วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>

วรรณคดีไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

รื่นฤทัย สัจจพันธุ์

1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11

8

วรรณคดีจีนพากย์ไทย

     วรรณคดีจีนพากย์ไทยเรื่องสามก๊กจึงเป็นตัวอย่างอันดีอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าในอดีตไทยรับวรรณคดีจากต่างประเทศโดยไม่คำนึงว่าจะต้องรักษาเนื้อเรื่อง บุคลิกตัวละคร วัฒนธรรมความเชื่อหรือขนบทางวรรณศิลป์ของวรรณคดีต้นฉบับ แต่จะปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับเอกลักษณ์ของไทย และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้วรรณคดีจากต่างประเทศเหล่านั้นเป็นที่นิยมในหมู่คนไทย เพราะทำให้คนอ่านไทยเข้าใจ ซาบซึ้ง ไม่รู้สึกแปลกแยกหรือขัดแย้ง เช่นเดียวกับที่มาลินี ดิลกวณิช (เรื่องเดียวกัน : 180) ให้ความเห็นว่า

“เมื่อได้ศึกษาเปรียบเทียบสามก๊กกับต้นฉบับจีน ก็ได้พบคำตอบว่าบทบาทที่สำคัญของสามก๊กไม่ได้อยู่ที่เป็นวรรณกรรมแปลจากเรื่องจีน เพราะเป็นการแปลที่ไม่ได้ถ่ายทอดออกมาอย่างซื่อสัตย์ครบถ้วนตามต้นฉบับ ลักษณะความเป็นจีนจึงไม่ใช่สิ่งที่เด่นอีกต่อไปในฉบับภาษาไทย แต่สิ่งที่ถูกดัดแปลงและเปลี่ยนแปลงไปต่างหากที่ทำให้ สามก๊ก มีเอกลักษณ์ใหม่ของตนเองและกลายเป็นแบบแผนของการประพันธ์วรรณกรรมประเภทหนึ่งของไทย”



มีประเด็นควรพิจารณาว่าการรับอิทธิพลวรรณกรรมจากต่างประเทศเข้ามาเป็นวรรณกรรมไทยมีสาเหตุอันใด ได้พบว่าสาเหตุของการรับอิทธิพลอาจจะมีหลายประการ ได้แก่ วรรณคดีเรื่องนั้นมีความสนุกสนานบันเทิงจึงน่าจะแปลหรือนำมาเล่าใหม่ให้คนไทยสนุกรื่นรมย์ไปด้วย วรรณคดีบางเรื่องอาจนำเข้ามาพร้อมกับสิ่งอื่น เช่น ความเชื่อความศรัทธาในศาสนา การประกอบพิธีกรรม หรือศิลปะการแสดงต่าง ๆ นอกจากนี้แล้ว ยังน่าคิดว่าการรับอิทธิพลวรรณกรรมจากต่างประเทศอาจมีเหตุผลทาง “การเมือง” แฝงอยู่ นั่นคือ วรรณคดีเรื่องนั้นสามารถสร้างประโยชน์ต่อสังคมอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง อันเป็นคุณต่อการปกครองแผ่นดิน เช่น บทละครเรื่องรามเกียรติ์ยืนยันแนวคิดเทวะราชา และส่งเสริมสถาบันกษัตริย์ กฤษณาสอนน้องคำฉันท์สนับสนุนค่านิยมที่ผู้หญิงต้องเป็นภรรยาที่ดี เคารพเทิดทูน ปรนนิบัติสามีให้มีความสุข มีกิริยา วาจา และจิตใจดีงาม สามก๊ก ตลอดจน ไซ่ฮั่น และราชาธิราชที่แปลเป็นไทยในระยะเวลาใกล้เคียงกัน เป็นวรรณคดีจีนและมอญพากย์ไทยที่แสดงกลยุทธ์ในการทำสงครามว่าลำพังแต่อาวุธและกำลังไพร่พลที่ทุ่มเข้าฟาดฟันกันนั้นไม่เพียงพอ การยุทธ์ยังต้องประกอบไปด้วยการวางแผนทั้งรุกทั้งรับ เพื่อเอาชนะศัตรูด้วยปัญญาอันแหลมคม นอกจากนี้ วรรณคดีทั้ง 3 เรื่องนี้จะแสดงให้เห็นว่าผู้นำเป็นผู้มีบุญญาบารมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญญาบารมี และขุนทหารเป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาดแล้ว ยังแสดงให้เห็นคุณสมบัติของผู้นำว่าต้องใจกว้าง เสียสละ และยุติธรรม คุณสมบัติของข้าทหารคือ จงรักภักดี กล้าหาญ และรักเกียรติยศศักดิ์ศรี เรื่องสามก๊กยังเป็นอุทาหรณ์ให้คนไทยไม่แตกสามัคคี ส่วนราชาธิราชเป็นกำลังใจให้คนไทยมีจิตใจฮึกเหิมในการต่อสู้กับพม่า เหมือนเช่นกองทัพมอญของพระเจ้าราชาธิราชที่สามารถเอาชนะพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องได้ วรรณคดีทั้ง 4 เรื่องในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรีจึงรังสรรค์ขึ้นถูกจังหวะ เหมาะแก่สภาพเหตุการณ์ของยุคสมัย จนน่าเชื่อว่ามีนัยการเมืองแฝงอยู่มากกว่าการนำเสนอวรรณคดีที่มีวรรณศิลป์เท่านั้น

หน้าถัดไป >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย