ศิลปะ หัตถกรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม สันทนาการ  >>

โบราณสถาน

ประเภทของโบราณสถาน
หลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนโบราณสถาน
อนุสัญญามรดกโลก
แหล่งมรดกทางธรรมชาติ
แหล่งมรดกโลกของไทย
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคำว่า “โบราณสถาน”

หลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนโบราณสถาน

การขึ้นทะเบียนโบราณสถานเป็นหลักการสำคัญประการหนึ่งของกฎหมายในอันที่จะคุ้มครองควบคุมดูแลรักษาโบราณสถาน ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ได้กำหนดเรื่องการขึ้นทะเบียนโบราณสถานไว้ในมาตรา 7 ว่า “เพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษาและการควบคุมโบราณสถาน ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ ให้อธิบดีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา ขึ้นทะเบียนโบราณสถานใดๆ ตามที่อธิบดีเห็นสมควรได้ และให้มีอำนาจกำหนดเขตที่ดินตามที่เห็นสมควรเป็นเขตของโบราณสถานโดยให้ถือว่าเป็นโบราณสถานด้วยก็ได้ ประกาศดังกล่าวนี้อธิบดีจะเพิกถอนหรือแก้ไขเพิ่มเติมก็ให้กระทำได้โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

การขึ้นทะเบียนโบราณสถานตามความในวรรคก่อน ถ้าโบราณสถานนั้นมีเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้อธิบดีแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทราบ ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่พอใจก็ให้มีสิทธิร้องต่อศาลภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่อธิบดีแจ้งให้ทราบ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้อธิบดีระงับการขึ้นทะเบียนและหรือการกำหนดเขตที่ดินให้เป็นโบราณสถานแล้วแต่กรณีได้ ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองมิได้ร้องขอต่อศาล หรือศาลมีคำสั่งคดีถึงที่สุดให้ยก คำร้องขอของเจ้าของหรือผู้ครอบครอง ให้อธิบดีดำเนินการขึ้นทะเบียนได้”

จากบทบัญญัติมาตรา 7 ดังกล่าวสามารถนำมาสรุปเป็นหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนได้ ดังนี้

  1. อสังหาริมทรัพย์ที่จะขึ้นทะเบียนต้องเป็นโบราณสถานตาม บทนิยามของคำว่า “โบราณสถาน” ตามกฎหมาย
  2. การขึ้นทะเบียนโบราณสถานที่ไม่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้อธิบดีกรมศิลปากรเป็นผู้มีอำนาจประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานและมีอำนาจกำหนดเขตที่ดินตามที่เห็นสมควรเป็นเขตของโบราณสถาน ซึ่งเขตของโบราณสถานนี้ให้ถือเป็นโบราณสถานด้วย
  3. การขึ้นทะเบียนโบราณสถานที่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครอง โดยชอบด้วยกฎหมาย อธิบดีกรมศิลปากรต้องแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือ ผู้ครอบครองทราบ หากเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่พอใจก็ให้ใช้สิทธิร้องต่อศาลภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่อธิบดีกรมศิลปากรแจ้งให้ทราบ หากศาลมีคำสั่งให้อธิบดีระงับการขึ้นทะเบียนหรือกำหนดเขตที่ดินให้เป็นโบราณสถานก็ให้อธิบดีระงับการขึ้นทะเบียนหรือกำหนดเขตที่ดินนั้น ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่ได้ร้องขอต่อศาลภายในสามสิบวันก็ต้องถือว่าสละสิทธิ์ และกรณีที่ศาลมีคำสั่งคดีถึงที่สุดให้ยก คำร้องของเจ้าของหรือผู้ครอบครอง อธิบดีกรมศิลปากรย่อมมีอำนาจขึ้นทะเบียนได้
  4. อธิบดีกรมศิลปากรมีอำนาจเพิกถอนการขึ้นทะเบียนโบราณสถานหรือแก้ไขเพิ่มเติมการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน
  5. การประกาศขึ้นทะเบียนหรือประกาศเพิกถอนหรือประกาศแก้ไขเพิ่มเติมการขึ้นทะเบียนโบราณสถานต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา
  6. โบราณสถานที่อธิบดีกรมศิลปากรได้จัดทำบัญชี และประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ และการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วตามพระราชบัญญัตินี้

โบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วของประเทศไทยมีจำนวนมาก แต่สถานที่สำคัญและเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว เช่น อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย พระราชวังโบราณ วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ และวัดใหญ่ชัยมงคลในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปราสาทหินพนมรุ้งในจังหวัดบุรีรัมย์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุในจังหวัดพิษณุโลก วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และวัดอรุณราชวรารามในกรุงเทพมหานคร พระธาตุขาว พระธาตุดำ และพระเจดีย์ศรีสองนางในจังหวัดหนองคาย พระปรางค์สามยอด และศาลพระกาฬในจังหวัดลพบุรี เป็นต้น

โบราณสถานใดที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วแต่ต่อมาปรากฏว่าโบราณสถานนั้นไม่มีประโยชน์ในการดูแลรักษา และการควบคุมอีกต่อไป กฎหมายให้อำนาจอธิบดีกรมศิลปากรมีอำนาจเพิกถอนการประกาศขึ้นทะเบียนได้ หรือหากต้องการเปลี่ยนแปลงขยายหรือลดเขตโบราณสถานจากที่ได้ประกาศไว้ก็สามารถแก้ไขเพิ่มเติมประกาศได้ ทั้งนี้ จะให้การเพิกถอนการประกาศขึ้นทะเบียนหรือการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศมีผลตามกฎหมายจะต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย

 

ผลของการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน โบราณสถานใดที่กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนแล้วจะมีผล ดังนี้

  • ต้องมีการควบคุมการปลูกสร้างอาคารในเขตโบราณสถาน ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว เนื่องจากการปลูกสร้างอาคารมีผลกระทบโดยตรงต่อโบราณสถาน หากไม่มีการควบคุมปล่อยให้ปลูกสร้างกันได้อย่างเสรีย่อมทำให้สภาพภูมิทัศน์ของโบราณสถานเสียไป เกิด “ทัศนอุจาด” ในแง่ของกฎหมายสิ่งแวดล้อมฯ

    มาตรการที่รัฐใช้ในการควบคุมการปลูกสร้างอาคารในเขตโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้ว ได้แก่ มาตรา 7 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ซึ่งมีหลักเกณฑ์

    โดยสรุป ดังนี้
    (ก) ห้ามมิให้ผู้ใดปลูกสร้างอาคารตามกฎหมายว่าด้วย การควบคุมอาคารภายในเขตของโบราณสถาน ซึ่งอธิบดีได้ประกาศขึ้นทะเบียน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี
    (ข) กรณีที่มีการปลูกสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งระงับการก่อสร้าง และให้รื้อถอนอาคารหรือส่วนแห่งอาคารนั้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง
    (ค) ผู้ที่ขัดขืนไม่ระงับการก่อสร้างหรือรื้อถอนอาคารตามคำสั่งอธิบดีมีความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบวัน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
    (ง) กรณีที่ขัดขืนไม่ระงับการก่อสร้างหรือรื้อถอนอาคาร ให้อธิบดีดำเนินการรื้อถอนอาคารนั้นได้โดยเจ้าของ ผู้ครอบครอง หรือผู้ปลูกสร้างไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย หรือดำเนินคดีแก่ผู้รื้อถอน
    (จ) สัมภาระที่รื้อถอนแล้ว ถ้าเจ้าของไม่ขนย้ายออกไปจากเขตโบราณสถานภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่รื้อถอนเสร็จ ให้อธิบดีขายทอดตลาดสัมภาระนั้น เงินที่ได้จากการขาย หักค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนและการขายแล้วเหลือเท่าใดให้คืนเจ้าของสัมภาระ
  • เจ้าของหรือผู้ครอบครองโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้วต้องแจ้งการชำรุด หักพัง หรือเสียหาย ไม่ว่าด้วยประการใดเป็นหนังสือไปยังอธิบดีกรมศิลปากรภายใน 30 วัน นับแต่วันที่โบราณสถานนั้นชำรุด หักพังหรือเสียหาย
  • เจ้าของหรือผู้ครอบครองโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้วต้องยินยอมให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือบุคคลใดๆ ซึ่งได้รับคำสั่งจากอธิบดีกรมศิลปากรเข้าทำการซ่อมแซม หรือกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อเป็นการบูรณะหรือรักษาไว้ให้โบราณสถานคงสภาพเดิม ในกรณีที่มีการขัดขวางการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ผู้ขัดขวางจะมีโทษฐานขัดขวางเจ้าพนักงานตามมาตรา 138 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
  • หากมีการโอนโบราณสถานให้บุคคลอื่น เจ้าของหรือ ผู้ครอบครองซึ่งเป็นผู้โอนมีหน้าที่ต้องแจ้งการโอนเป็นหนังสือต่ออธิบดีกรมศิลปากรภายใน 30 วัน นับแต่วันโอน โดยหนังสือต้องระบุชื่อ ที่อยู่ของผู้รับโอน และวันเดือนปีที่โอนด้วย
  • เจ้าของโบราณสถานที่ได้กรรมสิทธิ์มาโดยทางมรดกหรือโดยพินัยกรรม มีหน้าที่ต้องแจ้งการได้รับกรรมสิทธิ์ต่ออธิบดีกรมศิลปากรภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับกรรมสิทธิ์ หากมีผู้ได้รับกรรมสิทธิ์โบราณสถานเดียวกันหลายคน ให้มอบหมายให้ผู้มีกรรมสิทธิ์รวมคนใดคนหนึ่งเป็นผู้แจ้งการรับกรรมสิทธิ์แทน ผู้มีกรรมสิทธิ์รวมทุกคนได้
  • หากเจ้าของหรือผู้ครอบครองโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้ว จัดให้มีการเรียกเก็บค่าเข้าชมหรือค่าบริการอื่นเป็นปกติธุระ หรือจัดเก็บผลประโยชน์ใดๆ ที่เกิดจากโบราณสถานดังกล่าว เจ้าของหรือผู้ครอบครองโบราณสถานนั้นต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมทั้งหมดหรือบางส่วนตามที่อธิบดีกรมศิลปากรกำหนด
  • อัตราโทษของการบุกรุก ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้เสียประโยชน์ ซึ่งโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้ว มีอัตราโทษที่หนักกว่า การบุกรุก ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้เสียประโยชน์ ซึ่งโบราณสถานที่ไม่ขึ้นทะเบียน
  • ในการเปิดให้ผู้อื่นเข้าชมโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วเพื่อประโยชน์ในการรักษาสภาพ ความปลอดภัย ความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของโบราณสถาน ผู้เข้าชมโบราณสถานต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2539) ออกตามความในพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ดังต่อไปนี้
    (ก) ไม่เคลื่อนย้ายสิ่งต่างๆ ภายในโบราณสถาน
    (ข) ไม่ขีด เขียน หรือทำให้ปรากฏด้วยประการใดๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใดๆ ลงบนโบราณสถาน
    (ค) ไม่นำอาวุธ วัตถุระเบิด วัตถุเชื้อเพลิง หรือสารเคมี อันจะก่อให้เกิดอันตรายเข้าไปในโบราณสถาน
    (ง) ไม่ปีนป่ายโบราณสถาน หรือไม่กระทำการใดๆ อันเป็นเหตุให้เกิดความชำรุดเสียหาย หรือก่อให้เกิดความสกปรก และไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยแก่โบราณสถาน
    (จ) ไม่เทหรือถ่ายทิ้งขยะมูลฝอย หรือสิ่งปฏิกูลลง ณ ที่ใดๆ ภายในโบราณสถาน นอกจากที่ซึ่งจัดไว้
    (ฉ) ไม่กระทำการใดๆ ภายในโบราณสถาน อันเป็นที่ น่ารังเกียจ หรือเป็นที่เสื่อมเสียต่อศีลธรรมอันดี หรือลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาและวัฒนธรรม หรือก่อความรำคาญแก่ผู้เข้าชมอื่นๆ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย