้เป็นโครงสร้างทั้งหมดของวรรณกรรมและความหมายประการที่สองคือเป็นวรรณกรรมซึ่งองค์รวมทั้งหมดสร้างสรรค์ขึ้นโดยเลียนแบบและล้อวรรณกรรมเรื่องอื่น(general parody)ซึ่งอาจเป็นเพียงเรื่องเดียวหรือหลายเรื่องก็ได้ ในที่นี้จะกล่าวถึงวรรณกรรมล้อในความหมายหลัง