สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

การศึกษาเชิงวิเคราะห์เรื่องพุทธศาสนากับการทำแท้ง

ความหมายของการทำแท้ง
การทำแท้งและกฎหมาย
สิทธิของแม่ : วิธีการของนักสตรีศึกษา
ข้อเท็จจริงทางศีลธรรมของการทำแท้ง
ทัศนะทางพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับศีลธรรมในการทำแท้ง
ความเป็นคนเริ่มต้นเมื่อใดตามทัศนะของพุทธศาสนา
การทำแท้งคือการฆ่ามนุษย์ตามทัศนะพุทธศาสนา
เกณฑ์ตัดสินจริยธรรมการทำแท้ง
บทสรุป
เอกสารอ้างอิง

ความเป็นคนเริ่มต้นเมื่อใดตามทัศนะของพุทธศาสนา

เป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่าเมื่อใดเราจึงจะเรียกอินทรียภาพ (Organism) อันหนึ่งว่าเป็นมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์ ขอให้เราพิจารณาพระพุทธวจนะในพระสูตรต่อไปนี้ว่า

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อปัจจัยสามประการประจวบกันเข้า การตั้งครรภ์ย่อมเกิดขึ้น แม้มารดาและบิดาจะมีเพศสัมพันธ์กัน แต่มารดายังไม่อยู่ในวัยมีระดูและคันธัพพะก็มิได้ปรากฏ การตั้งครรภ์ย่อมไม่สามารถเกิดมีได้ แม้มารดาและบิดาจะมีเพศสัมพันธ์กัน และมารดาก็อยู่ในวัยมีระดู แต่คันธัพพะมิได้ปรากฏ การตั้งครรภ์ย่อมไม่สามารถเกิดมีได้ ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดก็ตามที่มารดาและบิดามีเพศสัมพันธ์กัน มารดาอยู่ในวัยมีระดู (ช่วงเวลาไข่สุก) และคันธัพพะเข้าไปตั้งอยู่ (มีสัตว์ที่เข้าไปเกิด) เมื่อปัจจัยสามประการตามที่กล่าวมานี้ประจวบพร้อม การตั้งครรภ์ย่อมเกิดขึ้น (ม.มู.12/452/487)

ตามพุทธมติข้างต้นนี้ การตั้งครรภ์จะเกิดมีได้ต้องอาศัยองค์ประกอบสามประการ คือ บิดามารดามีเพศสัมพันธ์ทางเพศ มารดาอยู่ในวัยที่จะให้กำเนิดทารกได้ และมีสิ่งที่พุทธศาสนาเรียกว่าคันธัพพะเข้าไปอยู่ในไข่ของมารดาที่ได้รับเชื้อจากบิดาแล้ว องค์ประกอบทั้งสามนี้ต้องประจวบพร้อมในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ ขณะที่มารดา บิดามีเพศสัมพันธ์กันนั้น อสุจิกับไข่ได้ผสมกัน ช่วงเวลาที่สองสิ่งนี้ประจวบกันเข้าก็มีคันธัพพะเข้ามาผสมอีกทางหนึ่ง ครบอย่างนี้การตั้งครรภ์จึงจะเกิดมีได้

พระอรรถกถาจารย์ได้อธิบายคำว่า “คันธัพพะ” ได้แก่ สัตว์ที่มาปรากฏในครรภ์ สัตว์ดังกล่าวหมายเอาปฏิสนธิวิญญาณที่สืบเนื่องมาจากจุติวิญญาณของสัตว์ที่ถึงแก่กรรม ก็คือ สัตว์ผู้ไปเกิด ซึ่งตอนนั้นถือได้ว่าอยู่ในภพก่อน วิญญาณหรือจิตสุดท้ายจะมุ่งหน้ามาสู่กำเนิดโดยมี คตินิมิต เป็นตัวนำ (ม.อ. 2/408/218; วินย.ฏีกา. 2/10/20)

พระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงวิญญาณที่ลงมาถือปฏิสนธินั้นมีความแตกต่างกันดังพุทธพจน์ที่ตรัสว่า

ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย สัตว์บางชนิดในโลกนี้เป็นผู้ไม่รู้สึกตัวขณะก้าวลงสู่ครรภ์มารดา เป็นผู้ไม่รู้สึกตัวขณะอยู่ในครรภ์มารดา เป็นผู้ไม่รู้สึกตัวขณะคลอดจากครรภ์มารดา

สัตว์บางชนิดในโลกนี้ เป็นผู้รู้สึกตัว ขณะก้าวลงสู่ครรภ์มารดา เป็นผู้ไม่รู้สึกตัวขณะอยู่ในครรภ์มารดา เป็นผู้ไม่รู้สึกตัวขณะคลอดจากครรภ์มารดา
สัตว์บางชนิดในโลกนี้ เป็นผู้รู้สึกตัวขณะก้าวลงสู่ครรภ์มารดา เป็นผู้รู้สึกตัวขณะอยู่ในครรภ์มารดา แต่เป็นผู้ไม่รู้สึกตัวขณะคลอดจากครรภ์มารดา
สัตว์บางชนิดในโลกนี้ เป็นผู้รู้สึกตัวขณะก้าวลงสู่ครรภ์มารดา เป็นผู้รู้สึกตัวขณะอยู่ในครรภ์มารดา เป็นผู้รู้สึกตัวขณะคลอดจากครรภ์มารดา (ที.ปา.11/312/205)

การสืบต่อของจิตที่มาเกิดในครรภ์มีการตีความของพระอรรถกถาจารย์สอดคล้องกับพุทธวจนะที่ตรัสไว้ในมหานิทานสูตร
ดูก่อนอานนท์ ! หากวิญญาณไม่หยั่งลงไปในครรภ์ของมารดา นามรูปสามารถเติบโตในครรภ์ได้หรือไม่
ไม่เลย พระเจ้าข้า !
อานนท์ ! หากวิญญาณหยั่งลงในครรภ์มารดาแล้วดับไป นามรูปจะสามารถเติบโตในครรภ์ได้หรือไม่
ไม่เลย พระเจ้าข้า ! (ที.ม.10/115/55)

ในพระสูตรนี้แสดงให้เห็นว่า วิญญาณที่ดับในชาติก่อน เรียกว่า จุติวิญญาณ ส่วนวิญญาณที่เกิดในภพใหม่ เรียกว่า ปฏิสนธิวิญญาณ เมื่อจุติวิญญาณจะดับลงในชาติก่อน ได้ส่งผลบุญหรือบาปออกไปเป็นปัจจัยให้เกิดการปฏิสนธิในชาติใหม่ แต่ปฏิสนธิวิญญาณก็ไม่แตกต่างจากจุติวิญญาณโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้เพราะผลบุญหรือบาปที่จิตวิญญาณส่งมาได้เป็นพลังผลักดันให้เกิดปฏิสนธิวิญญาณนี้ ดังนั้น ปฏิสนธิวิญญาณจึงได้รับมรดกทุกอย่างจากจุติวิญญาณ ผลกรรมที่ทำไว้แต่ชาติก่อนไม่ได้ดับสูญไปพร้อมกับการดับของจุติวิญญาณ ทั้งนี้เพราะผลกรรมเหล่านั้นได้ข้ามไปสถิตอยู่ในปฏิสนธิวิญญาณที่เพิ่งเกิดใหม่ (พระเมธีธรรมาภรณ์ (ประยูร ธัมมะจิตโต), 2533: 18-119)

มีอรรถกถาจารย์ได้อธิบายไว้ว่า ขันธ์ 5 ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สำหรับปฐมจิตเกิดขึ้นครั้งแรกพร้อมกับ อรูปขันธ์ 3 (เวทนา สัญญา และสังขาร) และ กลลรูป ซึ่งเป็นฝ่ายรูปธรรม ดังนั้น ตามหลักพุทธศาสนาชีวิตจึงมีองค์ประกอบขันธ์ 5 ครบสมบูรณ์ ณ วันที่เริ่มปฏิสนธินั่นเอง อนึ่ง กลลรูป เป็นเซลล์ขนาดเล็กมากมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น และจะใช้เวลานานประมาณ 5 สัปดาห์ กว่าจะเริ่มงอกแขนขาและศรีษะออกมาเป็นร่างกายมนุษย์ โดยที่ขั้นตอนเจริญเติบโตกว่าที่งอกเป็นปุ่มปมห้าปุ่ม นี้มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละสัปดาห์ ชีวิตในครรภ์เป็นอย่างไร ดังคำว่า

ปฐมัง กัลลัง โหติ กลลา โหติ อัพพุทัง อัพพุทา ชายเต เปสิ เปสิ นิพพัตตะตี ฆโน ฆนา ปสาขา ชายันติ เกสา โลมา นะขาปิ จะ.

รูปนี้เป็นกกละก่อน จากกลละเป็นอัพพุทะ จากอัพพุทะเป็นเปสิ จากเปสิเกิดเป็นฆนะ จากฆนะเกิดเป็น 5 ปุ่ม (ปัญจสาขา) ต่อจากนั้นมีผม ขนและเล็บ (เป็นต้น) เกิดขึ้น (สัง. ส. 15/803/303;อภิ.ก.37/1560/524)

อธิบายว่า ลำดับการเกิดเป็นระยะๆ ทีละช่วงสัปดาห์หรือช่วงละเจ็ดวันๆ ลำดับแรกที่สุดก็คือ เป็น ปฐมัง กัลลัง เป็นกลละก่อน คำว่า กลละ นี้ในความหมายทั่วไปก็ได้แก่พวกเมือก พวกโคลน เช่นว่าเหยียบลงไปในโคลนหรือในที่เละ แต่ในที่นี้ กลละ เป็นศัพท์ซึ่งมีความเกี่ยวกับชีวิต หมายถึงเป็นเมือกใสหรือหยาดน้ำใส ไม่ใช่ข้นอย่างโคลนตม เป็นหยดที่เล็กเหลือเกิน เล็กจนกระทั่งในสมัยนั้นอุปมาว่า หยาดใสกลละนี้มีขนาดเล็กมากเหมือนอย่างเอาขนจามรีมา จามรีที่เป็นสัตว์อยู่ทางภูเขาหิมาลัย ซึ่งมีขนละเอียดมากเอาขนจามรีเส้นหนึ่งมาจุ่มน้ำมันงา แล้วสลัดเจ็ดครั้ง แม้จะสลัดเจ็ดครั้งแล้วมันก็ยังเหลือติดอยู่นิดหนึ่ง ซึ่งเล็กเหลือเกิน นี่แหละเป็นขนาดของกลละ กลละหมายถึงชีวิตในฝ่ายรูปธรรม เมื่อเริ่มกำหนดในเจ็ดวันแรก



ในช่วงเจ็ดวันแรกก็เป็นกลละอย่างนี้มาก่อน ต่อจากกลละนี้ไปในสัปดาห์ที่ 2 เป็น “อัพพุทะ” ซึ่งเป็นเมือกกลละ คือ เป็นน้ำมันข้น หรือเมือกข้น ต่อจากนั้นในสัปดาห์ที่ 3 ก็จะเป็น “เปสิ” คือเป็นชิ้นเนื้อ ต่อจากนั้นในสัปดาห์ที่ 4 ก็จะเป็นก้อนเรียกว่า “ฆนะ” ต่อจากนั้นในสัปดาห์ที่ 5 ก็จะเหมือนกับมีส่วนงอกออกมา เป็นปุ่มห้าปุ่ม เรียกว่า”ปัญจสาขา” นี่เป็นสัปดาห์ที่ 5 แล้วหลังจากนั้นก็จะมีผมมีขนมีเล็บ

หลังจากนั้นก็จะพัฒนาการต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งครบเก้าเดือน มารดาก็จะคลอดทารกนั้น หากมีการทำแท้งขึ้นไม่ว่ากระบวนใด ถือว่าเป็นการฆ่าชีวิต ซึ่งถือว่าเป็นความผิดและบาป กล่าวคือ การพรากมนุษย์จากชีวิตแม้ในเวลาที่เป็นกลละนี่ ชื่อว่าทำแท้ง หรือทำครรภ์ให้ตกไป ฉะนั้น ก็ได้ความหมายของการทำแท้งหรือฆ่ามนุษย์ในครรภ์ตั้งแต่รูปเล็กที่สุดเป็นกกละ สำหรับภิกษุนี่ชัดเจนแล้วว่าถ้าทำลายชีวิตมนุษย์ตั้งแต่เขาอยู่ในครรภ์มารดา ชื่อว่าทำลายชีวิตมนุษย์ทั้งสิ้น

สรุปความว่า องค์ประกอบของการตั้งครรภ์ในทัศนะพระพุทธศาสนา แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือ องค์ประกอบด้านชีวภาพ ส่วนที่สองคือ องค์ประกอบที่เป็นนามธรรม พระพุทธศาสนาเชื่อต่างจากนักชีววิทยา ลำพังเพียงกระบวนการทางชีววิทยา ทารกไม่สามารถเกิดและเติบโตเป็นมนุษย์ได้เพราะกระบวนการทางชีววิทยาเป็นเพียงปรากฏการณ์ของสสาร พุทธศาสนาไม่เชื่อว่าสสารจะสามารถเจริญเติบโตไปได้อย่างมีทิศทางและซับซ้อนเช่นนั้นได้ สิ่งที่กำหนดให้ไข่ที่ผสมเชื้ออสุจิแล้วเจริญเติบโตอย่างมีระเบียบมีทิศทาง และสามารถมีจิตสำนึกได้ ต้องไม่ใช่ตัวไข่และอสุจิที่เป็นเพียงวัตถุ หากแต่ต้องเป็นสิ่งอื่นที่มีอานุภาพอันซับซ้อน ซึ่งสิ่งนี้พุทธศาสนาเรียกว่า “จิต” หรือ “วิญญาณ”

ขอให้สังเกตว่า นับจากวินาทีแรกที่องค์ประกอบทั้งสามประจบกัน คัมภีร์พุทธศาสนาจะใช้คำว่าสัตว์สำหรับเรียกอินทรียภาพนั้น คำว่าสัตว์ในพุทธศาสนามีหลายความหมายว่า สิ่งนั้นเติบโตเป็นสิ่งนั้นอย่างสมบูรณ์แล้ว อินทรียภาพที่เราเรียกกันว่ามนุษย์นี้จัดเป็นมนุษย์นับจากวินาทีแรกที่ปฏิสนธิ

ทัศนะของพระพุทธศาสนาข้างต้นนี้สำคัญมาก เพราะนี้คือเหตุผลที่จะทำให้พุทธศาสนาสรุปว่า การทำแท้งคือการฆ่ามนุษย์ ทารกที่เพิ่งปฏิสนธิ พุทธศาสนาถือว่าเป็นคนแล้วโดยสมบูรณ์ ความเป็นคนในที่นี้ไม่ได้วัดจากการมีอวัยวะครบถ้วน หากแต่วัดจากการมีขันธ์ห้าครบถ้วน ขันธ์กับอวัยวะเป็นคนละอย่างกัน

นักปราชญ์ที่สนับสนุนให้มีการทำแท้งโดยไม่ถือว่าผิดศีลธรรมมักอ้างว่า ทารกที่เพิ่งปฏิสนธิไม่ใช่คน เหตุผล คือ สิ่งนี้เป็นเพียงก้อนเนื้อที่ปรากฏอวัยวะให้เห็นรางๆ เท่านั้น ความเป็นคนต้องวัดจากการมีอวัยวะครบถ้วนบริบูรณ์ในทัศนะของนักปราชญ์เหล่านี้ การอ้างว่าทารกที่เริ่มปฏิสนธิ คือ คนที่เหมือนกับอ้างว่า เมล็ดมะม่วงกับต้นมะม่วงเป็นสิ่งเดียวกันนั้นเอง

สำหรับพระพุทธศาสนา การมีอวัยวะครบหรือไม่ครบไม่ใช่เกณฑ์สำหรับวัดว่าอินทรียภาพนั้นเป็นคนหรือไม่ เพราะหากใช้เกณฑ์นี้วัด คนพิการก็คงมีความเป็นคนน้อยกว่าคนปกติ สิ่งที่ใช้วัด คือ การมีขันธ์ห้าครบถ้วน มนุษย์ไม่ว่าจะมีร่างกายพิกลพิการหรือปกติ พุทธศาสนาถือว่ามีความเป็นคนเท่าเทียมกัน ทั้งนี้เพราะเมื่อพิจารณาในแง่ของขันธ์ คนพิการก็มีขันธ์เท่ากับคนปกติ

ขันธ์ห้ามีขั้นตอนการพัฒนาสองขั้นตอน ขั้นตอนแรกคือ ตอนที่เราอยู่ในครรภ์ ขั้นตอนที่สองคือ ตอนที่เราคลอดไปจนถึงตาย อินทรียภาพที่เพิ่งปฏิสนธิแม้จะมีขันธ์ห้าครบ แต่ขันธ์เหล่านี้อยู่ในภาวะที่ยังไม่แสดงตัวเต็มที่ ขันธ์เหล่านี้อยู่ในสภาพแฝง (Potentiality) ทารกนั้นอาจจะยังไม่มีความคิด ความรู้สึก แต่เขามีสมรรถนะที่จะคิดและรู้สึกสมบูรณ์ในตัว เขาอาจจะยังไม่มีอวัยวะครบถ้วนและชัดเจนเหมือนเรา แต่เขามีสมรรถนะที่จะเจริญเติบโตเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในวันข้างหน้า ขันธ์ห้าจะเปลี่ยนสภาพจากการเป็นภาวะแฝงมาเป็นภาวะที่ปรากฏ (Actuality) เมื่อคนเราคลอดออกจากครรภ์มารดา ได้รับรู้และเรียนรู้สิ่งต่างๆ มีความคิด อารมณ์ ความรู้สึก และทัศนะต่อสรรพสิ่ง

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย