ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>

จิตวิทยา

ความเป็นมาของจิตวิทยา
กลุ่มต่าง ๆ ของจิตวิทยา (School of Psychology)
การเรียนรู้

กลุ่มต่าง ๆ ของจิตวิทยา

 (School of Psychology)

กลุ่มต่าง ๆ มีความเชื่อหลักแตกต่างกันอยู่ 7 สำนัก ดังต่อไปนี้

  1. กลุ่มโครงสร้างแห่งจิต (Structuralism) ทิทเช เนอร์ (Titchener) อธิบายโครงสร้างของจิตแยกออกเป็น 3 ส่วน คือ การสัมผัส การรับรู้ และ ความรู้สึก มีวิธีการหลักในการศึกษาจิตใจ คือ การพินิจภายในจิตใจ
  2. กลุ่มหน้าที่ของจิต (Functionalism) เจมส์ (William James) เห็นว่า นักจิตวิทยาควรสนใจศึกษาหน้าที่ของจิตใจ ไม่ใช่โครงสร้าง (สนใจว่าอะไรที่จิตทำมากกว่าจิตคืออะไร) มองว่าจิตสำนึกของมนุษย์ทำให้กระบวนการคิดการตัดสินใจช่วยให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ได้ ดิวอี้ (John Dewey) เห็นว่าจุดเน้นการศึกษาไม่ควรอยู่ที่เนื้อหาแต่อยู่ที่ความต้องการของนักเรียน มีการพัฒนาวิธีวิจัยมากขึ้น เช่น วิธีแบบสอบถาม การทดสอบ และวิธีพรรณนาเกี่ยวกับพฤติกรรมเชิงปรนัย
  3. กลุ่มจิตวิทยาเกสทอลท์ จิตวิทยา เกสทอลท์ เป็นปฏิกิริยาต่อต้านการเน้นวิธีแยกย่อยมากเกินไป ต่อต้านความเชื่ออย่างมืดบอด ต่อต้านการวิเคราะห์และการแยกย่อย พวกเขาเชื่อว่าความเข้าใจพฤติกรรมจะต้องใช้แนวองค์รวม
  4. กลุ่มจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) ฟรอยด์ (Sigmund Freud) แพทย์ชาวออสเตรีย สนใจค้นหาสาเหตุทางจิตที่ก่อให้เกิดอาการผิดปกติในตัวมนุษย์ ฟรอยด์ศึกษาข้อมูลจากผู้ป่วยจำนวนมากประกอบกับการวิเคราะห์ตนเองทำให้เชื่อว่า ความผิดปกติของจิตมีรากฐานมาจากความขัดแย้งทางเพศและเป็นไปอย่างไร้สำนึก ความคิดจิตวิเคราะห์มีอิทธิพลมากต่อจิตวิทยาถือเป็นคลื่นลูกที่หนึ่งในองค์การจิตวิทยา โดยแนวคิดที่น่าสนใจ มีดังนี้

ระดับชั้นแห่งจิต

  • จิตสำนึก (Conscious) บรรจุสิ่งที่เรารับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส พร้อมทั้งประสบการณ์ที่ตระหนักรู้ได้ในช่วงเวลานั้น
  • จิตก่อนสำนึก (preconscious) เป็นที่รวมประสบการณ์ทั้งหมดซึ่งไม่ได้สำนึกถึงในขณะนั้นแต่สามารถระลึกได้หากใช้ความพยายาม
  • จิตไร้สำนึก (unconscious) เป็นแหล่งสำคัญที่พฤติกรรมมนุษย์ก่อรูปและถูกปรุงแต่งขึ้นโดยอาศัยแรงขับ และแรงกระตุ้นที่อยู่ส่วนลึกของจิตใจ

โครงสร้างของบุคลิกภาพ

  • อิด (id) เป็นสัญชาตญาณดั้งเดิมซึ่งเป็นความต้องการพื้นฐานที่ต้องการการตอบสนองทันที
    - ความปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่ (life wish) เห็นได้จาก แรงกระตุ้นที่จะมีชีวิตอยู่ การสร้างสรรค์ ความรัก ลิปิโด (libido) ซึ่งแสดงถึงพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับเรื่อง เพศ ความผูกพันอื่น ๆ
    - ความปรารถนาที่จะตาย (death wish) เห็นได้จากแรงกระตุ้นที่ทำพฤติกรรมเชิงทำลายต่าง ๆ
  • อีโก (Ego) ซึ่งพัฒนาขึ้นมา เพื่อเชื่อมโยงความต้องการของอิดให้เข้ากับความเป็นจริงของโลกภายนอก หน้าที่ของอีโกเป็นการรักษาความสมดุลของบุคลิกภาพระหว่างอิดและซูเปอร์อีโก
  • ซูเปอร์อีโก (Super ego) เป็นส่วนที่ทำหน้าที่บอกถึง ถูก ผิด ดี เลว ในชีวิตมนุษย์ ซูเปอร์อีโก เป็นส่วนที่พัฒนามาทีละน้อย ตั้งแต่วัยเด็กเพื่อให้เข้ากับค่านิยมและมาตรฐานของสังคม แบ่งเป็น
    - สัมปชัญญะ หรือ สำนึก เป็นส่วนที่หักห้ามความต้องการหรือพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนา
    - ตนในอุดมคติ เป็นส่วนที่กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมที่พึงปรารถนาเพิ่มขึ้น

ขั้นตอนของพัฒนาการ

ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ให้ความสำคัญต่อพัฒนาการมนุษย์ในช่วง 5 ขวบปีแรก ของชีวิตถือว่าเป็นจุดวิกฤตของพัฒนาการ เป็นช่วงที่บุคลิกภาพของบุคคลได้ก่อตัวขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปตามลำดับ

  • ขั้นปาก 0 – 1 ปี เป็นขั้นที่ความเอาใจใส่และกิจกรรมของทารก จะมีศูนย์กลางอยู่ที่ปาก ท่ออาหารและกระเพาะ เด็กจะเพลิดเพลินกับการได้รับอาหาร เชื่อมโยงเข้ากับเจตคติของผู้ใหญ่ที่แสดงออกมาในระหว่างให้อาหาร หากเด็กเกิดความเครียด และคับข้องใจ พัฒนาการจะถูกยับยั้งนำไปสู่กิจกรรมที่ผิดปกติในวัยผู้ใหญ่ เช่น กิจกรรมเกินพอดีในการดื่ม สูบ รับประทาน หรือพูด และยังสัมพันธ์กับความรู้สึกปลอดภัยด้วย
  • ขั้นทวารหนัก 2 – 3 ปี ขั้นนี้ความสนใจของเด็กจะเลื่อนไปสู่กิจกรรมขับถ่าย ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่พ่อแม่ฝึกคัดขับถ่ายให้เด็ก วิธีฝึกของพ่อแม่มีผลต่อเจตคติบางประการ เช่น ความสะอาด และการควบคุม ส่งผลต่อพัฒนาการบุคลิกภาพของเด็ก การฝึกอย่างเข้มงวดหรือปล่อยปละละเลยล้วนหยุดยั้งพัฒนาการขั้นนี้ เมื่อโตขึ้นมีแนวโน้มจะตระหนี่ ดื้อ เจ้าระเบียบ นิยมความสมบูรณ์แบบ ขั้นนี้เป็นขั้นที่เด็กพัฒนาความรู้สึกเป็นเจ้าของ กับการรู้จักอำนาจ และควบคุมตนเอง
  • ขั้นอวัยวะเพศ 3 – 5 ปี เด็กเริ่มโตพอที่จะตระหนักถึงร่างกายของตนเองโดยเฉพาะอวัยวะเพศ ซึ่งเป็นแหล่ง ผัสสะของความพอใจที่เด็กเพิ่งมีประสบการณ์ ขั้นนี้เด็กชายจะรักแม่ และต่อต้านพ่อ (Oedipus complex) ส่วนเด็กหญิงจะรัก พ่อ และต่อต้านแม่ (Electra complex) เด็กเผชิญกับความวิตกกังวลและรู้สึกผิดในการต่อต้านพ่อหรือแม่ เมื่อต่อต้านไม่สำเร็จ เด็กจะเลียนแบบพ่อแม่ซึ่งเป็นเพศเดียวกับตน เรียกว่า การเทียบเคียงแบบป้องกันตน (defensive identification) และซูเปอร์อีโกได้เริ่มก่อตัวขึ้น

กลุ่มพฤติกรรมนิยม

แนวคิดนี้ให้ความสำคัญต่อประสบการณ์ภายนอก พฤติกรรมภายนอก การกระทำและการตอบสนอง วัตสัน (John B. Watson) ได้เสนอว่านักจิตวิทยาในฐานะนักวิทยาศาสตร์ ควรศึกษาธรรมชาติของมนุษย์ส่วนที่สังเกตได้ ไม่ควรศึกษามโนทัศน์ประเภทจิตใจ จิตรู้สึก ฯลฯ คือศึกษาพฤติกรรมที่เขาทำไม่ใช่สิ่งที่เขาคิดหรือรู้สึกเขาได้พยายามอธิบายพฤติกรรมในรูปแบบของสิ่งเร้าและการตอบสนอง แนวคิดนี้ต่างจากจิตวิเคราะห์มาก และจัดว่าเป็นคลื่นลูกที่สองของจิตวิทยา

จุดเริ่มมาจากนักสรีระวิทยา ชาวรัสเซีย ชื่อ อิวาน พาฟลอฟ (Ivan Pavlov) ทำการทดลองให้สุนัขหลั่งน้ำลายเมื่อได้ยินเสียงกระดิ่ง โดยอินทรีย์ (สุนัข) เกิดการเชื่อมโยงสิ่งเร้า 2 สิ่ง คือ เสียงกระดิ่งกับผงเนื้อ จนเกิดการตอบสนองโดยน้ำลายไหล เมื่อได้ยินเสียงกระดิ่ง


ส่วนประกอบของกระบวนการวางเงื่อนไข

  • สิ่งเร้าที่ไม่มีเงื่อนไข UCS (Unconditional Stimulus)
  • สิ่งเร้าที่มีเงื่อนไข CS (Conditional Stimulus)
  • การตอบสนองอย่างไม่มีเงื่อนไข UCR (Unconditional Response)
  • การตอบสนองอย่างมีเงื่อนไข CR (Conditional Response)

สกินเนอร์ (B.F. Skinner) ได้กำหนดการวางเงื่อนไขการกระทำ ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้กันมากในปัจจุบัน โดยวิธีการวางเงื่อนไขจะใช้การเสริมแรง โดยทดลองกับสัตว์ในห้องปฏิบัติการและค้นคว้าจนพบว่าใช้ได้ดีกับมนุษย์

หลักการวางเงื่อนไขผลกรรม (Operant Conditioning) มีแนวคิดว่า การกระทำใด ๆ (Operant) ย่อมก่อให้เกิดผลกรรม (Consequence หรือ Effect)

การเรียนรู้เงื่อนไขผลกรรมนี้ต้องการให้เกิดพฤติกรรมโดยใช้ผลกรรมเป็นตัวควบคุม ผลกรรมที่เกิดขึ้น

  • ถ้าเป็นผลกรรมที่ต้องการ เป็นผลกรรมเชิงบวก เรียก การเสริมแรง
  • ถ้าเป็นผลกรรมที่ไม่ต้องการ เป็นผลกรรมเชิงลบ เรียกว่า การลงโทษ

การเสริมแรง หมายถึง การทำให้มีพฤติกรรมเพิ่มขึ้นอันเนื่องจากผลกรรม ได้แก่

  • เสริมแรงทางบวก เช่น ทำงานเสร็จแล้วแม่ให้ถูโทรทัศน์
  • เสริมแรงทางเชิงลบ เช่น การขึ้นสะพานลอยเพื่อพ้นจากการถูกจับ

การลงโทษ หมายถึง การให้ผลกรรมที่ไม่ต้องการ หรือ ถอดถอนสิ่งที่ต้องการแล้วทำให้พฤติกรรมลดลง ได้แก่

  • การลงโทษทางบวก เช่น เด็กส่งเสียงดัง แล้วถูกดุ
  • การลงโทษทางลบ เช่น ทำการบ้านไม่เสร็จแล้วแม่ไม่ให้ไปเล่นเกมส์

กลุ่มปัญญานิยม

ช่วงปี 1960 เป็นต้นมา นักจิตวิทยาปัญญานิยมเริ่มต่อต้านแนวความคิดพฤติกรรมนิยม แบบเก่าที่ปฏิบัติกับบุคคลราวกับเป็นกล่องดำ ซึ่งสามารถเข้าใจได้อย่างง่าย ๆ โดยการวัดสิ่งเร้าที่เข้าไปข้างใน (กล่องดำ) และการตอบสนองที่ออกมาข้างนอก แต่นักจิตวิทยาปัญญานิยมยืนยันว่านักจิตวิทยาต้องพยายามเข้าใจว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นภายในกล่องดำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานของจิต เช่น ความคิด การรับรู้ ความจำ การใส่ใจ การแก้ปัญหา และภาษา โดยมุ่งแสวงหาความรู้ที่ชัดเจนถึงวิธีการที่กระบวนการเหล่านี้ทำงาน และนำมาประยุกต์ใช้ รวมทั้งการพินิจ-ภายในอย่างไม่เป็นทางการ ก็ควรนำมาใช้เพื่อค้นหา ส่วนวิธีแบบปรนัย (objective methods) นำมาใช้เพื่อทดสอบยืนยัน จิตวิทยาแนวปัญญาจึงเป็นการรวมลักษณะต่าง ๆ ของ กลุ่มโครงสร้าง-จิต กลุ่มหน้าที่ของจิต จิตวิทยาเกสทอลท์ และกลุ่มพฤติกรรมนิยมเข้าไว้ด้วยกัน

 

กลุ่มมนุษยนิยม

พัฒนาขึ้นมาประมาณ คศ. 1960 โดยเป็นแนวคิดของนักจิตวิทยากลุ่มหนึ่งมีอับราฮัม มาสโลว์ (Abraham Maslow) เป็นผู้นำกลุ่ม ได้พัฒนาทฤษฎีที่ต่างออกไปจากกลุ่มจิตวิเคราะห์และกลุ่มพฤติกรรมนิยม จัดเป็นคลื่นลูกที่สามของจิตวิทยาลักษณะเด่นคือ มิได้เป็นทฤษฎีที่จัดระบบไว้เดี่ยว ๆ แต่เป็นการสะสมแนวคิดจากปรัชญา และแนวคิดจิตวิทยาร่วมสมัยเข้าไว้ด้วยกัน นักจิตวิทยามนุษยนิยม เช่น มาสโลว์ และ โรเจอส์ (Carl Rogers) เชื่อว่ามนุษย์ตามธรรมชาติมีความโน้มเอียงที่จะมีการพัฒนาไปสู่ระดับที่สูงขึ้น เขาจะพัฒนาไปถึงจุดสูงสุดตามศักยภาพของเขา มนุษย์มีความสามารถที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับชีวิตเขา นักจิตวิทยากลุ่มนี้ให้ความสำคัญต่อประสบการณ์ของมนุษย์ให้ความสำคัญต่อวิธีการที่บุคคลรับรู้ตนเองอย่างเป็นอัตนัยไม่ว่าจะเป็นภาพลักษณ์ ค่านิยม ทางเลือก หรืออื่น ๆ การทำความเข้าใจบุคคลในวิธีการที่เขารับรู้ตนเองและรับรู้โลกที่แวดล้อมเขาโดยมองจากแง่มุมของตัวเขาเอง

แนวคิดเกี่ยวกับตนเองของบุคคลเป็นตัวแปรแทรก จากโลกพฤติกรรมนิยม สิ่งเร้า การตอบสนอง มาเป็นสิ่งเร้า บุคคล การตอบสนอง ทำให้อธิบายได้ว่า สิ่งเร้าเดียวกัน ถูกวางเงื่อนไขเดียวกัน เหตุใดบุคคลจึงมีพฤติกรรมตอบสนองต่างกันออกไป เพราะเขารับรู้สิ่งเร้าและเงื่อนไขต่างกันนั่นเอง

กลุ่มเหนือตน

จิตวิทยาแนวนี้อาจเริ่มจากเจมส์ (William James) นักจิตวิทยาอเมริกันคนแรกที่สนใจประสบการณ์ลึกซึ้งหรือประสบการณ์อัศจรรย์ทางจิตที่เกิดขึ้นกับคน แต่สนใจในแง่จิตวิทยามากกว่าแง่ศาสนา เจมส์เสนอว่าประสบการณ์อัศจรรย์นี้เป็นรากฐานของศาสนาต่าง ๆ เป็นตัวแทนของแรงกระตุ้นตามธรรมชาติในเชิงบวก

นักจิตวิทยาบางคนก็สนใจประสบการณ์เหนือตน เช่น จุง (Carl Jung) ได้เขียนถึงประสบการณ์เหนือตนไร้สำนึกของมนุษย์ และแสดงออกโดยอ้อมด้วยการ ฝัน พิธีกรรมหรือสัญลักษณ์ แสดงออกโดยตรงจากประสบการณ์อัศจรรย์ทางจิต คำว่าเหนือตน มาสโลว์คิดขึ้นเพื่อใช้เรียกแนวคิดใหม่ของจิตวิทยา และมาสโลว์เห็นว่าจิตวิทยาเหนือตนเป็นคลื่นลูกที่ 4 ของจิตวิทยาต่อจากแนวคิดมนุษยนิยม

แนวคิดหลัก คือ การให้ความสนใจสิ่งที่อยู่เหนือความต้องการ และความสนใจของมนุษย์ออกไปมาสโลว์ พบว่า บางคนที่พัฒนาความต้องการไปจนถึงขั้นสูงสุด คือ สัจจการแห่งตนมีประสบการณ์อัศจรรย์ทางจิตเกิดขึ้นบ่อย ๆ แต่บางคนกลับไม่เคยพบ จึงทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างสัจจการแห่งตน กับเหนือตนหรือล่วงพ้นต้น จิตวิทยาเหนือตนไม่ใช่ระบบความคิดแบบแบ่งแยก แต่สนใจที่จะเปิดเผยธรรมธรรมชาติของมนุษย์ในระดับที่ลึกซึ้ง แต่ก็ไม่ปฏิเสธความเป็นปัจเจกบุคคล สนใจต่อพัฒนาการทางจิตเท่า ๆ กับพัฒนาการทางจิตวิญญาณ สนใจประสบการณ์ธรรมดา เท่า ๆ กับประสบการณ์อัศจรรย์ สนใจแกนในการปฏิบัติของจิตวิทยาเหนือตน รวมไปถึง การทำสมาธิ การฝึกสติ การพิจารณาใคร่ครวญ และสนใจค้นหาปรากฏการณ์ต่าง ๆ และเปรียบเทียบกับแนวคิดของจิตวิทยากลุ่มต่าง ๆ อาจถือได้ว่าจิตวิทยากลุ่มนี้เป็นการรวมกันระหว่างแนวคิดของจิตวิทยาตะวันตก กับแนวคิดภูมิปัญญาตะวันออกบางแนวคิด

สาระสำคัญของวิชาจิตวิทยา คือ การศึกษาถึงเรื่องของพฤติกรรมมนุษย์ และมีสาขาต่างๆ ของจิตวิทยามากมาย ได้แก่

  • จิตวิทยาการทดลอง
    “นักจิตวิทยาใช้วิธีการทดลอง เพื่อศึกษาบุคคลตอบสนองต่อสิ่งเร้ารอบตัวอย่างไร”
  • จิตวิทยาสรีระ
    “ค้นคว้าหาความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการทางชีววิทยาและพฤติกรรม”
  • จิตวิทยาพัฒนาการ
    “เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของมนุษย์ ตัวประกอบที่มีผลต่อพฤติกรรม ความสามารถเฉพาะอย่างตั้งแต่เกิดจนชรา”
  • จิตวิทยาสังคม
    “สนใจปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมีอิทธิพลต่อทัศนคติ และพฤติกรรม ศึกษาพฤติกรรมกลุ่ม”
  • จิตวิทยาบุคลิกภาพ
    “มุ่งศึกษา ความแตกต่างระหว่างปัจเจกบุคคลสนใจศึกษาคุณสมบัติเฉพาะของแต่ละบุคคล”
  • จิตวิทยาคลินิก
    “ประยุกต์กฎของจิตวิทยากับการวินิจฉัยและการบำบัดอาการทางจิต โรคประสาท และปัญหาการปรับตัว”
  • จิตวิทยาการปรึกษา
    “คล้ายกับจิตวิทยาคลินิก แต่ปัญหาของผู้ป่วยรุนแรงน้อยกว่า เช่น ปัญหาการปรับตัว การเรียน อาชีพ ปัญหาส่วนตัวและสังคม”
  • จิตวิทยาอุตสาหกรรม
    “ทำงานกับบริษัทหรือเป็นที่ปรึกษาองค์การต่าง ๆ เกี่ยวกับการคัดเลือกคน การพัฒนา การฝึกอบรมการทำงาน”
  • จิตวิทยาการศึกษา
    “ชำนาญ เกี่ยวกับ เรื่องการเรียนการสอน อาจทำงานในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยทำการวิจัย ศึกษาเรื่องการเรียนรู้มนุษย์”

จิตวิทยา
จิตวิทยาพื้นฐาน
จิตวิทยากับผู้นำ
จิตวิทยาการเรียนรู้

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย