ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
มหิธรปุระแห่งดินแดนปราสาทพนมรุ้ง
กษัตริย์ราชวงศ์มหิธรปุระแห่งเมืองพระนคร
ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชนที่อาศัยอยู่บริเวณเขาพนมรุ้ง
เครื่องบูชาต่าง ๆ ที่นำมาถวายเทพเจ้าแห่งเขาพนมรุ้ง
พิธีศิวาราตรี
ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชนที่อาศัยอยู่บริเวณเขาพนมรุ้งในอดีตกับปัจจุบัน
รศ.ดร.ม.ร.ว. สุริยวุฒิ (2536 : 19,22) ได้กล่าวไว้ในหนังสือปราสาทพินพนมรุ้ง
ศาสนบรรพต ที่งดงามที่สุดในประเทศไทย โดยได้นำเอาข้อซึ่งทรงสันนิษฐาน
โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพระราชวิทยานิพนธ์
ระดับมหาบัณฑิตของพระองค์ เรื่อง จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง
พระองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า พนมรุ้ง นี้ ได้ปรากฏในจารึกภาษาเขมรหลักที่ K.1067,
1068, 1090 และในจารึกภาษสันสกฤตหลักที่ K.384 (bis)
และพระองค์ทรงสันนิษฐานไว้อย่างชัดเจนว่า
ในจารึกภาษเขมรได้ปรากฏคำว่า วฺนํ รุง (Vnam. run) สองครั้ง
ซึ่งย่อมหมายถึง ปราสาทที่ตั้งอยู่บนยอดเขาชื่อเดียวกันนั้นเอง คำนี้อาจเขียนว่า
ภฺนํ รุง (bnam. run) (อ่านว่า Phnom run.) ในภาษาเขมรปัจจุบัน หรือ bnam run
(อ่าน Phanom run) ในภาษาไทย ซึ่งทั้งสองภาษา หมายถึง ภูเขาใหญ่
ในจารึกภาษสันสกฤต เรียกปราสาทบนภูเขาแห่งนี้ โดยใช้คำว่า สถูลหริ
(Sthuladri) ซึ่งเกิดจากคำว่า สถูล (Sthula) หมายถึง ใหญ่ กว้าง หยาบ
สมาสกับคำว่า อทฺริ (adri) หมายถึง ภูเขา เนิน หรือใช้คำว่า สถูลไศล (Sthula
saila) ในความหมายเดียวกัน
ด้วยเหตุนั้น ความหมายของคำว่า วฺนํ รุง ที่ถูกต้อง
จึงน่าจะเป็นความหมายในภาษาเขมรโบราณนั่นเอง
เป็นที่น่าสังเกตว่า
คำภาษาเขมรคำนี้ไม่มีการเพี้ยนเสียงหรือแม้แต่การเปลี่ยนความหมายแต่ประการใด
ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ที่อยู่ในบริเวณนั้นมาตั้งแต่โบราณ
ได้จัดชื่อนี้สืบทอดต่อกันลงมาตลอดจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานที่อาศัยอยู่ ณ
ที่นั้นและยังคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้
แม้แต่จะมีผู้คนอพยพเข้ามาใหม่อีกเป็นจำนวนมากในระยะต่อมาก็ตาม
ข้อสันนิษฐานว่าน่าจะมีความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชนที่อาศัยอยู่บริเวณเขาพนมรุ้งในอดีต
กับปัจจุบัน รศ.ดร.ม.ร.ว. สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ (2536 : 44)
ได้กล่าวไว้ในหนังสือปราสาทหินเขาพนมรุ้ง ศาสนบรรพตที่งดงามที่สุดในประเทศไทย
ในหัวข้อ ข้อมูลทางด้านชาติพันธุ์วิทยาและศาสนา โดยมี ข้อสันนิษฐานดังต่อไปนี้
ข้อมูลจากศิลาจารึกภาษาสันสกฤตและภาษาเขมร
มิได้เป็นข้อมูลทางชาติพันธุ์วิทยาโดยตรง แต่ชื่อของปราสาทเขาพนมรุ้ง
ซึ่งปรากฏบนศิลาจารึกภาษาเขมรหมายเลข K.1067} 1068} 1090 และ
ศิลาจารึกภาษาสันสกฤตหมายเลข K.384 (bis)
อาจจะทำให้สันนิษฐานว่าน่าจะมีความสัมพันธ์ระหว่าง
กลุ่มชนที่อาศัยอยู่บริเวณของพนมรุ้งในปัจจุบันกับอดีต
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงยืนยันว่า
สำหรับในภาษาเขมรนั้น ชื่อสถานที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในด้านเสียงจนสิ้นเชิง
มีแต่ V เปลี่ยนเป็น b ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลง ที่ปกติซ้ำความหมายของคำก็คงเดิม
การเรียกชื่อสถานที่เป็นชื่อเดิมโดยมิได้เปลี่ยนแปลงนี้น่าจะทำให้สรุปได้ว่า
บริเวณภูเขาพนมรุ้งเป็นที่อยู่ของกลุ่มชนต่อ ๆ มาโดยไม่ขาดสาย
จึงสามารถนำชื่อและทราบความหมายที่เรียกกันมา แต่ดั้งเดิม โดยมิได้ทราบถึงชื่อ
พนมรุ้ง ที่ปรากฏในศิลาจารึก ณ ที่นั้นมาแต่ก่อน
ในหนังสือสมบัติอีสานใต้ ครั้งที่ 3 (2527 : 78)
ในเรื่องปราสาทพนมรุ้งและปราสาทหินเมืองต่ำ คัดจากเอกสารประวัติมหาดไทย ส่วนภูมิภาค
จังหวัดบุรีรัมย์, 2526 หน้า 83-96) ซึ่งเป็นข้อความ
ที่คัดมาจากหนังสือเรื่องรายงานการสำรวจ
และขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาค 2 พ.ศ. 2503-2504
ซึ่งศาสตราจารย์มานิตย์ วัลลิโภดม อดีตภัณฑารักษ์พิเศษของกรมศิลปากรเป็น ผู้แต่ง
และกรมศิลปากรได้จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2510
และได้คัดมาจากข้อความที่ศาสตราจารย์หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล
เป็นผู้เรียบเรียงขึ้น ได้กล่าวถึงปราสาทพนมรุ้งไว้ว่า
อาศัยเหตุผลดังกล่าวมานี้ จึงทำให้อาจยืนยันได้ว่า
ศาสนสถานบนเขาพนมรุ้งได้เริ่มสร้างมาแล้วตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 15
และได้ปฏิสังขรณ์ต่อเติมกันเรื่อยมาจนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ทำให้เห็นว่า
ปราสาทพนมรุ้งเป็นเทวลัยที่สำคัญที่เป็นเช่นนี้คงเป็นเพราะตั้งอยู่บนเส้นทางที่สำคัญมาจากเมืองพระนคร
(Angor) ในอาณาจักรขอม มายังปราสาทเมืองธม อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ต่อชายแดนระหว่าง
สาธารณรัฐกัมพูชาประชาธิปไตย และประเทศไทย ปราสาทเมืองต่ำ อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์
ปราสาทพนมรุ้ง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ขึ้นไปยังปราสาทหินพิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา
ทางทิศเหนือนั่นเอง บริเวณปราสาทเมืองต่ำ อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์
สมัยนั้นคงมีพลเมืองอยู่เป็นจำนวนมาก
เพราะยังคงมีสระน้ำขนาดใหญ่คงเหลืออยู่ในปัจจุบัน บางท่านถึงกับสันนิษฐานว่า
อาจเป็นเมืองมหิธรปุระ อันเป็นเมืองของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6
และบรรพบุรุษของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ก็ได้ อนึ่งสมควรกล่าวได้ด้วยว่า
ปราสาทพนมรุ้ง คงทิ้งร้างไปเมื่อชนชาติไทยเข้ามามีอำนาจ เพราะไม่เคยค้นพบพระพุทธรูป
ณ ศาสนสถานแห่งนี้เลย
ข้อความดังกล่าวนี้ สอดคล้องกันกับข้อสังเกต ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี ทรงชี้ให้เห็นว่า
ชุมชนที่มีผู้อาศัยบริเวณปราสาทพนมรุ้งยังคงมีรุ่นลูกรุ่นหลานอาศัยอยู่มาจนถึงทุกวันนี้
ทำให้ประชากรจังหวัดบุรีรัมย์ในปัจจุบันซึ่งประกอบด้วยคนไทย 4 กลุ่ม ได้แก่
คนไทย-เขมร, คนไทย-ลาว, คนไทย-ส่วย และคนไทย-โคราช เป็นดินแดนที่มีเอกลักษณ์ทางภาษา
ดนตรี วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรม ที่ผสมกลมกลืนกันอย่างเหนียวแน่น
เป็นเมืองอันน่ารื่นรมย์ ตามความหมายของชื่อเมืองบุรีรัมย์โดยแท้
และเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าบรรพบุรุษส่วนหนึ่งชาวบุรีรัมย์ไม่ใช่กลุ่มเขมรป่าดงอย่างแน่นอน
ด้วยเหตุผลที่ชาวไทย-เขมร ในจังหวัดบุรีรัมย์
ผู้สืบสานมรดกทางวัฒนธรรมสืบทอดจากราชวงศ์มหิธรปุระ ทั้งในด้านภาษา ดนตรี
ขนบธรรมเนียม ประเพณี รวมถึงวิถีชีวิตด้านการแต่งกาย อาหาร ฯลฯ
และหลักฐานที่ปรากฏในวรรณกรรมลายลักษณ์ทั้งสมุดข่อย ใบลาน
ได้แสดงให้เห็นอย่างประจักษ์ชัดว่าบรรพบุรุษของชาวไทย-เขมรเป็นผู้มีภูมิปัญญา
ยังคงรักษาศรัทธา ความเชื่อ ในพิธีกรรมตามลัทธิในศาสนาพราหมณ์
และยึดมั่นในพระพุทธศาสนา มีการศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง
มีหลักฐานปรากฏในใบลาน ซึ่งใช้อักษรขอมบันทึกภาษาเขมรและภาษาสันสกฤต
เช่นเรื่องพระเวสสันดรชาดก ครบทั้ง 13 กัณฑ์
สำหรับใช้เทศน์มหาชาติเป็นภาษาเขมรยังมีอยู่ตราบเท่าทุกวัน
ในหนังสือสมบัติอีสานใต้ ครั้งที่ 3 (2527 : 22) หัวข้อเรื่อง
บุรีรัมย์จากอดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งคัดจากเอกสารประวัติศาสตร์มหาดไทยส่วนภูมิภาค
จังหวัดบุรีรัมย์, 2526, หน้า 22-35. มีข้อความที่กล่าวถึง เขมรป่าดง ดังต่อไปนี้
...ในการที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเดินทัพมาถึงจังหวัดบุรีรัมย์
พระองค์ได้พบเมืองร้างอยู่ที่ลุ่มแม่น้ำห้วยจระเข้มาก มีชัยภูมดี
แต่สถานที่เดิมมีไข้เจ็บชุมชน เขมรป่าดงไม่กล้าเข้ามาอาศัย
แต่ตั้งบ้านเรือนอยู่โดยรอบ คือ บ้านโคกหัวช้าง บ้านทะมาน (บริเวณข้างวัดกลาง
จังหวัดบุรีรัมย์) จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองร้างนั้นที่ข้างต้นแปะใหญ่
(ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองปัจจุบันนี้) และโปรดเกล้าฯ ให้บุตรเจ้าเมืองพุทไธสง
ซึ่งติดตามมาพร้อมด้วยครอบครัวเป็นเจ้าเมือง
แล้วชักชวนให้ชาวเขมรป่าดงนี้มาตั้งหลักแหล่งทำเรือกสวนไร่นา
ในเมืองร้างจนเป็นปึกแผ่น เมืองนี้จึงใช้นามวาเมืองแปะ...
สมมาตร์ ผลเกิด (2538 : 34)
ได้กล่าวไว้ในหนังสือพิธีวางศิลาฤกษ์พระบรมราชานุสาวรีย์
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในหัวข้อเรื่อง โบราณคดีบุรีรัมย์
โดยได้กล่าวถึงประวัติศาสตร์-โบราณคดีบุรีรัมย์ มีข้อความดังต่อไปนี้
พื้นที่อันเป็นที่ตั้งจังหวัดบุรีรัมย์
เคยเป็นดินแดนที่มีความเจริญรุ่งเรือง มีประชาชนอาศัยอยู่ สืบต่อกันมาโดยตลอด
ดังปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีเป็นจำนวนมาก
จากการศึกษาแหล่งชุมชนโบราณจากภาพถ่ายทางอากาศของ ผศ.ทิวา ศุภจรรยาและคณะ
รวมทั้งนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
ได้พบชุมชนโบราณในจังหวัดบุรีรัมย์แล้ว มีจำนวนถึง 148 แห่ง
ในจำนวนนี้มีชุมชนโบราณหลายแห่งที่นักโบราณคดีได้ทำการขุดค้น
เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของจังหวัดบุรีรัมย์
จากหลักฐานดังกล่าวเป็นข้อสันนิษฐานได้ว่า กลุ่มเขมรป่าดง ที่กล่าวถึง
น่าจะเป็น กลุ่มเขมรชาวพื้นเมือง ซึ่งได้แก่ กลุ่มชาวไทย-เขมร
ในปัจจุบันเป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่อย่างต่อเนื่องในดินแดนที่เคยมีความเจริญรุ่งเรืองในอดีต
มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์มหิธรปุระแห่งเมืองะพนมรุ้ง ตามข้อสันนิษฐาน
ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสันนิษฐานไว้
เขมรป่าดงที่แท้จริงจึงเป็นเพียงชนกลุ่มน้อย
ซึ่งอาศัยหลบซ่อนอยู่บริเวณเทือกเจาพนมดงรัก ซึ่งเป็นบริเวณป่าดงทึบ
เชื่อมต่อระหว่างพรมแดนประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา มีลักษณะการดำเนินชีวิต
และความเป็นอยู่ในลักษณะเช่นเดียวกับกลุ่มชาวเขาที่มีอยู่ทางภาคเหนือของไทย
หรือเผ่าผีตองเหลืองที่พบในภาคใต้ และมีอยู่ในเขตทุรกันดารในประเทศกัมพูชา เช่น
จังหวัดรัตนคีรี มนดลคีรี และสตึงแตรง ในขณะที่เขมรป่าดงบางกลุ่มบางยุคสมัย
เป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่เกิดการขัดแย้งทางนโยบายการปกครองของรัฐบาลในกัมพูชา
จึงเข้ามาหลบอาศัยบริเวณเทือกเขาพนมดงรัก ในอดีต เขมรป่าดงไม่ใช่กลุ่มชนไทย-เขมร
ที่อาศัยอยู่ต่อ ๆ กันมาโดยไม่ขาดสาย ซึ่งเป็นผู้สืบสานวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี
อันดีงานมาตราบเท่าทุกวันนี้
รศ.ดร.ม.ร.ว.สุริยวุฒ สุขสวัสดิ์ (2536 : 50)
ได้กล่าวไว้ในหนังสือปราสาทเขาพนมรุ้ง ศาสนยรรพตที่งดงามที่สุดในประเทศไทย
มีข้อความอธิบายในเชิงอรรถบทที่ 1 ได้อธิบายเชิงอรรถที่ 33 กล่าวถึง
ภูเขาอันน่ารื่นรมย์ อันเป็นที่รู้จักกันว่า รมยคีรี มีข้อความดังต่อไปนี้
ที่ภูเขาอันน่ารื่นรมย์ เป็นที่รู้จักกันว่า รมยคีรี
ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยายบรมราชกุมารี ทรงชี้ให้เห็นว่า
รมยคีรีนี้คงจะเป็นชื่อสถานที่ เพราะกล่าวซ้ำสองหนว่า ภูเขาอันน่ารื่นรมย์
อันเป็นที่รู้จักกันว่า รมฺยคิริ ปัญหามีอยู่ว่า รมยคิริ จะอยู่ที่ใดนั้น
ทรงเสนอข้อสันนิษฐานดังนี้ :
- เป็นอีกชื่อหนึ่งของเขาพนมรุ้ง โดยหมายถึงบริเวณใดบริเวณหนึ่ง
โดยเฉพาะบนเขาหรือบริเวณปราสาท อาจจะเป็นแถว ๆ มณฑป หรือตรงทางเดินที่มืด ๆ
ประดุจถ้ำอันใช้เป็นที่บำเพ็ญพรตได้ ชื่อ รมยคิริ
ไม่มีปรากฏในจารึกเขมรที่ศาสตราจารย์เซแดส บันทึกไว้ แต่มีรมยาคราม (K.89, P.29,
K.195, P.7)
- ภูเขาอื่นในบริเวณนั้น ถ้าเป็นไปได้อาจจะเป็นไปรบัด เพราะอยู่ไม่ไกลจากกันนัก
มีปรากฏร่องรอยของศาสนสถานโบราณ และมีจารึกเขมรอยู่ด้วยที่ภูเขาไปรบัด
- ยอดใดยอดหนึ่งของภูเขาพนมรุ้ง ซึ่งมี 2 ยอด
- คำว่า รมฺย อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับชื่อจังหวัดบุรีรัมย์ในปัจจุบัน กล่าวคือ บริเวณที่ตั้งของจังหวัดบุรีรัมย์มีภูเขาเรียกว่า เขากระโดง มีร่องรอยศาสนสถานบนนั้น รมยคิริ อาจจะหมายถึง เขากระโดงนั้นก็เป็นไปได้ ดังนั้นชื่อเมืองบุรีรัมย์ปัจจุบันอาจจะมาจากชื่อเก่าของเขากระโดงนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามชาวบ้านว่าชื่อเมืองบุรีรัมย์นี้เป็นชื่อเดิมหรือเปล่า และชาวบ้านเข้าใจคำว่าบุรีรัมย์นี้ อย่างไร ชาวบ้านกลับตอบว่าที่จริงเขาเรียกเมืองนี้ว่า เมือง Peh ไม่ได้เรียกว่าบุรีรัมย์ และชื่อเขากระโดงเอง เขาก็เรียกมาอย่างนั้น ไม่มีชื่ออื่น ไม่มีผู้ใดรู้จักภูเขาหรือเมืองในนาม รมยคิริ
จากข้อสันนิษบานซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ทรงเสนอข้อสันนิษฐานไว้ดังกล่าว คำว่า รมยคิริ และชื่อจังหวัด บุรีรัมย์
ทั้งสองคำนี้มีความหมายที่สอดคล้อง
รมยคิริหมายถึง ภูเขาอันน่ารื่นรมย์ และ
บุรีรัมย์หมายถึง ดินแดนอันน่ารื่นรมย์
นับเป็นความภาคภูมิใจของรุ่นลูกรุ่นหลานในปัจจุบันที่จังหวัดบุรีรัมย์มีหลักฐานปรากฏใน
ศิลาจารึกปราสาทพนมรุ้งให้สันนิษฐานได้ว่า
ถ้าหากจะเริ่มนับตามหลักฐานที่องค์หิรัณยะสร้าง
ปฏิมากรรมทองอุทิศถวายแด่ครูและบิดาของตน ผู้นามว่า นเรนทราทิตย์
สันนิษฐานว่าในราวพุทธศักราช 1693 ปัจจุบันปีพุทธศักราช 2543 ทำให้ดินแดน
และภูเขาอันน่าเรื่นรมย์แห่งนี้ มีผู้อาศัยสืบทอดอย่าง
ต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน รวมถึง 850 ปี
และถ้าจะเริ่มนับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 ตาม ข้อสันนิษฐาน ราวพุทธศักราชที่ 1433
ปัจจุบัน ปีพุทธศักราช 2543 ดินแดนเมืองพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์
มีประวัติศาสตร์ที่เคยมีความรุ่งเรืองในอดีตมาถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลายาวนามถึง
1,110 ปี
ในการจัดงาน 223 ปี ในปีพุทธศักราช 2543
เป็นการนับระยะเวลาประวัติศาสตร์เมืองบุรีรัมย์ โดยเริ่มในปี พ.ศ. 2320
ในสมัยกรุงธนบุรี มีกล่าวไว้ในหนังสือสมบัติอีสานใต้ ครั้งที่ 3 (2527 : 22)
หัวข้อเรื่อง บุรีรัมย์จากอดีตถึงปัจจุบัน
ซึ่งคัดจากเอกสารประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดบุรีรัมย์, 2526 หน้า 22-35
มีข้อความดังต่อไปนี้
ในปี พ.ศ. 2320 กองทัพกรุงธนบุรี
ได้ยกไปตีเมืองบุรีรัมย์และจากจุดหมายเหตุประชาชนพงศาวดาร ภาคที่ 70 กล่าวว่า ในปี
พ.ศ. 2321
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพยกไปเกณฑ์เขมรต่อเรือรบ
ยกขึ้นไปทางแม่น้ำโขงเพื่อตีเมืองนครจำปาศักดิ์
ในการที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกกองทัพมานี้
ปรากฏประวัติศาสตร์เมืองบุรีรัมย์ว่า ในปี พ.ศ.2321 พระยานางรองเป็นกบฏ
โดยคบคิดกับเจ้าโอ เจ้าอิน เจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
จึงให้เจ้าพระยาจักรี (สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช)
มาปราบปรามเกลี้ยกล่อมหัวเมืองเหล่านี้ให้เป็นเมืองขึ้นของนครราชสีมาตามเดิม
ดังนั้นประวัติศาสตร์ของจังหวัดบุรีรัมย์ที่ปรากฏจากจดหมายเหตุ
และประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 70 จึงมีระยะเวลา รวม 223 ปี
ตามที่จังหวัดบุรีรัมย์จัดงานฉลอง 223 ปีบุรีรัมย์ ระหว่างวันที่ 6-7 เมษายน 2543