ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>
อาณาจักรล้านนา
โดยอาจารย์วรรณา คำปวนบุตร
ดินแดนล้านนาอยู่ในเขตภาคเหนือของประเทศไทย
และตั้งอยู่ในภาคพื้นทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาและหุบเขา มีพื้นที่ราบระหว่างหุบเขา
เทือกเขาสูงเหล่านี้จะต่อเนื่องมาจากเทือกเขาหิมาลัยและเทือกเขาในแคว้นยูนนานของจีน
จึงทำให้ลักษณะทิวเขาในภาคเหนือเป็นแนวยาวขนานกันจากแนวทิศเหนือ ใต้ ซึ่งได้แก่
1. ทิวเขาแดนลาว อยู่ทางทิศเหนือ
2. ทิวเขาถนนธงชัย อยู่ทางทิศตะวันตก
3. ทิวเขาผีปันน้ำ อยู่ตอนกลางของภาค
4. ทิวเขาหลวงพระบาง อยู่ทางทิศตะวันออก
สำหรับพื้นที่ราบเหมาะแก่การตั้งชุมชนและแหล่งทำกินนั้นมีเพียง ¼
ของพื้นที่ทั้งหมด โดยพื้นที่จะมีลักษณะเป็นแอ่งลึกลงไป
มีภูเขาสูงล้อมรอบพื้นที่แต่ละแอ่ง
พื้นที่ราบนี้จะมีลักษณะเป็นแนวแคบและยาวในแนวจากทิศเหนือ ใต้
กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในเขตภาคเหนือ
ซึ่งแอ่งเหล่านี้คือแหล่งกำเนิดทางวัฒนธรรมที่สำคัญของอาณาจักรล้านนา อันได้แก่
แอ่งเชียงใหม่ ลำพูน, แอ่งลำปาง, แอ่งเชียงราย พะเยา, แอ่งแพร่,
และสุดท้ายคือแอ่งน่าน
แอ่งทั้งหลายเหล่านี้ต่างมีแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่านและหล่อเลี้ยงผู้คนในพื้นที่
ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ด้วยกัน คือ
- แม่น้ำสายใหญ่ที่ไหลลงไปสู่ทิศใต้ ได้แก่ ปิง, วัง, ยม, น่าน
หลังจากนั้นจึงไหลไปรวมกับแม่น้ำเจ้าพระยา
แม่น้ำที่ถือว่ามีความสำคัญและเป็นเส้นทางน้ำที่มีบทบาทมากที่สุดของวัฒนธรรมล้านนามาแต่โบราณ
คือ แม่น้ำปิ
- แม่น้ำซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของภาค ได้แก่ ปาย, ยวม, เมย
ซึ่งอยู่ในเขตของจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ลักษณะพิเศษของสายน้ำเหล่านี้คือจะไม่ไหลมายังตอนกลางของภาค
แต่กลับไหลย้อนไปทางทิศเหนือแล้วไหลลงสู่แม่น้ำสาละวินต่อไป
- แม่น้ำซึ่งอยู่ทางตอนบนของภาค ได้แก่ กก, อิง, ฝาง, ลาว ซึ่งอยู่ในเขตของจังหวัดเชียงราย แม่น้ำเหล่านี้มีลักษณะเช่นเดียวกับแม่น้ำที่อยู่ทางทิศตะวันตกของภาคเหนือ คือจะไม่ไหลมายังตอนกลางของภาค แต่จะไหลย้อนกลับไปทางทิศเหนือ หลังจากนั้นจึงไหลลงสู่แม่น้ำโขงต่อไป
สำหรับเมืองสำคัญของล้านนาซึ่งตั้งอยู่ตามที่ราบระหว่างหุบเขา
สามารถแบ่งตามสภาพทางภูมิศาสตร์และความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่
คือ
1. กลุ่มเมืองล้านนาตะวันตก ประกอบไปด้วย เชียงใหม่, ลำพูน, ลำปาง,
เชียงราย, และพะเยา โดยเมืองดังกล่าวจะกระจายกันไปอยู่บนที่ราบ 3 แห่ง คือ
แอ่งเชียงใหม่ ลำพูน, แอ่งเชียงราย พะเยา, และแอ่งลำปาง
แต่เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวนี้ได้ถูกผนวกเข้าด้วยกันนับตั้งแต่สมัยราชวงศ์มังรายเป็นต้นมา
จึงทำให้มีประวัติความเป็นมาที่ร่วมสมัยกัน
และพอมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีของสยามประเทศ
ล้านนาได้อยู่ภายใต้การปกครองของสยามและอยู่ในช่วงฟื้นฟูล้านนา
หรือที่เรียกกันว่ายุค เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง
โดยมีเจ้านายในเชื้อสายตระกูลเจ้าเจ็ดตนแยกกันออกไปปกครองในแต่ละเมือง
จึงทำให้มีความสัมพันธ์ระหว่างกันตั้งแต่ราชวงศ์มังรายจนกระทั่งถึงเจ้านายในเชื้อสายเจ้าเจ็ดตน
ดังนั้นกลุ่มเมืองนี้จึงมีพื้นฐานความเป็นอยู่ ประเพณี ศาสนา
ความเชื่อและศิลปวัฒนธรรมที่มีความคล้ายคลึงและใกล้เคียงกันมาก
โดยมีศูนย์กลางสำคัญของอาณาจักรตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันอยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง
คือ เมืองเชียงใหม่
2. กลุ่มเมืองล้านนาตะวันออก มีเมืองแพร่, น่าน
ซึ่งตั้งอยู่บนที่ราบสองแห่งด้วยกัน คือ แอ่งแพร่และแอ่งน่านตามลำดับ
ทั้งสองเมืองตั้งอยู่บนพื้นที่ราบขนาดเล็กและมีประวัติความเป็นมาที่คล้ายคลึงกัน
นั่นคือในสมัยแรกเริ่มต่างมีฐานะเป็นรัฐอิสระมีราชวงศ์ของตนเองและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอาณาจักรสุโขทัย
และได้ถูกผนวกดินแดนเข้ากับอาณาจักรล้านนาในสมัยพระเจ้าติโลกราช
ฉะนั้นจึงไม่ค่อยผูกพันกับเมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นศูนย์กลางสำคัญของอาณาจักรล้านนา
ครั้นถึงในสมัยฟื้นฟูล้านนาซึ่งอยู่ร่วมสมัยกันกับกรุงรัตนโกสินทร์
เจ้าผู้ครองเมืองน่านและเมืองแพร่ต่างก็มีเจ้าผู้ครองนครอยู่คนละสายกับเจ้านายในตระกูลเจ้าเจ็ดตน
การตั้งถิ่นฐานในภาคเหนือจะมีลักษณะเด่นคือ
กลุ่มเมืองจะกระจายตัวตามแอ่งหรือที่ราบลุ่มแม่น้ำ
ลักษณะการตั้งถิ่นฐานจะยาวตามลำน้ำ ตามที่ราบจะมีชุมชนหนาแน่น
ส่วนบนพื้นที่สูงจะมีประชากรเบาบางและเป็นที่อยู่ของชาวลัวะและยาง
ซึ่งดำรงชีวิตด้วยการปลูกข้าวไร่และพืชไร่ต่างๆ
ดังนั้นวิถีชีวิตของคนพื้นราบกับคนบนพื้นที่สูงจึงต่างกัน
อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระจายตัวไปตามแอ่งต่างๆที่มีภูเขาขวางกั้นนั่นเอง
จึงทำให้แต่ละเมืองติดต่อกันลำบาก ดังนั้นแต่ละเมืองจึงมีลักษณะเฉพาะถิ่นของตน เช่น
ภาษาท้องถิ่น จะพบว่ามีสำเนียง, คำศัพท์เฉพาะถิ่นต่างกันไป
แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีความเข้าใจและอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
เนื่องจากการมีพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ร่วมกันมาอย่างยาวนาน
จึงทำให้มีความเชื่อ ประเพณี ศิลปวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน
แต่จะแตกต่างกันไปบ้างก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านความเป็นอยู่ที่ต่างกันของแต่ละท้องถิ่นเป็นตัวกำหนดสำคัญ
ในปัจจุบันคำว่า ล้านนา เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่าหมายถึง 8
จังหวัดของภาคเหนือ คือ เชียงใหม่, ลำพูน, ลำปาง, เชียงราย, พะเยา, แพร่, น่าน,
และแม่ฮ่องสอน โดยมีศูนย์กลางสำคัญของดินแดนล้านนานับจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน คือ
เมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีอายุครบ 700
ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งอาณาจักรโดยพญามังรายจนกระทั่งถึง พ.ศ. 2539
ชุมชนลุ่มแม่น้ำสำคัญก่อนอาณาจักรล้านนา
ประวัติศาสตร์ล้านนา
ความเสื่อมของอาณาจักรล้านนา
สรุปเหตุการณ์ภายหลังอาณาจักรล้านนา
เส้นทางประวัติศาสตร์ : ตามรอยพญามังราย