ศิลปะ หัตถกรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม สันทนาการ >>

ความหมายของคำว่าศิลปะไทย

      มนุษย์มีวิถีชีวิตแตกต่างจากสรรพสัตว์ สามารถสร้างแบบแผนในการดำเนินชีวิต การประกอบอาชีพ การสร้างที่อยู่อาศัย สร้างสิ่งประดิษฐ์ เคารพกฎแห่งการอยู่ร่วมกันในสังคม สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้คือ วัฒนธรรม “ศิลปะ” เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเกิดขึ้นจากประสบการณ์ การสั่งสมสืบทอด มีการคลี่คลาย เปลี่ยนแปลง ดำรงอยู่ เจริญงอกงาม และเสื่อม ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นล้วนเป็นผลจากการกระทำของมนุษย์

แวดวงศิลปะในประเทศไทยประดิษฐ์ถ้อยคำมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “ศิลปะไทย” (Thai Art) อย่างแตกต่างและหลากหลาย ตัวอย่างเช่น คำว่า “ศิลปกรรมไทย” “ศิลปกรรมไทยประเพณี” “ศิลปกรรมแนวประเพณี” “ศิลปกรรมไทยร่วมสมัย” บรรดาคำเหล่านี้สะท้อนถึงความพยายามของผู้คนในแวดวงศิลปะจำแนกผลงานตามรูปแบบเป็นหมวดหมู่ด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ เช่น เพื่อบ่งบอกยุคสมัยทางสังคม วัฒนธรรม บ่งบอกแบบแผนการสร้างผลงาน ประโยชน์ในการประกวดแข่งขัน การมอบทุน ให้รางวัลสนับสนุน หาพื้นที่ทางสังคมให้ตนเองยืนหยัดอยู่ได้โดยใช้วาทกรรม “ความมีลักษณะเฉพาะตัว” และเพื่อให้เกิดมูลค่าภายใต้ตรรกของการแลกเปลี่ยนในสังคมบริโภคนิยมเป็นต้น อย่างไรก็ตามการทำความเข้าใจความหมายคำว่า “ศิลปะไทย” ให้ใกล้เคียงกับข้อเท็จจริงตามแนวคิดของผู้นิยามต้องเข้าใจคำว่า “ศิลปะ” (Arts) และ “ไทย” (Thai)

ความหมายของคำว่า “ศิลปะ”

คำว่า “ศิลป” (Art) มาจากภาษาลาติน Art แปลว่า ความชำนาญหรือทักษะในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อันเป็นความหมายเดิม ความหมายของคำว่า ศิลปะที่ใช้ในปัจจุบัน มาจากคำว่า “arti” และ “arte”ในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาของอิตาลี คำว่า”arte” หมายถึงฝีมือช่างทักษะและการประดิษฐ์ทางการช่าง (ระหว่างศตวรรษที่ 14-16 )

ศิลปะ (Art) ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ได้อธิบายไว้ว่า ศิลปะ(สินละปะ) น. ฝีมือ ฝีมือทางการช่างการแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์เห็น โดยเฉพาะหมายถึงวิจิตรศิลป์ ตรงกับคำว่า สิปปะในภาษาบาลี

ศิลปะ (Art) ใน ศิลปสงเคราะห์ ของ เสฐียรโกเศศได้อธิบายความหมายไว้ว่า ศิลปะ หมายถึงงานอันเป็นความพากเพียรของมนุษย์ ซึ่งต้องใช้ความพยายามด้วยมือและด้วยความคิด เช่น ตัดเสื้อ สร้างบ้านเรือน ปลูกต้นไม้ เป็นต้น อย่างนี้เป็นศิลปะมีความหมายอย่างกว้าง



ความหมายของคำว่า “ไทย”

คำ สยาม–ไทย, ไท–ไทย ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Thai–Thailand มีนัยครอบคลุมพรมแดน รัฐศาสตร์, เศรษฐศาสตร์, ภาษาศาสตร์ และ ประวัติศาสตร์ บันทึกประวัติศาสตร์ถือเอา วันที่ 24 มิถุนายน 2482 เป็นวัน วันเปลี่ยนชื่อประเทศ โดยยึดตาม ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยม ใช้ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ คำแถลงต่อรัฐสภาของ จอมพลป. พิบูลสงคราม ได้ระบุเหตุผลหลักว่าเพื่อ ต่อต้านคนจีน (ในสยาม) ดังคำกล่าวตอนหนึ่งที่บันทึกไว้ว่า

หลวงวิจิตรวาทการ เป็นบุคคลสำคัญท่านหนึ่งมีแนวคิดการเปลี่ยนชื่อประเทศ จาก สยาม เป็น ไทย ประกาศแนวคิดต่อต้านคนจีนด้วยเหตุผล 4 ประการ

  • ประการที่หนึ่งคือ ทำให้คนไทยมีสัญชาติกับบังคับไม่ตรงกัน (กล่าวคือ สัญชาติไทย, บังคับสยาม)
  • ประการที่สองคือ ชื่อภาษากับชื่อคนไม่ตรงกัน (กล่าวคือ คนสยาม, ภาษาไทย)
  • ประการที่สามคือ ในประเทศเดียวกันเกิดปวงชนเป็น 2 พวก (กล่าวคือ ปวงชนชาวไทย กับ ปวงชนชาวสยาม)
  • ประการสุดท้าย ความใหญ่หลวงของเชื้อชาติไทยที่มีกระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก (ปี 2482 มีประชากร 36 ล้านคน)

กล่าวสรุปได้ว่า คำ ไทย ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Thai มีนัยครอบคลุมพรมแดน รัฐศาสตร์, เศรษฐศาสตร์, ภาษาศาสตร์ และ ประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2482

ความหมายของ ศิลปะไทย

ศิลปะไทย เป็นผลงานที่ถ่ายทอดเรื่องราวทางพุทธศาสนา เรียกอีกอย่างว่า “พุทธศิลป์” มีแบบอย่างทำสืบต่อกันมาจากอดีตจวบจนปัจจุบัน ศิลปะไทย เป็นผลงานที่มีความประณีต สวยงาม แสดงความรู้สึกมีชีวิตจิตใจ และความเป็นไทยที่มีความอ่อนโยน สร้างสรรค์สืบต่อกันมานับจากอดีตจนทำให้เกิดลักษณะประจำชาติที่มีลักษณะ และรูปแบบเป็นพิเศษ

สวัสดิ์ ตันติสุข กล่าวถึง ศิลปะแนวประเพณีไทย สรุปว่า ศิลปะแนวประเพณีไทย (ศิลปะสมัยใหม่) เป็นผลงานที่ถูกสร้างขึ้นจากความรู้สึกนึกคิดของศิลปินอย่างอิสระ รูปแบบ เนื้อหาแตกต่างศิลปะไทยในอดีต เพราะการรับอิทธิพลจากตะวันตกมาผสมผสานกับตะวันออก ดังนั้นจึงส่งผลต่อแนวคิดในการสร้างสรรค์ การแสดงออกจึงบ่งบอกถึงวัฒนธรรมไทยยุคปัจจุบัน “ศิลปะแนวประเพณีไทย” เป็นผลจากการติดต่อแลกเปลี่ยน ความสัมพันธ์ทางด้านสังคมจึงก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจาก “ศิลปะไทย”

ประเภท ลักษณะของศิลปะไทย และช่างสิบหมู่

ลักษณะเฉพาะของศิลปะไทย

ศิลปะไทย จำแนกโดยใช้ลักษณะเป็นเกณฑ์ออกได้ 2 กลุ่ม คือ วิจิตรศิลป์ และศิลปะแบบประเพณี

  1. ศิลปะไทยเป็นวิจิตรศิลป์ (Fine Arts) มี 5 สาขา ได้แก่ สถาปัตยกรรม ประติมา-กรรม จิตรกรรม วรรณกรรม และคีตกรรม อนึ่งยังสามารถจำแนกตามการรับรู้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มทัศนศิลป์ สามารถรับรู้ และสัมผัสได้โดยการมองเห็น ได้แก่ สถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม กลุ่มโสตศิลป์ สามารถรับรู้ และสัมผัสได้โดยการฟังและการเห็น ได้แก่ วรรณกรรม และคีตกรรม
  2. ศิลปะไทยเป็นศิลปะแบบประเพณี (Thai Tradition) ซึ่งศิลปินหรือช่างในสังคมหรือท้องถิ่น ผลิต สร้างสรรค์ตามแบบนิยม สืบทอด ถ่ายทอดต่อกันมายาวนานตามความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี ได้แก่ ศิลปะพื้นบ้าน และประณีตศิลป์

แหล่งวิทยาการสืบค้นที่เกี่ยวข้อง

  • โชติ กัลยาณมิตร. สถาปัตยกรรมแบบไทยเดิม. 2539 หน้า 24.
  • ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ตำนานพระพุทธเจดีย์. ธนบุรี : โรงพิมพ์รุ่งวัฒนา, 2514.
  • ดำรง วงอุปราช. “ศิลปะไทยสมัยใหม่,” โครงการจัดนิทรรศการศิลปะไทย. 2525. หน้า 117.
  • ประเทือง คล้ายสุบรรณ. วัฒนธรรมพื้นบ้าน. กรุงเทพฯ : สุทธิสารการพิมพ์, 2531.
  • ประยูร อุลุชาฏะ และศิลป์ชัย ชิ้นประเสริฐ. “ความหมายและลักษณะของศิลปะไทย,” ใน ศิลปะกับสังคมไทย. หน้า 1-54. นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2533.
  • ประยูร อุลุชาฏะ. ศิลปของพระพุทธรูป. โดย น.ณ ปากน้ำ (นามแฝง). กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2515.
  • -----------. พจนานุกรมศิลป์. โดย น.ณ ปากน้ำ (นามแฝง). พิมพ์ครั้งที่ 3 กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2530.
  • พระยาอนุมานราชธน. ศิลปสงเคราะห์. โดยเสฐียร โกเศศ (นามแฝง). 2515. หน้า 21.
  • พิทักษ์ น้อยวังคลัง. ศิลปกรรมท้องถิ่น. มหาสารคาม : ภาควิชาทัศนศิลป์และศิลปะการแสดง. 2544.
  • ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525. พิมพ์ครั้งที่ 3 กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์, 2530.
  • -----------. พจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรม อักษร ข-ฉ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : บริษัทเพื่อนพิมพ์ จำกัด, 2530.
  • ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525. 2530. หน้า 771.
  • สวัสดิ์ ตันติสุข. “ศิลปะร่วมสมัยของไทย,” นิทรรศการศิลปกรรมไทย คัดเลือกไปแสดงณ ประเทศญี่ปุ่น ในนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยของศิลปินแห่งเอเชีย. 2523. ไม่ปรากฏเลขหน้า.
  • ศิลปากร, กรม. ลวดลายตัวภาพในศิลปะ. กรุงเทพฯ : บริษัทอัมรินทร์ พริ้นติ้งกรุ๊ฟ จำกัด, 2531.
  • สงวน รอดบุญ. ศิลปะกับมนุษย์. 2524 หน้า 22.
  • สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา-กรุงธนบุรี เล่ม 1.
  • สมชาติ มณีโชติ. ความหมายของศิลปะ. 2529. หน้า 1.
  • สมภาร พรหมทา. พุทธศาสนามหายาน. 2534. หน้า 2-14.
  • อุดม รุ่งเรืองศรี. เทวดาพุทธ. ม.ป.ป. หน้า 9-12.
  • หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์. พระพุทธรูปสมัยต่างๆ ในประเทศไทย. 2513. หน้า 4.

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย