ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม  >>

ไทยทรงดำ

อาจารย์กฤษณะ ทองแก้ว สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ตกทอดให้ลูกหลานนับมาตั้งแต่สมัยจารีต โดยความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ (Ethnic Group) ได้สื่อถึงลักษณะเด่นคือ เป็นกลุ่มคนที่รับการสืบทอดจากบรรพบุรุษทางสายเลือดและทางวัฒนธรรมเดียวกัน ดังนั้นผู้ที่อยู่ร่วมชาติพันธุ์เดียวกันจะมีความรู้สึกผูกพันทางสายเลือดและทางวัฒนธรรมไปพร้อมๆ กัน เป็นความรู้สึกผูกพันธุ์ที่ช่วยเหลืออัตลักษณ์ของและชนชาติพันธุ์ ซึ่งส่งผลให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถ้าหากอยู่ในศาสนาเดียวกันก็จะมีความผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้นมากขึ้น

ไทยทรงดำ (Tai Song Dam Ethnic) เป็นชนชาติไทยกลุ่มหนึ่งซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปหลายชื่อ อาทิ ลาวโซ่ง ไทดำ ไตดำ ผู้ไทยดำ ไทยทรงดำ ไทยโซ่ง ลาวซ่ง ลาวซ่วงดำ และลาวทรงดำ ซึ่งคำว่าโซ่ง นั้นมีการสันนิฐานกันว่าเรียกตามสีเสื้อที่นุ่งห่มเพราะมีสีดำ คำว่า โซ่ง แผลงมาจาก ส้วง ที่มีความหมายว่า เสื้อผ้า ดังนั้นโซ่งดำจึงหมายถึง ชาวผู้ไทยที่นุ่งกางเกงดำ ส่วนคำว่า ลาวโซ่ง เป็นชื่อที่คนไทยในภาคกลางใช้เรียกชาติพันธุ์กลุ่มน้อย ซึ่งได้อพยพมาจากเขตสิบสองจุไท ในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามทางตอนเหนือ

ถิ่นอาศัยดั้งเดิมของไทยโซ่งอยู่ที่ดินแดนสิบสองจุไท คือ ดินแดนทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เมืองเดียนเบียฟู หรือชาวไทยสยามรู้จักในชื่อเมืองแถง โดยดินแดนสิบสองจุไทนั้นมีทุ่งราบกว้างอยู่ท่ามกลางหุบเขาโอบล้อมด้วยภูเขาติดต่อกันซึ่งนับเป็นด่านปราการสำคัญในการโอมอุ้มให้ชนเผ่าไทยทรงดำได้มีการพัฒนาวัฒนธรรมของชาวไทยดำอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยถิ่นอาศัยอยู่ใกล้ชายแดนจีน เวียดนามและลาว ซึ่งเป็นผลให้ต้องตกไปอยู่ใต้อำนาจของรัฐต่างๆ บ้าง อาทิ บ้างช่วงตกอยู่ภายใต้การปกครองของกรุงศรีสัตนาคนหุต ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าสมัยพระเจ้าบุเรงนอง จนกระทั่งเมืองศรีสัตนาหุคตถูกแยกเป็นสองอาณาจักร คือ หลวงพระบาง และเวียงจันทร์ หัวเมืองผู้ไทก็ถูกแยกไปด้วยซึ่งแคว้นสิบสองจุไทได้รับสิทธิ์ในการปกครองตนเองแบบประเทศราช

จดหมายเหตุของไทย กล่าวว่าแต่เดิมในเขตสิบสองจุไท แบ่งการปกครองเป็นสิบสองหัวเมืองหลัก ต่างเป็นอิสระต่อกัน ประกอบด้วยหัวเมืองของผู้ไทขาว 4 เมือง ได้แก่ เมืองไล เมืองเจียน เมืองมุนและเมืองบาง หัวเมืองของผู้ไทดำ 8 หัวเมือง อาทิ เมืองแถง เมืองควาย เมืองดุง เมืองม่วย เมืองลา เมืองโมะ เมืองหวัด และเมืองซาง ด้วยภูมิศาสตร์ของดินแดนกันชนของจีน เวียดนาม และลาวหลวงพระบาง ดังนั้นการยินยอมส่งสวยให้กับรัฐเหล่านี้ในบางโอกาสก็มีในประวัติศาสตร์ของชาวไทดำ

ชาวไทดำอพยพเข้ามาสยามครั้งแรกด้วยการถูกกวาดต้อนเป็นเชลยศึก ในสมัยกรุงธนบุรี โดยกองทัพสยามภายใต้การนำของพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์ ได้ยกขึ้นไปตีอาณาจักรล้านช้าง โดยประมาณ พ.ศ.2322 กองทัพได้กวาดต้อนครอบครัวผู้ไททรงดำเข้ามาสยามเป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองเพชรบุรี เพื่อเป็นกำลังผลิตเสบียง ส่งส่วย และใช้แรงงานชานฉกรรจ์ในกิจการของราชการ

ครั้น พ.ศ.2325 ในแผ่นดินรัชกาลที่ 1 ซึ่งขณะนั้นเวียงจันทร์ยังขึ้นอยู่กับกรุงเทพฯ เจ้าเมืองพวนเกิดแข็งข้อต่อเวียงจันทน์ โดยเปลี่ยนใจไปอยู่ข้างญวน เจ้านันทเสนแห่งเวียงจันทร์จึงยกกองทัพไปปราบลงและได้กวาดต้อนครัวไทยทรงดำและลาวพวนลงมาถวายรัชกาลที่ 1 โดยครัวไทรทรงดำเหล่านี้ถูกเทครัวไปอยู่เมืองเพชรบุรี รวมกับพวกเก่า ครั้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ภายหลังมีชัยจากศึกเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์แล้ว กองทัพสยามได้กวาดต้อนเทครัวไทยทรงดำเข้ามากรุงเทพฯ อีกหลายคราว โดยส่งไปอยู่ที่เมืองเพชรบุรีทั้งสิ้น

ผลจากการที่ทางราชการให้ชาวไทยทรงดำเข้ามาตั้งหลักแหล่ง สร้างบ้านแปลงเมืองนั้น ชาวไทยทรงดำก็ได้นำเอาภูมิปัญญาครั้งเก่าก่อนเข้ามาประยุกต์ใช้ในวิถีชีวิต วัฒนธรรม และเติบโตเป็นโครงสร้างใหม่ของชาวไทยทรงดำ ที่มีบทบาทในการครอบงำวิถีชีวิตชาวไทยทรง ซึ่งปัจจุบันชาวไทยทรงดำ จังหวัดเพชรบุรี มีศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมไทยทรงดำที่ทำหน้าที่ผลิตซ้ำทางวัฒนธรรมของชาวไทยทรงในบริเวณจังหวัดเพชรบุรีและใกล้เคียงได้เรียนรู้และสืบทอดวิถีชีวิตไทยทรงดำต่อไป โดยการนี้นักวิชาการไทยก็เข้ามาศึกษาด้วยการทำวิจัย วิทยานิพนธ์ หรือนักวิชาการอิสระ ที่เข้ามาผลิตซ้ำผลงานทางวิชาการ ซึ่งการกระทำดังกล่าวส่งผลให้สังคมไทยมีมุมมองว่า ถ้าหากจะศึกษาชาติพันธุ์ต้องไปศึกษาที่จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นการแช่แข็งทางความคิด ดังนั้นชาวไทยทรงดำในจังหวัดเพชรบุรีจึงถูกค่านิยม ประวัติศาสตร์ เข้ามาครอบงำทางความคิดด้วย แต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์ดังกล่าวนี้มีความแตกต่างกันไปกับชาวไทยทรงดำชายขอบจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ในสงครามโลกครั้งที่สอง (พ.ศ.2484-2488) ชาวไทยทรงดำจากจังหวัดเพชรบุรีได้เทครัวลงปักษ์ใต้ ซึ่งการเทครัวครั้งนี้ปรากฏถิ่นฐานใหม่ของชาวไทยทรงดำตามจังหวัดประจวบคิรีขันธ์ จังหวัดชุมพร และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีปรากฏหลักฐานการตั้งถิ่นของชาวไทยทรงดำในสามอำเภอ คือ อำเภอพุนพิน อำเภอบ้านนาสาร และอำเภอเคียนซา เพราะในสมัยนั้นจังหวัดสุราษฏร์ธานีมีพื้นที่ว่างเปล่ามาก แต่ประชากรมีน้อย ประกอบกับชาวไทยทรงดำแสวงหาพื้นที่ปลูกข้าวเพื่อการค้าขายซึ่งตอบรับกับตลาดโลก ดังนั้นส่งผลให้ชาวไทยทรงดำได้ตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรใน สุราษฎร์ธานี นอกจากชาวไทยทรงดำแล้วชาวมอญก็ได้เทครัวลงไปในจังหวัดสุราษฎร์ธานีด้วยเช่น อาทิ บางหมู่บ้านของตำบลมะลวน อำเภอพุนพิน นั้นมีเฉพาะชาวไทยทรงดำและชาวมอญเท่านั้น ปัจจุบันวิถีชีวิตชาวไทยทรงดำสุราษฎร์ธานียังคงปรากฏพิธีกรรมที่เกี่ยวพันกับความเชื่อ วัฒนธรรม ภาษา และประเพณี ชาวไทยทรงดำจะมีเทศกาลประจำทุกๆ ปี และชาวไทยทรงดำในจังหวัดสุราษฎร์ธานีก็มีการติดต่อกับชาวไทยทรงดำในพื้นที่ต่างอย่างสม่ำเสมอ

แต่มุมมองของข้าพเจ้านั้นมองว่า การที่ชาวไทยทรงดำ สุราษฎร์ธานี อยู่นอกเหนือ “โครงสร้างทางสังคม” หรืออาณานิคมของชุดวาทกรรม ที่สังคมไทยสร้างขึ้น มันกลับเป็นผลที่ดีในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตามปรากฏการณ์จริงของชาวไทยทรงดำในสังคมไทย เพราะข้าพเจ้าเชื่อว่าเมื่อชาวไทยทรงดำหลุดพ้นจากกรอบทางวัฒนธรรม พื้นที่เชิงชาติพันธุ์ กรอบของวาทกรรมชาติพันธุ์ไทยทรงดำนั้น ผู้ไทในฐานะผู้กระทำการ (Agency) ได้สร้างกระบวนการคิดใหม่ ทำใหม่ วัฒนธรรมใหม่ จนกลายเป็นโครงสร้างใหม่ (Structure) ภายใต้ระบบสังคมปักษ์ใต้ (System Inner Cultural South Thailand)

ซึ่งวิธีการมองแบบนี้สามารถนำไปใช้กับชาวไทยทรงดำได้ทั่วประเทศ ท้ายที่สุดแล้วข้าพเจ้าเชื่อว่าชาวไทยทรงดำที่อยู่นอกเหนือพื้นที่การรับรู้ของสังคมไทย ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ พื้นที่ทางวัฒนธรรม และวาทกรรมนั้น จะมีปฏิบัติการทางสังคมเพื่อสร้างกฎเกณฑ์ชุดใหม่ขึ้นมาเป็นโครงสร้างทางสังคมเพื่อครอบงำชาวไทยทรงดำอีกระดับหนึ่งเช่นกัน

สตรีไทยทรงดำ อำนาจ และราชสำนักสยาม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย