สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

เศรษฐกิจพอเพียงคือฐานแห่งคุณธรรมนำสู่สังคมสมานฉันท์

โดย พ.อ.อินทวัชร ลี้จินดา

       เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชี้แนวทางสายกลางในการดำรงอยู่อย่างมั่นคง และยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ พระองค์ทรงยึดถือเป็นวัตรปฏิบัติ ดังที่ทรงมีพระราชดำรัสเมื่อ 4 ธันวาคม 2546 เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา กระแสพระราชดำรัสตอนหนึ่งทรงปรารภถึงพระราชดำรัสของสมเด็จพระราชชนนีว่า “ ภูมิพลต้องเหยียบดิน ถึงเดินไปบนภูเขาก็เดินบนดิน ” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยึดถือเป็นอนุสติตลอดมา ทรงมีพระราชดำรัสในคราวเดียวกันอีกว่า “ พอเพียงไม่ใช่เศรษฐกิจ เป็นความคิด ให้สามารถทำอะไรอยู่ได้ แม้แต่กองทัพ ” ทรงมีพระประสงค์ที่จะชี้ให้เห็นว่าความพอเพียงนั้นสามารถใช้ได้กับทุกด้าน

การทำมาหากินของคนเรานั้น ก็ต้องหาให้พอกินในบ้านก่อน ถ้าหามาได้มากก็แบ่งปันให้เพื่อนบ้าน และถ้าขายได้ก็ขาย วิถีดังเดิมของคนไทยส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา มีขนบธรรมเนียมประเพณีเกี่ยวเนื่องกับการทำนาเรียกว่า “วัฒนธรรมข้าว” มีภูมิปัญญาคารวะธรรม สามัคคีธรรม และปัญญาธรรม นำสู่สังคมสมานฉันท์ ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์มาตั้งแต่ยุคสุโขทัย ดังศิลาจารึกหลักที่ 1 ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงว่า “ เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงินค้าทองค้า ไพร่ฟ้าหน้าใส ” แสดงให้เห็นว่ามีการค้าขายมาตั้งแต่ยุคสุโขทัย คนไทยส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา มีวิถีในการดำเนินชีวิตในทางสายกลางอันเป็นหนทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เรียกว่ามรรค 8 มีสัมมาอาชีวะเป็นหนึ่งในมรรค 8 ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงคือวิถีดั่งเดิมของคนไทย จึงเป็นฐานแห่งคุณธรรม ในยุคสุโขทัยนั้นมีลักษณะการปกครองแบบพ่อปกครองลูก ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงจึงแสดงถึงน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงมีพระเมตตาต่อพสกนิกรดังพ่อแห่งแผ่นดิน

การทำนาของไทย แต่ก่อนใช้คนเกี่ยวข้าว ใช้ควายไถนา มีการลงแขกเกี่ยวข้าว คือการที่เราไปช่วยเพื่อนบ้านเกี่ยวข้าวที่นาของเขาก่อน แล้วเขาก็จะมาช่วยเราเกี่ยวข้าวที่นาของเราเป็นการตอบแทน เรียกว่า “ ไปเอาแรงเขาไว้ก่อน แล้วเขาก็จะมาใช้แรงเราภายหลัง ” ทำให้เกิดความรัก ความสามัคคี แต่ปัจจุบันนี้เปลี่ยนเป็นการจ้าง การใช้เครื่องจักรแทนการใช้แรงงานคนและสัตว์

เมื่อประมาณ 50 ปีที่ผ่านมาเคยมีโรงสีข้าวขนาดเล็กอยู่ตามริมแม่น้ำ โรงสีขนาดเล็กบริการสีข้าวให้ชาวบ้านโดยไม่คิดค่าจ้าง แต่เจ้าของโรงสีจะได้รำข้าวและปลายข้าวที่ได้จากการสีข้าวเป็นการตอบแทนแล้วขายรำข้าวและปลายข้าวให้ชาวบ้านนำไป เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ โรงสีขนาดเล็กเป็นการบริการชุมชน เอื้อประโยชน์ต่อการผลิตเพื่อบริโภค ทำให้ชาวนามีที่สีข้าวสารสำหรับบริโภค

นอกจากนี้ผู้คนยังใช้เรือบรรทุกข้าวขนส่งทางน้ำ การขนส่งทางน้ำบรรทุกได้มากกว่าการขนส่งทางรถยนต์ ค่าขนส่งทางน้ำถูกกว่าทางรถยนต์ ต่อมามีนายทุนตั้งโรงสีข้าวขนาดใหญ่รับซื้อข้าวส่งขายต่างประเทศ พ่อค้าคนกลางใช้รถยนต์ออกไปรับซื้อข้าวเปลือกถึงยุ้งข้าวชาวนา ชาวนาพากันขายข้าวเปลือก ไม่นำข้าวเปลือกไปสีตามโรงสีขนาดเล็ก โรงสีขนาดเล็กอยู่ไม่ได้ต้องปิดกิจการ ชาวนาเปลี่ยนวิถีจากผู้ผลิตเพื่อบริโภคเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายผ่านกลไกตลาด ชาวนาไม่ได้บริโภคข้าวที่ตนเองผลิต แต่ซื้อข้าวสารจากตลาดมาบริโภค สังคมชาวนาเข้าสู่ระบบบริโภคนิยม ละทิ้งภูมิปัญญาการเป็นผู้ผลิตเพื่อบริโภค ละทิ้งการใช้บริการของชุมชน ทำให้ต้องใช้เงินซื้อจากตลาดมาบริโภค ตลาดเป็นของนายทุน เขาจำหน่ายเพื่อหวังกำไร ชาวนาจึงประสบปัญหาซื้อของแพงมาบริโภค

เราต้องแก้ไขโดยการสร้างสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจพอเพียง คือสร้างกระแสในระดับชาติ ด้วยการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้คนหันมาบริโภค นุ่งห่ม อยู่อาศัยอย่างพอเพียง และสร้างบทบาทผู้ผลิตเพื่อบริโภคในท้องถิ่นให้เข้มแข็ง ให้เกิดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจพอเพียง อัลวิน ทอฟฟเลอร์ นักวิชาการและนักวิจารณ์สังคมมีชื่อได้กล่าวไว้ในหนังสือคลื่นลูกที่สามว่า “ ตราบใดที่ยังมองไม่เห็นความสำคัญของผู้ผลิตเพื่อบริโภค ตราบนั้นจะไม่มีวันแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้เลย เส้นกั้นระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคเริ่มลบเลือน บทบาทของผู้ผลิตเพื่อบริโภคกำลังจะเปลี่ยนสภาพการตลาด วิถีชีวิตของเราจะเปลี่ยนไป ระบบของโลกจะเปลี่ยนไป ” การผลิตเพื่อบริโภคแม้ไม่เกิดมูลค่า แต่ไม่ต้องซื้อมาบริโภค ทำให้ประหยัดรายจ่าย เกิดความพอเพียงแก่ตนเอง ครอบครัวและชุมชน มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขนำสู่สังคมสมานฉันท์

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้รับการยอมรับในระดับโลก เมื่อ 26 พฤษภาคม 2549 องค์การสหประชาชาติโดยเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ นาย โคฟี อันนัน ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล The Human Development Lifetime Achievement Award และได้กล่าวปาฐกถาถวายราชสดุดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่เริ่มจากการสร้างภูมิคุ้มกันในตนเอง สู่หมู่บ้านและสู่เศรษฐกิจในวงกว้าง มีประโยชน์ต่อประเทศไทยและนานาประเทศ องค์การสหประชาชาติสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกทั้ง 166 ประเทศ ยึดเป็นแนวทางการพัฒนาประเทศแบบยั่งยืน

คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมารณรงค์เผยแพร่ มีหลักการ 3 ประการ คือ พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน และ 2 เงื่อนไข คือ ความรู้ และคุณธรรม

  • หลักการประการที่ 1 คือ ความพอประมาณ ความพอดี ความซื่อตรง ไม่โลภมาก ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ไม่เกินกำลังความสามารถของตนเองจนทำให้ให้เกิดความลำบากในภายหลัง
  • หลักการประการที่ 2 คือความมีเหตุผล ความเหมาะสมทั้งต้นและปลาย ความเป็นไปได้ในการผลิต การเล็งเห็นผลของความเพียรที่ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น การผลิตเพื่อจำหน่ายต้องมีการลงทุน การจำหน่ายใช้ระบบเงินตราแลกเปลี่ยนสินค้า ต้องจำหน่ายสินค้าให้ได้โดยไม่ขาดทุน ยุคปัจจุบันเป็นยุคโลกาภิวัตน์ทุกมุมโลกจะแยกย่อยและหลากหลายมากขึ้น แต่จะมีการเชื่อมโยงกันด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ ความมีเหตุผลจะนำสู่ความสมดุล มั่นคง ความยั่งยืนของชีวิต เศรษฐกิจและสังคม
  • หลักการประการที่ 3 คือการมีภูมิคุ้มกัน ความพอประมาณและความมีเหตุผลจะเป็นภูมิคุ้มกันความเปลี่ยนแปลงภายในและภายนอก ทางสายกลางเป็นทางเลือกในการตัดสินใจเผชิญกับความไม่แน่นอนในอนาคต หลักการทั้ง 3 ประการดังกล่าวจะต้องตั้งอยู่บนเงื่อนไข 2 ประการ

เงื่อนไขประการที่ 1
คือความรู้หมายถึง ความรอบรู้ในทางทฤษฎี หลักการ วิชาการที่เกี่ยวข้องอย่างสมบรูณ์รอบด้าน ความรอบคอบบูรณาการเชื่อมโยงในขั้นการวางแผน และความระมัดระวัง มีสติในการนำไปใช้ในขั้นการปฏิบัติ

เงื่อนไขประการที่ 2
คือคุณธรรมหมายถึงการประกอบสัมมาชีพ มีความซื่อสัตย์ สุจริต ความอดทน ความเพียร และใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต มีความรับผิดชอบทางจริยธรรมต่อสังคม

ด้วยคุณธรรมของเศรษฐกิจพอเพียง คือ ความซื่อสัตย์ สุจริต ความอดทน และความเพียร จึงทำให้เกิดความพอเพียงแก่ตนเอง ดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความสุข ครอบครัวอบอุ่น สร้างสามัคคีธรรมขยายสู่ชุมชน นำสู่สังคมสมานฉันท์ เศรษฐกิจพอเพียงจะทำให้เกิดความพอเพียงขึ้นภายในประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของโลกขยายออกไปสู่ภูมิภาค หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำไปใช้ในด้านต่าง ๆ จึงเป็นปรัชญาในการพัฒนาประเทศแบบยั่งยืนและมั่นคง ข้าราชการและประชาชนทุกหมู่เหล่าสมควรที่จะปฏิบัติตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง เพื่อประโยชน์สุขแก่ตนเองและประโยชน์ต่อประเทศชาติ เพื่อเป็นพรอันประเสริฐน้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงมีพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาความยากจนของราษฎร นำชาติให้รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ เพื่อให้อาณาประชาราษฎร์อยู่เย็นเป็นสุขสมดังมโนปณิธานที่ทรงประกาศปฐมบรมราชโองการว่า “ เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ” อันเป็นพระบรมโพธิสมภารรักษาเอกราช และความเป็นราชอาณาจักรไทยสืบไป

เอกสารอ้างอิง

  1. สำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคง. “บทความเฉลิมพระเกียรติผ่านรอบคัดเลือก ทภ.3” โครงการประกวด คำขวัญ กลอนสุภาพ และบทความเฉลิมพระเกียรติฯ 5 ธันวามหาราช หัวข้อเศรษฐกิจพอเพียงคือฐานแห่งคุณธรรมนำสู่สังคมสมานฉันท์.
  2. อัลวินทอฟฟเลอร์. “ คลื่นลูกที่สาม” กทม.:นานมีบุค
  3. http:// www.doae.go.th “หลักการแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง” คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  4. http:// www.kanchanapisek.or.th “โรงสีข้าวตัวอย่าง”
  5. http:// www.nairobroo.com “ภาพเรือโยง”
  6. http:// www.thaiflight.com “ภาพเรือบรรทุกข้าว”

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย