ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม >>
ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญ
ประเพณีที่คนในสังคม หรือชุมชนปฏิบัติร่วมกัน
ชาวปทุมธานีส่วนใหญ่มีชีวิต ความเป็นอยู่ค่อนข้างเรียบง่าย ผูกพันกับศาสนา
และมีประเพณีเก่าแก่ที่คนในท้องถิ่นยังคงอนุรักษ์และจัดให้มีขึ้น
เพราะมีความเชื่อว่าหากจัดงานแล้วจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่สงบร่มเย็น
ประเพณีส่วนสังคมที่สำคัญเช่น การถวายธงตะขาบ ตักบาตรพระร้อย ทำบุญวันสารท วันตรุษ
เป็นต้น
1) ประเพณีถวายธงตะขาบ
ประเพณีถวายธงตะขาบ เป็นประเพณีชาวรามัญเมืองปทุมธานี
ถือการปฏิบัติกันในเทศกาลวันสงกรานต์ กระทำกันที่เสาหงส์หน้าเจดีย์ หรือโบสถ์ วิหาร
อันเป็นสัญลักษณ์ของชาวรามัญแห่งหงสาวดี
เสาหงส์ทำด้วยไม้กลมหรือเหลี่ยมมีเสาประกบคู่ประดับด้วยบัวหัวเสา
ที่ปลายเสามีรูปหงส์ทรงเครื่องหล่อด้วยโลหะยืนอยู่ปลายเสากางปีกทั้งสองข้างที่จงอยปากหงส์แขวนด้วยกระดิ่ง
บนสุดมีฉัตรสามชั้นปักอยู่ ชาวรามัญเรียกเสาหงส์ว่า เทียะเจมเจียนู่
ประเพณีถวายธงตะขาบจะจัดทำกันในวันสุดท้ายของวันสงกรานต์ที่ศาลาวัด
โดยใช้ผ้าเป็นผืนยาวตัดเป็นรูปตัวตะขาบใส่ไม้ไผ่เป็นระยะๆ ตลอดผืน
หลังจากทำเสร็จแล้วในตอนบ่ายก็จะมีการแห่ธง โดยช่วยกันจับตามขอบธงตลอดทั้งผืน
แห่ธงไปตามหมู่บ้าน มีขบวนเถิดเทิงกลองยาวประกอบขบวน
เสร็จแล้วนำมาทำพิธีถวายธงที่หน้าเสาหงส์ และชักขึ้นสู่ยอดเสา
เพื่อเป็นการบูชาพระพุทธเจ้า และสืบสานประเพณีต่อมาจนทุกวันนี้
2) ประเพณีรำพาข้าวสาร
รำพาข้าวสาร จะเริ่มกระทำกันเมื่อออกพรรษาแล้ว
เพราะในระหว่างที่ออกพรรษา ชาวพุทธโดยทั่วไป
จะนิยมทำการทอดกฐินและทอดผ้าป่าตามวัดต่าง ๆ
ถ้าวัดใดไม่มีคนจองกฐินหรือยังไม่ได้ทอดกฐิน ชาวบ้านก็จะช่วยกันจัดกฐินไปทอด
โดยจัดเป็นรูปกฐินสามัคคี จึงจัดให้มีการร้องเพลงทำนองเชิญชวนให้ทำบุญ
ซึ่งเรียกการเรี่ยไรนี้ว่า รำพาข้าวสาร
วิธีรำพาข้าวสาร จะมีบุคคลคณะหนึ่งมีทั้งหญิงและชายประมาณ 2030 คน
พอตกค่ำก็ลงเรือขนาดใหญ่ที่จุคนได้มากที่เตรียมไว้ ทุกคนต้องเตรียมพายไปคนละอัน
เพื่อจะได้ช่วยกันพายเรือ ในเรือจะมีกระบุง กระสอบสำหรับใส่ข้าวสาร
และจัดให้คนแก่คนหนึ่งนุ่งขาวห่มขาว นั่งกลางลำเรือเป็นประธานไม่ต้องทำอะไร
ทุกคนจะนั่งริมกราบเรือเพื่อช่วยกันพายและมีคนคัดท้ายหรือที่เรียกว่า ถือท้ายเรือ
หนึ่งคน เขาจะพายพร้อม ๆ กัน เหมือนกับแข่งเรือ
จุดมุ่งหมายที่จะไปก็คือตามบ้านทั่วไปที่เรือจอดถึงบันไดบ้านได้
การรำพาข้าวสารจะเริ่มตั้งแต่ 1 ทุ่ม ไปจนกระทั่ง 6 ทุ่มเที่ยงคืน
จึงจะเลิกพากันกลับบ้าน แล้วในคืนต่อไปคณะรำพาข้าวสารก็จะไปรำพาในที่อื่น
ตำบลอื่นอีก จนกว่าจะ เห็นว่าข้าวของที่ได้มาพอที่จะทอดกฐินแล้วจึงยุติ
ปัจจุบันประเพณีการรำพาข้าวสารได้เลิกมาประมาณ 30 กว่าปีแล้ว
3) ประเพณีมอญคั่ง
มอญคั่ง
เป็นประเพณีที่ชาวไทยรามัญเมืองปทุมปฏิบัติสืบต่อกันมานานตั้งแต่ครั้งสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สาเหตุที่เกิดประเพณีมอญคั่ง ก็เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้เสด็จโดยทางเรือไปประทับ ณ พระราชวัง บางปะอินทุกปีไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา
ทางทิศเหนือ ซึ่งต้องเสด็จผ่านจังหวัดปทุมธานี อำเภอ สามโคก ครั้งหนึ่ง
ตรงกับวันขึ้น 8 ค่ำเดือน 11 สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง
ทรงมีพระมหากรุณาเสด็จขึ้นประทับที่บ้านท่าควาย ปัจจุบันอยู่ในเขตบ้านฉาง
อำเภอเมือง บรรดาชาวรามัญจังหวัดปทุมธานี
เมื่อทราบข่าวต่างพากันพายเรือมาเฝ้าชมพระบารมี และถวายสิ่งของอย่างคับคั่ง
ตลอดเวลามิได้ขาดสาย และได้จัดการละเล่นต่างๆ
เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองพระเกียรติของพระองค์กันอย่างมโหฬาร
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวไทยรามัญจึงได้พากันลอยเรือเล่นเพลงทะแย
จุดประทีปโคมไฟ จุดดอกไม้ไฟ และจุดตะไล ณ สถานที่เดิม
เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์เป็นประจำทุกปีมิได้ขาด เวลานี้
การลอยเรือหรือประเพณีมอญคั่งนี้แยกออกไปทำตามหน้าวัดที่อยู่ริมน้ำ
ซึ่งจะกำหนดวันลอยเรือไว้เป็นที่ทราบกันว่าวันไหนจะลอยเรือที่หน้าวัดใด
เอาการศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
4) ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง
เป็นประเพณีเดือน 10 ขึ้น 15 ค่ำ ทำบุญที่วัดโดยนำข้าวต้มมัด น้ำผึ้ง
น้ำอ้อยไปถวายพระสงฆ์ โดยมีมูลเหตุความเป็นมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล
พวกภิกษุเกิดอาพาธขึ้นพระพุทธเจ้าจึงทรงดำริหาสิ่งที่เป็นทั้งยาและอาหารเพื่ออนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์ฉันได้
ตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนไปแล้ว เพื่อบำรุงร่างกาย มี 5 อย่าง ได้แก่ เนยใส เนยข้น
น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ส่วนประเพณีของไทย นิยมถวายน้ำผึ้งแด่พระภิกษุสงฆ์
จึงเกิดเป็นประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งจนถึงทุกวันนี้
5) ประเพณีส่งข้าวแช่สงกรานต์ หรือ เปิงสงกรานต์
จะจัดขึ้นในช่วงวันสงกรานต์
ทุกครัวเรือนจะเตรียมการทำข้าวแช่และกับข้าว กับข้าวมีเนื้อเค็มผัด กะปิทอด
ไข่เค็มผัด หัวผักกาดหวาน ปลาผัด วันที่ 13 เมษายน
ตอนเช้าจะจัดหุงข้าวพอสุกแล้วนำมาซาวน้ำให้หมดยาง แล้วเอาผ้าขาวห่ออบด้วยดอกมะลิ
ต้มน้ำเปล่าให้เดือดทิ้งให้เย็น เวลานำข้าวแช่ไปแจกจะนำหม้อข้าวแช่ที่เรียกว่า
หม้อตาลหรือหม้อขนม มาล้างให้สะอาดแล้วเอามาลนไฟจากกาบมะพร้าวเพื่อให้มีกลิ่นหอม
แล้วนำข้าวอบดอกมะลิเติมน้ำเดือดที่เย็นแล้ว และสำรับกับข้าวไปถวายพระสงฆ์ที่วัด
และส่งตามบ้านญาติผู้ใหญ่ที่นับถือ ส่งตั้งแต่เช้าจนเพลของวันที่ 1315 เมษายน
ของทุกปี พอตกบ่ายจะไปรวมกันที่วัดมีการก่อพระทราย ปล่อยนก ปล่อยปลา สรงน้ำพระ
แล้วรับพรจากพระ ครั้นเสร็จพิธี หนุ่มสาว เฒ่าแก่จะสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน
แล้วกลับมาอาบน้ำผู้ใหญ่ พ่อแม่ แล้วเอาน้ำอบประพรมเสื้อผ้าให้ใหม่
แล้วผู้ใหญ่จะให้ศีลให้พรแก่ลูกหลาน
6) ประเพณีทำบุญวันสารท
ตรงกับวันแรม 15 เดือน 10 เป็นการทำบุญกลางปี สารท แปลว่าฤดูใบไม้ร่วง
เป็นการทำบุญเพื่อให้เกิดสิริมงคลแก่พืชผล และเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ใหญ่
ขนมที่จัดทำถวายพระสงฆ์นี้เรียกว่า กระยาสารท ซึ่งเป็นอาหารของชาวอินเดีย
คนไทยรับมาดัดแปลง โดยใช้ส่วนผสมจากผลิตผลในการเกษตรของชาวไร่ชาวนามีข้าวตอก
ข้าวเม่า ถั่วลิสง งา น้ำอ้อย กวนเกาะกันเป็นปึก แล้วตัดเป็นแผ่นเพื่อนำถวายพระสงฆ์
นอกจากนี้ยังจัดให้มีพิธีกวนข้าวทิพย์ โดยจัดทำกันที่วัด
ใช้หญิงสาวพรหมจารีเป็นผู้กวน มีพระสงฆ์สวดมนต์ในระหว่างทำพิธี
ถือว่ากินแล้วเกิดสิริมงคล ระงับโรคภัยได้
7) ประเพณีทำบุญวันตรุษ
ประเพณีทำบุญวันตรุษ ตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 4 ถึงวันขึ้น 1 ค่ำ
เดือน 5 รวม 3 วัน ตรุษแปลว่า สุด หรือ ขาด หมายถึงสิ้นปีเก่า
เป็นการแสดงความยินดีที่ได้มีชีวิตผ่านไป ใน 1 ปี เรียกว่า ส่งท้ายปีเก่า
ขนมที่จัดทำขึ้นในวันตรุษที่จะขาดไม่ได้คือ ข้าวเหนียวแดง และกะละแม
มีการทำบุญตักบาตรเลี้ยงพระตามประเพณี บางวัดก็จัดให้มีสวดภาณยักษ์
ประเพณีตรุษนี้คนในหมู่บ้าน ตามท้องถิ่นต่าง ๆ ได้ประกอบพิธีทำบุญตักบาตรที่วัด
และมีการละเล่นต่าง ๆ ตามความนิยมแต่ละยุคสมัยในท้องถิ่น
8) ประเพณีแข่งลูกหนู
ลูกหนูเป็นประเพณีการเล่นอย่างหนึ่งในงานฌาปนกิจศพของพระสงฆ์ของชาวรามัญ
แต่เดิมนั้นการจัดฌาปนกิจศพพระสงฆ์
หรือสมภารเจ้าอาวาสจะเผาบนปราสาทที่จัดยอดเดียวหรือห้ายอด และจุดเผาศพด้วยลูกหนู
มอญโบราณเชื่อว่าศพพระไม่จุดไฟด้วยมืออย่างศพธรรมดา
ต่อมาภายหลังกลายเป็นประเพณีการเล่นแข่งขัน
โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ตัวประสาทจำลองที่จะมีในเดือน 4 เดือน 5
ทางวัดจะจัดให้มีการแข่งขันในเวลาบ่าย
การจุดลูกหนูนั้นต้องใช้คนและค่าใช้จ่ายในการเตรียมการ
และจัดทำโดยพระสงฆ์เจ้าอาวาสในวัดนั้น ๆ ให้การสนับสนุน
คณะลูกหนูที่มีชื่อเสียงยังสืบสานประเพณีแข่งลูกหนูของจังหวัดปทุมธานีมีอยู่หลายวัดเช่น
ลูกหนูวัดกร่าง วัดป่างิ้ว วัดบางเตย วัดดอกไม้ วัดปทุมทอง วัดถั่วทอง
วัดชัยสิทธาวาส วัดโบสถ์ วัดน้ำวน วัดบางกระดี วัดบางหลวง วัดบ่อเงิน วัดบ่อทอง
เป็นต้น
8) ประเพณีตักบาตรพระร้อย
งานประเพณีของชาวไทยเชื้อสายมอญโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อำเภอสามโคก
จังหวัดปทุมธานีมีอยู่ไม่น้อยและยังคงอนุรักษ์สืบต่อกันมาอย่างเคร่งครัด
และยังคงอนุรักษ์สืบต่อกันมาอย่างเคร่งครัดจนถึงรุ่นปัจจุบัน
ประเพณีตักบาตรพระร้อยเป็นประเพณีอันดีงามของการทำบุญเนื่องในวันออกพรรษาที่ปฏิบัติสืบต่อกันมานานนับร้อยปีของชาวไทยเชื้อสายมอญประเพณีนี้เริ่มตั้งแต่เทศกาลวันออกพรรษา
แรม 1 ค่ำ เดือน 11 เป็นต้นไป
ซึ่งในช่วงเดือนนี้เป็นช่วงน้ำหลากล้นฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาน้ำเปี่ยมตลิ่ง
การจัดการตักบาตรพระร้อยเป็นหน้าที่ของวัดที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและริมคลอง
แต่ก็ไม่ได้กำหนดไปเสียทุกวัด ส่วนใหญ่จะจัดให้มีการตักบาตรเฉพาะในวัดใหญ่ ๆ
ตามที่ยึดถือกันมาแต่ดั้งเดิมเพราะว่าต้องนิมนต์พระภิกษุมาเป็นจำนวนมาก
ดังที่เรียกว่า พระร้อย นั่นเอง
ด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของบรรดาพุทธศาสนิกชน
การตักบาตรพระร้อยจึงเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ของจังหวัดปทุมธานี