ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>

แนวคิดภายนอกนิยม
ปฏิเสธคำถามของญาณวิทยาเชิงบรรทัดฐานหรือไม่

นายวิสิทธิ์ ตออำนวย

ความหมายของแนวคิดภายนอกนิยมและญาณวิทยาเชิงบรรทัดฐาน
ปัญหาของญาณวิทญาเชิงธรรมชาติแบบแข็งกับข้อโต้แย้งด้วยทัศนะของJames
ปรัชญาภาษาของไควน์ ทางออกของญาณวิยาเชิงธรรมชาติแบบแข็ง
จากKuhn ถึงJames ทางออกของสหนัยนิยมแบบภายนิยมในทัศนะของไควน์
บรรณานุกรม

ความหมายของแนวคิดภายนอกนิยมและญาณวิทยาเชิงบรรทัดฐาน

ภายนอกนิยมเป็นทัศนะที่ตรงข้ามกับภายในนิยม (internalism) ที่เสนอว่าการสร้างความเชื่อจะเกิดขึ้นภายในตัวของผู้เชื่อเอง สภาพแวดล้อมรอบๆตัวของผู้เชื่อไม่ได้มีบทบาทในการสร้างความเชื่อของผู้เชื่อแต่อย่างใด ทั้ง 2 ทัศนะนี้ต้องอธิบายควบคู่กับแนวคิดพื้นฐานนิยม (fundamentalism) และสหนัยนิยม (coherentism) ด้วย กล่าวคือหากเป็นพื้นฐานนิยมแบบภายในก็จะต้องเชื่อว่าความเชื่อของผู้เชื่อแต่ละคนนั้นเองเป็นพื้นฐานให้แก่การสร้างความเชื่อ ส่วนพื้นฐานนิยมแบบภายนอกนิยมก็ต้องเชื่อว่าสภาพแวดล้อมเป็นพื้นฐานต่อการสร้างความเชื่อ หากความเชื่อใดไม่สามารถหาหลักฐานที่เป็นสภาพแวดล้อมมายืนยันความเชื่อได้ ความเชื่อนั้นก็จะไม่น่าเชื่อถืออีกต่อไป ซึ่งคล้ายกับแนวคิดหลักฐานนิยม evidentailism ผู้ที่นำเสนอความคิดนี้ก็เช่น William Kingdon Clifford แนวคิดนี้ เมื่อคิดตามตรรกะจนถึงที่สุด เราไม่สามารถที่จะสร้างความเชื่อได้เลย เนื่องจากเราจะต้องหาหลักฐานให้รัดกุมมากพอที่จะยืนยันได้ว่าความเชื่อนั้นถูกต้อง แต่ในความเป็นจริงแล้วเราคงไม่สามารถสร้างความเชื่อได้เลย หากเชื่อตามคำอธิบายนี้ ตัวอย่างที่จะทำให้เข้าใจง่ายที่สุด ภายใต้กรอบเงื่อนไขของเวลา เช่นไม่สามารถล่วงรู้อนาคตได้ ก็จะเกิดปัญหาเรื่องการอนุมานความรู้แบบที่ Hume เสนอ ว่าความรู้ที่เราเชื่อ แน่ใจได้อย่างไรว่าต่อไปความรู้นั้นจะยังคงเป็นจริงอยู่ หรือตัวอย่างเช่น การตัดสินว่าจำเลยมีความผิดหรือไม่ แม้เราจะหาหลักฐานอยู่ทั้งชีวิต ก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่าเราได้หาหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีได้หมดครบถ้วนแล้วหรือยัง จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการให้คดีมีอายุความ

แนวคิดดังกล่าวยังเกิดคำถามขึ้นอีกว่า ในการยืนยันความเชื่อหนึ่งๆนั้น หลักฐานในลักษณะใดจึงจะเรียกได้ว่าเหมาะสม หลักฐานบางแบบอาจเหมาะสมกับการยืนยันความเชื่อในสถานการณ์หนึ่ง แต่อาจใช้ไม่ได้กับอีกสถานการณ์ที่ต่างออกไป เช่น การที่ Hume เสนอว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไม่อาจจะแน่ใจได้ว่าวัตถุทุกอย่างจะต้องตกจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ เนื่องจากเราไม่อาจมีประสบการณ์ต่อเหตุการณ์ที่ยังมาไม่ถึง ในแง่นี้หลักฐานที่ Hume เสนอ มีความเหมาะสมหากถกเถียงในทางปรัชญาที่ให้ความสำคัญกับวิธีการทางตรรกวิทยา โดยมุ่งหาค่าความจริงเชิงตรรก แต่วิทยาศาสตร์ อาจท้าทายว่า หากเชื่อตามที่ Hume เสนอคือมีความเป็นไปได้ที่วัตถุจะลอยขึ้นฟ้า ก็ลองไปกระโดดตึกพิสูจน์ดู ซึ่งคงไม่มีใครกล้าทำเช่นนั้น แม้แต่ตัว Hume เอง ซึ่งไม่ถือว่า Hume ขัดแย้งในตัวเอง เนื่องจากการไม่สามารถยืนยันได้ว่าวัตถุจะตกจากที่สูงเสมอนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าวัตถุจะต้องไม่ตกลงลงสู่ที่ต่ำเสมอเช่นเดียวกัน ในแง่นี้วิทยาศาสตร์มีความคล้ายคลึงกับปฏิบัตินิยม (pragmatism) แต่จะแตกต่างกับหลักฐานนิยม นั่นคือความรู้ที่วิทยาศาสตร์เสนอ เช่นการเชื่อว่าวัตถุจะตกจากที่สูงสู่ที่ต่ำเสมอนั้น จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อมนุษย์มากกว่าการเชื่อว่าอาจมีบางครั้งที่วัตถุจะไม่ตกลงสู่ที่ต่ำ จะเห็นว่าการที่วิทยาศาสตร์เน้นประโยชน์นั้น ทำให้วิทยาศาสตร์ ไม่ได้สนใจที่จะตอบคำถามว่า “เรามั่นใจได้แล้วหรือยังว่าวัตถุจะต้องตกจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำเสมอจริงๆ” เมื่อไม่ต้องตอบคำถามนี้ หลักฐานเพียงจำนวนหนึ่งที่สามารถใช้ยืนยันสมมติฐานนี้ได้แล้วเกิดประโยชน์ วิทยาศาสตร์ก็ยอมรับ William James ซึ่งเป็นนักปฏิบัตินิยมที่มีชื่อเสียง ได้โต้แย้งทัศนะของ Clifford โดยเปรียบเทียบว่า หากเรายืนอยู่บนยอดภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งมีหมอกปกคลุมอยู่เบื้องล่าง เราไม่อาจแน่ใจได้ว่าทิศใดจึงเป็นทางปีนลงเขาที่ปลอดภัย เพราะไม่สามารถหาหลักฐานที่น่าเชื่อถือเพียงพอได้ หากไม่มั่นใจเราก็จะต้องอยู่บนยอดเขาต่อไปให้หนาวตายโดยไม่คิดจะเสี่ยงเลยอย่างนั้นหรือ เหมือนกับทหารที่รู้ว่าการศึกสงครามอาจต้องนำมาซึ่งการบาดเจ็บและสูญเสีย เช่นนี้แล้วก็อย่าคิดที่จะออกไปรบแต่ต้นจะดีกว่า



ในส่วนของสหนัยนิยมแบบภายในจะเชื่อว่า การสร้างความเชื่อต้องเกิดจากความสอดคล้องกันของความเชื่อที่ผู้เชื่อมี และความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อเหล่านี้ เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในตัวของผู้เชื่อเท่านั้น ซึ่งความคิดนี้จะเกิดปัญหาเรื่องความเป็นอัตวิสัยของความเชื่อ ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถยืนยันได้เลยว่าความเชื่อใดถือเป็นความรู้ได้บ้าง จึงไม่สามารถประเมินความเชื่อระหว่างกันของบุคคลได้เลย ในขณะที่สหนัยนิยมแบบภายนอกจะเชื่อว่า การสร้างความเชื่อนั้นไม่ได้เกิดจากความสอดคล้องกันของความเชื่อที่อยู่ในตัวผู้เชื่อ แต่ต้องสอดคล้องกับความเชื่อของผู้อื่น เพื่อให้พ้นจากปัญหาการเป็นอัตวิสัย ทำให้ความเชื่อมีน้ำหนักมากขึ้น เนื่องจากได้รับการยืนยันจากคนหลายคน ในแง่นี้ทำให้เกิดการประเมินความเชื่อได้

ส่วนญาณวิทยาเชิงบรรทัดฐานนั้น เป็นทัศนะที่พยายามจะให้เหตุผลสนับสนุนว่ามนุษย์สามารถที่จะมีความรู้ที่เกี่ยวกับโลกได้ ความรู้ที่เกี่ยวกับโลกหมายถึงเวลาเราบอกว่ารู้ ข้อความที่บอกว่ารู้นั้น จะต้องมีข้อเท็จจริงรองรับข้อความนั้นอยู่เสมอ เช่นเรารับรู้ด้วยประสาทสัมผัสทางการมองเห็นว่า เราเห็นเพื่อนของเรานั่งอยู่ ก็ต้องมีเพื่อนคนนั้นนั่งอยู่จริงๆ และเมื่อนำคำอธิบายนี้มาประกอบกับทัศนะของ Plato ใน Theaetetus ที่กล่าวว่า Knowledge is Justified True Belief แปลง่ายๆได้ว่าความรู้คือความเชื่อที่ถูก จะได้ว่า

1.ข้อความจะต้องเป็นจริง
2.ผู้ที่กล่าวข้อความนั้นจะต้องเชื่อว่าข้อความนั้นเป็นจริง
3.หากข้อความนั้นสามารถ justified ได้ ข้อความนั้นก็ยิ่งน่าเชื่อถือ

การ justified ว่าข้อความนั้นน่าเชื่อถือหรือไม่ เท่ากับว่าเราสามารถนำคำตอบที่ได้จากการ justified ไปประเมินร่วมกับข้อความอื่นๆได้ว่า ข้อความนั้นดีกว่า (หรือควรเชื่อมากกว่า) ข้อความอื่นๆหรือไม่ การยืนยันสิ่งใดดีกว่าหรือควรมากกว่าเป็นเรื่องของบรรทัดฐาน ดังนั้นกล่าวโดยสรุป ญาณวิทยาเชิงบรรทัดฐานจึงหมายถึงการยืนยันว่าข้อความใดดีกว่าหรือควรเชื่อมากกว่า ที่จะถือได้ว่าข้อความนั้นเป็นความรู้

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย