สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

กบฎไพร่ สมัยอยุธยา

กบฎญาณพิเชียร
กบฎธรรมเถียร
กบฏบุญกว้าง

กบฎญาณพิเชียร

ในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ กล่าวว่า พ.ศ. 2124 ญาณประเชียรเรียนศาสตราคมและคิดเป็นขบถ คนทั้งปวงสมัครเข้าด้วยมาก และยกมาจากเมืองลพบุรี

ญาณประเชียร หรือญาณพิเชียรนั้น สำแดงคุณโกหกแก่ชาวชนบท และได้ช่องสุมหาพวกได้เป็นจำนวนมาก แรกทีเดียวญาณพิเชียรได้ชุมนุมกำลังอยู่ที่ตำบลบางยี่ล้น เมื่อทางเมืองหลวงส่งเจ้าพระยาจักรีออกไปปราบญาณพิเชียรก็ได้พาสมัครพรรคพวกยกลงมาตึถึงที่ตั้งทัพของเจ้าพระยาจักรีที่ตำบลบ้านมหาดไทย ชาวมหาดไทยซึ่งยืนหน้าช้างเจ้าพระยาจักรีก็ได้หันไปเป็นพวกญาณพิเชียรกันสิ้น ผลของการรบปรากฎว่าเจ้าพระยาจักรีและนายทหารหลายคนถูกทหารฝ่ายญาณพิเชียรสังหารในที่รบ หลังจากนั้นทัพของญาณพิเชียรซึ่งมีชายฉกรรจ์ร่วมทัพถึง 3,000 คน ได้ยกทัพจะไปชิงเมืองลพบุรี แต่ครั้นไปถึงญาณพิเชียรได้ถูกชาวอมรวดี ( ชาวตะวันตก ) ใช้อาวุธปืนลอบยิงถึงแก่ชีวิตขณะยืนช้างอยู่ ณ ตำบลหัวตรี เป็นเหตุให้พรรคพวกของญาณพิเชียรถึงกับแตกพ่ายไป

เมื่อพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นว่ากบฎครั้งนี้เป็นกบฎใหญ่ และเข้มแข็งเกินกว่าจะเป็นกบฎที่อาศัยกองกำลังของพวกชาวนาที่ไร้ระเบียบเป็นสำคัญลักษณะเด่นประการแรกของกบฎครั้งนี้คือการเตรียมงาน และวางแผนทางยุทธศาสตร์อย่างมีขั้นตอน เห็นได้จากชัยชนะที่พวกกบฎมีต่อกองทัพของเจ้าพระยาจักรีซึ่งเป็นกองทัพใหญ่และเข้มแข็ง จากนั้นพวกกบฎยังมีแผนจะยึดเมืองลพบุรีซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญ และเป็นฐานกำลังของอยุธยา แทนที่จะยกเลยลงมาตีอยุธยาอย่างไร้ระเบียบดังกบฎที่เกิดขึ้นในสมัยหลัง ตัวผู้นำกบฎคือญาณพิเชียรเองก็ไม่ควรจะเป็นเพียงชาวชนบทธรรมดาที่เคยผ่านการบวชเรียนมาเท่านั้น จากข้อมูลที่ปรากฎในพงศาวดาร ญาณพิเชียรน่าจะเคยเป็นบุคคลสำคัญในวงราชการคนหนึ่ง เอกสารส่วนใหญ่เรียกญาณพิเชียรว่า “ขุนโกหก” และความในพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์เรียกว่า “พระยาพิเชียร” คำว่า “ขุน” หรือ “พระยา” สะท้อนให้เห็นว่า ญาณพิเชียรนั้นมี “ศักดิ์ศรี” เหนือชาวบ้านหรือสามัญชนธรรมดา

 

เมื่อหันมาพิจารณาในด้านกองกำลังของญาณพิเชียรจะเห็นว่าเป็นกองกำลังที่เข้มแข็งประกอบด้วยทหารชำนาญศึก เจ้าพระยาจักรีนั้นได้สิ้นชีวิตลงด้วยฝีมือของทหารญาณพิเชียรคนหนึ่งซึ่งมียศระดับพันชื่อพันไชยทูตซึ่งได้ปีนขึ้นทางท้ายช้างของเจ้าพระยาจักรีและสังหารเจ้าพระยาจักรีลงในที่รบ หลักฐานได้ยืนยันเพิ่มเติมให้เห็นว่ากองทัพของญาณพิเชียรนั้นควรเป็นกองทัพทหารมากกว่าจะเป็นทัพชาวนาเพราะหลังจากได้ชัยชนะแล้ว ญาณพิเชียรได้ปูนบำเหน็จให้นายทหารสองคนคือให้พันไชยทูตเป็นพระยาจักรีและหมื่นศรียี่ล้นเป็นพระยาเมืองบุคคลทั้งสองนี้ อาจเป็นนายทัพคนสำคัญของญาณพิเชียรและเคยรับราชการมาก่อน

ด้วยเหตุที่กองกำลังของญาณพิเชียรมีเป็นจำนวนมากและเป็นกองกำลังที่เข้มแข็งชำนาญศึก มีการวางแผนขั้นตอนการรบอย่างเป็นระเบียบทำให้ฝ่ายตรงข้ามจำเป็นต้องพึ่งกองกำลังต่างชาติและอาวุธที่ทันสมัยกว่าในการปราบปราม ฉะนั้นจึงยากที่จะเชื่อว่ากบฎครั้งนี้เป็นเพียงกบฎภายใต้การนำของชาวบ้านธรรมดาเท่านั้น

สาเหตุของกบฎครั้งนี้ไม่ควรจะสืบเนื่องมาจากปัญหาทางธรรมชาติที่กระทบกระเทือนต่อการปลูกข้าวดังที่เข้าใจกัน เพราะไม่มีหลักฐานปรากฎว่าในปีที่เกิดกบฎ ( 2124 ) หรือปีก่อนหน้านั้นได้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงขึ้น ปัญหาเรื่อง “น้ำน้อย น้ำมาก” จะจำกัดอยู่ระหว่างปีพ.ศ. 2113 - 2118 ซึ่งก็ไม่จำเป็นอีกว่าระหว่างปีเหล่านั้น อยุธยาจะถึงกับประสบปัญหาข้าวยากหมากแพงเช่นในรัชกาลพระบรมไตรโลกนารถในปีพ.ศ. 2000 และรัชกาลพระรามาธิบดีที่ 2 ในปีพ.ศ. 2069 ซึ่งหลักฐานระบุอย่างแน่ชัดถึงราคาข้าวที่สูงขึ้น

สรุปได้ว่าปัญหาด้านการเกษตรไม่ควรจะเป็นปัญหาหลักที่ผลักดันให้เกิดกบฎในครั้งนี้

ดังได้เสนอไว้ในตอนต้นแล้วว่ากบฎญาณพิเชียรเป็นกบฎของขุนนางมากกว่ากบฎชาวนา ดังนั้นสาเหตุของการกบฎครั้งนี้ควรสืบเนื่องมาจากปัญหาทางการเมืองเป็นหลัก

ก่อนที่จะเกิดสงครามระหว่างไทยกับพม่าขึ้นในรัชกาลของพระมหาจักรพรรดินั้นการเมืองภายในของอยุธยาไม่ได้สงบราบรื่นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มพระญาติพระวงศ์และขุนนางมีปรากฎอย่างเห็นได้ชัด จากหลักฐานเท่าที่ปรากฎในพงศาวดาร พอจะช่วยในการอนุมานว่าญาณพิเชียรน่าจะเป็นขุนนางที่สำคัญคนหนึ่งในเขตลพบุรี และบริเวณใกล้เคียงซึ่งเป็นเขตที่ญาณพิเชียรใช้สะสมผู้คน การที่ทหารชาวตำบลบ้านมหาดไทยซึ่งยืนข้างหน้าช้างเจ้าพระยาจักรีเปลี่ยนใจเข้ากับพวกญาณพิเชียร ย่อมแสดงให้เห็นว่าญาณพิเชียรเคยเป็นขุนนางที่มีบารมีในเขตนั้นมาก่อน และการที่ญาณพิเชียรกำหนดแผนเข้ายึดลพบุรีอาจเป็นได้ว่า ลพบุรีเคยเป็นฐานกำลังคนของญาณพิเชียรมาก่อนเช่นกันญาณพิเชียรจึงต้องการยึดครองลพบุรีเพื่อรวบรวมสมัครพรรคพวกให้มากขึ้นก่อนจะเข้าตีกรุงศรีอยุธยา สงครามระหว่างไทยกับพม่าตามด้วยสงครามระหว่างไทยกับเขมรในปีพ.ศ.2113, 2118 และ 2121 ซึ่งฝ่ายอยุธยาตกอยู่ในฐานะฝ่ายรับและเสียเปรียบได้บั่นทอนความเข้มแข็งและบารมีของกรุงศรีอยุธยาในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของเมืองในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และราชวงศ์พระร่วงของพระมหาธรรมราชาลงอย่างมาก ขณะเดียวกันก็เป็นแรงผลักดันให้ขุนนางที่เสียอำนาจในระดับท้องถิ่นสามารถกระด้างกระเดื่องและก่อการกบฎขึ้น ประกอบกับกำลังคนของอยุธยาขณะนั้นเบาบางมากเนื่องจากได้เสียชีวิตลงในสงคราม และยังถูกพม่าและเขมรกวาดต้อนไปเป็นเชลย เป็นเหตุให้ญาณพิเชียรขุนนางเก่าสามารถจะแสดงตนแข็งข้อต่อส่วนกลางอย่างเปิดเผย

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย