สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
การศึกษาเชิงวิเคราะห์เรื่องพุทธศาสนากับการทำแท้ง
ความหมายของการทำแท้ง
การทำแท้งและกฎหมาย
สิทธิของแม่ : วิธีการของนักสตรีศึกษา
ข้อเท็จจริงทางศีลธรรมของการทำแท้ง
ทัศนะทางพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับศีลธรรมในการทำแท้ง
ความเป็นคนเริ่มต้นเมื่อใดตามทัศนะของพุทธศาสนา
การทำแท้งคือการฆ่ามนุษย์ตามทัศนะพุทธศาสนา
เกณฑ์ตัดสินจริยธรรมการทำแท้ง
บทสรุป
เอกสารอ้างอิง
เกณฑ์ตัดสินจริยธรรมการทำแท้ง
เพื่อให้มีลักษณะที่ยืดหยุ่น
และมีผลเป็นไปในทางปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาจึงได้มีการพิจารณาเกณฑ์ตัดสินทางจริยธรรมการทำแท้งดังนี้
คือ
พิจารณาตัดสินตามเกณฑ์หลัก
การวินิจฉัยเกณฑ์ตัดสินปัญหาเรื่องการทำแท้งที่เป็นปัญหาจริยธรรมนี้
ต้องตัดสินความเป็นกุศลหรืออกุศล เป็นหลักแกนกลาง แล้วขยายลดลงตามลำดับ
นอกจากนั้นให้ใช้ความสำนึกกับความดีความชั่วของตนเองอย่างที่เรียกว่า เกิดมโนธรรม
ที่เป็นฐานของหลักหิริโอตตัปปะ นอกจากนั้นก็พิจารณาผลของการกระทำ
อันจะเกิดแก่ตนและผู้อื่น
หรือบุคคลในสังคมที่เกี่ยวข้องโดยการวินิจฉัยถือเอาเจตนาเป็นหลักตัดสินว่าเป็นไปในทางดีหรือไม่ได้
พิจารณามูลเหตุว่า เป็นเจตนาที่เกิดจากกุศลมูล คือ อโลภะ ไม่มีความโลภ
เลี้ยงชีพโดยสุจริต อโทสะ ไม่มีความอาฆาตเคียดแค้น หรือมีความพยาบาทต่อผู้อื่น
และอโมหะ ไม่มีความหลงผิด มีปัญญารู้เท่าทัน มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์
หรือเกิดจากอกุศลมูล คือ มีโลภะ โทสะ โมหะ ที่เกิดขึ้นในลักษณะตรงกันข้ามกับข้างต้น
พิจารณาถึงสภาวะการณ์ที่มีสภาพเกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจหรือไม่
ส่งเสริมหรือบั่นทอนคุณภาพและสมรรถภาพของจิตใจหรือไม่
หรือช่วยให้กุศลธรรมทั้งหลายมีความเจริญงอกงามขึ้น ตลอดจนมีผลต่อบุคลิกภาพอย่างไร
(พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตโต), 2535: 179)
พิจารณาตัดสินตามเกณฑ์รอง
การพิจารณาในเกณฑ์รองนี้
เป็นลักษณะของความสำนึกเกี่ยวกับความดี ความชั่วของตนเอง โดยใช้หลัก มโนธรรม
ในการพิจารณา ดังนี้คือ
- ใช้มโนธรรม คือ ความรู้สึกผิดของชั่วดีของตนเองโดยพิจารณาว่า การกระทำนั้นตนเองติเตียนตนเองได้หรือไม่ เสียความเคารพตนหรือไม่
- พิจารณาความยอมรับของวิญญูชนหรือนักปราชญ์หรือบัณฑิตชนว่าเป็นสิ่งที่วิญญูชนยอมรับหรือไม่ ชื่นชมสรรเสริญหรือตำหนิติเตียนอย่างไร
- พิจารณาลักษณะ
และผลของการกระทำทั้งต่อตนเองและต่อผู้อื่นโดยการพิจารณาอย่างแยบคายว่า
- เป็นการเบียดเบียนตน เบียดเบียนผู้อื่น ทำให้ตนเองหรือผู้อื่นเดือดร้อนหรือไม่
- เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขหรือเป็นไปเพื่อทุกข์ทั้งแก่ตนและผู้อื่นหรือไม่
จากเหตุผลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า หลักเกณฑ์นี้ว่าโดยสาระเป็นอันเดียวกัน
หรือมุ่งพิจารณาความเกื้อกูลหรือไม่เกื้อกูลต่อคุณภาพของชีวิตจิตใจ
และเป็นการยอมรับหรือไม่ยอมรับของนักปราชญ์ การติเตียนหรือสรรเสริญของวิญญูชน
ซึ่งจะปรากฏอยู่ในรูปของบัญญัติทางศาสนาบ้างขนบธรรมเนียมประเพณีบ้าง กฎหมายบ้าง
เป็นต้น แม้ข้อบัญญัติทางสังคมเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเป็นมติของวิญญูชนติเตียนเสมอไป
แต่ก็พอจะพูดออกไปได้ว่า ส่วนที่แตกต่างนี้เป็นข้อยกเว้น
ซึ่งเป็นกิจของวิญญูชนนั่นแหละ ที่จะต้องหมั่นตรวจสอบเรื่องเหล่านี้
ในแต่ละเวลาแต่ละสมัย แต่ละครั้ง แต่ละคราวเรื่อๆ ไป นั่นคือ การใคร่ครวญแล้วจึงทำ
ฉะนั้น ในการพิจารณาเกณฑ์ตัดสินความดีและความชั่วโดยดูที่ผลนี้
สามารถพิจารณาได้ 3 ลักษณะ คือ
1. พิจารณาว่า การกระทำนั้นส่งผลเป็นทุกข์หรือสุขแก่ตนเอง
2. พิจารณาว่า การกระทำนั้นส่งผลเป็นทุกข์หรือสุขแก่คนอื่น
3. พิจารณาว่า การกระทำนั้นส่งผลเป็นทุกข์หรือสุขทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น
ในการพิจารณาว่า การกระทำนั้นส่งผลเป็นทุกข์หรือเป็นสุขนี้
บางครั้งเป็นเรื่องซับซ้อนละเอียดอ่อน
โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการทำแท้งซึ่งเป็นปัญหาจริยธรรมนี้
เราอาจไม่สามารถที่จะตัดสินได้ง่ายๆหรือหยาบๆ ว่า นี้คือการกระทำที่ก่อให้เกิดทุกข์
นี่คือการกระทำก่อให้เกิดสุข อย่างไรก็ตาม หลักทางพุทธศาสนาเชื่อว่า
เมื่อเราใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองอย่างละเอียดรอบคอบถึงที่สุดแล้ว
เราจะสามารถวินิจฉัยได้ทุกกรณี
เพียงแต่ว่าเราอาจจะวินิจฉัยได้ยากหรือง่ายเหมือนกันหรือแตกต่างกันมากน้อยเพียงใดเท่านั้นเอง
ข้อสังเกต
ข้างบนนี้แสดงว่าพระพุทธศาสนามองเรื่องการทำแท้งว่าเป็นการฆ่ากรรมมนุษย์
นี่อาจก่อให้เกิดผลของกรรมที่เหมาะสมอย่างแน่นอน
เป็นไปไม่ได้ที่การทำแท้งจะไม่มีความเกลียดชังต่อเด็กที่ยังไม่เกิด
ไม่มีความเกลียดใด ๆ หรือความชังในจิตใจ ครั้งหนึ่งการทำแท้งที่ทำลงไปแล้ว
ผลที่เจ็บปวดเป็นสิ่งที่หวังได้แน่ มันก็เหมือนกับการปลูกเมล็ดพืช
เมื่อเมล็ดพืชถูกปลูกลงไป ผลย่อมจะเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว
เรื่องชาดกในพระพุทธศาสนากล่าวถึงบุคคลที่ทำแท้งตกอยู่ในนรก พร้อมทั้งการฆ่ามารดา
และการผิดประเวณี (ชาตก, 5/269) อีกคัมภีร์หนึ่งชื่อ เปตวัตถุ
พวกเราได้พบสองเรื่องเกี่ยวกับภรรยาหลวงขี้ริษยา
ซึ่งทำแท้งแก่ภรรยาน้อยทั้งสองเรื่องนั้น สตรีนั้นกลับไปเกิดใหม่เป็นปีศาจตัวเหม็น
และต้องกินลูกของตนอย่างตะกละเพราะผลของการทำชั่วของตน
เกิดคำถามขึ้นว่าสมมติว่าสตรีคนหนึ่งทำแท้ง
ต่อมาเธอเสียใจในการกระทำของตนเพราะกลัวผลของกรรม
พุทธศาสนาจะให้คำแนะนำหรือคำปลอบใจอย่างไรแก่เธอ?
สำหรับเธอจะต้องคิดไหมว่าเรื่องของเธอนั้นได้จบไปแล้ว ณ ที่นี้?
น่าสังเกตว่ากรรมวิบากไม่ตายตัวแน่นอนกับเป้าหมายเวลา
แต่ยังคงมีพลังอยู่จนกระทั่งเงื่อนไขทั้งหลายนั้นจะเหมาะสมสำหรับการกระทำเหล่านั้น
อันจะมาส่งผลต่อไป และเงื่อนไขเหล่านี้ไม่สามารถนับเป็นจำนวนได้
บรรดาเงื่อนไขเหล่านี้ สิ่งสำคัญคือ การกระทำในปัจจุบันและอนาคตของพวกเรา
บางอย่างการทำชั่วของพวกเราอาจทดแทนด้วยการทำดีได้ สำหรับสตรีที่ทำแท้งไปแล้ว
พระพุทธศาสนาสอนไม่ให้ทุกข์ทรมานอยู่กับความผิดของตน และความเสียใจที่ไร้ประโยชน์
แต่สอนให้ยอมรับความผิดของตน และแก้ไขโดยการงดเว้นความชั่วในอนาคต
มีพระอรหันต์หลายองค์ในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาที่ทำความผิดอันไม่พึงประสงค์
ถ้าสตรีนั้นทำแท้งสิ่งที่ดีที่สุดที่หล่อนต้องทำก็คือ ยอมรับโทษของตน
งดเว้นความชั่วในอนาคต ทำจิตให้ผ่องใส และปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
โดยมุ่งไปสู่ความหลุดพ้นคือ พระนิพพาน