ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
ประวัติสมเด็จพระวันรัต
( เฮง เขมจารี )
ชีวิตในวัยเด็ก
ผู้มีความจำเป็นเลิศ
ชีวิตวัยหนุ่ม
เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์
ตู้ประไตรปิฎกเคลื่อนที่
ได้เป็นสมเด็จ 2 ตำแหน่ง
ความสัมพันธ์กับสมเด็จพระสังฆราช
เคร่งครัดในพระธรรมวินัย
มรณภาพ
คุณธรรม
เคร่งครัดในพระธรรมวินัย
เจ้าประคุณสมเด็จ ฯ เป็นผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ไม่ยอมประพฤติล่วงพระบัญญัติ แม้ในสิ่งที่ผู้อื่นโดยมากเห็นว่าเล็กน้อย เป็นผู้สำรวมในศีลให้บริสุทธิ์ไม่บกพร่องด่างพร้อยแต่ประการใด จึงไม่มักง่ายในความเป็นอยู่ ท่านอ้างว่าท่านเป็นผู้ช่างสงสัย หากไม่แน่ใจแม้ดอกไม้เพียงกำเดียวท่านก็ขอคืน ท่านปรารภว่าเป็นพระหากโกงเงินแม้เพียงเล็กน้อยก็ปาราชิก ก่อนออกไปประกอบภารกิจน้อยใหญ่เช่นไปสวดมนต์ในวัง ไปเทศน์ที่โบสถ์ แม้แต่ก่อนจำวัดทุกคืน ต้องเรียกพระใกล้ชิดมารับปลงอาบัติย่อ ท่านหมั่นตรวจทานศีลในตนเองอยู่เสมอ ท่านจึงเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่เป็นนิจ ในข้อนี้ต้องนับว่าท่านเป็นผู้ตรงไปตรงมา ไม่มีแง่งอนมายาเป็นปฏิปทาของสงฆ์ข้อ อุชุปฏิปันโน ที่ใช้ความซื่อตรงเป็นเครื่องเพ่งเล็งความประพฤติของตนเองดังที่ท่านเคยปรารภเป็นเชิงสอนว่า “ พระธรรมนั้น ท่านเป็นของซื่อของตรง ผู้ปฏิบัติตามท่าน ต้องเป็นคนซื่อคนตรงด้วย จึงจะไปกับท่านได้”
เจ้าประคุณสมเด็จ ฯ เป็นพระที่สมถะ เรียบง่าย ไม่ชอบข้องเกี่ยวกับใคร ยินดีในการอยู่คนเดียวอย่างสงบในชีวิตจึงไม่เคยไปต่างประเทศ ไม่เคยท่องเที่ยว ท่านเป็นผู้สันโดษพอใจในความเป็นอยู่ของตน เป็นผู้มัธยัสถ์ ผ้าสงบที่ใช้ประจำที่กุฏิเก่าจนซีด เป็นผู้ไม่สะสมในห้องจำวัดนอกจากผ้าสามผืน มีเพียงเตียงไม้ตัวเดียวกันผ้าห่มเป็นผ้าปูรองนอนหมอนที่รองศีรษะก็ทำจากผ้าห่มม้วนเป็นก้อน ตั้งแต่หนุ่มจนชราภาพไม่เคยดูทีวีไม่ฟังวิทยุ นิยมในการตีตรองธรรมและความรู้ด้วยตนเองเสมอ เมื่อสุดท้ายของสังขารท่านถูกโรคภัยเบียดเบียนถึงเดินไม่ได้ แต่มักนั่งตรึกธรรมและความรู้ต่าง ๆ ลงในสมุดบันทึกเล่มใหญ่ วัตรปฏิบัติน่าเลื่อมใสน่ากราบไหว้ของท่านข้อนี้เป็นคุณสมบัติอันเด่นชัดของผู้เป็นพระวันรัตโดยแท้
ท่านเป็นบัณฑิตนักปราชญ์ เป็นนักภาษาศาสตร์โดยคุณวุฒิ
ธรรมสุดท้ายที่ท่านให้ติดข้างที่นอนใช้ชำระถอดถอนกล่อมเกลาจิตใจของตนเอง
จึงงดงามด้วยภาษาและลึกซึ้งดังความว่า
“ข้อซึ่งว่ามรรคละกิเลสนั้น ประสงค์เอากิเลสซึ่งควรบังเกิดในขันธ์ทั้ง
5 มีรูปเป็นต้น ซึ่งเป็นภูมิแห่งวิปัสสนาที่ชื่อว่า ภูมิลัทธูปปันนกิเลส
กิเลสมีภูมิคือขันธ์ 5 อันได้แล้วบังเกิดขึ้น
ดังรสแห่งปฐวีธาตุแลอาโปธาตุอันซาบอยู่ในรากไม้ ลำต้น กิ่ง ใบ ดอกผลทั้งปวงฉะนั้น
มรรคเมื่อเกิดในขันธสันดานแห่งท่านผู้ใดแล้วขันธสันดานแห่ง (ท่าน)
ผู้นั้นได้ต้องสัมผัสแห่งมรรคที่เกิดขึ้นนั้น
ขันธสันดานแห่งท่านผู้นั้นชื่อว่าเป็นขันธสันดานอันตาย ด้วยตายแห่งกิเลสแล้ว
ไม่สืบผล คือกุศลากุศลต่อไปดังต้นไม้มีดอกและผลอันเป็นพิษ
บุรุษผู้หนึ่งตอกต่อยด้วยหนามกระเบนดันอาบด้วยยาพิษในทิศทั้ง 4
ต้นไม้นั้นเมื่อต้องสัมผัสแห่งยาพิษแล้วก็ตายด้วยรสแห่งปฐวีธาตุ
อาโปธาตุซึ่งซึมอาบนั้น แห้งหายไปด้วยสัมผัสยาพิษนั้นแล้ว
เป็นต้นไม้ไม่เผล็ดดอกออกผลได้ต่อไปฉะนั้น”
ครั้งหนึ่งเคยมีคนถามท่านว่า ทำอย่างไรจึงเก่ง ท่านแนะนำหลักง่าย ๆ ว่า
gradually and steadly “ ค่อย ๆ และสม่ำเสมอ”
ท่านเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่าพญาครุฑบินข้ามประเทศมีค่าเท่ามดเดินข้ามประเทศ
เมื่อต้องการรู้อะไรต้องดูให้ถึงรากเหง้าและที่สำคัญต้องรู้จักสังเกต
ความสังเกตเป็นเหตุให้เกิดปัญญาท่านสรรเสริญคุณค่ามหาศาลของการรู้จักสังเกต