สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
ศาสตราจารย์ ดร. ซามูเอ็ล พี. ฮันทิงตัน
2
ในขณะที่ชาติผู้นำในซีกโลกตะวันตกเริ่มอ่อนแอ
ในส่วนอื่นๆของโลกก็มีวิกฤตการณ์อื่นเกิดขึ้น กล่าวคือ
อินเดียจะเริ่มเข้าโจมตีปากีสถานศัตรูเก่าของตน
ซึ่งส่งผลกระทบทางอ้อมให้มีกระแสต่อต้านตะวันตกที่รุนแรงขึ้นในกลุ่มประเทศอาหรับ
ถึงขนาดที่รัฐบาลอิสลามในบางประเทศ
ซึ่งเคยมีนโยบายสายกลางและค่อนข้าง"โปร"ตะวันตกมาตลอด
จะถูกโค่นล้มโดยกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง
พร้อมกับการที่อิสราเอลก็จะถูกกลุ่มประเทศอาหรับเข้าโจมตีอย่างพร้อมเพียง
ทำให้สหรัฐอเมริกา
ที่ในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้พยายามชักนำให้รัสเซียให้เข้าเป็นสมาชิกในองค์การนาโต้
ต้องแสวงความสนับสนุนจากชาติต่างๆในยุโรปตะวันตก
ซึ่งชาติเหล่านั้นก็ยินดีที่จะให้การสนับสนุนแก่สหรัฐฯด้านการทูตและทางเศรษฐกิจ
แต่ปฏิเสธที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวทางทหารด้วย ส่วนญี่ปุ่นนั้น
ต่อมาก็ได้ยกเลิกการวางตนเป็นกลาง และได้กลายเป็นพันธมิตรกับจีน
จีนและชาติพันธมิตรอิสลามได้ร่วมลักลอบนำอาวุธนิวเคลียร์เข้าไปในบอสเนียและอัลจีเรีย
ทั้งนี้เพื่อข่มขู่ชาติในยุโรปให้ระส่ำระสาย
ชาวเซอร์เบียนจึงต้องเล่นบทผู้ปกป้องคริสตศาสนาอย่างที่เคย กระทำมาแล้วในอดีต
และได้ยกกองทัพเข้าถล่มเมืองซาราเจโวโดยพลการ
และยึดจรวดหัวรบปรมาณูได้ส่วนหนึ่งด้วย
แต่แล้วเหตุการณ์ที่ทุกคนไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น กล่าวคือ
เมืองท่ามาร์เซย์ทางใต้ของฝรั่งเศสถูกยิงด้วยจรวดติดหัวรบปรมาณูจากฐานในอัลจีเรีย
ส่วนผลของสงครามที่จะดำเนินต่อไปนั้น เป็นภาพที่เลวร้ายมาก
ทั้งยุโรปและอเมริกาได้รับผลกระทบและเสียหายอย่างมาก
โดยในที่สุดทั้งสองฝ่ายก็จะเลิกรากันไปเอง เพราะต่างอ่อนล้าด้วยกันในที่สุด
ศาสตราจารย์ฮันทิงตันไม่ได้ยืนยันว่า
จะต้องเกิดความขัดแย้งขึ้นในโลกอย่างที่เขาวาดภาพแล้วเช่นนั้น
แต่เขาก็ไม่ได้ปฏิเสธว่า เหตุการณ์เช่นนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นไปไม่ได้เช่นกัน
ประเด็นสำคัญที่ศาสตราจารย์ฮันทิงตันต้องการชี้ให้เห็นคือ
การที่ประเทศมหาอำนาจหลักในระบบอารยธรรมของตะวันตกโจมตีประเทศมหาอำนาจหลักในอารยธรรมจีน
และการที่โลกอิสลามจะเข้ามามีบทบาทร่วมด้วย ด้วยการมองว่าจีนเป็น "ภัยเหลือง"
ที่มีความจำเป็นยิ่งขึ้นที่จะต้องกำจัด
โดยเฉพาะเมื่อจีนมีความร่วมมือกับชาติอาหรับที่ก้าวร้าว
การมองภาพอนาคตของศาสตราจารย์ฮันทิงตันดังที่ได้บรรยายสรุปมาแล้วนั้น
เนื่องจากเขามีจุดยืนว่า
การเมืองโลกในอนาคตนั้นจะไม่ได้ถูกกำหนดด้วยความเป็นรัฐชาติ
หรือจากอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างที่เคยเป็นมาในศตวรรษที่แล้ว
หรือถูกกำหนดด้วยการแข่งขันในทางเศรษฐกิจอย่างที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันอีกต่อไปแล้ว
แต่จะถูกกำหนดด้วยการปะทะกันของวัฒนธรรมที่เป็นศัตรูกัน
และหากจะเกิดสงครามโลกครั้งต่อไป ก็จะเป็นสงครามระหว่างอารยธรรมต่างๆ
และสนามรบสำคัญก็จะอยู่ที่แนวปะทะของอารยธรรมต่างๆนั่นเอง
ศาสตราจารย์ฮันทิงตันได้สร้างแนวคิดเรื่อง "การปะทะของอารยธรรม"(the
clash of civilizations) ด้วยการมองย้อนหลังไปในช่วงเวลาของกึ่งศตวรรษที่แล้ว
ซึ่งในแง่หนึ่ง กล่าวได้ว่าเป็นช่วงเวลาของสงครามเย็น โดยที่ในยุคของสงครามเย็นนั้น
โลกได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ค่าย คือ ค่ายที่ค่อนข้างร่ำรวย
และมักมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ
และค่ายที่ขัดสนกว่า และมีรูปแบบการปกครองจัดอยู่ในกลุ่มอำนาจนิยม
ค่ายนี้มีรัสเซียเป็นผู้นำ ตลอดเวลาที่ผ่านมา
"โลกเสรี"มีข้อขัดแย้งทั้งทางอุดมการณ์ทางการเมือง
และทางเศรษฐกิจกับอีกค่ายหนึ่งในทุกประเด็น
แต่ข้อขัดแย้งนั้นกลับแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมนอกดินแดนของทั้งสองค่าย
กล่าวคือไปเกิดขึ้นในดินแดนที่ยากจนและยังไม่มีการปกครองที่มั่นคงนัก ทั้งในเอเซีย
อาฟริกา และอเมริกาใต้ ในดินแดนที่ครั้งกระนั้นยังถูกเรียกว่าเป็น "โลกที่สาม"
แต่แล้วเมื่อไม่นานมานี้เอง ค่ายคอมมิวนิสต์ก็เกิดล่มสลายขึ้นมา
สิ่งที่ติดตามมาก็คือ คำถามที่ว่า แล้วโลกในยุคใหม่จะมีแบบแผนอย่างไร
ในขณะที่นักทฤษฎีบางคนกล่าวถึงการเกิดใหม่ของ "รัฐชาติ"
และความขัดแย้งที่จะติดตามมา บ้างก็ชี้ให้เห็นแนวทางที่ต่างมาแรงและขัดแย้งกันคือ
ความเป็นโลกาภิวัฒน์ (Globalization) และกระแสของเผ่าพันธุ์นิยม (Tribalism)
เป็นต้น