สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ติดยาบ้าคือคนป่วย

ขึ้นต้นแบบนี้ใครเห็นด้วยบ้าง ลำพังอะไรที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เราจะคิดถึงคุกตะรางอยู่เสมอ แต่ความจริงกฎหมายให้คนติดยามีโอกาสได้รับการบำบัดรักษาเพื่อให้เลิกยามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 แล้ว และแต่ละปีมีคนผ่านการบำบัดไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นคน ปัญหาอยู่ที่ว่าตัดใจเลิกได้จริงหรือไม่

การคิดเช่นนี้ทั่วโลกเขาทำกันมานานแล้วโดยให้แนวคิดว่าผู้ติดยาเสพติดคือผู้ป่วย ไม่ใช่อาชญากรที่ต้องถูกศาลตัดสินให้ชดใช้กรรมในคุกตะรางอย่างเดียว เมื่อเห็นว่าเป็นผู้ป่วยก็ควรจะเข้ารับการรักษาเพื่อที่จะทำมาหากินหรือเรียนหนังสือกันต่อไปแทนที่จะไปติดคุกติดตะราง โดยหวังว่าอย่างน้อยที่สุดเมื่ออยู่ในระหว่างการบำบัดรักษาคนกลุ่มนี้จะห่างไกลจากยาเสพติดได้ และในที่สุดอาจจะใจแข็งพอและเลิกได้อย่างเด็ดขาด

กฎหมายให้โอกาสเช่นนี้ต้องถือว่าเป็นวิถียุติธรรมที่คนติดยา หรือครอบครัว ญาติ มิตรสหายของคนติดยาน่าจะฉกฉวยโอกาสให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการบำบัดรักษาและเมื่อออกมาสู่สภาพความเป็นจริงของชีวิตประจำวันอีกครั้งจะได้มีภูมิต้านทานไม่หันไปเสพยาอีก

ช่องทางของโอกาสนี้เป็นเงื่อนไขของกฎหมายชื่อว่าพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ประกาศใช้ตั้งแต่ พ.ศ.2545 แต่มีผลบังคับใช้ได้ในปีถัดมา โดยกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนคือผู้กระทำผิดฐานเสพยาเสพติด หรือเสพยาเสพติดและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นจำนวนเล็กน้อยที่ระบุว่าไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ เมื่อถูกตำรวจจับกุมและผ่านการตรวจสอบเบื้องต้นว่าเป็นบุคคลตามเงื่อนไข ตำรวจจะนำตัวส่งศาลเพื่อพิจารณามีคำสั่งให้ไปทำการตรวจพิสูจน์ให้ชัดเจนอีกครั้ง โดยให้เวลากับเจ้าหน้าที่ของกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรมไม่เกิน 45 วัน หากยืนยันผลการตรวจพิสูจน์ก็จะส่งตัวไปบำบัดรักษา

เงื่อนไขที่สำคัญอีกขั้นตอนหนึ่งก็คือเมื่อผ่านการบำบัดแล้วจะต้องมีการประเมินผลให้เป็นที่น่าพอใจว่าเลิกเสพยาได้จริง จึงจะรายงานศาลเพื่อปล่อยตัวพ้นจากอำนาจศาลไปได้

ปัญหามีอยู่ 2 ประเด็นคือ ความโปร่งใสและเป็นธรรมของการตรวจพิสูจน์ผู้ติดยาเสพติด ตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายมักจะผิดเพี้ยนนำผู้เสพและผู้ค้ารายใหญ่เข้ามาในช่องทางนี้ปะปนกับผู้ที่ควรได้รับโอกาสตามกฎหมาย ส่งผลให้มีการป่วนกระบวนการบำบัดรักษาเช่นมีการข่มขู่ทำร้าย หรือพยายามหลบหนีไปในระหว่างการเดินทางไปยังสถานที่ฟื้นฟูบำบัดยาเสพติด หรือหลบหนีไปในระหว่างการบำบัดรักษา ซึ่งเรื่องนี้กฎหมายให้อำนาจผู้ที่ดูแลทำการติดตามจับกุมได้ทันทีโดยไม่ต้องขอหมายจากศาล

นอกจากนี้คือปัญหาเรื่องคุณภาพของการบำบัดรักษาซึ่งย่อมเป็นธรรมดาสำหรับบ้านเมืองเราที่ต้องทำงานท่ามกลางข้อจำกัดของงบประมาณและสถานที่ ซึ่งในแต่ละปีมีจำนวนผู้ที่ต้องเข้ารับการบำบัดรักษากันแบบที่เรียกว่าต้องมีการควบคุมตัวไว้อย่างเข้มงวดเพื่อให้การบำบัดรักษาได้ผลไม่น้อยกว่า 3 หมื่นแต่ทั้งงบประมาณและคนที่ทำหน้าที่มีอยู่ไม่เพียงพอ จึงส่งผลกระทบต่อคุณภาพของการบำบัดอย่างมาก

หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องของโรงเรียนวิวัฒน์พลเมืองที่จัดตั้งโดยกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ รวมทั้งศูนย์ฝึกอบรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติกันมาบ้างแล้ว ซึ่งแน่นอนว่ากำลังหลักในการทำหน้าที่เป็นศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดก็คือโรงเรียนวิวัฒน์พลเมือง

เมื่อกฎหมายให้โอกาสเพื่อสร้างวิถียุติธรรมให้แก่สังคมโดยส่วนรวมเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของยาเสพติดที่ยังคงฮิตติดอันดับหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทั้งในเรื่องค่าใช้จ่ายหรืองบประมาณและในกรณีเป็นลูกค้าส่วนใหญ่ของเรือนจำทั่วประเทศจนเกิดปัญหาคนล้นคุกอยู่ทุกวันนี้ คนที่เกี่ยวข้องน่าจะต้องให้ความสนใจและเอาใจใส่ให้มากโดยการให้ความเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์เพื่อให้มีการปรับปรุงวิธีคิดและวิธีการทำงานของคนเหล่านั้นให้กระตือรือร้นมากขึ้น ขณะเดียวกันสังคมโดยส่วนรวมต้องให้ความสนใจและเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกฎหมายฉบับนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ที่มา : www.komchadluek.net

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย