สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

การศึกษาเชิงวิเคราะห์เรื่องพุทธศาสนากับการทำแท้ง

ความหมายของการทำแท้ง
การทำแท้งและกฎหมาย
สิทธิของแม่ : วิธีการของนักสตรีศึกษา
ข้อเท็จจริงทางศีลธรรมของการทำแท้ง
ทัศนะทางพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับศีลธรรมในการทำแท้ง
ความเป็นคนเริ่มต้นเมื่อใดตามทัศนะของพุทธศาสนา
การทำแท้งคือการฆ่ามนุษย์ตามทัศนะพุทธศาสนา
เกณฑ์ตัดสินจริยธรรมการทำแท้ง
บทสรุป
เอกสารอ้างอิง

ทัศนะทางพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับศีลธรรมในการทำแท้ง

การทำแท้งเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อนมาก ซึ่งมีหลายแง่มุมมองของแต่ละคนในเรื่องการทำแท้ง ผู้วิจัยจะเน้นพิจารณาไปที่ด้านจริยศาสตร์ในทางพระพุทธศาสนา

การทำแท้งสมัยพุทธกาล

พระวินัยของพระสงฆ์ในพุทธศาสนามีข้อห้ามที่หากภิกษุรูปใดล่วงละเมิดแล้วจะมีโทษร้ายแรงถึงกับต้องให้ลาสิกขาขาดจากความเป็นภิกษุ มีข้อห้าม 4 ข้อ คือ

1. ห้ามร่วมประเวณี
2. ห้ามลักทรัพย์ราคาตั้งแต่ห้ามาสกขึ้นไป
3. ห้ามฆ่ามนุษย์
4. ห้ามอวดคุณวิเศษ เช่น ฌาน สมาบัติ ญาณทัศนะ เป็นต้น



ขอให้สังเกตปาราชิกข้อที่สาม การฆ่าคน พุทธศาสนาถือว่าเป็นบาปหนัก ดังพุทธบัญญัติว่า ภิกษุใดจงใจพรากชีวิตมนุษย์ ภิกษุนั้นเป็นปาราชิก หมดสิทธิ์อยู่ร่วมกับสงฆ์ (ไม่สามารถอยู่ร่วมกับภิกษุอื่นได้อีกต่อไป)(วินย.1/180/137) แม้แต่เพียงทำลายเด็กที่อยู่ในครรภ์ก็ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์ทรงจัดห้ามไว้ในข้อห้ามที่สำคัญที่สุด มีเรื่องเล่าในพระวินัยปิฏกว่า หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติวินัยบัญญัติข้อนี้แล้ว มีภิกษุรูปหนึ่งรับทำแท้งให้กับหญิงคนหนึ่ง เพราะเข้าใจว่าทารกในครรภ์มิใช่คน ภายหลังพระรูปนี้เกิดความสงสัยจึงนำความขึ้นกราบทูลพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ทรงวินิจฉัยว่า พระรูปนี้ต้องอาบัติปาราชิกต้องสละเพศภิกษุ เพราะทารกในครรภ์นั้นมีฐานะเป็นคนแล้วโดยสมบูรณ์ ทั้งนี้เพราะว่าพระภิกษุรูปนี้คิดว่าการทำแท้งมิใช่การฆ่าคน เพราะสภาพของทารกในครรภ์ขณะนั้นเป็นเพียงก้อนเนื้อหนึ่งเท่านั้น ฉะนั้น การพรากชีวิตมนุษย์ (มนุสสะวิคคะหัง) หมายเอา จิตที่เป็นปฐม คือวิญญาณแรกที่ปรากฏในครรภ์มารดา จนกระทั่งถึงมรณะหรือตาย (วินย.1/181/137) ดังนั้น ชีวิตมนุษย์เริ่มตั้งแต่เป็นจิตแรกในท้องมารดาจนถึงตาย

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย