วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>

ลิลิตตะเลงพ่าย


ตอนที่ 1 เริ่มบทกวี
ตอนที่ 2 เหตุการณ์ทางเมืองมอญ
ตอนที่ 3 พระมหาอุปราชายกทัพเข้าเมืองกาญจนบุรี
ตอนที่ 4 พระนเรศวรทรงปรารภเรื่องตีเมืองเขมร
ตอนที่ 5 สมเด็จพระนเรศวรทรงเตรียมการสู้ศึกมอญ
ตอนที่ 6 พระนเรศวรทรงตรวจเตรียมทัพ
ตอนที่ 7 พระมหาอุปราชาทรงปรึกษาการศึกแล้วยกทัพเข้าปะทะหน้าของไทย
ตอนที่ 8 ทัพหน้าไทยถอยไม่เป็นกระบวน
ตอนที่ 9 ทัพหลวงเคลื่อนพลฯ
ตอนที่ 10 ยุทธหัตถี และชัยชนะของไทย
ตอนที่ 11 พระนเรศวรทรงสร้างสถูปและปูนบำเหน็จทหาร
ตอนที่ 12 สมเด็จพระวันรัตขอพระราชทานอภัยโทษ

ตอนที่ 8 ทัพหน้าไทยถอยไม่เป็นกระบวน

ขณะที่พราหมณ์ผู้ทำพิธีและผู้ชำนาญไสยศาสตร์ ทำพิธีเบิกประตูป่าและพิธีละว้าเซ่นไก่ หลวงมหาวิชัยรับพระแสงดาบอาญาสิทธิ์ ไปทำพิธีตัดไม้ข่มนามตามไสยศาสตร์ สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงสดับเสียงปืนซึ่งไทยกับมอญกำลังยิงต่อสู้กัน แต่เสียงนั้นอยู่ไกลฟังไม่ถนัด จึงรับสั่งให้หมื่นทิพเสนารีบไปสืบข่าว เห็นกองทัพไทยกำลังล่าถอย รับพลางถอยพลาง มอญพม่าตามมาอย่างกระชั้นชิด หมื่นทิพเสนาได้นำขุนหมื่นผู้หนึ่งมาเฝ้าสมเด็จพระนเรศวร ขุนหมื่นผู้นั้นกราบทูลว่า เมื่อเวลา 7 นาฬิกา ทัพไทยได้ปะทะกับทัพมอญที่ตำบลโคกเผาข้าว ทัพไทยต้องถอยร่นตลอดเวลา เพราะกำลังข้าศึกมีมากกว่า สมเด็จพระนเรศวร จึงตรัสปรึกษาแม่ทัพนายกองว่าควรคิดหาอุบายแก้ไขการศึก บรรดาแม่ทัพนายกองกราบทูลขอให้พระองค์ส่งทัพไปยันไว้ ให้ข้าศึกอ่อนกำลังลงก่อนจึงเสด็จยกทัพหลวงออกต่อสู้ภายหลัง สมเด็จพระนเรศวรตรัสตอบว่าทัพไทยกำลังแตกพ่ายอยู่ ถ้าจะส่งทัพไปต้านทานอีก ก็จะพลอยแตกอีกครั้ง ควรที่จะล่าถอยลงมาโดยไม่หยุดยั้ง เพื่อลวงข้าศึกให้ละเลิงใจ ยกติดตามมาไม่เป็นขบวน พอได้ทีให้ยกกำลังส่วนใหญ่ออกโจมตี คงจะได้ชัยชนะอย่างง่ายดาย แม่ทัพนายกองเห็นชอบด้วยกับพระราชดำรินั้น สมเด็จพระนเรศวรจึงมีรับสั่งให้หมื่นทิพเสนากับหมื่นราชามาตย์ไปแจ้งทัพหน้าของไทยให้ล่าถอยโดยเร็ว ทัพพม่า ไม่รู้อุบาย ก็รุกไล่ตามจนเสียกระบวน

พิธีทางไสยศาสตร์เกี่ยวกับศึกสงคราม

โขลนทวาร หรือประตูป่า เป็นพิธีบำรุงขวัญทหารเมื่อยกทัพออกจากเมืองโดยทำซุ้มประตูให้ทหารลอดสองข้างประตูทำเป็นร้านนั่งให้พราหมณ์ประพรมน้ำมนต์ขณะที่ทหารลอดซุ้มประตูและมีพระสงฆ์สวดชยันโตเพื่อเป็นสิริมงคลและให้กำลังใจทหารที่ออกรบ

ละว้าเซ่นไก่ เป็นพิธีบำรุงขวัญทหารอีกพิธีหนึ่ง พิธีนี้เป็นพิธีบวงสรวงเทวดาและเจ้าป่าของชาวละว้า ผู้ทำพิธีจะตั้งเครื่องสังเวย บวงสรวงเทวดา ขอให้งานสำเร็จลุล่วงแล้วเสี่ยงทายโดยถอดกระดูกคางไก่ที่ใช้เป็นเครื่องเซ่น ถ้ากระดูกยาวเรียว มีข้อถี่ถือเป็นนิมิตดี

ตัดไม้ข่มนาม เป็นพิธีบำรุงขวัญทหารก่อนทัพไปปราบศัตรูโดยจัดตั้งโรงพิธี วงสายสิญจน์ นำดินเหนียวมาปั้นเป็นรูปคน สมมติเป็นข้าศึก เขียนชื่อ ลงยันต์กำกับห่อด้วยกาบกล้วยนำเข้าพิธีปลุกเสก นำไปติดกับต้นไม้ที่มีชื่อพ้องหรือใกล้เคียง กับชื่อข้าศึก นำต้นไม้ไปปักลงหลุมในโรงพิธี พอได้ฤกษ์ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากพระมหากษัตริย์จะเชิญพระแสงดาบ อาญาสิทธิ์ในโรงพิธีไปฟันไม้และรูปปั้นข้าศึก แล้วกลับไปทูลพระมหากษัตริย์ว่าได้เอาชนะข้าศึกตามพระกระแสรับสั่งแล้ว

เคลื่อนพลตามเกล็ดนาค เป็นการเคลื่อนทัพตามตำราพิชัยสงครามโดยกำหนดว่าวันที่เคลื่อนทัพนาคหันหัวไปทิศใดให้เคลื่อนทัพไปทางทิศนั้นจะเป็นสิริมงคลหากเดินทวนเกล็ดนาคถือว่าเป็นอัปมงคล

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย