ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>
แนวคิดภายนอกนิยม
ปฏิเสธคำถามของญาณวิทยาเชิงบรรทัดฐานหรือไม่
นายวิสิทธิ์ ตออำนวย
ความหมายของแนวคิดภายนอกนิยมและญาณวิทยาเชิงบรรทัดฐาน
ปัญหาของญาณวิทญาเชิงธรรมชาติแบบแข็งกับข้อโต้แย้งด้วยทัศนะของJames
ปรัชญาภาษาของไควน์
ทางออกของญาณวิยาเชิงธรรมชาติแบบแข็ง
จากKuhn
ถึงJames ทางออกของสหนัยนิยมแบบภายนิยมในทัศนะของไควน์
บรรณานุกรม
ปรัชญาภาษาของไควน์ ทางออกของญาณวิยาเชิงธรรมชาติแบบแข็ง
แม้ว่าสหนัยนิยมแบบภายนอกนิยมจะไม่ได้มีลักษณะเป็นสัมพัทธนิยมแบบสุดโต่ง
แต่จากทัศนะเรื่องญาณวิยาเชิงธรรมชาติแบบแข็งที่ไควน์เสนอนั้น
พอจะมีทางออกในลักษณะเดียวกันกับสหนัยนิยมแบบภายนอกนิยมหรือไม่
ลองพิจารณาประเด็นเรื่องภาษาของไควน์เพิ่มเติมว่า
มีลักษณะที่สอดคล้องกับญาณวิยาเชิงธรรมชาติแบบแข็งอย่างไร
ไควน์เห็นว่า ภาษาเป็นกิจกรรมทางสังคม
ซึ่งมนุษย์ได้มาจากพฤติกรรมของผู้อื่น
ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่สามารถเข้าใจได้ตรงกันอย่างเป็นสาธารณะ
ระหว่างมนุษย์กับภาษามีสัมพันธ์กันในลักษณะที่ภาษาเป็นพื้นฐานการเรียนรู้อย่างหนึ่งของมนุษย์
สิ่งแรกที่มนุษย์มีเพื่อการเรียนรู้ก็คือ สัญชาตญาณ ถัดมาเป็นความคิดและภาษา
ซึ่งมีพื้นฐานมาจากมาตรฐานของความคล้ายคลึงกันในเชิงการรับรู้ (standards of
perceptual similarity) ของมนุษย์
ก่อนที่จะเกิดภาษา
สิ่งที่มนุษย์สามารถทำได้ตั้งแต่เกิดก็คือการเปล่งเสียงร้อง
เช่นเดียวกับที่สัตว์ชนิดอื่นๆทำได้ เช่นเสียงร้องของลิง
เสียงร้องก็มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป
เช่นเสียงร้องที่เป็นการเตือนภัยให้หนีห่างจากผู้ล่า
หรือบางตัวอาจจะร้องรายงานว่ามีผลไม้อยู่บนยอดไม้
เสียงร้องต่างๆเหล่านี้ใช้เป็นพื้นฐานของภาษา นั่นคือ เป็นการแบ่งปันข้อมูลกับสังคม
ซึ่งแต่ละปัจเจกจะได้รับผลประโยชน์จากการรับรู้ของผู้อื่น
เสียงร้องของเด็กอาจต้องการสื่อให้รู้ถึงความต้องการการใส่ใจ
สื่อให้รู้ถึงความเจ็บปวด ความไม่พึงพอใจ ฯลฯ เสียงร้องของงเด็กในระดับนี้
อยู่ในระดับเดียวกับลิง
เสียงร้องของลิงและเด็กอาจจะมีมาตั้งแต่กำเนิดเนื่องจากเป็นสัญชาตญาณ
หรือเกิดจากการเรียนรู้ก็ได้ แต่คำในภาษาต่างๆของเด็กที่เป็นมนุษย์
จะเกิดจากการเรียนรู้เท่านั้น
เด็กจะเรียนรู้คำโดยการใช้อุปนัยอย่างง่ายๆ คือการกำหนดเงื่อนไข คือเมื่อเด็กพูดว่า ‘บอล’ เด็กก็จะสร้างการเชื่อมโยงขึ้น อาจจะโดยสัญชาตญาณการเลียนแบบ (imitative instinct) เช่นการเลียนแบบคำของแม่ การใช้คำหรือตอบรับคำจากทั้งแม่และเด็กนั้น จะมีความคล้ายคลึงกัน แต่เป็นความคล้ายคลึงตามการแยกแยะของพวกเขาเอง เป็นระดับของความคล้ายคลึงในการรับรู้ของแต่ละคนมีลักษณะเป็นสหอัตวิสัย (intersubjective) และความคล้ายคลึงในเชิงการรับรู้แบบสหอัตวิสัยที่ว่านี้จะไม่เท่ากันหรือแนบกันสนิท คือไม่ได้ผสมกลมกลืนกัน ความผสมกลมกลืนก็คือ การที่สถานการณ์ที่มีส่วนร่วมกันสองสถานการณ์ซึ่งคล้ายคลึงกันในเชิงการรับรู้สำหรับผู้สังเกตคนหนึ่ง มักจะคล้ายคลึงในเชิงการรับรู้สำหรับอีกคนหนึ่งด้วย ถ้าปราศจากความผสมกลมกลืนที่ว่านี้ ก็จะไม่มีการสื่อสารที่สามารถเข้าใจกันได้
เหตุที่ไม่กลมกลืนกันก็เนื่องจาก การใช้คำต่างๆนั้นเป็นการปลูกฝัง (inculcating) จากสังคม ให้แก่แต่ละปัจเจก วิธีการของสังคมตามหลักการแล้วก็คือการให้รางวัล (rewarding) และการลงโทษ (penalizing) เช่นเมื่อผู้พูดกล่าวว่า “โอ๊ย” แล้วได้แสดงให้เห็นหลักฐานบางอย่างว่าอยู่ในสภาพที่ไม่สบาย หรือสะดุ้งหรือบาดเจ็บ ซึ่งเกิดจากสิ่งเร้าที่กระตุ้นความเจ็บปวด คนอื่นในสังคมก็จะเข้าใจหรือพยักหน้าหรือเข้าไปช่วยเหลือ จึงเท่ากับการให้รางวัล แต่ถ้าผู้พูดร้องว่า “โอ๊ย” ทั้งที่เห็นได้ชัดว่าเป็นปกติ ไม่ได้รับผลกระทบจากสิ่งเร้าใดๆ หรือมีสีหน้าท่าทางที่เรียบเฉย สังคมนิ่งเฉย เพราะเห็นว่าไม่สื่อความ นี่จึงเป็นลักษณะของการลงโทษ ไควน์ได้แบ่งการเรียนรู้ภาษาออกเป็นสามวิธีคือ วิธีแรกเรียกว่าการเรียนรู้แบบคำเดี่ยวๆ (isolation) วิธีที่สองคือการเรียนรู้จากบริบท (contextual) คือการเรียนรู้ในแต่ละสถานการณ์ สุดท้ายวิธีที่สามคือการเรียนรู้จากคำบรรยาย (description) เช่น อ่านคำอธิบายหรือนิยาม จากการเรียนรู้ทั้งสามวิธีทำให้เราสามารถสร้างประโยคจากการสังเกตที่ซับซ้อนขึ้น กล่าวคือ ในการเรียนรู้ภาษา เราจะเริ่มจากคำๆเดียว และเมื่อรู้จักคำหลายๆคำมากขึ้น แล้วเราก็เริ่มเรียนรู้คำในแต่ละสถานการณ์ต่างๆซึ่งมีส่วนที่เชื่อมโยงกันระหว่างคำแต่ละคำได้ จนเกิดการสร้างประโยคขึ้น และในทางเดียวกัน เมื่อสามารถสร้างประโยคได้หลายๆประโยค ก็สามารถเชื่อมโยงประโยคเข้ากับประโยคได้ เมื่อเข้าใจในระดับนี้ได้ ต่อไปเราก็จะเรียนรู้จากคำอธิบายหรือนิยามต่างๆได้ในท้ายที่สุด
ไควน์ได้แบ่งการสร้างประโยคออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ ประโยคจากการสังเกต หมายถึงประโยคที่สามารถถูกกำหนดโดยเงื่อนไขในขอบข่ายเฉพาะของการรับรู้ทางผัสสะ เด็กจะสามารถถูกกำหนดเงื่อนไขอย่างง่ายๆที่จะยืนยันหรือตอบรับประโยคภายใต้การกระตุ้นเฉพาะบางอย่าง และเขาก็จะสามารถเรียนรู้ต่อมาว่าส่วนต่างๆของประโยคเป็นคำที่บ่งถึงวัตถุในโลกภายนอกที่พูดถึงได้อย่างชัดเจน
ประโยคอีกลักษณะหนึ่งนั่นคือประโยคถาวร กล่าวคือเมื่อประโยคถาวรเป็นจริง มันก็จะจริงตลอด หรือว่าเมื่อเป็นเท็จ ก็จะเป็นเท็จตลอด ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมเฉพาะใดๆเลย เมื่อมันเป็นจริง ก็จะเป็นข้อสรุปทั่วไปได้ด้วยซึ่งไควน์หมายถึงกฎทางวิทยาศาสตร์นั่นเอง แต่ประโยคถาวรที่เป็นจริงนั้นจะสามารถเป็นเท็จได้ ก็เพราะว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางความหมายบางอย่างในวิวัฒนาการที่ต่อเนื่องของภาษาของเราเอง ความหมายไม่สามารถถูกกำหนดให้แน่นอนตายตัวได้ ความหมายจึงมิได้เป็นภววิสัย ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของสิ่งที่มีอยู่ต่างหาก หรือมีอยู่ในจิตก็ตาม ความหมายของไควน์มีลักษณะเป็นสหอัตวิสัย คือสมาชิกในชุมชนหรือสังคม เป็นผู้ร่วมกำหนดความหมายหรือการใช้ประโยคต่างๆขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์ในการสื่อสาร ความหมายก็ไม่ใช่สิ่งนามธรรม เช่น มโนภาพหรือประพจน์ ที่มีอยู่แยกเป็นอิสระจากสังคมและชุมชน อีกทั้งเนื่องจากสังคมและชุนชนของมนุษย์ก็มีหลากหลายมาก ชุดของการกำหนดความหมายจึงมีหลายชุด และไม่อาจตัดสินได้ว่าการกำหนดความหมายชุดใดถูกหรือผิด จึงไม่มีตัวของข้อเท็จจริงที่เป็นภววิสัย แม้จะข้อเท็จจริงนั้นจะสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์แล้วก็ตาม ไควน์จึงสรุปว่า ดังนั้นเมื่อเราเรียกประโยคใดว่าเป็นประโยคถาวรนั้น ความถาวรจะขึ้นอยู่กับชุดของการกำหนดความหมายชุดหนึ่ง ณ เวลาเฉพาะเวลาหนึ่งเท่านั้น
จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าแนวคิดเรื่องภาษาของไควน์ก็มีความสอดคล้องกันกับญาณวิยาเชิงธรรมชาติแบบแข็ง แต่จุดที่น่าสนใจและควรตั้งคำถามก็คือ หากไควน์มีทัศนะแบบสัมพัทธนิยมสุดโต่ง แล้วไควน์จะยอมรับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไว้เป็นหลักได้อย่างไร แต่ไควน์ได้เหลือทางออกของปัญหานี้ไว้ โดยไควน์จะต้องยอมรับตามทัศนะของ Kuhn