ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม >>
อาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเนื่องจากอำนาจของครูหมอมโนห์รา
พิธีกรรมกับกระบวนการรักษาเยียวยา
บทวิเคราะห์
ทิศทางการดำรงอยู่ของมโนห์รา
สาเหตุที่ทำให้มโนห์ราในปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลง
สาเหตุที่ทำให้ “มโนห์รา” ในปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงไป
การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ซึ่งไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงเฉพาะโครงสร้างของสังคมเท่านั้น
แต่ยังส่งผลให้วิถีชีวิตของคนที่มีต่อศิลปะวัฒนธรรมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปและมีแนวโน้มถูกทำลายลงได้เช่นกัน
ด้วยสาเหตุต่อไปนี้
การเสื่อมความนิยมลงของ “มโนห์รา” ในรูปแบบของมหรสพ
เนื่องเพราะโลกของการสื่อสารแคบลง
ทำให้วัฒนธรรมตะวันตกโดยเฉพาะสื่อเพื่อความบันเทิงประเภทต่างๆ เช่น ภาพยนตร์ ดนตรี
วิทยุ โทรทัศน์ วิดีทัศน์ ฯลฯ ได้แผ่ขยายเข้ามาในประเทศอย่างรวดเร็ว
เกิดการยอมรับและกลายเป็นค่านิยมของความทันสมัยไม่เว้นแม้แต่สังคมชนบท
รูปแบบของการพัฒนาชนบทตามแนวสังคมเมืองได้นำค่านิยมของการเสพความบันเทิงเข้าไปสู่กลุ่มหนุ่มสาว
“ลัทธิเอาอย่าง” หรือ “วัฒนธรรมกระแสหลัก”
ทำให้กลุ่มหนุ่มสาวปฏิเสธภูมิปัญญาเดิมในท้องถิ่นและปฏิเสธที่จะสืบทอดวัฒนธรรมดั้งเดิมของตน
เพราะมองว่าเป็นสิ่งเหลวไหลและล้าสมัย “มโนห์รา”
ก็เช่นเดียวกันที่กลุ่มหนุ่มสาวหรือที่เรียกขานกันว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ปฏิเสธที่จะฝึกซ้อมร้องรำหรือแม้กระทั่งปฏิเสธที่จะศึกษาเรียนรู้
ด้วยเหตุนี้
ทำให้การร้องรำหรือการแสดงมโนห์ราเสื่อมความนิยมลงอย่างรวดเร็ว
เหตุเพราะศิลปะแขนงอื่นที่มาจากวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาดึงดูดความสนใจให้เบี่ยงเบนไป
เมื่อศิลปะการแสดงของมโนห์ราหมดความนิยมและขาดการสืบทอด
ผลกระทบที่ตามมาก็คือการล่มสลายลงของการเป็นสถาบันการแพทย์พื้นบ้าน
เนื่องจากพิธีกรรมต่างๆ แทบทุกขั้นตอนของการรักษาเยียวยาจำเป็นต้องอาศัย “มโนห์รา”
ในการประกอบพิธีกรรม ถ้าหากไม่มี “มโนห์รา”
ความเป็นสถาบันการแพทย์พื้นบ้านก็ไม่อาจจะดำรงอยู่ได้อย่างแน่นอนที่สุด
บทบาทของผู้ให้การรักษาและผู้รับการรักษาขาดความสัมพันธ์กัน
เนื่องจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยแบบใหม่ที่เน้นการบริโภค
คนส่วนใหญ่จึงหันมาประกอบอาชีพค้าขายหรือประกอบอาชีพทางด้านอุตสาหกรรมเพื่อการยังชีพมากขึ้น
การสร้างผลประโยชน์เพื่อการดำรงชีวิตเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญกว่าความผูกพันระหว่างกันของคนในสังคมของคน
เฉกเช่นการรักษาโดยใช้พิธีกรรมของ “มโนห์รา”
ที่ความสัมพันธ์ของมโนห์รากับผู้ป่วยมีเงื่อนไขทางธุรกิจ
มีการกำหนดราคาค่าประกอบพิธีกรรมในจำนวนเงินที่สูงมาก
โดยอ้างเหตุผลของการเสียเวลาในการประกอบอาชีพ ซึ่งถ้าหากผู้ป่วยไม่มีเงินเพียงพอ
ก็ไม่สามารถใช้บริการได้ทั้งๆ ที่ยังมีความเชื่อถือศรัทธาในพิธีกรรมดังกล่าวอยู่
ถ้าเป็นในอดีตการประกอบพิธีกรรมมีเพียงแค่ค่ายกครูซึ่งเป็นจำนวนเงินเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
อีกทั้งด้วยเหตุของโครงสร้างทางสังคมที่เปลี่ยนไป
ทำให้เครือข่ายสังคมของผู้ป่วยขาดการเชื่อมต่อ
ลักษณะของครอบครัวเป็นแบบครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น
การตัดสินใจในการรักษาจึงขาดแรงสนับสนุนของเครือข่ายสังคมโดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วยกัน
นอกจากนี้ลักษณะการให้บริการของผู้ประกอบพิธีกรรม คือ “มโนห์รา”
ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานธุรกิจทำให้ขาดความกรุณาและความละเอียดอ่อน
ความผูกพันระหว่างระหว่างกันของผู้ให้และผู้รับบริการจึงเป็นไปอย่างไม่แน่นแฟ้น
ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การใช้พิธีกรรมของ “มโนห์รา” เปลี่ยนแปลงไป
ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ
นโยบายในการพัฒนาประเทศของไทยเป็นแบบรวมศูนย์อำนาจ มีการบริหารโดยที่อำนาจการตัดสินใจขึ้นอยู่กับผู้บริหารของส่วนกลาง ไม่มีการกระจายอำนาจให้ส่วนภูมิภาคได้บริหารตามสังคมหรือวัฒนธรรมเฉพาะท้องถิ่นอย่างแท้จริง ทำให้การพัฒนาประเทศเป็นลักษณะของการบริหารแบบปูพรมที่ผิดรูปแบบมาตลอด โดยเฉพาะนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่อาศัยรูปแบบของการสาธารณสุขมูลฐานมาใช้ในการพัฒนางานสาธารณสุขและใช้ “การพึ่งตนเอง” เป็นนโยบายหลักที่กระทรวงพยายามผลักดันโดยเสนอ รูปแบบวิธีการต่างๆ มากมายเพื่อให้เกิดความเป็นจริงว่าชาวบ้านสามารถพึ่งตนเองได้อย่างแน่นอน แต่เมื่อได้พิจารณาถึงรูปแบบและวิธีการต่างๆ นั้นกลับพบว่า เป็นนโยบายที่ยังขาดความเข้าใจขาดความลึกซึ้งในวัฒนธรรมตลอดจนภูมิปัญญาของชาวบ้านและสั่นคลอนต่อระบบการแพทย์พื้นบ้านในแต่ละท้องถิ่นเป็นอย่างมาก ดังนั้น หากรัฐให้การสนับสนุนและได้มีการศึกษาวัฒนธรรมรวมถึงภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้านอย่างจริงจัง การสาธารณสุขมูลฐานอาจจะบรรลุเป้าหมายจริงตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดไว้ก็เป็นได้
การแพทย์พื้นบ้านที่มีการใช้ “มโนห์รา” ซึ่งเป็นศิลปะการละเล่นพื้นบ้านเข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องในการกำหนดสาเหตุและการเยียวยารักษาอาการเจ็บป่วย โดยใช้รูปแบบที่เป็นพิธีกรรมเชิงไสยศาสตร์ มีบทบาทเป็นผู้ให้จิตบำบัดแก่สังคมโดยนัย รูปแบบเหล่านี้อาจจะมีการมองว่าเป็นเรื่องงมงายไร้สาระหรือไม่มีเหตุผล แต่หากมองระบบการแพทย์เป็นวัฒนธรรมประเภทหนึ่งแล้ว การแพทย์พื้นบ้านก็น่าจะเป็นรากฐานและเป็นจุดกำเนิดที่ยิ่งใหญ่ของกระบวนการให้ความหมายของการเจ็บป่วย การประเมินอาการและการแสวงหาการเยียวยารักษา โดยผ่านจากการถ่ายทอดความคิดความเชื่อจากบรรพบุรุษจนกลายเป็นศิลปะการแพทย์พื้นบ้านที่ละเอียดอ่อน เกิดการยอมรับจนมีลักษณะเฉพาะของชาวไทยทางภาคใต้มาตั้งแต่โบราณสืบทอดต่อกันมาจนกระทั่งปัจจุบัน แนวคิดเรื่องสุขภาพและความเจ็บป่วยรวมทั้งวิธีการบำบัดรักษาตามแนวตะวันตกหรือการบำบัดรักษาแบบพื้นบ้าน ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกันหรือขัดแย้งกัน เพราะอาจนำมาเป็นรูปแบบของการบำบัดรักษาที่หนุนเสริมซึ่งกันและกันได้
การรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนมิใช่เป็นสิ่งผิด เพราะสามารถใช้เป็นแนวคิดที่ทำให้เกิดความหลากหลายต่อการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ ทำให้มีความกว้างไกลทางปัญญา มีแนวความคิดที่เป็นลักษณะสากลมากขึ้น หากมีการเลือกใช้ให้เหมาะสมก็ถือว่าเป็นสิ่งที่สามารถเชิดชูค่าวัฒนธรรมที่เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ท้องถิ่นได้ แต่หากปล่อยให้วัฒนธรรมอื่นเข้ามาครอบงำมากๆ จนเป็นการทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ถือเป็นรากฐานแห่งภูมิปัญญาของตนและยิ่งเป็นการน่าเสียดายหาก “ศิลปะแห่งภูมิปัญญา” ต้องสูญสลายไปเพราะชนรุ่นหลังไม่เห็นคุณค่า
ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นย่อมมีหนทางแก้ไข หากทุกคนให้ความร่วมมือและเห็นพ้องต้องกันอย่างจริงใจที่จะฟื้นฟู “มโนห์รา” ให้มีบทบาทในสถานะของสถาบันการแพทย์พื้นบ้านที่จะดำรงอยู่ได้ต่อไป ความสำเร็จย่อมเกิดขึ้นได้ ถ้านักทำงานทุกๆ ฝ่ายร่วมมือกันทั้งทางด้านวิชาการและทางการปฏิบัติ ได้ศึกษาข้อเท็จจริงถึงบทบาทของ “มโนห์รา” ในท้องถิ่นทางภาคใต้ เพื่อประโยชน์ในการจรรโลงความสัมพันธ์ของระบบการแพทย์พื้นบ้านกับชาวบ้านเพื่อการรักษาเยียวยาทางจิตใจและเพื่อการดำรงอยู่ของศิลปะที่งดงามที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของภาคนับแต่อดีต แม้ว่าในบางครั้ง “มโนห์รา” อาจถูกกระทบด้วยระบบการแพทย์แผนปัจจุบันที่เหนือกว่าทั้งในด้านวิธีการรักษา ยา หรือเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทันสมัย แต่บางโอกาสระบบการแพทย์แบบดั้งเดิมก็สามารถแบ่งเบาภาระในการรักษาโรคที่การแพทย์แผนปัจจุบันไม่สามารถรักษาหรือไม่สามารถอธิบายได้ให้หายได้ด้วย ”ความเชื่อและความศรัทธา”
เอกสารประกอบการเขียนบทความ
- โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ .(2531) การแพทย์พื้นบ้านกับการพึ่งตนเอง.สาธารณสุขปริทัศน์ ปีที่ 3 ฉบับที่ 1.
- ประเวศ วะสี .(2533) การปรับทรรศนะทางการแพทย์และการสาธารณสุข. สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน.
- พิมพวัลย์ ปรีดาสวัสดิ์, เพ็ญศรี กวีวงศ์ประเสริฐ, อรัญญา ปูรนัน. (2530) การดูแลพฤติกรรมสุขภาพ
- ตนเอง : ทัศนะทางสังคม วัฒนธรรม. ศูนย์ศึกษานโยบายสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์, เพ็ญจันทร์ ประดับมุข, จริยา สุทธิสุคนธ์ .(2533) พฤติกรรมสุขภาพ ข่ายงานวิจัย
- พฤติกรรมสุขภาพ. ศูนย์ประสานงานทางการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข.
- สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ เล่ม 1- เล่ม 10. อมรินทร์การพิมพ์, กรุงเทพฯ.
- สุรินทร์ มุขศรี. (2540) นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 18 ฉบับที่ 9.
- สุรีย์ กาญจนวงศ์ .(2536) การตายแบบวูดู การสนองตอบความเครียดและเอดส์.
- วารสารสังคมศาสตร์การแพทย์ ปีที่ 7 ฉบับที่ 1-2 มิถุนายน
- Foster George. (1978) Medical Anthropology, John Wiley and sons, N.Y.