วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>

เสือ

เสือโคร่ง
เสือดาว
เสือดำ
เสือลายเมฆ
แมวป่าหัวแบน
แมวป่า
แมวลายหินอ่อน
แมวดาว
เสือปลา

เสือดำ

เสือดำ เป็นเสือชนิดเดียวกันกับเสือดาว มีสีดำทั่วทั้งตัว เกิดจากความผิดปรกติของเม็ดสีแบบเมลานิซึม มักพบได้มากในป่าร้อนชื้นในเอเชีย เช่นในอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะในเบงกอลหรือชวา ใต้ท้องของเสือดำมีสีจางเล็กน้อย ผิวสีดำของเสือดำไม่ได้มีสีดำสนิท และยังคงมีลายแบบเสือดาวอยู่ด้วยซึ่งจะเห็นชัดเวลาต้องแสงแดด

ถิ่นที่อยู่อาศัย

เสือดาวเป็นเสือที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีที่สุด เขตกระจายพันธุ์กว้างขวางที่สุด สามารถอาศัยอยู่ได้ในหลายพื้นที่ ตั้งแต่ทะเลทรายจนถึงป่าฝน ตั้งแต่แอฟริกา เอเชียตะวันออกกลาง เรื่อยไปจนถึงจีน และไซบีเรีย รวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยมีผู้พบซากเสือดาวอยู่ที่ระดับสูงสุดถึง 5,700 เมตรในเทือกเขาคีรีมันจาโร

ในเอเชียกลาง เสือดาวส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนภูเขาสูงที่สลับซับซ้อนและที่ริมทะเลสาบเดดซี เคยพบเสือดาวอยู่สูงถึงระดับ 1,800 เมตรในเติร์กเมนิสถาน ที่โมรอกโคเคยพบที่ระดับความสูง 3,000 เมตร ที่ซาอุดีอาระเบียที่ 2,600 เมตร และที่อิหร่านพบที่ระดับสูงถึง 3,200 เมตร

ในอินเดียมีเสือดาวในพื้นที่ทุกประเภท ตั้งแต่ป่าชายเลนซุนดาบันส์จนถึงเขตชุมชน ยกเว้นเพียงทะเลทรายเท่านั้น ในแถบเทือกเขาหิมาลัยยังพบเสือดาวอยู่สูงถึง 5,200 เมตรซึ่งซ้อนทับกับเขตหากินของเสือดาวหิมะ

ในประเทศอินโดนีเซีย พบเสือดาวเฉพาะที่เกาะชวาและเกาะกันจีน ซึ่งที่เกาะแคนจีนนี้พบซากดึกดำบรรพ์ของเสือดาวที่มีอายุถึงหนึ่งล้านปี เชื่อว่าเสือดาวในเกาะนี้ถูกนำมาจากเกาะชวา แต่เป็นเรื่องน่าแปลกที่ไม่พบเสือดาวในเกาะบาหลีทั้งที่เกาะบาหลีอยู่ใกล้เกาะชวามากกว่าเกาะกันจีน

ในเกาะบอร์เนียวไม่มีเสือดาวและเสือโคร่ง สันนิษฐานว่า เสือดาวอาจหายไปจากเกาะนี้เนื่องจากบนเกาะไม่มีสัตว์กีบมากพอที่จะเป็นอาหารของเสือ ส่วนที่เกาะบาหลีและสุมาตราไม่มีเสือดาวเนื่องจากเสือโคร่งครอบครองพื้นที่แทน

อุปนิสัย

เสือดาวเป็นนักล่าที่แข็งแกร่ง และเป็นนักปีนต้นไม้ชั้นยอด มีกล้ามเนื้อขาและคอแข็งแรงมาก มันสามารถลากแอนติโลปขนาดใหญ่หรือแม้แต่ลูกยีราฟที่อาจหนักกว่ามันเองถึงสองสามเท่าขึ้นไปกินบนต้นไม้ได้ เสือดาวไม่ค่อยชอบน้ำนักแต่ก็ว่ายน้ำได้ดี ส่วนใหญ่มักชอบออกหากินตั้งแต่เวลาพลบค่ำจนถึงใกล้รุ่ง ในบางครั้งก็อาจหากินในเวลากลางวันได้โดยเฉพาะในพื้นที่ ๆ ไม่มีมนุษย์รบกวน และตัวเมียที่เลี้ยงลูกก็มักต้องออกหากินบ่อยครั้งกว่าปกติจนต้องมีการหากินในเวลากลางวันด้วย ในเวลากลางวันที่ร้อนอบอ้าว เสือดาวมักปีนขึ้นไปพักผ่อนบนต้นไม้ หรือตามพุ่มไม้ หรือหรือหลืบหิน

การล่าของเสือดาวมักใช้วิธีย่องเข้าหา จนใกล้ที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้วกระโจนเข้าจับ เสือดาวกินสัตว์ได้แทบทุกชนิดในท้องที่ ๆ มันอยู่ ตั้งแต่แมลงอย่างแมงกุดจี่ นก เม่น กระต่าย ลิง ไฮแรกซ์ กวาง แพะป่า อิมพาลา กาเซลล์ วิลเดอบีสต์ จนถึงอีแลนด์ หรือแม้แต่ซากสัตว์ บางครั้งก็ล่าสัตว์วัวควายของชาวบ้านกินเหมือนกัน เสือดาวมักเก็บเหยื่อไว้บนง่ามไม้บนต้นไม้ ทำให้ปลอดภัยจากสัตว์ผู้ล่าหรือสัตว์กินซากตัวอื่นที่จะมาแย่งไปได้

ในแอฟริกา เสือดาวล่าเหยื่อขนาดใหญ่เช่นสัตว์กีบทุก 7-14 วัน เสือดาวตัวผู้กินอาหารวันละประมาณ 3.5 กิโลกรัม ส่วนตัวเมียกินราววันละ 2.8 กิโลกรัม จากตัวอย่างขี้เสือดาวในเคนยา พบว่าเหยื่อของเสือดาวประกอบด้วยสัตว์ฟันแทะประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ นก 27 เปอร์เซ็นต์ แอนติโลปขนาดเล็ก 27 เปอร์เซ็นต์ แอนติโลปขนาดใหญ่ 12 เปอร์เซ็นต์ กระตายป่าและไฮแรกซ์ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ และสัตว์มีเปลือกอีกราว 18 เปอร์เซ็นต์ อีกตัวอย่างหนึ่งของขี้เสือดาวในอุทยานแห่งชาติครูเกอร์ พบว่า 67 เปอร์เซ็นต์เป็นสัตว์กีบ เป็นอิมพาลาเสีย 60 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเสือดาวที่อุทยานแห่งชาติมาโตโป ในซิมบับเวและที่เทือกเขาในจังหวัดเคปของแอฟริกาใต้จะกินร็อกไฮแรกซ์เป็นอาหารหลัก ในป่าฝนของแอฟริกากลาง อาหารหลักของเสือดาวคือดุยเกอร์และสัตว์จำพวกลิงขนาดเล็ก และยังพบว่าเสือดาวบางตัวชื่นชอบลิ่นและเม่นเป็นพิเศษ เสือดาวที่อาศัยอยู่ที่ระดับ 3,900 เมตรในเทือกเขาคีรีมันจาโร ประเทศแทนซาเนียจะล่าสัตว์ฟันแทะเป็นหลัก

ที่ทะเลทรายจูเดียนของอิสราเอล เสือดาวมักล่าร็อกไฮแรกซ์เป็นอาหารหลัก รองลงมาคือไอเบกซ์และเม่น ในโอมาน อาหารหลักของเสือดาวคือไอเบกซ์ ไฮแรกซ์ และนกกระทาขาแดงอาหรับ ส่วนที่อิหร่านตอนเหนือและแอลจีเรียจะกินหมูป่าเป็นอาหารหลัก เสือดาวในเทือกเขาคอเคซัสคาดว่าน่าจะล่าแพะป่าและมูฟลอนเป็นอาหาร ในเติร์กเมนิสถาน เสือดาวอาศัยอยู่ในที่เดียวกับแกะเติร์ก

บางครั้งเสือดาวก็จับปลากินเหมือนกัน เคยมีผู้พบเสือดาวตัวหนึ่งที่ติดอยู่ในเกาะในทะเลสาบที่เกิดจากการสร้างเขื่อนคาริบาดำรงชีวิตอยู่ได้โดยการจับปลาเป็นอาหารหลัก ถึงแม้ว่าในเกาะนั้นยังมีอิมพาลาและดุกเกอร์อยู่บ้างก็ตาม

บางครั้งเสือดาวก็อาจฆ่าสัตว์ผู้ล่าชนิดอื่นที่ตัวเล็กกว่าได้ เช่นหมาจิ้งจอกหลังดำ แมวป่าแอฟริกา รวมทั้งลูกของผู้ล่าชนิดอื่น ๆ เช่น ลูกสิงโต ลูกชีตาห์ ลูกไฮยีนา ลูกหมาป่า

บางครั้งเสือดาวก็อาจล่าเหยื่อโดยการกระโจนลงจากต้นไม้ เสือดาวมักไม่กระโจนลงบนหลังเหยื่อโดยตรง แต่จะกระโจนลงบนพื้นข้าง ๆ ตัวเหยื่อก่อนแล้วค่อยเอื้อมไปตะครุบ หรือกระโจนโดยใช้ขาหน้าตะปบเหยื่อ ส่วนขาหลังจะลงไปยืนบนพื้น อย่างไรก็ตาม การล่าจากบนต้นไม้ก็เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ถึงแม้เสือดาวจะปีนต้นไม้ได้ดี แต่แทบไม่เคยมีใครพบเสือดาวล่าเหยื่อบนต้นไม้เลย แม้แต่ในพื้นที่ ๆ เสือดาวกินสัตว์ที่อาศัยบนต้นไม้มาก เช่นที่อุทยานแห่งชาติไทซึ่งเป็นพื้นที่ป่าฝนเขตร้อน เสือดาวที่นี่จะจับลิงที่ลงมาอยู่บนพื้นเท่านั้น

อาหารของเสือดาวส่วนใหญ่ในเขตร้อนเป็นสัตว์กีบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เช่น เก้ง กวางดาว แพะภูเขา กวางโร กวางชิกะ เนื้อทราย กวางทัฟต์ และค่าง มีรายงานว่าเคยมีแพนด้าเด็กถูกเสือดาวจับกินด้วย

ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งของประเทศไทย ราบิโนวิตซ์ (1989) ได้สำรวจขี้เสือดาวพบว่าเสือดาวกินสัตว์จำพวกลิงมาก โดยปรกติเสือมักไม่ล่าสัตว์จำพวกลิงหากมีสัตว์ชนิดอื่น ๆ ที่ล่าได้ง่ายกว่ามากเพียงพอ ในกรณีของที่ห้วยขาแข้งนี้อาจเป็นไปได้ว่าเสือดาวต้องล่าสัตว์จำพวกลิงเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันกับเสือโคร่งในการล่าสัตว์กีบเช่นเก้ง อีกเหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะป่าเบญจพรรณในห้วยขาแข้งมีเรือนยอดค่อนข้างโปร่งทำให้พวกลิงค่างต้องลงพื้นดินบ่อยครั้ง จึงตกเป็นเหยื่อของเสือดาวได้ง่าย มีรายงานว่า เสือดาวล่าค่างโดยแกล้งทำท่าเหมือนจะปีนต้นไม้ขึ้นไปจับ ทำให้ค่างบางตัวคิดหนีลงดิน ซึ่งเป็นการคิดผิดอย่างมากเพราะเสือดาวจะจับค่างบนพื้นดินได้โดยง่าย

จากการติดตามเสือดาวตัวผู้ด้วยปลอกคอวิทยุในประเทศไทย พบว่าเสือดาวเดินทางเฉลี่ยประมาณวันละ 2 กิโลเมตร และในแต่ละวันมีช่วงเวลาที่ตื่นตัวประมาณ 66 เปอร์เซ็นต์ หากินได้ทุกเวลาไม่จำเป็นว่าต้องกลางวันหรือกลางคืน แต่เสือดาวที่อาศัยอยู่ใกล้กับแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์จะหากินตอนกลางคืนมากกว่า

เสือดาวที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีสัตว์ผู้ล่าชนิดอื่นมากจะมีการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดกับสัตว์คู่แข่งได้ดี เช่นในพื้นที่ตอนเหนือของเซเรนเกตติพบว่าเสือดาวที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกับสิงโต จะล่าเหยื่อหลากหลายชนิดมากกว่าสิงโต ทำให้มีการแย่งชิงเหยื่อกันน้อยลง และเมื่อล่าสัตว์ใหญ่ได้ เสือดาวจะลากเหยื่อขึ้นไปบนต้นไม้เพื่อป้องกันสิงโตมาแย่งไปกิน ความสามารถในการลากเหยื่อขึ้นต้นไม้ของเสือดาวแสดงถึงพละกำลังอันแข่งแกร่งได้เป็นอย่างดี เคยมีผู้พบเห็นเสือดาวลากลูกยีราฟหนักประมาณ 125 กิโลกรัมขึ้นไปสูง 5.7 เมตรบนต้นไม้ พฤติกรรมเช่นนี้จะพบได้มากในพื้นที่ ๆ มีสัตว์ผู้ล่ามาก แต่ในพื้นที่ ๆ มีการแข่งขันกันน้อย เสือดาวมักจะลากเหยื่อไปซ่อนตามพุ่มไม้ทึบหรือหลืบหินมากกว่า

เสือดาวออกหากินตอนกลางคืนเป็นหลัก แต่ก็อาจหากินตอนกลางวันบ้าง เช่นในอุทยานแห่งชาติครูเกอร์ เสือดาวหากินตอนกลางวันมากขึ้นในฤดูฝน โดยอาศัยความทึบของ thorn ช่วยในการหากิน ในป่าฝนเขตร้อนแห่งหนึ่งเคยพบว่าเสือดาวคู่หนึ่งที่ถูกติดตามด้วยปลอกคอวิทยุจะหากินเฉพาะกลางวันเท่านั้น

เสือดาวมักเป็นที่กล่าวขวัญถึงในด้านของความฉลาดและเจ้าเล่ห์กว่าเสือชนิดอื่น ๆ นายพรานเก่าอย่าง "พนมเทียน" หรือนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุลก็เคยกล่าวในทำนองนั้น ชาวบ้านบางคนเล่าว่าเวลาเสือดาวเดินในป่า มันจะใช้หางปัดลบรอยตีนของตัวเอง เสือดาวสามารถจับเม่นกินโดยไม่เคยรายงานว่าเสือดาวถูกขนเม่นเล่นงานจนตายเลย ในขณะที่เสือโคร่งและสิงโตจำนวนไม่น้อยต้องตายเพราะขนเม่น

โดยทั่วไป ในพื้นที่ที่มีเสือโคร่งอาศัยอยู่ ประชากรของเสือดาวจะมีน้อย แต่ก็ไม่เป็นอย่างนั้นเสมอไป เช่น ใน Kedrovaya Pad ของรัสเซีย การเพิ่มจำนวนประชากรของเสือโคร่งไม่มีผลต่อประชากรของเสือดาว ในอุทยานแห่งชาติจิตวัน ป่าเกียร์ของอินเดีย และในทุ่งเซเรนเกตติในแอฟริกา เสือดาวและเสือโคร่งอยู่ร่วมกันได้โดยการหากินต่างเวลากัน ล่าเหยื่อต่างชนิดกัน และอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีพืชต่างชนิดกัน เช่น เสือดาวจะล่าเหยื่อขนาดเล็กกว่า ทนแล้งและทนร้อนได้ดีกว่า

ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ราบิโนวิตช์พบว่าเสือดาวตัวผู้มีพื้นที่หากินประมาณ 27-37 ตารางกิโลเมตร ส่วนตัวเมียมีพื้นที่หากินประมาณ 11-17 ตารางกิโลเมตรภายในพื้นที่หากินของตัวผู้ และความกว้างของพื้นที่ยังขึ้นกับฤดูกาลอีกด้วย เสือดาวตัวผู้ตัวหนึ่งมีเขตหากินกว้างที่สุด 17-18 ตารางกิโลเมตรในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมซึ่งเป็นต้นฤดูฝน และมีเขตหากินแคบที่สุด 4.4 ตารางกิโลเมตรในเดือนกันยายน-ตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงฝนตกชุกที่สุด

ในอุทยานแห่งชาติหลวงจิตวันของประเทศเนปาล เสือดาวตัวเมียตัวหนึ่งมีเขตหากินประมาณ 7-13 ตารางกิโลเมตร ส่วนเสือดาวพันธุ์อามูร์มีพื้นที่หากินกว้างขวางถึง 50-300 ตารางกิโลเมตร

จากการติดตามการหากินของเสือดาวโดยอาศัยปลอกคอวิทยุในอุทยานแห่งชาติครูเกอร์ อุทยานแห่งชาติเซเรนเกตติ และซีดาร์เบิร์กวิลเดอร์เนสในแอฟริกาใต้ พบว่าพื้นที่หากินของเสือดาวตัวผู้โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 30-78 ตารางกิโลเมตร และสำหรับตัวเมียจะอยู่ที่ประมาณ 15-16 ตารางกิโลเมตร และมักพบว่าพื้นที่หากินของตัวเมียมีความอุดมสมบูรณ์มากกว่าและมีเหยื่อมากกว่าพื้นที่ของตัวผู้

ชีววิทยา

เสือดาวในเขตร้อนผสมพันธุ์กันได้ตลอดทั้งปี เสือดาวในจีนและไซบีเรียตอนใต้มักผสมพันธุ์ในช่วงเดือนมกราคมจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ เสือดาวอามูร์ผสมพันธุ์ในราวเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม (ฤดูร้อน) และออกลูกราวเดือนกันยายน-ตุลาคม เสือดาวในศรีลังกาผสมพันธุ์ในฤดูแล้ง (พฤษภาคม-กรกฎาคม) ส่วนในแถบหิมาลัยคาดว่าเสือดาวผสมพันธุ์ในฤดูหนาวเป็นส่วนใหญ่เพราะมักได้ยินเสียงร้องหาคู่ในช่วงเวลานี้

เสือดาวมีช่วงเวลาที่เป็นสัดยาวนานราว 46 วัน ในช่วงเวลานี้จะติดสัดเป็นช่วง ๆ แต่ละช่วงยาวนานราว 4-7 วัน ช่วงฤดูผสมพันธุ์ เสือดาวตัวผู้และตัวเมียจะอยู่และหากินด้วยกัน หลังจากผสมพันธุ์กันแล้วก็อาจยังอยู่ด้วยกันอีกระยะหนึ่งก่อนจะจากกันไป ตัวเมียจะตั้งท้องนาน 90-105 วัน (เฉลี่ย 96 วัน) ออกลูกคราวละ 1-4 ตัว ส่วนใหญ่มักออกลูกคราวละ 2-3 ตัว แม่เสือดาวจะเลือกถ้ำ ซอกหิน หรือโพรงไม้เป็นรังเลี้ยงลูก ลูกเสือดาวแรกเกิดหนัก 400-700 กรัม เริ่มเดินได้เมื่ออายุได้ 2 สัปดาห์ และหย่านมเมื่ออายุได้ 4 เดือน เมื่ออายุ 12-18 เดือน เสือหนุ่มสาวก็จะหากินเองได้ พี่น้องเสือดาวอาจอยู่ด้วยกันเป็นเวลาหลายเดือนก่อนที่จะแยกย้ายกันไปหากินโดยลำพัง เสือหนุ่มจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 24-36 เดือน ส่วนเสือสาวจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 33 เดือน ช่วงเวลาระหว่างการตั้งท้องแต่ละครอกโดยเฉลี่ย 15 เดือนจนถึง 2 ปี

ในอุทยานแห่งชาติครูเกอร์ อัตราเฉลี่ยของเสือดาวตัวเมียที่ออกลูกคือ 28 เปอร์เซ็นต์ อัตราการสืบพันธุ์นี้ผันแปรมากในแต่ละปี บางปีอาจไม่มีเสือดาวตัวไหนออกลูกเลย ในขณะที่บางปีอาจมีเสือดาวตัวเมียถึงครึ่งหนึ่งที่ออกลูก

  • อัตราส่วนจำนวนประชากรของเสือดาวแอฟริการะหว่างตัวผู้และตัวเมียอยู่ที่ราว ๆ 1:1.8
  • ในสวนสัตว์ เสือดาวตัวเมียสามารถให้กำเนิดลูกได้จนถึงอายุราว 8.5 ปี แต่จากสถิติ เสือดาวแก่ที่สุดที่ออกลูกมีอายุถึง 19 ปี
  • ในแอฟริกา ลูกเสือที่ตายก่อนอายุจะครบขวบมีประมาณ 41 เปอร์เซ็นต์ และลูกเสือวัยรุ่น (1.5-3.5 ปี) มีการตายประมาณ 32 เปอร์เซ็นต์ (ครูเกอร์) ซึ่งมากเป็นสองเท่าของอัตราตายของเสือดาวตัวเต็มวัย
  • เสือดาวในธรรมชาติมีอายุประมาณ 12-17 ปี ตัวที่มีอายุมากที่สุดมีอายุ 20 ปี ส่วนเสือดาวในแหล่งเพาะเลี้ยงมีอายุยืนถึง 23 ปี

ภัยที่คุกคาม

แม้ว่าเสือดาวจะมีความสามารถในการปรับตัวเพื่ออาศัยในพื้นที่ ๆ มีการรบกวนจากการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ได้ดี แต่ความหนาแน่นของเสือดาวในบริเวณดังกล่าวจะน้อยกว่าพื้นที่ ๆ ไม่ถูกมนุษย์รบกวนอย่างเห็นได้ชัด โดยอาจต่างกันเป็นสิบหรือเป็นร้อยเท่า ความแตกต่างนี้ย่อมแสดงว่าการอาศัยของมนุษย์มีผลต่อจำนวนประชากรของเสือดาว

เช่นเดียวกับเสือส่วนใหญ่ ภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดของเสือดาวก็คือการสูญเสียถิ่นที่อยู่หาศัย แม้ว่าเสือดาวจะปรับตัวเข้ากับป่าชั้นสองได้ดีก็ตาม แต่ก็ต้องประสบความยากลำบากไม่มากก็น้อย ปัญหานี้แสดงชัดเจนที่สุดในกรณีของเสือดาวในเอเชียกลางและตะวันออกกลาง ซึ่งถูกคุกคามอย่างมากและอยู่ในภาวะล่อแหลมต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง ถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือดาวถูกตัดขาดจากกันจนเป็นผืนเล็กผืนน้อย การจับคู่ผสมพันธุ์จึงเกิดขึ้นในสายเลือดที่ใกล้ชิดหรือแม้แต่มีการจับคู่ระหว่างแม่ลูก ทำให้เสือในรุ่นถัดไปไม่แข็งแรง

เสือดาวพันธุ์อามูร์ประสบปัญหากับจำนวนประชากรที่เหลือน้อย จนเกิดการผสมพันธุ์ในสายเลือดขึ้น ทั้งระหว่างพ่อ-ลูก และพี่-น้อง ตั้งแต่ 2516 จนถึงปี 2534 จำนวนเฉลี่ยของลูกเสือดาวครอกหนึ่งลดลงจาก 1.75 เหลือเพียง 1.0 แต่ก็ยังยากที่จะสรุปว่าการลดลงนี้เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม ความอุดมสมบูรณ์ลดลง หรือเป็นเพียงการขึ้นลงเชิงประกรศาสตร์

เสือดาวในหลายพื้นที่ต้องเผชิญกับภาวะอดอยากเนื่องจากสัตว์กีบที่เป็นอาหารหลักถูกล่าไปเป็นจำนวนมาก เช่นเสือดาวในแถบรัสเซียตะวันออก บางส่วนต้องถูกฆ่าเนื่องจากไปจับสัตว์ในฟาร์มของชาวบ้านกิน ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยนอกพื้นที่เขตอนุรักษ์ โดยเฉพาะในแถบอุทยานแห่งชาติจิตวันนั้นพบว่าบริเวณขอบอุทยานซึ่งใกล้เคียงกับฟาร์มปศุสัตว์จะมีเสือดาวอาศัยอยู่หนาแน่นกว่าในใจกลางของอุทยานเสียอีก เสือดาวเป็นเสือที่มีปัญหาการเผชิญหน้ากับชุมชนมากที่สุด ถันปังเจี๋ย (1990) เคยบันทึกไว้ว่ามีเสือดาวตัวหนึ่งติดกับดักที่ห่างจากปักกิ่งเพียง 50 กิโลเมตร ในเกาะชวาซึ่งเป็นเกาะที่มีผู้คนอาศัยหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลกก็ยังมีเสือดาวอาศัยอยู่ ความใกล้ชิดนี้ทำให้มีโอกาสสร้างปัญหาขัดแย้งกับชุมชนได้ง่าย เมื่อชาวบ้านรู้สึกว่าเสือดาวเป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงหรือตัวเขาเอง ย่อมต้องล่าเสือดาวเพื่อล้างแค้นหรือตัดปัญหาในอนาคต ในปี 2525-2532 ชาวอินเดีย 170 คนถูกเสือดาวฆ่าตาย ส่วนใหญ่เหตุเกิดใน Kumaon และ Garhwal hill ในอุตตรประเทศ

ภัยคุกคามที่รองลงมาก็คือ การล่าเพื่อเอาหนัง กระดูกแลเครื่องในเพื่อเอาไปทำยาจีน การล่าเพื่อเอาหนังเคยเป็นภัยที่คุกคามเสือดาวในแอฟริกามากที่สุดในช่วงทศวรรษ 1960 ถึง 1970 แต่หลังจากนั้น ตลาดขนสัตว์ได้ล่มสลายลงเนื่องจากทรรศนะเรื่องแฟชันขนสัตว์ของผู้คนที่เริ่มเปลี่ยนไปและเริ่มมีการควบคุมภายใต้อนุสัญญาไซเตส การล่าเสือดาวเพื่อเอาหนังทำให้จำนวนประชากรของเสือดาวลดลงไปมาก และพบว่าเสือดาวถูกจับได้ค่อนข้างง่ายด้วยกับดัก ทั้งนี้เนื่องจากเสือดาวมักจะเดินหากินเป็นพื้นที่เล็ก ๆ และมีเส้นทางประจำ นอกจากนี้การล่าโดยการวางยาพิษก็ฆ่าเสือดาวไปไม่น้อย แต่สำหรับเสือดาวในแอฟริกาตะวันออกแล้ว การล่ามีผลต่อจำนวนของเสือดาวน้อยมาก

อย่างไรก็ตาม อนาคตของเสือดาวก็ยังเป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดา พื้นที่อนุรักษ์ในปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่อาศัยของเสือดาวที่สำคัญ ๆ เพียง 13% เท่านั้น

สถานภาพ

สถานภาพของเสือดาวถือว่าดีกว่าเสือชนิดอื่นของโลกมาก เนื่องจากมีปัจจัยบวกหลาย ๆ ด้าน ทั้งความสามารถในการปรับตัวที่ดีเลิศ ความที่กินเหยื่อไม่เลือกชนิด และความเจ้าเล่ห์เฉลียวฉลาด ล้วนแต่ส่งผลทำให้เสือดาวประสบความสำเร็จในการเอาตัวรอดจากศัตรู

ถึงแม้ว่าจำนวนประชากรของเสือดาวโดยรวมจะยังอยู่ในระดับที่ปลอดภัย แต่เสือดาวก็ยังคงถูกคุกคามอย่างหนักโดยมนุษย์ ความต้องการหนังเสือดาวในธุรกิจชุดขนสัตว์ และความต้องการกระดูกและเครื่องในไปทำยาจีนทำให้เสือดาวต้องถูกล่าไปเป็นจำนวนมาก ภัยอีกชนิดหนึ่งคือจากยาเบื่อ เจ้าของฟาร์มปศุสัตว์บางคนอาจวางยาเบื่อเพื่อฆ่าเสือดาวที่อาจจะมาล่าสัตว์ในฟาร์มของตัวเอง และเสือดาวก็มักไม่ทันระวังในเรื่องนี้จึงถูกเบื่อตายไปมาก อย่างไรก็ตาม ภัยที่ร้ายแรงที่สุดสำหรับเสือดาวก็ยังคงเป็นเช่นเดียวกับสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ นั่นคือการที่แหล่งที่อยู่อาศัยถูกทำลาย ปัจจุบันไซเตสจัดเสือดาวทุกพันธุ์ไว้ในบัญชีหมายเลข 1

ถึงแม้ว่าเสือดาวจะมีขนาดเล็กกว่าเสือโคร่งและสิงโตซึ่งใช้พื้นที่หากินร่วมกัน แต่เสือดาวมักเอาชนะอยู่เสมอในด้านการแข่งขันดำรงชีวิต เนื่องจากความสามารถในการปรับตัวที่เหนือกว่า เสือดาวในเอเชียสามารถอยู่ในสถานที่ ๆ ห่างแหล่งน้ำได้มากกว่าเสือโคร่ง บางพื้นที่เสือดาวก็สามารถหากินในพื้นที่ใกล้มนุษย์มากกว่า

อย่างไรก็ตาม ในบางพื้นที่เสือดาวก็ตกอยู่ในฐานะลำบากเหมือนกัน ทวีปแอฟริกาเคยมีเสือดาวอยู่เป็นจำนวนมากทุกพื้นที่ยกเว้นเพียงในทะเลทรายซาฮารา แต่ในปัจจุบันในตอนเหนือและตะวันตกของทวีปเหลืออยู่น้อยมาก มีเพียงไม่กี่แห่งในเทือกเขาแอตลาสและในทางตะวันตกสุดของทวีป ส่วนเสือดาวพันธุ์อาหรับ (P.p.nimr) และพันธุ์ไซไน (P.p.jarvisi) ในตะวันออกกลางกำลังอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์เช่นเดียวกับเสือดาวพันธุ์เปอร์เซีย (P.p.saxicolor) เสือดาวในประเทศอินเดียและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็กำลังลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากถูกล่าเพื่อเอาหนังและจากการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย เสือดาวอามูร์หรือเสือดาวเกาหลี (P.p.orientalis) ปัจจุบันก็หาได้ยากมากเนื่องจากสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย

ได้มีการประเมินจำนวนประชากรเสือดาวกึ่งซาฮาราในแอฟริกามาแล้วหลายครั้งนับตั้งแต่ปี 2517 ตัวเลขที่สำรวจได้ในปี 2531 สูงถึง 714,000 ตัว อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้เป็นที่วิจารณ์กันว่าอาจมากเกินความเป็นจริง

สำหรับในพื้นที่ตอนกลางของทวีปซึ่งมีภูมิประเทศเป็นป่าฝนเขตร้อน สถานภาพของจำนวนประชากรของเสือดาวก็ยังอยู่ในภาวะปกติ มาร์ติน และ เดอมิวเลแนร์ เคยประเมินจำนวนประชากรของเสือดาว พบว่าเสือดาวในประเทศคองโกมีความหนาแน่นสูงสุดถึง 40 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร (รวมลูกเสือและเสือที่ผ่านเข้ามา) ซึ่งมากถึง 1 ใน 3 ของเสือดาวกึ่งซาฮารา อย่างไรก็ตามผลการประเมินนี้ค่อนข้างเป็นที่วิจารณ์ว่าอาจมากเกินไป เนื่องจากมวลชีวภาพบนพื้นดินของป่าฝนจะต่ำกว่าในพื้นที่ซาวันนา สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในป่าฝนจะอยู่บนยอดไม้มากกว่าพื้นล่าง ในขณะที่สัตว์เหยื่อของเสือดาวจะอยู่บนพื้นดินมากกว่า

จากการประเมินจำนวนประชากรในพื้นที่ต่าง ๆ อุทยานแห่งชาติไทมีเสือดาว 6.25 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร ในป่าอิตูรีในประเทศคองโก มีจำนวนเสือดาว 8.3-12.5 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร ตัวเลขเหล่านี้จะเห็นว่าต่ำกว่าตัวเลขที่ได้จากมาร์ตินและ de Meulenaer อย่างเห็นได้ชัด แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมากกว่าความหนาแน่นของเสือดาวผู้ใหญ่ในเซโรเนรา ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าทึบในอุทยานแห่งชาติเซเรนเกตติของแทนซาเนีย ที่ประเมินไว้ที่ 3.5-4.7 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร

ในอุทยานแห่งชาติครูเกอร์ของแอฟริกาใต้ ความหนาแน่นเฉลี่ยของเสือดาวผู้ใหญ่อยู่ที่ 3.5 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร แต่บริเวณพื้นที่ชายน้ำจะสูงถึง 30.3 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร

ความหนาแน่นของเสือดาวจะต่ำที่สุดในพื้นที่แห้งแล้งกันดาร เช่นที่ อุทยานแห่งชาติคาราฮารีเกมส์บ็อกของแอฟริกาใต้ มีความหนาแน่นของเสือดาวตัวเต็มวัยประมาณ 1.25 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร

บริเวณที่มีเสือดาวน้อยที่สุดในเขตกระจายพันธุ์ในแอฟริกา คือทางตะวันตกของทวีป สาเหตุสำคัญเนื่องจากการล่าอย่างหนักเพื่อเอาหนังไปขาย เช่นเดียวกับทางตอนใต้ของทวีปที่จำนวนลดลงอย่างรวดเร็วและหายไปจากหลายพื้นที่

เสือดาวพันธุ์อื่น ๆ ในพื้นที่อาหรับอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์เช่นเดียวกัน เสือดาวแอนาโทเลียน พันธุ์แอนาโทเลีย (P.p.tulliana) ในตุรกีตะวันตก เสือดาวคอเคซัส (P.p.ciscaucasia) ในเทือกเขาคอเคซัส และเสือดาวไซไนในอิสราเอลตอนใต้และไซไน แต่อย่างไรก็ตาม สถานภาพของเสือดาวในบริเวณนี้ก็ยังนับว่าดีกว่าเสือใหญ่ที่เคยอาศัยในพื้นที่เดียวกันเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเสือโคร่ง สิงโต หรือชีตาห์ โดยเฉพาะเสือโคร่งนั้นได้สูญพันธุ์ไปจากบริเวณนี้แล้ว แต่ถึงอย่างนั้น สถานภาพของเสือดาวในพื้นที่นี้ก็ไม่ปลอดภัย แหล่งที่อยู่ของเสือดาวถูกตัดขาดจากกันเป็นผืนเล็กผืนน้อย ทำให้เสือดาวไม่สามารถไปมาหาสู่กันได้ เชื่อว่าเสือดาวได้หายไปจากพื้นที่ทะเลทรายกลางคาบสมุทรอาหรับไปหมดแล้ว

แม้ว่าเสือดาวจะมีความสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีแม้อยู่นอกเขตป่าอนุรักษ์ แต่ก็มีแนวโน้มที่จะลดจำนวนลงเนื่องจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย การขาดแคลนสัตว์เหยื่อและจากการล่า สถานการณ์ของเสือดาวในบังกลาเทศไม่ดีนัก มีเสือดาวอาศัยอยู่ในป่าที่มีพื้นที่จำกัด ส่วนเสือดาวทางเทือกเขาตอนเหนือของประเทศก็ลดจำนวนไปมาก ในศรีลังกามีเสือดาวรวมกันทั้งหมดประมาณ 400-600 ตัว เทียบกับพื้นที่ป่าที่เหลือแล้ว ได้ความหนาแน่นของเสือดาวประมาณ 20-30 ตารางกิโลเมตรต่อ 1 ตัว

เสือดาวพันธุ์อามูร์มีจำนวนค่อนข้างคงที่มาตลอด แต่มาในช่วงปี 2513-2526 เสือดาวในเขตนี้ได้ลดจำนวนไปถึง 80 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะทางตอนล่างของเทือกเขาซีโฮเต-อะลิน ซึ่งไม่มีเสือดาวหลงเหลืออยู่เลย อย่างไรก็ตาม ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนของเสือดาวในพื้นที่นี้กลับสู่ภาวะคงที่อีกครั้ง แม้ว่าจะมีจำนวนน้อยมากก็ตาม (จากการสำรวจในปี 2537 คาดว่ามีไม่เกิน 31 ตัว)

เสือดาวพันธุ์อามูร์ในประเทศจีนถือได้ว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว แม้ว่าอาจยังพบเสือดาวบ้างในเทือกเขาฉางไป๋ ส่วนที่ประเทศเกาหลีเหนือยังพบบ้างทางชายแดนตอนเหนือของประเทศ ในประเทศเกาหลีใต้ บันทึกการพบเห็นเสือดาวพันธุ์อามูร์ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2512 เสือดาวตัวนั้นถูกจับได้ที่ลาดเขาโอโด แต่ก็ยังมีรายงานพบรอยตีนที่เทือกเขาชีอิและโซรัคในรัสเซีย การล่าเป็นสาเหตุสำคัญของการลดจำนวนลงของเสือดาวอามูร์

จากการสำรวจในปี 2535 ยังพบเสือดาวอยู่ในชวาประมาณ 350-700 ตัว อาศัยอยู่ตามป่าอนุรักษ์และตามขุนเขาห่างไกล ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมปานกลางมีความหนาแน่นของประชากรเสือดาวประมาณ 1 ตัวต่อ 10 ตารางกิโลเมตร ในที่ ๆ มีความอุดมสมบูรณ์มากอาจมีมากถึง 1 ตัวต่อ 5 ตารางกิโลเมตร ซึ่งถือว่ามีความหนาแน่นมากกว่าผลการสำรวจเสือดาวในประเทศไทยโดยราบิโนวิตช์ในปี 2532 ที่ประเมินไว้ที่ 1 ตัวต่อ 25 ตารางกิโลเมตรในพื้นที่ป่าแล้ง จำนวนประชากรและความหนาแน่นของเสือดาวในชวาคาดว่าน่าจะเป็นผลมาจากการสูญพันธุ์ของเสือโคร่งพันธุ์ชวาในกลางทศวรรษ 1970

ในประเทศอินเดียซึ่งมีประชากรอยู่อย่างหนาแน่น ยังมีจำนวนเสือดาวมากถึงประมาณ 14,000 ตัว ราวครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้อาศัยอยู่ในป่าอนุรักษ์ แม้แต่ที่เชิงเขาหิมาลัยในเนปาลซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นก็ยังพบเสือดาวได้ทั่วไป

ไซเตสจัดเสือดาวไว้ในบัญชีหมายเลข 1

ไอยูซีเอ็นประเมินสถานภาพของเสือดาว ชนิดย่อยต่าง ๆ ดังนี้

• เสือดาวพันธุ์อามูร์ : อันตราย
• เสือดาวพันธุ์ศรีลังกา : อันตราย
• เสือดาวจีนเหนือ : เสี่ยงสูญพันธุ์
• เสือดาวพันธุ์ชวา : ยังไม่ประเมิน

หลายประเทศเริ่มมีการกำหนดโควตาการส่งออกเสือดาวประจำปีนับตั้งแต่ 2526 ตัวเลขโควตาในปี 2537 ของประเทศต่าง ๆ มีดังนี้ บอสวานา 130 ตัว แอฟริกากลาง 40 ตัว เอธิโอเปีย 500 ตัว เคนยา 80 ตัว มาลาวี 50 ตัว นามิเบีย 100 ตัว โมซัมบิก 60 ตัว แอฟริกาใต้ 75 ตัว แทนซาเนีย 250 ตัว แซมเบีย 300 ตัว และซิมบับเว 500 ตัว

ประเทศที่ห้ามล่า

แองโกลา เบนิน บูร์กินาฟาโซ แคเมอรูน คองโก จิบูตี อิเควทอเรียลกินี กาบอง กานา กินีบิสเซา ไอเวอรีโคสต์ ไลบีเรีย มาลี มอริเตเนีย ไนเจอร์ ไนจีเรีย รวันดา เซเนกัล เซียร์ราลีโอน โซมาเลีย ซูดาน โตโก ยูกันดา คองโก แอลจีเรีย อาร์เมเนีย อียิปต์ จอร์เจีย อิหร่าน อิสราเอล จอร์แดน โมร็อกโก ปากีสถาน ซาอุดีอาระเบีย เติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน บังกลาเทศ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ปากีสถาน รัสเซีย ศรีลังกา ไทย

ประเทศที่ควบคุมการล่า เนปาล
ไม่คุ้มครองนอกเขตอนุรักษ์ ภูฏาน
ไม่มีการคุ้มครอง แกมเบีย เลบานอน โอมาน ตูนิเซีย ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ไม่มีข้อมูล อัฟกานิสถาน อาเซอร์ไบจาน อิรัก ลิเบีย คูเวต ซีเรีย ทาจิกิสถาน เยเมน บุรุนดี ชาด กินี กัมพูชา เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ พม่า เวียดนาม

ข้อมูลอ้างอิง

  • http://www.canuck.com/iseccan/leopard.html
  • http://dialspace.dial.pipex.com/agarman/leopard.htm
  • http://lynx.uio.no/catfolk/ssaprd01.htm

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย