ศิลปะ หัตถกรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม สันทนาการ >>
โบราณสถาน
ความหมายและความเป็นมาของคำว่า โบราณสถาน
โบราณสถาน เป็นคำที่มีมานานแล้วตั้งแต่เมื่อครั้งที่มีการจัดทำพจนานุกรม
ฉบับราชบัณฑิตยสถานเล่มแรก พ.ศ. 2493 ก็ปรากฏคำว่า โบราณสถาน
ซึ่งให้ความหมายไว้ว่าหมายถึง สถานที่ก่อสร้างซึ่งเป็นของโบราณ
ต่อมามีการชำระพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานเสียใหม่ในปี พ.ศ. 2525 คำว่าโบราณสถาน
จึงได้เปลี่ยนความหมายไปเป็น สิ่งที่เคลื่อนที่ไม่ได้ เช่น โบสถ์ วิหาร วัง
มีอายุเก่ากว่า 100 ปีขึ้นไป และเพิ่มความหมายทางกฎหมายไว้ด้วยว่าหมายถึง
อสังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการก่อสร้าง
หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นประโยชน์ในทางศิลป
ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี ทั้งนี้ ให้รวมถึงสถานที่ที่เป็นแหล่งโบราณคดี
แหล่งประวัติศาสตร์ และอุทยานประวัติศาสตร์ด้วย
ความหมายของคำว่าโบราณสถานดังกล่าวยังคงใช้อยู่จนปัจจุบันนี้ตามที่ปรากฏในพจนานุกรม
ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
สำหรับคำจำกัดความเฉพาะที่ใช้ในบทบัญญัติของกฎหมายที่ปรากฏ
อยู่ในพระราชบัญญัติว่าด้วยโบราณสถาน ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ
และการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ พุทธศักราช 2477 ได้ให้นิยามคำว่าโบราณสถานไว้
หมายความว่า อสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่งอย่างใด
หรือซากปรักหักพังแห่งอสังหาริมทรัพย์
ซึ่งอายุหรือลักษณะแห่งการก่อสร้างหรือความจริงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อันมีอยู่ในสิ่งนั้น
เป็นประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี หรือศิลปกรรม
แต่ในการตราพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
พ.ศ. 2504 ได้มีการแก้ไขนิยามคำว่าโบราณสถานเสียใหม่ โดยให้หมายความว่า
อสังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการก่อสร้าง
หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นประโยชน์ในทางศิลป
ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี และเมื่อปี พ.ศ. 2535
มีการแก้ไขนิยามคำว่าโบราณสถานอีกครั้ง โดยพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ
ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535
ซึ่งเป็นความหมายที่ใช้มาจนทุกวันนี้ ได้แก่ โบราณสถาน หมายความว่า
อสังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยอายุหรือ โดยลักษณะแห่งการก่อสร้าง
หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นประโยชน์ในทางศิลป
ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี ทั้งนี้ให้รวมถึงสถานที่ที่เป็นแหล่งโบราณคดี
แหล่งประวัติศาสตร์ และอุทยานประวัติศาสตร์ด้วย
จากความหมายดังกล่าว
การพิจารณาว่าสิ่งใดเป็นโบราณสถานจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
ต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้แก่
- ที่ดิน ทั้งที่เจ้าของมีกรรมสิทธิ์และที่เจ้าของมีเพียงสิทธิครอบครอง
- ทรัพย์อันติดกับที่ดิน ได้แก่ ทรัพย์ที่เกิดหรือติดกับที่ดินโดยธรรมชาติ เช่น ไม้ยืนต้น ทรัพย์ที่ติดกับที่ดินโดยมีผู้นำมาติด เช่น ตึก อนุสาวรีย์ เจดีย์ ทรัพย์ที่ประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน เช่น แม่น้ำ ลำคลอง
- สิทธิอันเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
- สิทธิเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยตรง เช่น กรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง สิทธิใช้สอยและได้มาซึ่งดอกผล สิทธิจำหน่ายจ่ายโอน สิทธิติดตามทวงคืน เป็นต้น
- สิทธิเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยอ้อม เป็นสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นซึ่งติดอยู่กับที่ดินอีกทอดหนึ่ง เช่น สิทธิจำนอง
โดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการก่อสร้างหรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นประโยชน์ในทางศิลป ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี โดยมีหลักการสำคัญในการพิจารณา ได้แก่
- อายุของอสังหาริมทรัพย์
- ลักษณะการก่อสร้างของอสังหาริมทรัพย์
- หลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์
เมื่อพิจารณาจากหลักการใดหลักการหนึ่งในสามข้อนี้จะต้องเป็นประโยชน์ในทางศิลป ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี ศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งจึงจะถือได้ว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นโบราณสถาน
ประเภทของโบราณสถาน
หลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนโบราณสถาน
อนุสัญญามรดกโลก
แหล่งมรดกทางธรรมชาติ
แหล่งมรดกโลกของไทย
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคำว่า โบราณสถาน