ศิลปะ หัตถกรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม สันทนาการ >>
ประเภทของโบราณสถาน
หลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนโบราณสถาน
อนุสัญญามรดกโลก
แหล่งมรดกทางธรรมชาติ
แหล่งมรดกโลกของไทย
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคำว่า โบราณสถาน
อนุสัญญามรดกโลก
อนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกที่ได้รับการรับรองในการประชุมประจำปีของยูเนสโก ในปี
พ.ศ. 2515 มีจุดเริ่มต้นมาจากแนวคิดใหม่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
กล่าวคือการอนุรักษ์ที่คำนึงถึงการอนุรักษ์ทั้งวัฒนธรรมและธรรมชาติ
ในฐานะที่เป็นองค์ประกอบของกันและกัน
เป็นระยะเวลายาวนานมาแล้วที่ธรรมชาติและวัฒนธรรมถูกมองว่าเป็นองค์ประกอบที่ขัดแย้งกัน
มนุษย์ต่างพยายามที่จะเอาชนะธรรมชาติเพื่อการอยู่รอด
ในขณะที่วัฒนธรรมกลับกลายเป็นสัญลักษณ์ที่มีคุณค่าเพียงนามธรรม
แม้ว่าอันที่จริงแล้วธรรมชาติและวัฒนธรรมต่างเป็นสิ่งเอื้ออำนวยซึ่งกันและกัน
เพราะเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของมนุษย์ถูกกำหนดขึ้นในสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์อาศัยอยู่
และบ่อยครั้งที่ผลงานสร้างสรรค์ของมนุษย์มีความสวยงามได้ก็เพราะธรรมชาติที่แวดล้อม
อนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกจึงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาสถานที่ต่างๆ
ให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ
รวมทั้งจัดทำบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลกเหล่านี้อันเป็นแหล่งที่น่าสนใจ
และมีคุณค่าระดับนานาชาติ เพื่อการอนุรักษ์สถานที่เหล่านี้
เพราะหากสูญเสียสถานที่เหล่านี้ไปแล้วไม่มีผู้ใดที่สามารถสร้างกลับคืนมาได้ดังเดิมอีก
นอกจากนี้อนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกยังเป็นเครื่องมือส่งเสริมความร่วมมือระหว่างนานาอารยประเทศและมวลมนุษย์
เพื่อให้การอนุรักษ์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและพยายามกระตุ้นให้เกิดการตระหนักว่ามนุษย์ทุกคนมีภาระหน้าที่ร่วมกัน
ในการปกปักรักษามรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติไว้
คณะกรรมการมรดกโลก
ในการร่วมเป็นภาคีของอนุสัญญาคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก
ประเทศภาคีจะร่วมให้สัตยาบันในอันที่จะอนุรักษ์แหล่งมรดก
ที่มีคุณค่าของโลกในพื้นที่ความคุ้มครองของประเทศนั้นๆ
อาจกล่าวได้ว่าประเทศดังกล่าว คือ
ตัวแทนของมวลมนุษย์บนโลกที่มีหน้าที่ในการคุ้มครองดูแลแหล่งมรดกโลก
ให้เป็นสมบัติต่อชุมชนรุ่นหลังสืบไป
ในขณะเดียวกันนานาประเทศก็ให้การสนับสนุนประเทศนั้นๆ
ในการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกของไทยด้วย
ภายใต้อนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมแลธรรมชาติของโลกได้กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการมรดกโลกขึ้น
เพื่อทำหน้าที่ประหนึ่งเป็นกลไกประสานความร่วมมือของประเทศภาคีสมาชิก
คณะกรรมการมรดกโลกประกอบด้วยกรรมการจาก 21 ประเทศ
ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากประเทศภาคีสมาชิกทั้งมวล
โดยจะร่วมประชุมกันปีละหนึ่งครั้ง โดยมีหน้าที่หลัก 2 ประการคือ
- พิจารณาคัดเลือกแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม และธรรมชาติ โดยมี ICOMOS (International Council on monuments and Sites) และ IUCN (World Conservation Union) เป็นองค์กรที่ปรึกษาด้านวิชาการ ในการพิจารณาข้อเสนอของแหล่งมรดกโลก ตลอดจนจัดทำรายงานผลการประเมินความเหมาะสมของแหล่งที่นำเสนอเป็นมรดกโลกด้วย
- บริหารกองทุนมรดกโลก รวมทั้งพิจารณาจัดสรรให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการและการเงินต่อประเทศที่ร้องขอมาอีกด้วย
ข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลก
แหล่งมรดกทางวัฒนธรรม
- เป็นตัวแทนซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ ด้านศิลปกรรมหรือตัวแทนของความงดงาม และเป็นผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันฉลาดยิ่ง หรือ
- เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวนและภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งการพัฒนาเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือบนพื้นที่ใดๆของโลกซึ่งทรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม หรือ
- เป็นเอกลักษณ์ หายากยิ่ง หรือเป็นของแท้ดั้งเดิม หรือ
- เป็นตัวอย่างของลักษณะโดยทั่วไปของประเภทของสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม หรือ
- เป็นตัวอย่างของลักษณะเด่นชัด หรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสถาปัตยกรรม วิธีการก่อสร้าง หรือการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่มีความเปราะบางด้วยตัวมันเอง หรือเสื่อมสลายได้ง่ายเพราะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่ไม่สามารถกลับคืนดังเดิมได้ หรือมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ หรือ
- มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือมีความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์