ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>

แนวคิดภายนอกนิยม
ปฏิเสธคำถามของญาณวิทยาเชิงบรรทัดฐานหรือไม่

นายวิสิทธิ์ ตออำนวย

ความหมายของแนวคิดภายนอกนิยมและญาณวิทยาเชิงบรรทัดฐาน
ปัญหาของญาณวิทญาเชิงธรรมชาติแบบแข็งกับข้อโต้แย้งด้วยทัศนะของJames
ปรัชญาภาษาของไควน์ ทางออกของญาณวิยาเชิงธรรมชาติแบบแข็ง
จากKuhn ถึงJames ทางออกของสหนัยนิยมแบบภายนิยมในทัศนะของไควน์
บรรณานุกรม

ปัญหาของญาณวิทญาเชิงธรรมชาติแบบแข็งกับข้อโต้แย้งด้วยทัศนะของ James

วิทยานิพนธ์ของ วุฒิ เลิศสุขประเสริฐ เรื่อง “ญาณวิทยาเชิงธรรมชาติของไควน์” กล่าวว่าไควน์ได้เสนอญาณวิทยาเชิงธรรมชาติเป็นคนแรก ไควน์เห็นว่ามนุษย์ไม่สามารถตอบคำถามของญาณวิทยาเชิงบรรทัดฐานได้ ไควน์เสนอให้เปลี่ยนจากการหาว่าความรู้ใดควรเชื่อ มาเป็นการหาความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างหลักฐานกับความเชื่อ โดย Hilary Kornblith ได้อธิบายความแตกต่างระหว่างญาณวิทยาเชิงบรรทัดฐานกับญาณวิทยาเชิงธรรมชาติ เขาเริ่มจากการถามคำถาม 3 ข้อดังต่อไปนี้

1. เราควรได้ความเชื่ออย่างไร
2. เราได้ความเชื่ออย่างไร
3. กระบวนการที่เราได้ความเชื่อ เป็นอันเดียวกับที่ควรเชื่อหรือไม่

แน่นอนว่าคำถามที่ 1 เป็นคำถามของญาณวิทยาเชิงบรรทัดฐาน เพราะสามารถประเมินได้ความเชื่อใดที่ควรเชื่อ ส่วนคำถามที่ 2 จะเป็นคำถามซึ่งถามเพื่อให้เกิดการวิเคราะห์ถึงการได้มาซึ่งความเชื่อของมนุษย์ แต่ไม่ได้มีนัยของการประเมินค่า สำหรับญาณวิทยาเชิงธรรมชาตินั้นจะเน้นไปที่คำถามที่ 2 มากกว่าคำถามที่ 1 แต่สำหรับญาณวิทยาเชิงธรรมชาติของไควน์นั้นถือได้ว่าเป็นทัศนะแบบสุดโต่ง กล่าวคือไม่จำเป็นที่จะต้องตอบคำถามข้อ 1 อีกต่อไป แต่ควรมุ่งหาคำตอบของคำถามที่ 2 เพียงคำถามเดียว ส่วนข้อ 3 ถือว่าไควน์ไม่ต้องตอบ เนื่องจากคำตอบของข้อ 3 มีความสัมพันธ์แบบเชื่อมโยงไปสู่คำตอบของคำถามข้อที่ 1 ดังนั้นเมื่อไควน์เสนอว่าคำถามที่ 1 ไร้ความหมาย แล้วจะหาคำตอบของข้อ 3 ซึ่งผลของมันนำไปสู่คำถามข้อที่ 1 ไปทำไม

ญาณวิทยาเชิงธรรมชาติของไควน์เรียกว่า ญาณวิทยาเชิงธรรมชาติแบบแข็ง แต่ Kornblith กล่าวว่ายังมีญาณวิทยาเชิงธรรมชาติแบบอ่อน ซึ่งยังเปิดโอกาสให้ถามคำถามที่ 1 ได้อยู่ เช่นญาณวิทยาเชิงธรรมชาติแบบดาร์วิน ทัศนะนี้กล่าวว่าสิ่งที่ควรเชื่อก็คือสิ่งที่ทำให้เรามีชีวิตรอด ซึ่งถือว่าเป็นการตอบคำถามข้อ 3 ตั้งแต่ต้น โดยคำถามที่ 3 นี้หากจะหาคำตอบให้ได้ จำเป็นต้องรู้คำตอบของคำถามที่ 2 มาก่อน แล้วคำตอบของคำถามที่ 3 จะเป็นข้อมูลนำไปสู่คำตอบของข้อที่ 1 กล่าวโดยสรุป การตอบคำถามข้อ 3 จะถือว่าได้ตอบคำถามทั้งข้อ 1 และข้อ 2 ไปด้วยแล้ว หมายความว่าวิธีการได้มาซึ่งความเชื่อของของมนุษย์เป็นอย่างไร ความเชื่อที่ได้นั้นก็ถือว่าเป็นความเชื่อที่ควรเชื่อด้วย

วุฒิ ได้ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจ สำหรับการตีความทัศนะของไควน์ที่ต้องการจะปฏิเสธการหาสิ่งที่ควรเชื่อไว้ 3 ประการคือ

1.ไม่ต้องหาสิ่งที่ควรเชื่ออีกแล้วเพราะไม่มีหรือมนุษย์ไม่สามารถหาได้
2.ไม่ต้องหาสิ่งที่ควรเชื่ออีกแล้วเพราะเราพบสิ่งที่ควรเชื่อนั้นแล้ว
3.ไม่ต้องหาสิ่งที่ควรเชื่ออีกแล้วโดยถือว่ามนุษย์ได้ความเชื่ออย่างไร ถือว่าความเชื่อนั้นเป็นสิ่งที่ควรเชื่อ

การตีความแบบที่ 3 จะเป็นการตีความในลักษณะเดียวกับญาณวิยาเชิงธรรมชาติแบบอ่อน ตามที่ได้ยกตัวอย่างทัศนะแบบดาร์วิน ซึ่งก็ไม่ควรจะตีความไควน์เช่นนั้น แล้วเราควรจะตีความไควน์ในแบบที่ 1 หรือแบบที่ 2 วุฒิได้ให้คำตอบในวิทยานิพนธ์ของเขาว่า ไควน์ยอบรับการแสวงหาความรู้แบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งวิทยาศาสตร์เป็นความสามารถที่พึ่งค้นพบได้ไม่นานในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ จึงควรตีความตามแบบที่ 2 ว่ามนุษย์ได้ค้นพบสิ่งที่ควรเชื่อแล้ว สิ่งนั้นคือวิทยาศาสตร์ ส่วนการตีความตามแบบที่ 1 นั้นไม่สามารถทำได้ เพราะจะทำให้ขัดแย้งในตัวเอง เพราะหากตีความตามแบบที่ 1 เท่ากับว่ายังมีความสงสัยในวิธีการทางวิทยาศาสตร์อยู่ เพราะมนุษย์ไม่สามารถหาวิธีการอื่นที่ควรเชื่อได้มากกว่านี้

ในส่วนของพื้นฐานนิยมแบบภายนอกนิยมตามที่ได้นิยามแล้วข้างต้น การตีความทั้ง 3 น่าจะถูกต้อง เนื่องจากมีสมมติฐานตั้งต้นที่ว่า “ไม่ต้องหาสิ่งที่ควรเชื่ออีกแล้ว” เนื่องจากการสร้างความเชื่อของมนุษย์ไม่อาจหลุดพ้นจากสภาพแวดล้อมที่ตนดำรงอยู่ได้ มนุษย์เกิดในบริบทที่หลากหลาย เท่ากับว่าความเชื่อของมนุษย์ก็มีความแตกต่างหลากหลายมากเช่นเดียวกัน การจะตัดสินว่าความเชื่อใดน่าเชื่อมากกว่าอีกความเชื่อหนึ่ง จึงไม่น่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งหากอธิบายในลักษณะนี้ จะกลายเป็นแนวคิดแบบสัมพัทธนิยมสุดโต่งไป ที่ว่าสุดโต่งนั้น กล่าวคือ แม้เราจะไม่สามารถหาได้ว่าความเชื่อภายใต้บริบทใดจะเป็นพื้นฐานที่สุดให้กับการตัดสินว่าความเชื่อใดน่าเชื่อมากกว่ากัน แต่ในความเป็นจริงนั้น ฐานะของความเชื่อใช่ว่าจะมีความหมายอยู่ในระดับเดียวกันทั้งหมด ฐานะของความเชื่อย่อมแตกต่างกันอย่างแน่นอน ในที่นี้จะยกตัวอย่างแนวคิดของ William James ที่กล่าวว่ามนุษย์ควรมีเจตจำนงที่จะเชื่อความเชื่อทางศาสนาใดๆก็ตามที่เห็นว่าเกิดประโยชน์แก่การดำรงชีวิตของตนเอง ฉะนั้นหากการศรัทธาพระเจ้า นำไปสู่การเชื่อว่าพระเจ้าจะช่วยเหลือในวันพิพากษา ความเชื่อนี้ก็ต้องมีค่ามากกว่าการเห็นว่าทุกอย่างเป็นสุญญตา เพราะหากว่าพระเจ้ามีจริงขึ้นมาเขาจะไม่ได้รับการช่วยเหลือในวันพิพากษา ในขณะที่แนวคิดอย่างพุทธที่ไม่เคยเชื่อว่ามีพระเจ้ามาเลย การเห็นว่าทุกสิ่งเป็นสุญญตาน่าจะให้ประโยชน์มากกว่าการเชื่อในสิ่งที่กาลามสูตรได้กล่าวเตือนไว้ว่าอาจนำไปสู่สิ่งที่ไม่ใช่ปัญญาที่แท้ ในแง่นี้มนุษย์มีเหตุจากสภาพแวดล้อมภายนอกที่กำหนดความคิดทางศาสนาของเรามาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก แม้ว่าในอนาคตจะเปลี่ยนความเชื่อได้ แต่การเปลี่ยนนั้น เท่ากับเป็นการถ่ายโอนความเชื่อว่าข้อความเดิมเป็นจริง ไปสู่ข้อความใหม่ที่น่าเชื่อมากกว่าอยู่ดี ดังนั้นการนิยามสัมพัทธนิยม ไม่ควรนิยามให้เป็นแบบสุดโต่ง แต่ควรเข้าใจในระดับที่ว่า ความเชื่อใดจะเป็นจริงได้ ก็ต่อเมื่อความเชื่อนั้นสอดคล้องกับระบบความเชื่อในบริบทที่ผู้เชื่อดำรงอยู่ การนิยามสัมพัทธนิยมตามที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น มีลักษณะเป็นสหนัยนิยมภายนอก จึงทำให้เกิดการประเมินความเชื่อได้



William James เป็นนักคิดแนวปฏิบัตินิยม (pragmatism) ที่พยายามหาทางออกให้แก่ปัญหาทางอภิปรัชญา โดยเสนอว่า แนวคิดทางอภิปรัชญาต้องตีความโดยโยงไปสู่ผลลัพธ์ในเชิงปฏิบัติ กล่าวคือหากเราจะถกเถียงหรือโต้แย้งระหว่างแนวคิดทางอภิปรัชญา ต้องมีความแตกต่างกันระหว่างผลลัพธ์ในเชิงปฏิบัติ หากไม่มีความแตกต่างในแง่นี้เลยก็ไม่จำเป็นต้องถกเถียงกัน โดยให้ถือว่าเป็นเรื่องเดียวกัน การถกเถียงปัญหาที่ไม่มีความแตกต่างในเชิงปฏิบัติเลยนั้นถือว่าเป็นการโต้แย้งที่คำพูดเท่านั้น (verbal dispute) ซึ่ง James ไม่ถือว่านั่นเป็นปัญหาที่แท้จริงที่ควรค้นหาคำตอบ การประเมินผลลัพธ์ที่ได้จากการนำแนวคิดทางอภิปรัชญามาปฏิบัตินั้น ทำให้สามารถกล่าวได้ว่าแนวคิดใดจริงหรือควรเชื่อมากกว่ากัน ถือได้ว่าใกล้เคียงกับการประเมินความเชื่อในทัศนะของสหนัยนิยมภายนอก

ปัญหาคือแม้ James จะเห็นว่าหากแนวคิดทางอภิปรัชญา 2 แนวคิดไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่ต่างกันในเชิงปฎิบัติ แม้จะกลายเป็นการโต้แย้งกันที่คำพูดเท่านั้น แต่ James ต้องการที่จะสื่อไปถึงระดับที่ว่าแท้จริงแล้วอภิปรัชญา (รวมไปถึงความจริงทางศาสนา) กำลังอ้างถึงความจริงสูงสุดบางอย่างที่เหมือนกันหรือไม่ หากกล่าวเช่นนี้เท่ากับว่า James จะมีทัศนะที่คล้ายกับ John Hick ที่เสนอว่าความจริง ที่แต่ละศาสนาเสนอนั้น เป็นภาพสะท้อนของความจริงสูงสุดร่วมกัน แม้ว่าภาพสะท้อนนั้นจะแตกต่างกันออกไป แต่ความแตกต่างทั้งหลายเหล่านั้น “ก็ไม่อาจยืนยันได้ว่า ภาพสะท้อนเหล่านั้นได้สะท้อนความจริงสูงสุดที่ต่างกันออกไป” ทัศนะนี้อาจหยิบยกแนวคิดของ Spinoza ขึ้นมาเป็นตัวอย่างได้ กล่าวคือ Spinoza เชื่อว่าพระเจ้านั้นไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากธรรมชาติรอบตัวเอง รวมไปถึงตัวของเราเองด้วย พระเจ้าไม่ได้แยกจากเรา เราไม่ได้แยกจากพระเจ้า เราเป็นส่วนหนึ่งของพระเจ้า และพระเจ้าก็เป็นส่วนหนึ่งของเรา ภูเขา ต้นไม้ ดวงดาว ท้องฟ้า ฯลฯ ก็เป็นส่วนหนึ่งของพระเจ้า เพราะ Spinoza คิดว่าความจริงแท้มีเพียงหนึ่งเดียวคือธรรมชาติทั้งหมดนี้ ฉะนั้นจะเรียกความจริงแท้นั้นว่าอะไรก็ไม่ได้แตกต่างกัน จะเรียกว่า "พระเจ้า" หรือ "ธรรมชาติ" ก็ได้ แน่นอนว่าหากเป็นชาวพุทธจะเรียกว่า "อิทัปปัจจยตา" ก็ไม่ถือว่าผิดแต่อย่างใด

