ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

มหิธรปุระแห่งดินแดนปราสาทพนมรุ้ง

       อำไพ คำโท (2527 : 91-96) ได้กล่าวไว้ในหนังสือสมบัติอีสานใต้ ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ จารึกขอมปราสาทพนมรุ้ง โดยได้กล่าวถึงจารึกหลักที่ 120 ศิลาจารึกปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ ได้ตีพิมพ์ในหนังสือ Enseriptions du Camboadge ค.ศ. 1953 เล่มที่ 5 หน้า 297-305 ศิลาจารึกหลักที่ 120 มี 4 ด้าน คือ

ด้านที่ 1มี 17 บรรทัด
ด้านที่ 2มี 21 บรรทัด
ด้านที่ 3มี 21 บรรทัด
ด้านที่ 4มี 17 บรรทัด

ข้อความในศิลาจารึก แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทคำฉันท์ ได้แก่ อินทรวิเชียร อุเปนทรวิเชียร อุปชาติ วสัตดิลก มาลินี และอารยา รวมทั้งสิ้น 29 บท โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญที่เป็นหลักฐานทาง ประวัติศาสตร์ สรุปจากที่ อำไพ คำโท ได้แปลไว้ พบว่า มีการกล่าวถึงความสัมพันธ์ทางเชื้อสายราชวงศ์กษัตริย์จากเมืองพระนคร (นครวัด นครธม ในประเทศกัมพูชาปัจจุบัน) กับดินแดนปราสาทพนมรุ้ง ดังต่อไปนี้

  • จารึกบทที่ 1 คำกล่าวสรรรเสริญพระอิศวร
  • จารึกบทที่ 2 กล่าวถึงกษัตริย์หิรัณยวรมัน และพระนางหิรัณยลักษมี ผ้สร้างความเจริญรุ่งเรือง
  • จารึกบทที่ 3 การตั้งถิ่นฐานของกษัตริย์หิรัณยวรมัน สืบทอดจากพระบิดา ที่ทรงตั้งถิ่นฐานลงอย่างมั่นคงที่กษิตีนทรคาม
  • จารึกบทที่ 4 พระนางหิรัณยลักษมี พระมเหสี มีพระโอรส คือ พระเจ้าศรีชัยวรมเทพ
  • จารึกบทที่ 5 (กษัตริย์หิรัณยวรมันและพระนางหิรัณยลักษมี) มีพระโอรสอีก 2 พระองค์ คือ ศรีธรรีนท วรมัน และศรียุพราช
  • จารึกบทที่ 6 พระเจ้ากษิตีนทราทิตย์ พระนัดดาของพระเจ้าหิรัณยวรมัน มีพระโอรส คือ ศรีสูริยวรมัน ซึ่งมีพระมารดาซึ่งเป็นพระธิดาของธิดาแห่งพระนางหิรัณยลักษมี
  • จารึกบทที่ 7 ภายใต้รัชกาลของพระราชาองค์สุดท้ายนี้ ความมั่งคั่งได้เพิ่มขึ้นอย่างเหลือหลาย เริ่มต้นด้วยเครื่องบรรณาการเป็นจำนวนมาก
  • จารึกบทที่ 8 พระนางภูปตินทรลักษมี เป็นพระธิดาของพระเจ้าสูรย (วรมัน) และเป็นพระมารดาขององค์นเรนทราทิตย์
  • จารึกบทที่ 9-20 กล่าวถึงกษัตริย์ผู้มีความกล้าหาญ เก่งกาจในการรบ มีฝีมือในการใช้ธนู ภายหลังจากได้ทรงปราบปรามเหล่าข้าศึกแล้ว ได้สละความเป็นราชตระกูลมาบำเพ็ญพรตเป็นโยคี บำเพ็ญสมาธิอยู่ในถ้ำ
  • จารึกบทที่ 21-26 กล่าวถึงองค์นักพรต ผู้ที่มีจิตใจไม่อาจหยั่งรู้ได้ เป็นผู้ชำนาญการบำเพ็ญโยคะ เป็นนักไวยากรณ์ผู้เชี่ยวชาญ
  • จารึกบทที่ 27 กล่าวถึงองค์หิรัณยะ เมื่ออายุได้ 20 ปี ได้ให้ช่างสร้างประติมากรรมทองคำเป็นรูปพระบิดา คือ องค์นเรนทราทิตย์
  • จารึกบทที่ 28-29 กล่าวถึง องค์หิรัณยะ สรุปได้ว่า เมื่ออายุ 15 ปี เขาได้เรียนจบหลักสูตรเกี่ยวกับไวยากรณ์ อายุ 16 ปี ก็ศึกษาสำเร็จ อายุ 18 ปี ได้ไปล่าช้าง

ตามที่หลักฐานศิลาจารึกพนมรุ้งได้กล่าวถึง กษัตริย์หิรัณยวรมัน และพระนางหิรัณยลักษมี ผู้ทรงสร้างเมืองอย่างมั่นคงที่ “กษิตีนทรคาม” และมีพระโอรส คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 (พ.ศ. 1633 – 1651) ครองราชสมบัติที่กรุง “มเหนทรปุระ” สอดคล้องกับข้อสันนิษฐานที่ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ ได้ลำดับสายราชวงศ์มหิธรปุร ที่เมืองพระนคร (ประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน) โดยระบุว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 คือ ต้นสกุลราชวงศ์มหิธรปุระ

ส่วนเจ้าชาย “หิรัณยะ” ซึ่งศิลาจารึกพนมรุ้งกล่าวถึงในบทที่ 27-29 สันนิษฐานว่าเป็นผู้ที่ทำให้มีการสร้างศิลาจารึกหลักนี้ขึ้น เจ้าชายหิรัณยะเป็นโอรสขององค์นเรนทราทิตย์ ซึ่งบำเพ็ญพรตเป็นมหาฤษีที่เขาพนมรุ้ง เมื่อเจ้าชายหิรัณยะอายุได้ 20 ปี จึงให้ช่างสร้างประติมากรรมทองคำเป็นรูปพระบิดา เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการก่อสร้าง ซึ่งอาจมีการก่อสร้างที่สำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ประกอบด้วย ตามข้อสันนิษฐานว่าเจ้าชายหิรัณยะเป้นผู้สร้างปราสาทพนมรุ้ง องค์ปรางค์ประธาน ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 17



ข้อความที่ได้สรุปมาจากศิลาจารึกปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งเจ้าชายหิรัณยะได้กล่าวถึงราชวงศ์กษัตริย์ที่เกี่ยวข้องโดยมีจุดเริ่มต้นที่กษัตริย์หิรัณยวรมันและพระมเหสีหิรัณยลักษมีแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของราชวงศ์กษัตริย์จากเมืองพระนครกับดินแดนแห่งปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งตรงตาม ข้อสันนิษฐานทางข้อมูลทางประวัติศาสตร์ รศ.ดร.ม.ร.ว.สุริยาวุฒิ สุขสวัสดิ์ (2536 : 42-43) ได้กล่าวไว้ในหนังสือปราสาทหินเขาพนมรุ้ง ศาสนบรรพตที่งดงามที่สุดในประเทศไทย โดยอ้างถึงศาสตราจารย์ เซแดส ได้ลำดับสายราชวงศ์มหิธรปุระ ที่เมืองพระนคร ประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน มีข้อความปรากฏ ดังต่อไปนี้

กษัตริย์ของราชวงศ์มหิธรปุระจึงมีทั้งหมดห้าพระองค์ดังนี้

  1. พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 (ราว พ.ศ. 1633-1651)
  2. พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 1 (ราว พ.ศ. 1651-1655) อนุชาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6
  3. พระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 (พ.ศ. 1655-1695) นัดดาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 และพระเจ้าธรณินทราวรมันที่ 1
  4. พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 2 (พ.ศ. 1695-1724) พระญาติของพรเจ้าสูรยวรมันที่ 2 (ในปัจจุบันเชื่อกันว่าพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 2 พระบิดาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 คงมิได้ขึ้นครองครองราชย์ที่เมืองพระนคร หากแต่น่าจะเป็นพระเจ้ายโศวรมันที่ 2 ทรงขึ้นเสวยราช์ก่อนการแย่งราชสมบัติโดยพระเจ้าตริภูวนาทิตยวรมัน
  5. พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1725-1744) โอรสของพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 2

โดย รศ.ดร.ม.ร.ว.สุริยาวุฒิ สุขสวัสดิ์ ได้แสดงทัศนะไว้ว่า “อย่างไรก็ดี ในที่นี้จักมิดได้คัดค้านหรือสนับสนุนทฤษฏีของศาสตราจารย์เซเเดสที่ได้เสนอไว้ข้างต้น เนื่องจากในขณะนี้ยังมิได้ มีข้อมูลใหม่เกี่ยวกับเรื่องนี้แต่อย่างใด ศาสตราจารย์เซแดสเองก็ได้ย้ำว่า การสิ้นสุดรัชสมัยของพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 นั้น ยังคงคลุมเครืออยู่ รวมทั้งปีที่สิ้นพระชนม์ของพระองค์ซึ่งกำหนดไว้ในพุทธศักราช 1695 ก็ยังไม่กระจ่างชัด เพียงแต่เสนอว่าผู้ที่ขึ้นครองราชสมบัติต่อจากพระองค์น่าจะเป็นพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 2 เท่านั้น นอกจากนี้ระยะเวลาของการครองราชย์ของพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 ระหว่างปีพุทธศักราช 1655-1695 นั้น น่าจะเป็นช่วยเวลานานเกินไป ถึงแม้จะตระหนักในข้อเท็จจริงที่ว่าพระองค์ได้เสด็จขึ้นเสวยราชย์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ก็ตาม

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงได้ทรงพยายามเสนอให้นเรนทราทิตย์ทรงเป็นกษัตริย์ผู้ขึ้นครองราชย์ก่อนพระเจ้าธรณิรทรวรมันที่ 2 ทฤษฏีนี้อาจเป็นได้หากพิจารณาบทสรรเสริญนเรนทราทิตย์ 5 ปฏละนั้นอีกครั้งหนึ่ง...”

สุจิตต์ วงศ์เทพ (2542 : 64-65) ได้กล่าวไว้ในหนังสือมติชนรายสัปดาห์ ในหัวข้อ “อีสาน 11 “ขอม” จากกัมพูชาขยายมาคุมอีสาน” โดยกล่าวให้ทัศนะว่า
“...อำนาจทางการเมือง และอารยธรรมของขอมแห่งกัมพูชามีเหนือบ้านเมืองในอีสานมาช้านาน แต่ไม่ใช่ส่งขุนนางมาปกครอง หากเป็นความสัมพันธ์แบบ “เครือญาติ” ที่ยอมรับเดชานุภาพของกษัตริย์อาณาจักรกัมพูชา

บริเวณลุ่มแม่น้ำมูลเป็นที่ตั้งของแคว้นมหิธรปุระ ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของราชวงค์มหิธรปุระ ที่มีความเกี่ยวข้องกับพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 ผู้ทรงสร้างปราสาทนครวัด” ข้อสันนิษฐานตามหลักฐานทางศิลาจารึกปราสาทหินเขาพนมรุ้ง สรุปให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงความสัมพันธ์แบบ “เครือญาติ” สายราชวงศ์มหิธรปุระแห่งเมืองพระนครกับเมืองพนมรุ้ง

กษัตริย์ราชวงศ์มหิธรปุระแห่งเมืองพระนคร
ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชนที่อาศัยอยู่บริเวณเขาพนมรุ้ง
เครื่องบูชาต่าง ๆ ที่นำมาถวายเทพเจ้าแห่งเขาพนมรุ้ง
พิธีศิวาราตรี

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย