สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
ความหมายของบรรพชนไทย
ข้าวและวิถีชีวิตของคนในชุมชน
การตั้งถิ่นฐานของบรรพชนไทย
แนวคิดที่เชื่อว่าชนชาติไทยอยู่บริเวณเอเชียกลางฯ
แนวคิดที่เชื่อว่าชนชาติไทยอยู่บริเวณมณฑลเสฉวนเทเรียน
แนวคิดที่เชื่อว่าชนชาติไทยอยู่บริเวณทางใต้ของจีน
แนวความคิดที่เชื่อว่าชนชาติไทยตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่เป็นประเทศไทย
แนวความคิดที่เชื่อว่าถิ่นกำเนิดของชนชาติไทยอยู่บริเวณคาบสมุทรอินโดจีนฯ
ความหมายของประวัติศาสตร์
หลักฐานทางประวัติศาสตร์
ร่องรอยทางประวัติศาสตร์
ข้าวและวิถีชีวิตของคนในชุมชน
ศ.ดร.อรอนงค์ นัยวิกุล. (2552) กล่าวว่า ข้าวมีความหมายมากกว่าอาหารที่เรารับประทานทุกมื้อ แต่เป็นรากฐานของวิถีชีวิต ความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรมของกลุ่มชุมชนชาวไทยมาตั้งแต่อดีต เป็นการกำหนดระเบียบแบบแผนให้กับสังคม ชาวนาเชื่อว่าแม่โพสพ เป็นผีหรือเทวดาประจำพืช จึงบูชากราบไหว้เป็นเสมือนเทพธิดาแห่งข้าว
ตามหลักฐานทางโบราณคดีและมานุษยวิทยาให้ความเห็นว่าแหล่งเกิดของข้าวตามธรรมชาติอยู่ในแถบชายเทือกเขาหิมาลัย ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีนและตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ต่อมามนุษย์ได้เริ่มปลูกข้าวและแพร่กระจายพื้นที่ปลูกทั่วไป รวมทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของประชากรชาวไทยในปัจจุบัน การพบรอยเปลือกเมล็ดข้าวที่ขุดพบในหลุมฝังศพ หรือจากแกลบที่อยู่ในอิฐก่อสร้างโบราณสถานของประเทศไทยพิสูจน์ว่าบริเวณนี้เป็นแหล่งปลูกข้าวมานานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ คาดว่ามีอายุประมาณกว่า 5,000 ปี
ประเทศไทยสามารถส่งออกข้าวไปขายต่างประเทศมาตั้งแต่สมัยโบราณ ข้าวสยามมีชื่อเสียงด้านความหอมและความนุ่ม เอกลักษณ์ของข้าวสยามเป็นข้าวเมล็ดยาวเรียว ข้าวอย่างดีที่สุดมักจะใสมาก อย่างเลวมักจะมีจุดขาวด้านท้องเมล็ด ส่วนข้าวพม่าจะมีเมล็ดอ้วน สั้น และขาวด้านทั้งเมล็ดภูมิประเทศของไทยมีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของทั้งข้าวป่า และข้าวปลูก โดยมีข้าวป่าแพร่กระจายทั่วประเทศถึง 5 ชนิด ข้าวป่าข้ามปี (O.rufipogon Griff) และข้าวป่าปีเดียว (O.nivara Sharma et Shastry) เป็นบรรพบุรุษของข้าวปลูกในเอเชีย ตลอดจนความหลากหลายของพันธุกรรมข้าวปลูก ซึ่งในปัจจุบันสถาบันวิจัยข้าวได้รวบรวมพันธุ์ข้าวป่า และพันธุ์ข้าวปลูกของไทยไว้มากกว่า 19,000 ตัวอย่าง
จึงเป็นที่ยอมรับว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กำเนิดและแพร่กระจายของข้าวเอเชีย ดังนั้นจึงควรที่ประเทศไทยจะอนุรักษ์พันธุ์ข้าวป่าอันเป็นทรัพยากรธรรมชาติของพื้นที่ในเขตนี้ ชุมชนชาติพันธุ์ในภาคเหนือของประเทศไทยปลูกข้าวเป็นพืชหลัก ทั้งกลุ่มที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ราบ และกลุ่มที่อยู่บนพื้นที่สูง ไหล่เขา และบนภูเขาต่าง ๆ เช่น อ่าข่า ลีซู ลาหู่ ปกากญอ ม้ง เมี่ยน และชาวไต เกือบทุกชาติพันธุ์ให้ความสำคัญกับข้าวมากเทียบเท่าชีวิตของผู้คน สังเกตได้จากพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับไร่ข้าว ต้องมีความเป็นระเบียบแบบแผน สัมพันธภาพที่สอดคล้องและเกื้อกูลระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ก่อนปลูกข้าวในชุมชนอ่าข่าต้องประกอบพิธีล้างข้าวเพื่อความเป็นสิริมงคลเสมอ โดยนำน้ำจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์มาประกอบพิธี และเริ่มการปลูกข้าวพร้อมกันทั้งชุมชน ...ย้ายที่ทำไร่สิบครั้ง อย่าลืมจัดพื้นที่ไว้สำหรับการทำพิธีขวัญข้าวด้วย...
พื้นที่ที่กันไว้สำหรับขวัญข้าวนั้นไม่เล็กและไม่ใหญ่มาก ขนาดประมาณสี่ตารางวา หรือประมาณสิบหกตารางเมตร โดยชาวอ่าข่าเชื่อว่าพื้นที่บริเวณขวัญข้าวนั้นเป็นจุดเชื่อมต่อของพื้นที่ไร่ของโลกมนุษย์และโลกแห่งวิญญาณบรรพชน เป็นพื้นที่ของการสื่อสารและส่งสาร สำหรับมนุษย์และวิญญาณบรรพชน ในห้วงเวลาที่เป็นกลางวันของมนุษย์ คือกลางคืนของผี หรือบรรพชน และในเวลากลางคืนของเรา คือเวลากลางวันของเขา เป็นต้น ดังนั้น ในเวลากลางคืนที่ทุกคนพักผ่อนนอนหลับ วิญญาณบรรพชนนั้นตื่นอยู่ และกำลังทำไร่ทำนาอยู่ พิธีกรรมทุกอย่าง และการประพฤติปฏิบัติทุกสิ่งล้วนมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างเหนียวแน่นโยงใยระหว่างโลกมนุษย์ และโลกวิญญาณ
การประกอบพิธีไล่แมลงในไร่ข้าว การบูชาเทวดาแห่งผลผลิตการเกษตรผ่านพิธีโล้ชิงช้า ล้วนเกิดขึ้นทั้งสองแห่งในเวลาเดียวกันผู้เฒ่าผู้แก่และผู้อาวุโสชาวไตลื้อ และชาวไตยองอบรมสั่งสอนลูกหลานเสมอ ๆ ให้สร้างยุ้งฉางเก็บข้าวคู่กับการสร้างบ้าน โดยสอนว่า มีเงินสร้างบ้านได้แต่ทำไมสร้างยุ้งฉางที่มีเสาเพียงสี่เสาไม่ได้ ยุ้งฉางมีความสำคัญเทียบเท่ากับบ้านอีกหลังหนึ่งของครอบครัว ที่ต้องมีระเบียบแบบแผนขั้นตอนในการดำเนินวิถีสืบทอดไป การสร้างยุ้งฉางต้องมีการบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางและบรรพชนทุกครั้ง รวมถึงการเปิดและการปิดยุ้งฉางต้องมีระเบียบพิธีกรรมเช่นกันชาวไตในอดีตมองเห็นข้าวเป็นชีวิต และเป็นสิ่งที่มีชีวิต มีเจ้าของ มีผู้ครอง ก่อนจะลงมือกระทำสิ่งใดกับข้าว ต้องบอกกล่าวเสมอ ๆ รวงข้าวแม้แต่รวงเดียวก็ไม่ปล่อยทิ้งไว้ในไร่ ต้องเกี่ยวให้หมด ถือว่าข้าวเป็นสิ่งที่สูง ดังนั้น จะไม่มีการซื้อขาย แต่จะนำข้าวไปแลกในกรณีที่มีความจำเป็นจริง ๆ และเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ก็ต้องนำข้าวเข้ายุ้งฉางก่อนเสมอ เพื่อให้ข้าวรับรู้และปรับสภาพก่อน โดยมีความเชื่อว่าข้าวที่อยู่ในยุ้งจะนำโชคดีมาให้เจ้าขอบ้าน เช่นเดียวกับเงินที่ได้มา ให้เก็บไว้ในกระเป๋าหรือในบ้านก่อน ที่จะนำไปใช้จ่าย
ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดเจนทั้งในทางความเชื่อและการปฏิบัติ กล่าวคือ เมื่อถึงฤดูเกี่ยวข้าว เกษตรกรจ้างรถเกี่ยว และสีข้าวในนาเดี๋ยวนั้นเลย ผู้รับเหมาและเกษตรกรจะช่วยกันบรรจุข้าวลงในกระสอบพร้อมขายให้กับพ่อค้าคนกลาง หรือโรงสีข้าวทันที เนื่องจากต้องการเงิน หรือต้องการความรีบด่วนในการทำงาน ต้องการความสะดวกสบายมากขึ้นในการเก็บเกี่ยว ในบางพื้นที่พบว่ามีการขโมยข้าวที่วางไว้ในทุ่งนาด้วย ดังนั้นข้าวจึงไม่รู้จักยุ้งฉาง นอกจากข้าวที่เกษตรกรจะใช้สำหรับรับประทานในครอบครัว จึงนำขึ้นยุ้ง เช่นเดียวกับเงินตราในปัจจุบัน ที่คนรุ่นใหม่มักไม่สนใจที่จะเก็บเงินทองไว้กับตัว แต่ใช้ระบบหมุนเงิน และใช้ระบบเครดิตมากกว่า ง่ายและสะดวกต่อการจัดการ รวมทั้งง่ายต่อการจับจ่ายใช้สอยอีกด้วย
หลายครั้งที่พบเหตุการณ์ที่คนรุ่นใหม่เป็นหนี้สถาบันการเงินมากมายจนกระทั่งไม่สามารถหาเงินมาใช้คืนได้และเมื่อได้ผ่านไปบริเวณถนนสายหลักของหลายจังหวัดในภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย บริเวณที่เคยเป็นพื้นที่นาข้าว และไร่ข้าว กลับกลายเปลี่ยนแปลงเป็นสวนยางพารา บ้านจัดสรร ตึกแถวร้านค้า การขยายตัวทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นมากอย่างน่าตกใจ แม้ในเขตพื้นที่ป่า หรือนา ริมฝั่งโขงของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ก็กลายเป็นสวนยางพารา ศุนย์การค้าและสถานบันเทิงต่าง ๆ ตึกแถวห้างร้านผุดขึ้นจนไม่สามารถนึกถึงภาพเดิมของพื้นที่นั้นได้เลย ในขณะที่ประชาคมโลกกล่าวถึงสภาวะเศรษฐกิจวิกฤติ และความมั่นคงทางอาหาร