ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>

วิลเลียม คัลเลน ไบรอันต์

Bryant, Willam Cullen (ค.ศ.1794-1878)

กุลวดี มกราภิรมย์

       วิลเลียม คัลเลน ไบรอันต์ เป็นกวีอเมริกันผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนแรก เขาเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกวรรณคดีประจำชาติของสหรัฐอเมริกา และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ผู้ยิ่งใหญ่และมีอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของวงการหนังสือพิมพ์อเมริกัน ไบรอันต์มีบทบาทสำคัญในการรณรงค์ให้มีการเลิกทาส และแก้ไขความไม่ถูกต้องในสังคมอเมริกันระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 19

ไบรอันต์เกิดเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ.1794 ที่เมืองคัมมิงตัน (Cummington) มลรัฐแมสซาชูเซตส์ (Massachusettes) บิดาของเขาชื่อปีเตอร์ ไบรอันต์ (Peter Bryant) มีอาชีพเป็นหมอแต่รักดนตรีและบทกวี มารดาชื่อซาราห์ ซเนลล์ ไบรอันต์ (Sarah Snell Bryant) ต้นตระกูลทางบิดาและทางมารดาของเขาเป็นพวกพิวริตันที่อพยพมาจากอังกฤษด้วยเรือเมย์ฟลาวเวอร์ (Mayflower) มาตั้งถิ่นฐานที่เมืองพลีมัท (Plymouth) ในอาณานิคมแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts) เมื่อ ค.ศ.1632 ไบรอันต์จึงได้รับการเลี้ยงดูอย่างเข้มงวดตามแบบพิวริตัน และนับถือศาสนาคริสต์นิกายแคลวิน (Calvinism) ตามครอบครัวของเขา แต่ภายหลังเขาเปลี่ยนมานับถือนิกายยูนิแทเรียน (Unitarianism) เพราะชอบแนวความคิดแบบเสรีนิยมของนิกายนี้

บ้านของไบรอันต์ที่เมืองคัมมิงตันเต็มไปด้วยหนังสือ และอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงาม ในวัยเด็กไบรอันต์เป็นเด็กขี้โรค เขาเรียนหนังสือแถวบ้านเกิดจนอายุ 12 ปี จึงได้เรียนภาษาละตินและกรีกกับสาธุคุณทอมัส ซเนลล์ (Reverend Thomas Snell) ผู้เป็นลุง และสาธุคุณโมเซส ฮัลลอก (Reverend Moses Hallock) ระหว่าง ค.ศ.1810-1811 เขาเข้าเรียนที่วิลเลียมส์คอลเลจ (Willams College) เมืองวิลเลียมส์ทาวน์ (Williamstown) มลรัฐแมสซาชูเซตส์อยู่ 1 ปี โดยวางแผนว่าปีถัดไปจะไปเรียนต่อที่เยล แต่ล้มเลิกความคิดหันไปเรียนกฏหมายกับผู้พิพากษาคนหนึ่ง และสอบได้ใบอนุญาตให้ประกอบอาชีพทนายความใน ค.ศ.1815 จากนั้นเขาก็ว่าความที่เมืองเพลนฟิลด์ (Plainfield) และเมืองเกรตบาร์ริงตัน (Great Barrington) มลรัฐแมสซาชูเซตส์อยู่นานประมาณ 10 ปี

ไบรอันต์เป็นเด็กอัจฉริยะคนหนึ่ง เขาเริ่มเขียนบทกวีตั้งแต่ยังเด็ก บทกวีของเขาชื่อ The Embargo ซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่า Sketches of the Times ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร Hampshire Gazette ใน ค.ศ.1808 เขาเขียนบทกวีบทนี้ขณะอายุเพียง 13 ปี เพื่อโจมตีกฎหมายห้ามการค้าขายระหว่างประเทศ (Embargo Act ค.ศ.1807)* ของประธานาธิบดี ทอมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson ค.ศ.1743-1821)* ซึ่งห้ามพ่อค้าอเมริกันค้าขายกับทางยุโรป ในช่วงที่จักรพรรดินโปเลียนแห่งฝรั่งเศสทำสงครามกับอังกฤษ แม้บทกวีบทนี้จะยังขาดความเป็นต้นแบบแต่ก็เขียนได้อย่างแหลมคมตามแบบบทกวีแนวคตินิยมคลาสสิกใหม่ (neoclassical poetry) ของอังกฤษที่มีอิทธิพลต่อบทกวีของไบรอันต์ในช่วงนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทกวีของอะเล็กซานเดอร์ โพป (Alexander Pope) ด้วยเหตุนี้ในตอนแรกบรรณาธิการของ Hampshire Gazette และคนส่วนใหญ่จึงไม่ยอมเชื่อว่าผู้เขียนบทกวีบทนี้มีอายุเพียง 13 ปี The Embargo และบทกวีชื่อ The Spanish Revolution ที่เขาเขียนในเวลาไล่เรี่ยกัน ขายดีมากจนต้องพิมพ์ซ้ำในปีถัดมา ในการพิมพ์ครั้งที่ 2 เพื่อนๆ ของไบรอันต์ต้องช่วยกันเขียนคำรับรองเรื่องอายุและอัจฉริยภาพของเขาไว้ในความนำ โดยอนุญาตให้เปิดเผยชื่อและที่อยู่จริงของพวกตนได้

บทกวีที่มีชื่อเสียงของไบรอันต์ส่วนใหญ่เขียนก่อน ค.ศ.1840 รวมทั้งบทกวีที่มีชื่อเสียงที่สุดบทแรกของเขา ชื่อ Thanatopsis (ทัศนะเกี่ยวกับความตาย) ซึ่งเขาเขียนขณะอายุเพียง 17 ปี บทกวีบทนี้กล่าวถึงความตายได้อย่างลุ่มลึก เนื้อหาเหมือนกวีนิพนธ์สุสาน (graveyard poetry) อันเป็นกวีนิพนธ์แนวหนึ่งของคริสต์ศตวรรษที่ 18 บทกวีแนวนี้นิยมรำพึงรำพันถึงความไม่จีรังยั่งยืนของชีวิต นอกจากนี้ยังเน้นความสำคัญและความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติเช่นเดียวกับกวีนิพนธ์แนวจินตนิยม (romantic poetry) ของคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อบิดาของไบรอันต์ส่งบทกวีบทนี้ไปให้นิตยสารรายเดือนที่มีชื่อเสียงที่สุดของเมืองบอสตันชื่อ The North American Review ตอนแรกบรรณาธิการไม่ยอมเชื่อว่าบทกวีดังกล่าวเป็นฝีมือของกวีอเมริกัน เนื่องจากในเวลานั้นยังไม่มีกวีอเมริกันคนใดที่สามารถสร้างสรรค์บทกวีได้อย่างยอดเยี่ยมเช่นนี้ จึงถือกันว่า Thanatopsis ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร The North American Review ใน ค.ศ.1817 เป็นบทกวีที่ช่วยเปิดศักราชของกวีนิพนธ์อเมริกัน เพราะมีความเป็นต้นแบบและสำแดงถึงความเป็นอเมริกันอย่างแท้จริง บทกวีของไบรอันต์ประสบความสำเร็จในชั่วข้ามคืน ทำให้เขากลายเป็นกวีที่มีชื่อเสียงที่สุดของสหรัฐอเมริกา และได้รับการทาบทามจากนิตยสารหลายฉบับให้เขียนบทกวีให้

บทกวีที่มีชื่อเสียงที่สุดอีกบทหนึ่งของไบรอันต์คือ To a Waterfowl (ค.ศ.1818) ซึ่งเขาเขียนขึ้นหลังจากเฝ้ามองนกตัวหนึ่งบินข้ามท้องฟ้า และเกิดความคิดว่าชีวิตของเขาและนกตัวนั้นอยู่ภายใต้การดูแลของพลังอำนาจบางอย่าง ซึ่งตีความได้ว่าน่าจะหมายถึงพระเป็นเจ้า เหตุการณ์นี้ทำให้ไบรอันต์ซึ่งขณะนั้นกำลังสับสนไม่แน่ใจในอนาคตของตนเอง หมดความกังวลในเรื่องนี้ แมตทิว อาร์โนลด์ (Matthew Arnold) กวีและนักวิจารณ์ผู้มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 19 กล่าวว่า To a Waterfowl เป็นบทกวีภาษาอังกฤษขนาดสั้นที่ดีที่สุดบทหนึ่ง

บทกวีของไบรอันต์แม้จะได้รับอิทธิพลจากบทกวีแนวจินตนิยมของอังกฤษโดยเฉพาะอย่างยิ่งบทกวีของของวิลเลียม เวอร์ดสเวอร์ท (William Wordsworth) แต่บทกวีของเขาแตกต่างจากบทกวีแนวนี้ของอังกฤษตรงที่ สิ่งที่เขาชอบเขียนถึงเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นทิวทัศน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าเขาแถบนิวอิงแลนด์ ดอกไม้พื้นเมือง ชาวอเมริกันอินเดียน หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา อาทิ ในบทกวีชื่อ The Prairies เขาพรรณนาถึงความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติในดินแดนตะวันตกของสหรัฐอเมริกาสมัยที่มีการขยายตัวไปทางดินแดนแถบนั้น และสรุปว่าดินแดนตะวันตกเป็นดินแดนแห่งโอกาส ซึ่งในอนาคตจะมีผู้คนจำนวนมากอาศัยอยู่อย่างผาสุก บทกวีชื่อ The Death of Abraham Lincoln สดุดีและไว้อาลัยประธานาธิบดีเอบราแฮม ลิงคอล์น (Abraham Lincoln ค.ศ.1809-1865)* ที่ต้องเสียชีวิตจากการถูกลอบสังหาร และบทกวีชื่อ The Death of Slavery ซึ่งประณามความโหดร้ายทารุณของเจ้าของทาส และสถาบันทาสในสหรัฐอเมริกาซึ่งต้องถึงกาลอวสานในที่สุด อย่างไรก็ตามแม้ไบรอันต์จะเขียนบทกวีที่มีเนื้อหาหลากหลายแต่บทกวีที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขาส่วนใหญ่เขียนในแนวจินตนิยม พรรณนาความงามตลอดจนความศักดิ์สิทธิ์และยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ อาทิ Green River, The Yellow Violet, A Forest Hymn รวมทั้ง To a Water Fowl บทกวีเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าไบรอันต์เคารพธรรมชาติ เห็นธรรมชาติเป็นสัญลักษณ์ของพระเป็นเจ้า ใน A Forest Hymn เขาถึงกับกล่าวว่าป่าเป็นวิหารของพระเป็นเจ้า และเนื่องจากบทกวีของไบรอันต์สามารถพรรณนาธรรมชาติได้อย่างแจ่มชัดและได้อารมณ์ โดยเน้นความงามของสิ่งธรรมดาสามัญที่พบเห็นได้ทั่วไปในธรรมชาติเช่นเดียวกับบทกวีของเวอร์ดสเวอร์ท จึงมีผู้ตั้งสมญาให้เขาว่า "วิลเลียม เวอร์ดสเวอร์ท ชาวอเมริกัน" (American William Wordsworth)



ใน ค.ศ.1821 ไบรอันต์ได้รับเชิญจากสมาคมไฟเบตากัปปา (Phi Beta Kappa Society) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ให้ไปอ่านบทกวีในพิธีประสาธน์ปริญญาของมหาวิทยาลัย ในวาระนี้เขาแต่งบทกวีขนาดยาวชื่อ The Ages กล่าวถึงยุคต่างๆ ที่ผ่านมาของโลก และความก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้งของมนุษยชาติทางด้านความรู้ คุณธรรม และความสุขสถาพรของมนุษย์ แล้วสรุปว่าทั้งหมดนี้ทำให้เขามั่นใจในความหวังของมนุษยชาติในอนาคต การได้รับเกียรติจากสมาคมไฟเบตากัปปาครั้งนี้ทำให้มีการตีพิมพ์หนังสือรวมบทกวีเล่มแรกของเขาตามมา ส่งผลให้เขาตัดสินใจทิ้งอาชีพทนายความหันมายึดอาชีพเขียนบทกวี แม้ว่าในช่วงเวลานั้นสหรัฐอเมริกายังขาดแคลนวรรณคดีประจำชาติ ทำให้ผลงานของนักเขียนอเมริกันไม่ได้รับความสนใจเท่าผลงานของนักเขียนอังกฤษแม้แต่ในสหรัฐอเมริกาเอง จึงไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าอาชีพนี้จะทำให้ไบรอันต์ประสบความสำเร็จทางด้านการเงิน ในปีเดียวกันนี้เขาแต่งงานกับฟรานเชส แฟร์ไชล์ด (Frances Fairchild) ผู้ซึ่งเขาเขียนบทกวีให้หลายบท รวมทั้งบทที่ขึ้นต้นว่า O Fairest of the Rural Maids

ไบรอันต์เขียนบทกวีให้ United States Literary Gazette อย่างสม่ำเสมอใน ค.ศ.1824 ผลงานของเขาได้รับการยกย่องจากนักวิจารณ์ทั้งในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษว่าเป็นกวีนิพนธ์อเมริกันที่ดีที่สุด ทั้งๆ ที่ในสมัยนั้นวรรณคดีอเมริกันยังไม่ได้รับความสนใจจากชาวอังกฤษ เมื่อหนังสือรวมบทกวีฉบับสมบูรณ์ของเขาได้รับการตีพิมพ์ที่นิวยอร์กใน ค.ศ.1832 มีผู้ส่งหนังสือเล่มนี้ไปให้วอชิงตัน เออร์วิง (Washington Irving)* ซึ่งขณะนั้นกำลังอยู่ที่อังกฤษ เออร์วิงไม่รู้จักไบรอันต์เป็นการส่วนตัว แต่ช่วยเขียนคำนำให้ และยังช่วยให้หนังสือเล่มนี้ได้พิมพ์ที่ลอนดอน เพราะชอบผลงานของเขา หนังสือรวมบทกวีเล่มนี้สร้างชื่อเสียงให้ไบรอันต์ในต่างแดน และทำให้เขาได้รับความนิยมในอังกฤษเกือบเท่าที่บ้านเกิด หลังจากนั้นก็มีการนำบทกวีของเขามาพิมพ์รวมเล่มอีกหลายครั้ง

ไบรอันต์ย้ายไปอยู่ที่นครนิวยอร์กใน ค.ศ.1825 เนื่องจากไม่อาจยังชีพได้ด้วยการเขียนบทกวีเพียงอย่างเดียว ที่นิวยอร์กเขาได้เป็นบรรณาธิการร่วมของนิตยสาร New York Review and Athenaeum Magazine อยู่ปีกว่า จากนั้นในปีต่อมาก็ได้ร่วมงานกับหนังสือพิมพ์รายวันของนิวยอร์กชื่อ New York Evening Post อย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 50 ปี เริ่มจากเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ จากนั้นตั้งแต่ ค.ศ.1829 จนถึงแก่กรรมก็ได้เป็นบรรณาธิการ และยังเป็นหุ้นส่วนของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ด้วย เขาจึงไม่มีเวลาเขียนบทกวีอย่างจริงจัง บทกวีของเขาในช่วงหลังๆ จึงสู้ช่วงแรกๆ ไม่ได้ อย่างไรก็ตามใน ค.ศ.1863 บทกวีที่เขาเขียนขณะอยู่ที่นิวยอร์กซึ่งยังไม่เคยพิมพ์ที่ใดมาก่อน ถูกนำมาพิมพ์รวมเล่มเป็นครั้งแรกในชื่อ Thirty Poems

ในช่วง 7 ปีแรกที่อยู่ในนิวยอร์กนอกเหนือจากงานบรรณาธิการและเขียนบทกวีแล้ว ไบรอันต์ยังแปลมหากาพย์ของโฮเมอร์ (Homer) ชื่อ Iliad และ Odyssey จากภาษากรีกเป็นภาษาอังกฤษในรูปของกลอนเปล่า (blank verse) ผลงาน 2 ชิ้นนี้ได้รับการยอมรับทั้งในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษว่าเป็นมหากาพย์ Iliad และ Odyssey ฉบับภาษาอังกฤษที่ดีที่สุด ระหว่าง ค.ศ.1827-1830 ไบรอันต์ยังอยู่ในกองบรรณาธิการของ Talisman วารสารรายปีที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงเล่มหนึ่ง นอกจากนี้เขายังเขียนเรื่องสั้นชื่อ Medfield และ The Skeleton’s Cave ไปพิมพ์ในหนังสือรวมเรื่องสั้นชื่อ Tales of Glauber Spa ด้วย ผลงานประเภทอื่นๆ ของไบรอันต์ยังมีบทความเกี่ยวกับทฤษฏีทางด้านวรรณคดีชื่อ On the Nature of Poetry สารคดีท่องเที่ยวในรูปจดหมายที่เขาเขียนไปลงใน New York Evening Post ระหว่างเดินทางไปต่างประเทศหลายครั้ง ทั้งในยุโรป ตะวันออกกลาง คิวบา อเมริกาใต้ และหลายมลรัฐของสหรัฐอเมริกา จดหมายเหล่านี้ถูกนำมาพิมพ์รวมเล่มในชื่อ Letters of a Traveller และ Letters from Spain and other Countries นอกจากนี้ใน ค.ศ.1876 ไบรอันต์ยังร่วมกับซิดนีย์ โฮวาร์ด เกย์ (Sydney Howard Gay) เขียนหนังสือชื่อ A Popular History of the United States แต่ยังไม่ทันเสร็จเขาก็เสียชีวิตเสียก่อน

ในฐานะบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ไบรอันต์สามารถทำให้หนังสือพิมพ์ New York Evening Post กลายเป็นหนังสือพิมพ์ของนิวยอร์กที่ทรงอิทธิพลทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจมาจนถึงปัจจุบัน เขาตั้งมาตรฐานงานเขียนหนังสือพิมพ์ไว้สูง และทำให้ New York Evening Post เป็นตัวอย่างของหนังสือพิมพ์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม บทบรรณาธิการของไบรอันต์มีบทบาทและอิทธิพลอย่างสูงในการเรียกร้องต่อสู้ให้มีการเลิกทาส ในการนี้เขายกย่องสดุดีจอห์น บราวน์ (John Brown)* ดุจนักบุญผู้ยอมพลีชีพของตนเพื่อผดุงความถูกต้อง จากการที่บราวน์ถูกจับแขวนคอเพราะพยายามช่วยเหลือพวกทาสด้วยกำลังอาวุธ นอกจากนี้เขายังมีบทบาทสำคัญในการปกป้องเสรีภาพในการพูดของประชาชน สนับสนุนการค้าเสรีและการนัดหยุดงานของกรรมกรเพื่อเรียกร้องค่าแรงที่เป็นธรรม บทบรรณาธิการของไบรอันต์ยังแสดงจุดยืนทางการเมืองของเขาอย่างชัดเจน กล่าวคือในตอนแรกเขาสนับสนุนพรรคเดโมแครต (Democrat Party) แต่ภายหลังมีความเห็นไม่ลงรอยกับพรรคในเรื่องทาส จึงหันไปสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวภายในพรรคเดโมแครตเพื่อก่อตั้งพรรคฟรีซอยล์ (Fee Soil Party)* ต่อมาใน ค.ศ.1850 ไบรอันต์ยังได้ร่วมก่อตั้งพรรครีพับลิกัน (Republican Party) และใช้หนังสือพิมพ์ของเขาเป็นกระบอกเสียงให้กับพรรค ไบรอันต์เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนประธานาธิบดีลิงคอล์น ใน ค.ศ.1860 เขาเป็นผู้กล่าวแนะนำลิงคอล์นต่อหน้าผู้ฟังที่ Cooper Union ในนครนิวยอร์ก ในเวลาต่อมาไบรอันต์และหนังสือพิมพ์ New York Evening Post ยังมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจประกาศเลิกทาส (Emancipation and Proclamation) ของประธานาธิบดีลิงคอล์นด้วย

ไบรอันต์เป็นกำลังสำคัญในการเรียกร้องเพื่อชาวนิวยอร์กหลายเรื่อง อาทิ เรียกร้องให้จัดตั้งสวนสาธารณะในนครนิวยอร์ก จนมีการจัดหาที่ดินสร้างเซนทรัลพาร์ก (Central Park) ใน ค.ศ.1853 และก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปะชื่อ Metropolitan Museum of Art ต่อมาใน ค.ศ.1884 หลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้ว มีการตั้งชื่อสวนสาธารณะชื่อไบรอันต์พาร์ค (Bryant Park) เป็นเกียรติแก่เขา โดยมีรูปปั้นสำริดของเขาติดตั้งไว้ในสวนด้วย นอกจากนี้เมื่อไบรอันต์ซื้อบ้านที่ย่านโรซลิน (Roslyn area) ของลองไอส์แลนด์ (Long Island) เขายังซื้อที่ดินสร้างห้องอ่านหนังสือให้กับคนในย่านนี้ด้วย ใน ค.ศ.1878 หลังจากไบรอันต์เสียชีวิตไปแล้ว มีการก่อตั้งสมาคมห้องสมุดชื่อ Bryant Library Association ในโอกาสนี้ลูกสาวของไบรอันต์ชื่อจูเลีย ไบรอันต์ (Julia Bryant) ได้ยกห้องอ่านหนังสือแห่งนี้พร้อมที่ดินให้กับสมาคมเพื่อใช้เป็นห้องสมุดประชาชนต่อไป

แม้ในช่วงบั้นปลายชีวิตไบรอันต์จะมีชื่อเสียงและร่ำรวยมหาศาล แต่เขาก็ยังคงทำงานตลอดเวลา และได้รับเชิญให้ไปกล่าวคำสดุดีและคำไว้อาลัยเพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของชาวอเมริกันผู้มีคุณูปการต่อประเทศทางด้านศิลปะและวรรณคดีบ่อยครั้ง อาทิ กล่าวคำไว้อาลัยในพิธีฝังศพเพื่อนสนิทคนหนึ่งของเขาคือ ทอมัส โคล (Thomas Cole)* จิตรกรผู้มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในสกุลช่างฮัดสันริเวอร์ (Hudson River School) และแสดงปาฐกถาพิเศษเรื่องชีวิตและผลงานของนักเขียนร่วมสมัยกับเขาชื่อ เจมส์ เฟนิมอร์ คูเปอร์ (James Fenimore Cooper)* และวอชิงตัน เออร์วิง นอกจากนี้เขายังได้รับเชิญให้เป็นผู้กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดอนุสาวรีย์ของจิตรกรรูปเหมือนซึ่งต่อมาเป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องรับส่งโทรเลขชื่อ ซามูเอล ฟินลีย์ บรีส มอร์ส (Samuel Finley Breese Morse)* รวมทั้งอนุสาวรีย์ของวิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) และ เซอร์วอลเตอร์ สก๊อตต์ (Sir Walter Scott) ที่เซนทรัลพาร์ก ตลอดจนอนุสาวรีย์ของบุคคลที่มีชื่อเสียงอีกหลายคน ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ.1878 เขาได้ไปกล่าวสุนทรพจน์เปิดอนุสาวรีย์ของจูเซปเป มัซซินี (Giuseppe Mazzini) นักปฏิวัติชาวอิตาลี ที่เซนทรัลพาร์ก แล้วหกล้มหัวฟาดพื้นขณะกำลังจะเข้าบ้าน เป็นเหตุให้เสียชีวิตในเวลาต่อมา

      วิลเลียม คัลเลน ไบรอันต์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ.1878 ขณะอายุ 84 ปี

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย