สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
วิวัฒนาการและโลกทัศน์ของแนวคิดยุคใหม่
คลื่นการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก
ลักษณะสำคัญของสังคมโลกยุคโลกาภิวัตน์
ผลกระทบของโลกาภิวัตน์ต่อสังคมโลก
ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ
ผลกระทบด้านการเมือง
คลื่นการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก
คลื่นการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แบ่งออกได้เป็น 3
ช่วง ดังนี้
1 คลื่นลูกที่หนึ่ง
เกิดจากการปฏิวัติเกษตรกรรมเมื่อ 10,000 ปีมาแล้ว ในช่วงปลายยุคหินใหม่
มนุษย์ในยุคนั้นได้เปลี่ยนวิถีชีวิตจากการเร่ร่อน ล่าสัตว์
และเก็บพืชผลไม้ป่าเป็นอาหาร มาเป็นการเริ่มเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์
ตั้งหมู่บ้านอาศัยอยู่เป็นหลักแหล่ง
อารยธรรมเริ่มแรกของมนุษย์จึงเริ่มปรากฏขึ้นเมื่อราว 3,000
ปีก่อนคริสตกาลในดินแดนเมโสโปเตเมีย
และที่ราบลุ่มแม่น้ำอันอุดมสมบูรณ์ในบริเวณตะวันออกกลาง
เทคโนโลยีทางด้านการชลประทานช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร
ทำให้เมโสโปเตเมียเติบโตขึ้นเป็นนครรัฐที่เจริญรุ่งเรือง
ในขณะที่อียิปต์เป็นอาณาจักรที่มีอำนาจ การประดิษฐ์ตัวอักษร
และความเชื่อในเทพเจ้าเป็นลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่งของอารยธรรมของคลื่นลูกที่หนึ่ง
ทำให้ผู้ปกครองซึ่งเป็นกษัตริย์หรือนักนักบวชมีอำนาจดุจเทพเจ้า สามารถควบคุมแรงงาน
และทำให้ประชาชนอุทิศตนเพื่อความยิ่งใหญ่ของอาณาจักร เช่น การสร้างพีรามิด
รวมทั้งการขยายอำนาจไปในบริเวณใกล้เคียงจนเป็นจักรวรรดิในเวลาต่อมา
อารยธรรมโลกยุคแรกยังเกิดขึ้นในแถบที่ราบลุ่มแม่น้ำสินธุ
ในบริเวณที่ปัจจุบันคือ ประเทศปากีสถาน
และที่ราบลุ่มแม่น้ำเหลืองหรือแม่น้ำฮวงโหในประเทศจีน เมื่อราว 2,000
ปีก่อนคริสตกาลการชลประทานและการค้าขายระหว่างเมืองต่างๆ
ในลุ่มแม่น้ำสินธุและเมโสโปเตเมีย
ได้ช่วยให้อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุหรืออารยธรรมฮารัปปาเจริญรุ่งเรือง
ก่อนที่จะถูกชนเผ่าอารยันจากทางเหนือรุกราน
และขยายอาณาเขตจากลุ่มแม่น้ำสินธุสู่ลุ่มแม่น้ำคงคา พร้อมทั้งนำระบบวรรณะ
และศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เข้ามาสู่อินเดีย ส่วนอารยธรรมจีนอยู่ในลักษณะโดดเดี่ยว
เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ที่ประกอบด้วยเทือกเขา ทะเลทราย และมหาสมุทร
ชาวจีนเรียกดินแดนของตนว่า อาณาจักรกลาง
ซึ่งหมายถึงโลกที่เป็นระเบียบและความมั่นคง ส่วนดินแดนอื่นที่รายล้อมจีน
คือชนชาติที่ป่าเถื่อนและวุ่นวาย เช่นเดียวกับเมโสโปเตเมียและอียิปต์
ผู้ปกครองจีนทรงอ้างตนว่าเป็น โอรสแห่งสวรรค์ ที่ลงมาปกครองโลกมนุษย์
ขณะเดียวกันในแถบเมดิเตอเรเนียนก็ได้เกิดอารยธรรมที่เจริญขึ้นจากการค้าขาย
การหัตกรรมและการแสวงหาอาณานิคมเมื่อราว 1,000 ปีก่อนคริสตกาล
ชาวฟินิเชียเดินเรือค้าขายและตั้งอาณานิคมรอบทะเลเมดิเตอเรเนียน ต่อมาราว 500
ปีก่อนคริสตกาล ก็ได้มีนครรัฐกรีกและอาณานิคมของพวกกรีกในแถบทะเลเมดิเตอเรเนียน
เอเธนส์และนครรัฐอื่นๆ บนคาบสมุทรกรีกกลายเป็นศูนย์กลางของการศึกษาและศิลปวิทยาการ
แม้นครรัฐแต่ละแห่งจะมีความแตกต่างกัน แต่ชาวกรีกก็มีมรดกทางวัฒนธรรมร่วมกัน เช่น
ภาษา ศิลปวิทยาการ และวรรณคดี จุดเด่นของนครรัฐเอเธนส์ก็คือ
การปกครองแบบประชาธิปไตยโดยตรง (direct democracy) ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก
อารยธรรมกรีกยังปรากฏในแถบเกาะซิซีลี และทางใต้ของอิตาลี
ขณะที่อารยธรรมอีทรัสกันซึ่งพัฒนาขึ้นทางเหนือของอิตาลีได้มีอำนาจเหนือชาวโรมัน
ซึ่งต่อมาจะได้สร้างจักดิวรรดิและอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ในเวลาต่อมา
ในสมัยคลื่นลูกที่หนึ่งซึ่งเป็นยุคของการเกษตรกรรมและการค้าขายนี้
โลกมีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น ในราว 500 ปีก่อนคริสตกาลจนถึง ค.ศ. 500
นักประวัติศาสตร์เรียกช่วงเวลาดังกล่าวว่า ยุคคลาสสิค (Classical Age)
อารยธรรมต่างๆ โดยเฉพาะกรีก โรมัน เปอร์เซีย จีน และอินเดีย
เริ่มขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางด้วยการทำสงครามและยึดครองดินแดน ทำให้ชนกลุ่มอื่นๆ
เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมของตน
อารยธรรมส่วนใหญ่ในยุคนี้มีกองทัพที่แข็งแกร่งเพื่อขยายอาณาเขตและปราบปรามชนเผ่าเร่ร่อนที่บุกรุกเข้ามาในอาณาเขตของตน
ขณะเดียวกันก็มีความเจริญในด้านการจัดระเบียบในการปกครอง
การสร้างบ้านเมืองที่สวยงามสะดวกสบาย และความสามารถในด้านศิลปะ
และวิทยาศาสตร์หลายแขนง
นับเป็นครั้งแรกที่มีการเชื่อมโลกตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน
โดยการทำสงครามขยายอาณาเขตของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช
จากคาบสมุทรกรีกไปสู่อียิปต์ บาบิโลเนีย เปอร์เซีย แบคเทรีย และอินเดีย
นอกจากนี้ยังมีการค้าทางไกลผ่าน เส้นทางสายไหม (Silk Road)
เป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตร ระหว่างจีน เปอร์เซีย และโรมัน
ยุคคลาสสิคยังเป็นยุคของนักคิดผู้ยิ่งใหญ่ในดินแดนต่างๆ อาทิ
ขงจื๊อในจีน พระพุทธเจ้าในอินเดีย โสเครติส เพลโต และอริสโตเติลในกรีก
และพระเยซูคริสต์ในดินแดนปาเลสไตน์ เป็นต้น
ขงจื๊อมีบทบาทอย่างยิ่งต่อการปกครองและระบบราชการของจีนมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น
จนกระทั่งจีนมีการเปลี่ยนแปลงเป็นประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ในปัจจุบัน
ส่วนศาสนาพุทธแม้จะเกิดในอินเดียแต่กลับไปเจริญเติบโตในจีน เกาหลี ญี่ปุ่น
และหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักคิดชาวกรีกคนสำคัญๆ
ได้เป็นที่มาของวิชาปรัชญาตะวันตกในปัจจุบัน
ส่วนศาสนาคริสต์ได้กลายเป็นศาสนาของจักรวรรดิโรมัน ก่อนที่จะแพร่หลายในยุโรป
รัสเซีย ทวีปอเมริกาเหนือและใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และดินแดนอื่นๆ ทั่วโลก
จักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ในสมัยคลาสสิค ไม่ว่าจะเป็น กรีก โรมัน จีน
อินเดีย และเปอร์เซีย มีอิทธิพลอย่างมากต่อวัฒนธรรมของดินแดนต่างๆ ทั้งในเอเชีย
ยุโรป และแอฟริกา มีแต่เพียงอเมริกา แอฟริกาที่อยู่ใต้ทะเลทรายซาฮารา
และหมู่เกาะแปซิฟิกเท่านั้นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากอารยธรรมอันยิ่งใหญ่เหล่านี้ในช่วงเวลาดังกล่าว
การล่มสลายของจักรวรรดิโรมันในคริสต์ศตวรรษที่ 5
ได้ทำให้ประวัติศาสตร์อารยธรรมโลกเข้าสู่ ยุคกลาง (Middle Age) ยุคแห่งศรัทธา
(Age of Faith) ซึ่งอยู่ในช่วง ค.ศ. 500 ถึง ค.ศ. 1150
ซึ่งเป็นยุคที่ดินแดนส่วนใหญ่ของโลกมีความปั่นป่วนและความชะงักงันทางวัฒนธรรม
ที่เรียกกันว่ายุคมืด (Dark Age) เนื่องจากเกิดการรุกรานของอนารยชนเผ่าเยอรมัน
(Germanic Tribes) ในจักรวรรดิโรมันตะวันตก
ในซีกโลกตะวันออกจักรวรรดิที่เคยยิ่งใหญ่ เช่น เปอร์เซีย จีน และอินเดีย
เกิดการแตกแยกเป็นอาณาจักรเล็กๆ ที่ทำสงครามกันตลอดเวลา
ในยุคนี้ศาสนามีบทบาทสำคัญ ในการยึดเหนี่ยวจิตใจผู้คนในดินแดนต่างๆ
ให้มีเอกภาพ โดยอาศัยศรัทธาต่อศาสนาเป็นแรงผลักดัน
คริสต์ศาสนาช่วยยึดเหนี่ยวจักรวรรดิไบแซนไทน์ (Byzantine Empire)
ให้ดำรงอยู่ตลอดมาในยุคกลาง ในขณะที่จักรวรรดิอื่นๆ ล่มสลาย
คริสต์ศาสนายังก่อให้เกิดการขึ้นสู่อำนาจของพระเจ้าชาเลอมาญ (Charlemagne)
ผู้สถาปนาระบบฟิวดัล (Fudalism) ด้วยการพระราชทานที่ดินผืนใหญ่แก่ขุนนาง
การเรียนรู้ในวัดวาอาราม และการยอมรับนับถือศริสต์ศาสนาในรัสเซีย
ส่วนในอาหรับศาสนาอิสลามได้ถือกำเนิดขึ้นในคริตศตวรรษที่ 7
จนสามารถรวบรวมชาวอาหรับให้เป็นปึกแผ่น พร้อมทั้งขยายอิทธิพลจากแอฟริกาเหนือ สเปน
ไปสู่อินเดีย
ศาสนาพุทธเผยแผ่จากอินเดียไปยังจีนผ่านเส้นทางสายไหมและแพร่หลายในหมู่ประชาชน
ขณะที่จักรพรรดิจีนยึดถือลัทธิขงจื๊อเป็นหลักในการปกครอง
ศาสนาฮินดูจากอินเดียแพร่สู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ส่งผลให้เกิดอาณาจักรขอมที่เรืองอำนาจในเวลาต่อมา แม้ว่ายุโรปจะอยู่ในยุคมืด
แต่ในส่วนอื่นๆ ของโลกยังคงมีความเจริญสืบต่อมา อาทิ
จักรวรรดิไบแซนไทน์ที่ยังคงศึกษาอารยธรรมกรีก โรมัน
ส่วนนักปราชญ์อิสลามก็มีความรู้ความสามารถในศิลปวิทยาการหลายแขนง
ส่วนสมัยราชวงศ์ถังได้ชื่อว่าเป็นยุคทองของจีน
ตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13-15
เป็นช่วงของการขยายตัวของคลื่นลูกที่หนึ่ง ซึ่งได้แก่การฟื้นตัวทางการค้าในยุโรป
แม้ว่ากองทัพของชาวคริสต์ที่ทำสงครามครูเสด (Crusade Ware)
ต่อต้านอิสลามในตะวันออกกลางจนพ่ายแพ้เป็นส่วนใหญ่
แต่พวกเขาก็ประสบความสำเร็จในการนำความรู้ของโลกอิสลามเข้ามาถ่ายทอดในยุโรปขณะเดียวกันความเป็นรัฐชาติก็ได้เกิดขึ้นในยุโรป
ทำให้ยุโรปหลุดพ้นจากการครอบงำของศาสนาจักรโรมันคาทอลิกและระบบฟิวดัล
บรรดานครรัฐในอิตาลี อาทิ ฟลอเรนซ์ เจนัว และเวนิส
ซึ่งเฟื่องฟูขึ้นในยุคนี้เป็นจุดกำเนิดของการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ หรือเรอเนสซองส์
(Renaissance) การประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ ทำให้ศิลปวิทยาการแขนงต่างๆ
ของกรีกและโรมันแพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว
ยุโรปเริ่มเข้าสู่ยุคแห่งการสำรวจค้นพบทางทะเลสามารถเดินเรือมาทางตะวันออกและค้นพบทวีปอเมริกา
รวมทั้งจับจองเป็นอนาจักร ซึ่งจะนำความมั่งคั่งและอำนาจมาสู่ประเทศสเปน โปรตุเกส
และฮอลันดา
2. คลื่นลูกที่สอง
เริ่มต้นจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งมีภูมิหลังมาจาก ยุคแห่งแสงสว่างทางปัญญา
(Age of Enlightenment) หรือ ยุคแห่งเหตุผล (Age of Reason) ในคริสต์ศตวรรษที่ 18
ที่พัฒนามาจาก การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Revolution)
ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้
ปัญญาชนในยุคนี้ปฏิเสธความคิดความเชื่อที่เกิดจากศรัทธาในศาสนาของยุคกลาง
นิยมการค้นหาความจริงโดยหลักของเหตุและผล มองโลกในแง่ดี
เชื่อมั่นในความก้าวหน้าของมนุษย์ นำความคิดเชิงวิทยาศาสตร์ไปอธิบายปัญหาสังคม
จนนำไปสู่ความรู้ทางด้านสังคมศาสตร์ นักปรัชญาในยุคแห่งแสงสว่างทางปัญญาที่สำคัญ
ได้แก่ จอห์น ล็อค (Johnlock) วอลแตร์ (Vottaire) มองเตสกิเออ (Montesquieu) และชอง
ชาค รุสโซ (Jean Jaque Rousseau)
ยุคจักรวรรดินิยมเกิดขึ้นไล่เลี่ยกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม
โดยมีไอน้ำและไฟฟ้าเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญ โดยมีอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นผู้นำ
ติดตามด้วยสหรัฐอเมริกาและเยอรมนีที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ
อันประกอบด้วยลัทธิอุตสาหกรรม ทุนนิยม และชาตินิยม ในค.ศ. 1858
อังกฤษปกครองอินเดียอย่างเป็นทางการ หลังจากครอบงำเศรษฐกิจของอินเดียมาเป็นเวลานาน
ใน ค.ศ. 1862 ฝรั่งเศสเข้าครอบครองอินโดจีนโดยเริ่มจากการยึดครองเวียดนามตอนใต้
ระหว่าง ค.ศ.1884-1885
มหาอำนาจจักรวรรดินิยมพบปะกันที่กรุงเบอร์ลินเพื่อตกลงแบ่งแอฟริกาออกเป็นส่วนๆ
โดยไม่สนใจสิทธิของชนพื้นเมือง ใน ค.ศ. 1898 สหรัฐอเมริกาทำสงครามกับสเปน
ได้ครอบครองคิวบาและฟิลิปปินส์ และก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจระดับโลก
มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงศูนย์อำนาจและศูนย์กลางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยข้ามฝากมหาสมุทรแอตแลนติกมาร์สหรัฐอเมริกา
การปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ตอนกลางคริสต์ศตวรรษที่
18 นับเป็นเหตุการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของโลก
การปฏิวัติอุตสาหกรรมได้นำไปสู่การให้ความสำคัญในเรื่องผลิตผลและประสิทธิภาพของสิ่งที่เรียกกว่า
การทำลายที่สร้างสรรค์ ซึ่งนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ หลายประการ
ขณะเดียวกันก็ให้ความสะดวกสบายและความเจริญก้าวหน้าแก่มนุษย์จวบจนทุกวันนี้
แบบแผนการทำงานในโรงงานยังเข้ามาแทนที่อุตสาหกรรมในครัวเรือน (Domeotic System)
ซึ่งต้องนำงานมาส่งให้แรงงาน อันทำให้รูปแบบของสินค้า แรงงาน
และสถานที่ทำงานเปลี่ยนแปลงไป โดยอาศัยพลังงานและเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ ถ่านหิน
และไอน้ำในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรก มาเป็นพลังงานไฟฟ้า เคมี
และน้ำมันในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 รวมทั้งการประดิษฐ์คิดค้น วิทยุ โทรเลข
โทรศัพท์ แม้กระทั่งระบบอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบัน
การปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงต่อระบบการทำงานส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์แทบทุกด้าน
ตลอดช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 พลังของจักรวรรดินิยม การพัฒนาอุตสาหกรรม
และชาตินิยมแพร่ไปทั่วโลก วิกฤตที่รุนแรงที่สุดก็คือสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ.
1914-1918) และสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1939-1945)
คลื่นลูกที่สองจึงครอบคลุมความสัมพันธ์แบบจักรวรรดินิยมกับประเทศอาณานิคมและทุนนิยมที่แผ่ขยายไปทั่วโลก
โดยมีอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นผู้นำที่สำคัญ
ความหายนะของสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (ค.ศ. 1929-1941) ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและลุกลามไปทั่วโลก ครอบคลุมช่วง 45 ปีแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 การพัฒนาอุตสาหกรรมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีท้าทายค่านิยมดั้งเดิม ขณะที่กระแสการปฏิวัติในรูปแบบต่างๆ แพร่ขยายไปทั่วโลก อาทิ การปฏิวัติในรัสเซีย ค.ศ. 1917 การปฏิวัติในจีน ค.ศ. 1949 และการเรียกร้องเอกราชในอินเดีย ค.ศ. 1947 เป็นต้น
3. คลื่นลูกที่สาม
เป็นยุคสมัยแห่งเทคโนโลยีระดับสูง
เป็นคลื่นลูกใหม่ซึ่งแทนที่คลื่นลูกเก่าที่กำลังมีอิทธิพลต่อสังคม เศรษฐกิจ
และการเมืองของโลกปัจจุบัน เริ่มด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรมเหล็กกล้า รถยนต์
และเครื่องบิน ซึ่งขยายตัวเต็มที่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่าง ค.ศ. 1950-1970
ท่ามกลางความขัดแย้งในยุคสงครามเย็น (ค.ศ. 1945-1991)
และการปลดปล่อยประเทศอาณานิคมต่างๆ ให้เอกราช
หลายประเทศเจริญขึ้นอย่างรวดเร็วท่ามกลางเศรษฐกิจโลกยุคโลกาวัตน์ที่ต้องพึ่งพากันและกันมากกว่าแต่ก่อน
การล่มสลายของค่ายสังคมนิยมนับเป็นจุดสิ้นสุดของสงครามเย็น
ซึ่งเกิดขึ้นไล่เลี่ยกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ซึ่งได้แก่
ระบบคอมพิวเตอร์สารสนเทศ แต่นอกจากกระแสโลกาภิวัตน์แล้ว
การก่อการร้ายก็แพร่ขยายมากขึ้นเช่นกันในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20
การก่อการร้ายเป็นรูปแบบสงครามที่เปิดโอกาสให้กลุ่มคนจำนวนน้อยที่มีอุดมการณ์แน่วแน่
เข้าโจมตีศูนย์กลางของชาติที่มีอำนาจ แต่มีอุดมการณ์ต่างกัน ดังเช่น
กรณีเหตุการณ์โศกนาฏกรรม 9/11 ที่อาคารเวิลด์เทรด์เซนเตอร์ ในนครนิวยอร์ก
ถูกโจมตีเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001
ญี่ปุ่นฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ด้วยการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Goods) แทนยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกา
ซึ่งหันไปผลิตสินค้าประเภททุน (Capital Goods)
ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ
ต่อมาแรงงานราคาถูกในญี่ปุ่นไม่มีอีกต่อไป
ญี่ปุ่นจึงปรับตัวไปสู่การผลิตที่ใช้เครื่องจักเพิ่มขึ้น (Capital - intensive
Production) และปรับการผลิตจากสินค้าอุปโภคบริโภคไปสู่สินค้าประเภททุน
ต่อมาประเทศแก๊งทั้งสี่ (Gang of Four) ได้แก่ สิงคโปร์ เกาหลี ไต้หวัน
และฮ่องกง เข้าแทนที่ญี่ปุ่นในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค
และเปลี่ยนการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า (Import Substitution Industrialization)
มาเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก (Export oriented Industrialization)
กลุ่มประเทศแก๊งทั้งสี่ได้รับประโยชน์จากจากการลงทุนของบรรษัทระหว่างประเทศและได้ก้าวไปสู่กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่
(Asian Nics) และในที่สุดเมื่ออัตราค่าจ้างมีราคาสูงขึ้น
ประเทศเหล่านี้จึงได้ปรับเปลี่ยนมาสู่การผลิตที่ใช้เครื่องจักรเพิ่มขึ้นในทศวรรษ
1980
ปัจจุบันกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี
และญี่ปุ่น กำลังแปรสภาพจากสังคมเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (Industrial Economy)
ไปเป็นสังคมเศรษฐกิจบริการ (Service Economy) มากขึ้นเรื่อยๆ
โดยเป็นการผลิตที่ใช้สารสนเทศเพิ่มขึ้น
และใช้นโยบายกีดกันการค้าเข้าแทนที่นโยบายการค้าเสรีที่เคยใช้มาก่อน
รวมทั้งใช้นโยบายเสรีนิยมทางการเงิน (Financial Liberalize)
ทำให้ทุนและเงินตรากลายเป็นปัจจัยการผลิตที่ไร้เชื้อชาติและสัญชาติ
และสามารถเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศโดยเสรีโดยอาศัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ
ทำให้การลงทุนซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างประเทศมีความสำคัญแซงหน้าการลงทุนโดยตรง
ธุรกิจการเงินและธุรกิจหลักทรัพย์ระหว่างประเทศเข้าไปถือหุ้นในบรรษัทระหว่างประเทศ
ตลาดการเงินระหว่างประเทศจึงเชื่อมโยงกับตลาดการผลิตระหว่างประเทศ
อันเป็นปรากฏการณ์ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง