วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>
วรรณคดีไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
รื่นฤทัย สัจจพันธุ์
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11
2
บทละครเรื่องรามเกียรติ์
พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
วรรณคดีเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นการปรับวรรณคดีมุขปาฐะเป็นวรรณคดีลายลักษณ์ที่สมบูรณ์
เพราะต้นฉบับของบทละครเรื่องรามเกียรติ์ที่หลงเหลือมาจากสมัยอยุธยา
นอกจากไม่ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ยังน่าจะเป็นตัวบทสำหรับการขับร้องเพื่อการแสดง
มิใช่สำหรับอ่าน การรังสรรค์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 1
แห่งราชวงศ์จักรี อ้างว่าเพื่อ ถนอมถนิมประดับโสต ประโยชน์ฉลองเฉลิม
เจิมจุฑาทิพย์ประสาท ประกาศยศเอกอ้าง องค์บพิตรพระเจ้าช้าง เผือกผู้ครองเมือง
และในโคลงท้ายบท มีข้อความใน 2 บาทท้ายว่า ริ ร่ำพร่ำประสงค์ สมโภช พระนา บูรณ์
บำเรอรมย์ให้ อ่านร้องรำเกษมฯ หมายความว่าเหตุที่ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องนี้
- เพื่อเฉลิมพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ตามราชประเพณี ที่ถือเอาความมั่นคงทางวัฒนธรรมเป็นความมั่นคงของแผ่นดิน
- เพื่อรวบรวมวรรณคดีอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติไว้ไม่ให้สูญ และ
- เพื่อสร้างวรรณคดีสำหรับ อ่านร้องรำเกษม คือใช้เป็นมหรสพบันเทิงแก่ประชาชน
ข้อความในโคลงข้างท้าย บ่งชี้ว่าพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ใช้สำหรับ อ่าน ร้อง หรือ รำ ก็ได้ แต่จะเห็นได้ว่าตัวบทไม่เหมาะแก่การนำไปแสดงโดยตรง ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ สำนวนใหม่ โดยตัดตอนเฉพาะบางตอน คือ ตอนหนุมานถวายแหวนจนถึงทศกัณฑ์ล้มตอนหนึ่งประกอบด้วย ตอนหนุมานถวายแหวน เผาลงกา ขับพิเภก สุกระสารปลอมพล นางลอย จองถนน ตั้งพลับพลา องคตสื่อสาร สุครีพหักฉัตร ไมยราพสะกดทัพ ศึกกุมภกรรณ ครั้งที่ 1 ศึกกุมภกรรณ ครั้งที่ 2 ศึกกุมภกรรณ ครั้งที่ 3 ศึกอินทรชิต ครั้งที่ 1 ศึกมังกรกัณฐ์ ศึกแสงอาทิตย์ ศึกพรหมาสตร์ สีดาไปสนามรบ สุขาจารแปลงเป็นสีดา พิธีกุมภนิยา ศึกทศกัณฐ์กับสิบรถ ศึกสหัสสเดชะ พิธีอุมงค์ ศึกสัทธราสูร ศึกวิรุญจำบัง ท้าวมาลีวราชว่าความ พิธีเผารูปเทวดา ศึกทศกัณฐ์กับพระลักษณ์ พิธีหุงข้าวทิพย์ ศึกทศกัณฐ์ขาดเศียรขาดกร หนุมานอาสา ทศกัณฐ์ล้ม ศึกประลัยกัลป์ อภิเษกพระราม ตอนฆ่าสีดาจนถึงอภิเษกเขาไกรลาสอีกตอนหนึ่ง ประกอบด้วยตอนพระรามคลั่งฆ่านางสีดา ปล่อยม้าอุปการ หรือเรียกว่าตอนบุตรลบ พระรามเข้าโกศ และอภิเษกไกรลาส รวม 36 เล่มสมุดไทย พระองค์ทรงปรับบทเพื่อให้นำไปใช้ในการแสดงละครได้เหมาะสม ดังตัวอย่างตอนนางสีดาผูกคอตาย
สำนวนรัชกาลที่ 1
เอาภูษาผูกศอให้มั่น แล้วพันกับกิ่งโศกใหญ่
หลับเนตรดำรงปลงใจ อรไทก็โจนลงมา
บัดนั้น วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า
ครั้นเห็นองค์อัครกัลยา ผูกศอโจนมาก็ตกใจ
ตัวสั่นเพียงสิ้นชีวี ร้อนจิตดั่งหนึ่งเพลิงไหม้
โลดโผนโจนตรงลงไป ด้วยกำลังว่องไวทันที
สำนวนรัชกาลที่ 2
เอาภูษาผูกศอให้มั่น แล้วพันกับกิ่งโศกใหญ่
หลับเนตรดำรงปลงใจ อรไทก็โจนลงมา
บัดนั้น วายุบุตรแก้ได้ดังใจหมาย
จะเห็นได้ว่า วรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ฉบับพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2 มีความกระชับ ใช้แสดงได้สมจริง ในขณะที่ฉบับพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 1 จะเก็บความครบถ้วน ให้รายละเอียดตามขนบวรรณศิลป์
ความแตกต่างของบทละครเรื่องรามเกียรติ์ทั้งสองสำนวนนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวินิจฉัยไว้ในพระราชบันทึกเรื่องบายศรีว่า (อ้างถึงในเสาวลักษณ์ อนันตศานต์, 2525 : 89)
พระราชนิพนธ์พระพุทธยอดฟ้า ตั้งใจจะให้ถี่ถ้วนตามแบบอย่างด้วย ต้องการจะให้ถ้อยคำลึกและไพเราะทั้งเป็นอัศจรรย์ด้วย ไม่รังเกียจข้อที่จะยืดยาวจนเล่นละครดูเบื่อ
พระราชนิพนธ์พระพุทธเลิศหล้าฯ คิดย่อให้สั้น ไม่ให้บทยาวเยิ่นเย้อดูละครเบื่อเป็นที่ตั้ง แต่เลือกคำให้ไพเราะ ให้ถูกต้องด้วยแบบธรรมเนียม แต่ไม่พยายามที่จะว่าให้ครบครัน ยอมให้เลยไปตามกลอนบ้าง