ปัญหาก็คือว่า แล้วทำไมคนจำนวนมากถึงไม่ได้เลือกที่จะนับถือศาสนาเดียวกันไปเลย เช่นหันมานับถือศาสนาคริสต์หรืออิสลามที่นับถือพระเจ้าเหมือนๆกัน ประเด็นนี้ Hick เชื่อว่าการรับรู้ของมนุษย์ไม่ได้รับรู้แบบเป็นผ้าขาวที่รอรับการแต่งแต้มจากประสบการณ์ที่ได้รับจากโลกภายนอกอีกทอดหนึ่งอย่างตรงไปตรงมา หากแต่มนุษย์สามารถมีบทบาทในการกำหนดความหมายให้กับประสบการณ์ที่ตนรับรู้มาได้ ปรากฏการณ์ทางศาสนาจะแตกต่างออกไป เพราะการรับรู้ของมนุษย์นั้นขึ้นอยู่กับบริบท วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และระบบสัญลักษณ์ (เช่น ระบบภาษา) ที่แตกต่างกัน จนเกิดการตอบสนองของมนุษย์ที่มีต่อความจริงสูงสุดที่แตกต่างกัน ซึ่งการอธิบายในลักษณะนี้ แม้จะมีส่วนคล้ายกับสหนัยนิยมแบบภายนอก คือการสร้างความเชื่อไม่ได้เกิดขึ้นจากความสอดคล้องกันของความเชื่อที่อยู่ในตัวผู้เชื่อเท่านั้น แต่ต้องสอดคล้องกับความเชื่อของผู้อื่น แต่แนวคิดนี้ก็ยังเกิดปัญหา กล่าวคือ แม้ความเชื่อของผู้เชื่อจะสอดคล้องกับความเชื่อของผู้อื่นแล้วก็ตาม “ก็ไม่อาจยืนยันได้เช่นเดียวกันว่า ภาพสะท้อนที่แตกต่างกันไปจะต้องสะท้อนความจริงสูงสุดเพียงหนึ่งเดียว” ซึ่งเป็นแนวคิดที่ตรงกันข้ามกับทัศนะของ Hick ได้เช่นเดียวกัน ข้อโต้แย้งนี้ทำให้ทัศนะของ Hick ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก

James ไม่ได้ถูกวิจารณ์ในแง่เดียวกันนี้ ปฏิบัตินิยมของ James ไม่ได้ต้องการแสวงหาความจริงสูงสุด เนื่องจากต้องการนำทฤษฎีเหล่านั้นมาใช้ประยุกต์ใช้ให้เกิดผลในเชิงปฏิบัติ ผ่านโลกที่เท่าที่ประสบการณ์ของมนุษย์จะรับรู้มันได้เท่านั้น ความคิดของมนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงได้ จากการได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ขัดแย้งกับประสบการณ์เดิมที่เคยมี นั่นหมายความว่าประสบการณ์ใหม่ ได้ให้ผลในเชิงปฏิบัติที่ดีกว่าประสบการณ์เก่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องละทิ้งประสบการณ์เก่าไปเสียเลย ตรงข้ามมนุษย์กลับที่จะต้องจดจำผลลัพธ์ที่ประสบการณ์เก่าเคยทำไว้ เพราะไม่แน่ว่าหากสามารถผสมผสานแนวคิดเก่ากับแนวคิดใหม่ แล้วผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้นอาจจะใช้ประโยชน์ได้มากกว่าเดิม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย