สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
วันพระเจ้าตากสินมหาราช
28 ธันวาคม
พระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเป็นวีรกษัตริย์ไทยที่ได้รับการเทิดทูน
และเคารพบูชาจากประชาชนชาวไทยมาโดยตลอด
ไม่เพียงเพราะพระปรีชาสามารถในการรบที่กอบกู้ชาติไทยให้เป็นเอกราช
และสร้างความเป็นปึกแผ่นแก่บ้านเมืองของเราเท่านั้น
แต่พระองค์ยังเป็นผู้นำที่เปี่ยมไปด้วยความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว
มีความกตัญญูและเสียสละต่อผืนแผ่นดินไทยอย่างยากที่จะหาผู้ใดเสมือนเหมือน อีกด้วย
ทรงมีกำเนิดเป็นเพียงสามัญชน เป็นคนไทยเชื้อสายจีน กล่าวคือบิดาเป็นจีนชื่อ
นายไหฮอง ส่วนมารดาเป็นไทยชื่อ นางนกเอี้ยง
ทรงเข้ารับราชการมาแต่แผ่นดินกรุงศรีอยุธยาตอนปลายในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
ต่อเนื่องมาจนรัชสมัยของพระเจ้าเอกทัศน์
อันเป็นเวลาที่กรุงศรีอยุธยาได้เสียทีแก่พม่าเป็นครั้งที่ 2
และพระเจ้าตากสินมหาราชซึ่งดำรงตำแหน่งพระยาวชิรปราการ
รักษาการเจ้าเมืองกำแพงเพชรในขณะนั้น ได้ใช้เวลาเพียง 7
เดือนกอบกู้เอกราชเป็นผลสำเร็จ และปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า
สมเด็จพระบรมราชาที่ 4
แต่ประชาชนยังนิยมเรียกพระองค์ในตำแหน่งเดิมว่าพระเจ้าตากสิน
พระเจ้าตากสินมารับราชการงานเมือง ทั้งๆที่บิดาของท่านเป็นพ่อค้า
หากจะคิดว่าเป็นเพราะพระองค์หวังให้เป็นเกียรติยศ ชื่อเสียงแก่วงศ์ตระกูลแล้ว
อย่างน้อยพระองค์ก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง
เพราะทรงสามารถทำความดีความชอบได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งมาโดยตลอด
แต่หลังจากเสียกรุงแล้ว แม้จะมีตำแหน่งเป็นถึงเจ้าเมืองกำแพงเพชร
แต่พระองค์ก็ยังคงเป็นสามัญชนคนธรรมดา
มิได้มีเชื้อพระวงศ์หรือเกี่ยวข้องอันใดกับพระมหากษัตริย์
เมื่อกรุงศรีอยุธยาล่มสลาย
เหตุใดพระองค์จึงต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการเพื่อกอบกู้แผ่นดินไทย
คงมิใช่เพราะทรงมักใหญ่ใฝ่สูงหรือคิดจะตั้งตนเป็นพระมหากษัตริย์แต่แรก
แต่เชื่อว่าด้วยบุคลิก ตลอดจนพระปรีชาสามารถที่โดดเด่น กอปรกับน้ำพระทัยอันห้าวหาญ
และความรัก ความกตัญญูต่อแผ่นดินบ้านเกิด
จึงทำให้พระองค์ท่านได้รับการยอมรับจากเหล่าอาณาประชาราษฎร์
จนสามารถรวบรวมอาณาจักรได้เป็นปึกแผ่นภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี
ซึ่งตลอดระยะเวลาแห่งการครองราชย์ 15 ปี มิได้ทรงสุขสบายเลย
ทรงต้องตรากตรำทำศึกสงครามเพื่อชาติเพื่อแผ่นดินไทยมาโดยตลอด
หากมิได้มีน้ำพระทัยยิ่งใหญ่ที่เปี่ยมไปด้วยความเสียสละแล้ว
คงยากที่คนธรรมดาสามัญคนหนึ่งจะทำได้ เพราะไหนจะต้องทำศึกกับคนไทยด้วยกันเอง
ไหนจะต้องรบกับพม่า ข้อสำคัญ
ยังต้องเหนื่อยยากในการหาเงินทองมาบริหารจัดการฟื้นฟูบ้านเมืองให้คืนสภาพ ด้วย
อันที่จริง หากจะศึกษาบุคลิกลักษณะของพระองค์จากพระราชประวัติแล้ว
จะเห็นได้ว่าทรงมีคุณลักษณะที่โดดเด่นหลายประการ อาทิ
ด้านพระปรีชาสามารถ ทรงศึกษาภาษาจีน ญวนและแขก
จนสามารถตรัสทั้งสามภาษาได้อย่างคล่องแคล่ว นอกจากนี้ยังทรงฉลาด
รอบรู้ด้านขนบธรรมเนียม และภารกิจต่างๆเป็นอย่างดี
จนได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศให้ทำงานต่าง
พระเนตรพระกรรณ โดยโปรดเกล้าฯให้เป็นมหาดเล็กรายงานราชการทั้งหลายในกระทรวงมหาดไทย
กรมวัง และศาลหลวง ครั้นมาสมัยพระเจ้าเอกทัศน์
ยังได้รับการโปรดเกล้าฯให้เป็นข้าหลวงเชิญท้องตราราชสีห์ขึ้นไปชำระความหัว
เมืองฝ่ายเหนือ ทำความดีความชอบได้เลื่อนเป็นหลวงยกบัตรเมืองตาก ช่วยราชการพระยาตาก
และเมื่อพระยาตากถึงแก่กรรม ก็ได้เลื่อนเป็นพระยาตากแทน
และต่อมาได้เลื่อนเป็นพระยาวชิรปราการ อันเป็นตำแหน่งสุดท้ายก่อนเสียกรุง
ด้านการรบทัพจับศึก เมื่อมังมหานรธา แม่ทัพพม่ายกมาตีปักษ์ใต้
และตีเรื่อยมาจนถึงเมืองเพชรบุรี
กรุงศรีอยุธยาก็ได้ส่งพระยาโกษาธิบดีและพระองค์คือพระยาตากในขณะนั้น
ไปรักษาเมืองและสามารถตีพม่าจนถอยร่นไปได้ และต่อมาเมื่อพม่ายกมาตีไทยอีก
พระยาตากก็ได้มาช่วยรักษาพระนครไว้ได้ (จึงได้เลื่อนเป็นพระยาวชิรปราการ)
ครั้นต่อมา เมื่อเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาต้องเสียทีแก่พม่าแน่แล้ว เพราะผู้นำอ่อนแอ
ไม่นำพาต่อราชการบ้านเมือง
พระองค์จึงตัดสินใจรวบรวบสมัครพรรคพวกจำนวนหนึ่งตีฝ่าวงล้อมพม่าออกไปเพื่อ
เตรียมกลับมากู้กรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง ซึ่งพระองค์ก็ได้ใช้เวลาเพียง 7
เดือนเท่านั้น ก็สามารถประกาศอิสรภาพได้สำเร็จ
จากนั้นยังต้องยกกองทัพไปปราบปรามก๊กต่างๆที่ตั้งตัวเป็นใหญ่
เพื่อรวบรวมอาณาจักรไทยให้เป็นปึกแผ่น
และตลอดรัชสมัยของพระองค์ยังต้องต่อสู้กับพม่าที่จะมาช่วงชิงอาณาจักรคืนอีก ถึง 9
ครั้งใหญ่ นอกจากนี้ยังได้ทำการรบเพื่อขยายอาณาจักรอีกหลายครั้ง
เป็นผลให้ไทยได้ประเทศราชคืนมาหลายแห่งเหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยา เช่น กัมพูชา
หลวงพระบาง จำปาศักดิ์และเวียงจันทร์ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้
ย่อมแสดงให้เห็นว่าพระองค์เก่งด้านการรบเพียงไร
และต้องเป็นนักวางแผนยุทธวิธีที่ดีด้วย จึงสามารถเอาชนะข้าศึกศัตรูได้ตลอดมา
ด้านความเด็ดเดี่ยวและเด็ดขาด จะเห็นได้จากตอนที่จะบุกตีเมืองจันทบุรี
ได้ให้ทหารหุงหาอาหารรับประทานแล้ว มีรับสั่งให้ทุบหม้อข้าวหม้อแกงเสีย
และมีบัญชาว่าหากเข้าเมืองไม่ได้วันนี้ ก็ต้องอดตายกันหมด
ครั้นแล้วพระองค์ก็ทรงช้างนำเข้าชนประตูเมืองจนพังทลาย
และบุกเข้ายึดจันทบุรีได้สำเร็จในคืนนั้น
หรือแม้แต่ตอนตัดสินพระทัยฝ่าวงล้อมออกมาจากกรุงศรีอยุธยาก่อนเสียกรุงฯก็เช่นกัน
หากมัวละล้าละลัง ไม่คิดให้เด็ดขาดแล้ว
ก็อาจถูกจับเป็นเชลยหรือสิ้นชีพไปแต่ครั้งนั้นแล้ว
ด้านความกตัญญู
แม้พระเจ้าเอกทัศน์จะเป็นผู้นำที่อ่อนแอและเป็นต้นเหตุให้เสียกรุง
แต่พระเจ้าตากสินก็เคยรับราชการกับพระเจ้าเอกทัศน์มาก่อน
เมื่อพระองค์สามารถขับไล่พม่าและประกาศอิสรภาพได้แล้ว
ก็ได้โปรดให้ขุดพระศพสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์หรือพระเจ้าเอกทัศน์มาแห่แหนและทำการถวายพระเพลิงให้
ด้านน้ำพระทัยที่กว้างขวางและเมตตา กล่าวกันว่าพระเจ้าตากสินนั้น
แม้จะยกทัพไปปราบปรามหรือตีเมืองใด หากเจ้าเมืองมาสวามิภักดิ์
ก็มักจะแต่งตั้งให้ครองเมืองหรือให้การสนับสนุนส่งเสริม
มิได้ทำร้ายหรือเข่นฆ่าให้ตาย ยกเว้นจะแข็งข้อหรือตั้งต้นเป็นศัตรู
แต่กระนั้นก็มิได้ทำร้ายไปถึงลูกเมียหรือญาติพี่น้องของผู้นั้น
และเมื่อครั้นอะแซหวุ่นกี้แม่ทัพพม่าได้ทำนายทายทักว่า
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกหรือเจ้าพระยาจักรีในขณะนั้นจะได้เป็นพระ
มหากษัตริย์ต่อไปในอนาคต
หากพระเจ้าตากสินจะไม่เปี่ยมไปด้วยน้ำพระทัยที่หนักแน่นมั่นคงแล้ว ก็อาจจะคิดระแวง
หาทางกลั่นแกล้ง หรือกำจัดเจ้าพระยาจักรีเสียตอนนั้นก็ได้
แต่พระองค์ก็มิได้กระทำเช่นนั้น
ทรงรักกวีนิพนธ์
และแม้จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่แทบจะทรงไม่ว่างเว้นจากการรบ
แต่ก็ปรากฏว่าได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่อง รามเกียรติ์ที่ เรียกว่า รามเกียรติ์
ฉบับกรุงธนบุรี ไว้ด้วย
ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเพื่อใช้ในการเล่นละครหลวงในงานฉลองต่างๆ
จากบุคลิกลักษณะบางส่วนของพระเจ้าตากสินมหาราชที่ยกมานี้
เราคงจะได้เห็นและซาบซึ้งถึงพระปรีชาสามารถ
และพระคุณงามความดีต่างๆของพระองค์ท่านชัดเจนยิ่งขึ้น
หากไม่มีพระองค์ที่ทรงเสียสละเพื่อชาติเพื่อแผ่นดินแม่แล้ว
เราลูกหลานไทยคงจะไม่มีบ้านเมืองที่สุขสบายดังเช่นทุกวันนี้
ดังนั้น เนื่องในวันคล้ายวันปราบดาภิเษกของพระองค์ท่าน ในวันที่ 28
ธันวาคมของทุกปี ที่เรียกว่า วันพระเจ้าตากสิน
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
จึงขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์
ด้วยการไปร่วมวางพวงมาลา ณ พระบรมราชานุสาวรีย์
หรือจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในวันนี้
เขียนเมื่อ ธันวาคม 47
โดย อมรรัตน์ เทพกำปนาท
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.
วันปิยมหาราช
วันรัฐธรรมนูญ
วันสุนทรภู่
วันฉัตรมงคล
วันอนุรักษ์มรดกไทย
วันลอยกระทง
วันแม่แห่งชาติ
วันภาษาไทยแห่งชาติ
วันอาสาฬหบูชา
วันเข้าพรรษา
วันจักรี
วันมาฆบูชา
วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
วันครู
วันเด็กแห่งชาติ
วันขึ้นปีใหม่
วันพระเจ้าตากสินมหาราช
วันสารทไทย
วันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ
วันวิสาขบูชา
วันพืชมงคล
วันสงกรานต์
วันสตรีสากล
วันนักประดิษฐ์
วันศิลปินแห่งชาติ