ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
การเข้ามาของพวกโปรตุเกสกับคริสตศาสนา
ความปรารถนาของนักบุญฟรังซิส เซเวียร์
ธรรมทูตคณะโดมินิกันในสยาม
มรณสักขีองค์แรกในแผ่นดินสยาม
สิทธิอุปถัมภ์ศาสนา (Padroado)
ระบบ ปาโดรอาโด ของโปรตุเกส
การเข้ามาของคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส
ความปรารถนาของนักบุญฟรังซิส เซเวียร์
เหตุการณ์ที่น่าสนใจเหตุการณ์หนึ่ง
ซึ่งน่าจะถือว่ามีความสำคัญทั้งต่อประวัติศาสตร์พระศาสนจักรในสยามและต่อประวัติศาสตร์ชาติไทยด้วย
คือ นักบุญฟรังซิส เซเวียร์ นักแพร่ธรรมผู้ยิ่งใหญ่
แสดงความตั้งใจที่จะเข้ามาในสยาม
ทั้งนี้เพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศจีนอันเป็นความปรารถนาสูงสุดของท่าน ฟรังซิส
เซเวียร์ เป็นพระสงฆ์สเปนและเป็นเพื่อนรุ่นแรกของนักบุญอิกญาซีโอ
ผู้ก่อตั้งคณะเยสุอิต ฟรังซิสเดินทางไปจนถึงเมืองกัว (Goa) ประเทศอินเดียในปี ค.ศ.
1542 (พ.ศ. 2085) ต่อมาได้เดินทางไปที่มะละกาและเกาะโมลูลัส
ที่มะละกานี้เองท่านพบกับชาวญี่ปุ่นซึ่งทำให้ท่านมีแรงบันดาลใจที่จะไปญี่ปุ่น
ที่สุดท่านได้เดินทางมาถึงเมืองคาโกชิมาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 1549 (พ.ศ.
2092) การแพร่ธรรมของท่านที่ญี่ปุ่นบังเกิดผลดีมาก
ต่อมาท่านทราบว่าวัฒนธรรมญี่ปุ่นมีความคล้ายคลึงกับจีน
ท่านจึงมีความปรารถนาที่จะเดินทางไปแพร่ธรรมในประเทศจีน
ความปรารถนาของท่านที่จะเดินทางเข้ามาในสยามนั้น
เพราะต้องการเดินทางจากสยามไปประเทศจีนโดยอาศัยการติดต่อการค้าระหว่างสยามกับจีนในเวลานั้น
เนื่องจากหนทางอื่นที่จะเข้าประเทศจีนนั้นมีอุปสรรค อย่างไรก็ตาม นักบุญฟรังซิส
เซเวียร์ ไม่สามารถเข้าไปทั้งจีนและสยาม เพราะมรณภาพก่อนเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ.
1552 (พ.ศ. 2095) ที่เมืองซานเซียน และในวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ. 1553 (พ.ศ. 2096)
ศพที่ไม่เน่าเปื่อยของท่านที่ถูกส่งมาถึงมะละกา และถูกส่งไปที่เมืองกัวในอินเดีย
เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 1553 (พ.ศ. 2096)
บางส่วนของร่างกายได้ถูกนำไปเป็นพระธาตุตามวิหารต่างๆ ในยุโรปด้วย
แม้ว่าท่านจะมิได้เดินทางมาสยามอย่างที่ตั้งใจ
เพียงแต่เอ่ยชื่อสยามในจดหมายของท่านก็นับว่าเป็นเกียรติต่อพระศาสนจักรของเราแล้ว
เพราะอย่างน้อยที่สุดในใจของท่านก็มีเราชาวสยามอยู่บ้าง
นอกจากนี้ท่านยังได้ช่วยคลี่คลายข้อข้องใจส่วนหนึ่งเกี่ยวกับชื่อประเทศ สยาม
ของเรา ข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ ชื่อสยามอาจไม่ได้เป็นที่รู้จักของชาวสยาม
แต่เป็นคำที่ชาวต่างชาติเป็นผู้ใช้เรียกชื่อประเทศของเรา
เนื่องจากชาวไทยมิได้เรียกประเทศของตนว่า สยาม แต่เรียกว่า เมืองไทย
ยิ่งกว่านั้นชาวไทยยังนิยมเรียกประเทศของตนตามชื่อเมืองหลวงเวลานั้นอีกด้วย
ตัวอย่างเช่น อาณาจักรสุโขทัย อาณาจักรอยุธยา ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ตอนแรกเรียกกันว่า เมืองไทย หรือกรุงไทย คำว่า สยาม
กลายมาเป็นชื่อทางการของประเทศในสมัยรัชกาลที่ 4 นี่เอง เมื่อสมัยจอมพล
ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีปลายปี ค.ศ. 1938 (พ.ศ. 2481)
ได้เริ่มต้นโครงการฟื้นฟูชาติขึ้นใหม่ เปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามมาเป็นประเทศไทย
ด้วยเหตุผลที่ว่า ชื่อใหม่นี้สอดคล้องกับต้นกำเนิดของชาวไทยและการปฏิบัติของประชาชน