เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ วิศวกรรม เกษตรศาสตร์ >>

พลังงานกับคุณภาพชีวิต

พลังงานไฟฟ้า

ปัจจุบันไฟฟ้ามีบทบาทกับชีวิตประจำวันของมนุษย์มากขึ้น ประเทศที่จะพัฒนาได้นั้นต้องใช้พลังงานไฟฟ้ามาก เพราะว่าเครื่องมือหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ต้องใช้ไฟฟ้าถึงแม้ว่าไฟฟ้าจะมีประโยชน์แต่มีโทษแก่มนุษย์เหมือนกันถ้าใช้ไฟฟ้าอย่างประมาท

1.ความหมายทางไฟฟ้า

  1. แรงดันไฟฟ้าหรือแรงเคลื่อนไฟฟ้า หมายถึง แรงที่ดันให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านความต้านทานของวงจรไปได้ ใช้แทนด้วยตัว E มีหน่วยวัดเป็นโวลท์ (V)
  2. กระแสไฟฟ้า หมายถึง การเคลื่อนที่ของอิเลคตรอนอิสระจากอะตอมหนึ่งไปยังอะตอมหนึ่ง จะไหลมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความต้านทานของวงจร ใช้แทนด้วยตัว I มีหน่วยวัดเป็นแอมแปร์ (A)
  3. ความต้านทานไฟฟ้า หมายถึง ตัวที่ต้านการไหลของกระแสไฟฟ้าให้ไหลในจำนวนจำกัด ซึ่ง อยู่ในรูปของเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด เช่น แผ่นลวดความร้อนของเตารีด หม้อหุงข้าว หลอดไฟฟ้า เป็นต้น เครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้ต้านการไหลของกระแสไฟฟ้าให้ไหลในจำนวนจำกัด ใช้แทนด้วยตัว R มีหน่วยวัดเป็นโอห์ม (W )
  4. กำลังงานไฟฟ้า หมายถึง อัตราการเปลี่ยนแปลงพลังงาน หรืออัตราการทำงาน ได้จากผลคูณของแรงดันไฟฟ้ากับกระแสไฟฟ้า ใช้แทนด้วยตัว P มีหน่วยวัดเป็นวัตต์ (W)
  5. พลังงานไฟฟ้า หมายถึง กำลังไฟฟ้าที่นำไปใช้ในระยะเวลาหนึ่ง มีหน่วยวัดเป็นวัตต์ชั่วโมง (Wh) หรือยูนิต ใช้แทนด้วยตัว W
  6. ไฟฟ้าลัดวงจรหรือไฟฟ้าช็อต หมายถึง การที่ไฟฟ้าไหลผ่านจากสายไฟฟ้าเส้นหนึ่งไปยังอีกเส้นหนึ่ง โดยไม่ผ่านเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือโหลดใดๆ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากฉนวนของสายไฟฟ้าชำรุด และมาสัมผัสกันจึงมีความร้อนสูง มีประกายไฟ ทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ถ้าบริเวณนั้นมีวัสดุไวไฟ
  7. ไฟฟ้าดูด หมายถึง การที่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกาย ซึ่งจะทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง หัวใจทำงานผิดจังหวะ เต้นอ่อนลงจนหยุดเต้น และเสียชีวิตในที่สุด แต่อย่างไรก็ตามความรุนแรงของอันตรายจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณของกระแส เวลาและเส้นทางที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่าน
  8. ไฟฟ้ารั่ว หมายถึง สายไฟฟ้าเส้นที่มีไฟจะไหลไปสู่ส่วนที่เป็นโลหะของเครื่องใช้ไฟฟ้า ถ้าไม่มีสายดินก็จะทำให้ได้รับอันตราย แต่ถ้ามีสายดินก็จะทำให้กระแสไฟฟ้าที่ไหลอยู่นั้นไหลลงดินแทน
  9. ไฟฟ้าเกิน หมายถึง การใช้ไฟฟ้าเกินกว่าขนาดของอุปกรณ์ตัดตอนทางไฟฟ้า ทำให้มีการปลดวงจรไฟฟ้า อาการนี้สังเกตได้คือจะเกิดหลังจากที่ได้เปิดใช้ไฟฟ้าสักครู่หรืออาจนานหลายนาทีจึงจะตรวจสอบเจอ

2.ชนิดของไฟฟ้ามี 2 ชนิด ได้แก่

ไฟฟ้าสถิต

ซึ่งเกิดจากการนำวัตถุ 2 ชนิด มาขัดถูหรือเสียดสีกัน วัตถุแต่ละชนิดจะมีประจุไฟฟ้าบวก ( + ) และประจุไฟฟ้าลบ ( - ) อยู่ในตัวเท่า ๆ กัน เรียกว่า เป็นกลาง เมื่อเกิดเสียดสีขึ้นประจุไฟฟ้าลบ ( - ) ที่เบากว่าประจุไฟฟ้าบวก ( + ) ก็จะเคลื่อนที่ระหว่างวัตถุทั้งสอง ทำให้แสดงอำนาจไฟ-ฟ้าขึ้นประจุไฟฟ้าในวัตถุทั้งสอบก็จะไม่เป็นกลางอีกต่อไป วัตถุชนิดหนึ่งแสดงประจุไฟฟ้าบวกและอีกชนิดหนึ่งแสดงประจุไฟฟ้าลบ พลังงานไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดแรงดูดหรือแรงผลัก ถ้านำวัตถุที่มีประจุไฟฟ้าชนิดเดียวกันมาใกล้กันจะเกิดแรงผลักแต่ถ้ามีประจุไฟฟ้าต่างชนิดกันจะเกิดแรงดูดซึ่งกันและกัน

ไฟฟ้ากระแส

เกิดขึ้นจากการเคลื่อนที่ของประจุไฟฟ้าไหลผ่านตัวนำไฟฟ้าจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง แหล่งกำเนิดไฟฟ้ากระแสมีหลายวิธี ได้แก่

  1. ไฟฟ้าจากปฏิกิริยาถ้าเราจุ่มแผ่นทองแดงและแผ่นสังกะสีลงในกรดกำมะถันเจือจางโดยวางให้ห่างกัน ต่อหลอดไฟระหว่างแผ่นโลหะทั้งสองหลอดไฟจะติดสว่าง เซลล์ไฟฟ้านี้เรียกว่า เซลล์เปียก หรือเซลล์ไฟฟ้าของโวลตาซึ่งเกิดปฏิกิริยาเคมีระหว่างแผ่นโลหะกับกรดกำมะถันจะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าไหลในวงจรจากแผ่นทองแดงไปยังแผ่นสังกะสี เช่น การใช้ทำถ่านไฟฉายมีหลักการทำงานเช่นเดียวกับเซลล์ของโวลตา แต่เปลี่ยนสารละลายมาเป็นกาวที่ชุ่มด้วยปงถ่านแมงกานีสไดออกไซด์และแอมโมเนียมคลอไรด์บรรจุในภาชนะสังกะสีและใช้แท่งคาร์บอนแทนแผ่นทองแดง เราเรียกว่า เซลล์แห้ง

    ไฟฟ้าที่ได้จากปฏิกิริยาเคมีมีทิศทางการไหลแน่นอนจากขั้วบวกไปยังขั้วลบ เช่น ไฟฟ้าจากถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่รถยนต์ เราเรียกการไหลเช่นนี้ว่า ไฟฟ้ากระแสตรง เมื่อใช้ถ่านไฟฉายไปนานๆ กระแสไฟจะค่อยลดลงเรื่อย ๆ จนหมดไปแต่มีถ่านไฟฉายบางชนิดซึ่งทำมาจากนิเกิลกับแคดเมียมสามารถนำมาประจุไฟใหม่ได้
  2. ไฟฟ้าจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ไฟฟ้าที่เราใช้ตามอาคารบ้านเรือนเป็นไฟฟ้าที่ เกิดจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหรือที่เรียกว่า ไดนาโมหรือเจเนอเรเตอร์ซึ่งภายในประกอบด้วยขดลวดทองแดงเคลื่อนที่ตัดเส้นแรงแม่เหล็กหรืออาจเคลื่อนที่แม่เหล็กตัดขวดลวดทองแดงที่อยู่กับที่ ก็จะเกิดกระแสไฟฟ้าในขดลวดไหลกลับไปกลับมาระหว่างขั้วบวกและขั้วลบ เรียกว่า ไฟฟ้ากระแส-สลับ
  3. เซลล์สุริยะ เป็นการนำแสงอาทิตย์มาใช้ประโยชน์ ดังได้กล่าวมาแล้ว แต่เนื่องจากเซลล์สุริยะผลิตไฟฟ้าได้เฉพาะในช่วงเวลาที่แสงว่างเท่านั้นจึงต้องเก็บสะสมพลังงานไฟฟ้าไว้ในแบตเตอรี่ก่อนแล้วจึงจ่ายกระแสไฟฟ้าเมื่อต้องการใช้ โดยทั่วไปการนำพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์สุริยะไปใช้กับเครื่องใช้ต่าง ๆ ตามครัวเรือนจะต้องแปลงกระแสไฟฟ้าที่เก็บสะสมไว้ในแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นกระแสตรงให้เป็นกระแสไฟฟ้าที่ใช้ตามบ้านเรือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกระแสสลับเสียก่อน

พลังงานไฟฟ้าที่ใช้กันตามบ้านเรือนส่วนใหญ่มาจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในโรงไฟฟ้า ซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าโดยอาศัยหลักการเหนี่ยวนำแม่เหล็กไฟฟ้า พบว่าเมื่อนำแท่งแม่เหล็กเคลื่อนที่เข้าใกล้ขดลวดที่ปลายทั้งสองต่อเข้ากับเครื่องกัลวานอมิเตอร์ เข็มกัลวานอมิเตอร์จะกระดิกได้ แสดงว่ามีกระแสไฟฟ้าผ่าน แต่เมื่อแท่งแม่เหล็กหยุดเข็มกัลวานอมิเตอร์จะกระดิกอีกแต่คนละทาง ถ้าเคลื่อนที่แท่งแม่เหล็กเข้าออกด้วยความเร็วที่ไม่เท่ากันปริมาณกระแสไฟฟ้าก็จะแตกต่างกันด้วย คือ ถ้าแม่เหล็กเคลื่อนที่เร็วกระแสไฟฟ้าที่เกิดในขดลวดก็จะมีปริมาณมากกว่าแท่งแม่เหล็กเคลื่อนที่ช้า ถ้ากลับขั้วแท่งแม่เหล็กที่เคลื่อนที่เข้าหาขดลวดทิศทางของกระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจะตรงกันข้ามกับตอนแรก จากหลักการนี้นักวิทยาศาสตร์ใช้ประดิษฐ์เครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้ 2 ประเภท คือ

  1. เครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิดกระแสไฟฟ้าตรง (Direct current generators) ประกอบด้วยขดลวดทองแดงที่สามารถหมุนได้คล่องตัวในสนามแม่เหล็กโดยที่ปลายทั้งสองของขดลวดสัมผัสกับวงแหวนผ่าซีก ซึ่งเป็นจุดที่จะนำกระแสไฟฟ้าไปใช้กับเครื่องใช้ต่าง ๆ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิดนี้มักคุ้นเคย เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้เป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าที่ใช้ในรถยนต์ เรียกว่า D.C. generator แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยใช้ เพราะข้อเสียที่ต้องใช้เวลานานมากที่ให้ประจุไฟฟ้ากับหม้อแบตเตอรี่
  2. เครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิดกระแสไฟฟ้าสลับ (Alternating current generator) ใช้หลักการเดียวกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิดกระแสไฟฟ้าตรง แตกต่างกันที่ใช้วงแหวนสองวงต่อเข้าที่ปลายลวดทั้งสองของขดลวดทองแดงแทนวงแหวนฝ่าซีก ถ้าต่อไฟฟ้าที่ได้จากเครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้าชนิดนี้ให้กับหลอดไฟจะเห็นว่าหลอดไฟจะสว่างสลับกับมืดเป็นจังหวะ ทั้งนี้เนื่องจากกระแสไฟฟ้าที่ออกมามีปริมาณทั้งบวกและลบในช่วงเวลาหนึ่ง ถ้าหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเร็วการกระพริบของหลอดไฟจะเร็วตามไปด้วย ถ้าหมุนช้าหลอดไฟก็จะกระพริบช้า การเปลี่ยนกระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจาก ไฟฟ้ากระแสสลับเปลี่ยนมาเป็นกระแสไฟฟ้าตรงทำได้ง่ายกว่ากระแสไฟฟ้าตรงมาเป็นกระแสไฟฟ้าสลับ

3.โรงผลิตกระแสไฟฟ้า

โรงไฟฟ้าเป็นแหล่งผลิต พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ตามอาคารบ้านเรือนในชุมชนต่างๆ กระแสไฟฟ้า ที่เราใช้อำนวยความสะดวกทุกวันนี้มาจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ติดตั้งอยู่ภายในโรงไฟฟ้า โรงไฟฟ้าใช้พลังงานหมุนแกนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าต่างกัน และมักจะเรียกโรงไฟฟ้านั้นตามด้วยชื่อของระบบพลังงานที่ใช้เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ โรงไฟฟ้าดีเซล โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซ และโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ รูปแบบของโรงไฟฟ้ามีลักษณะ ดังนี้

  1. โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ได้แก่โรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำหน้าเขื่อนมาหมุนแกนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เนื่องจากน้ำที่อยู่ในระดับสูงจะไหลลงสู่ที่ต่ำเสมอด้วยแรงดึงดูดของโลก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ น้ำตกตามเชิงเขาต่าง ๆ น้ำที่ตกนี้ถ้ามีปริมาณมากพลังงานของน้ำ สามารถนำไปใช้หมุนแกนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้ ดังนั้นการสร้างโรงไฟฟ้าชนิดนี้ต้องมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เพื่อเก็บน้ำให้มีปริมาณมากพอที่จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้โดยให้น้ำไหลผ่านตามท่อส่งน้ำ ซึ่งผ่านเครื่องกังหันน้ำทำให้กังหันน้ำหมุนได้ การหมุนจะทำให้แกนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหมุน และผลิตกระแสไฟฟ้าออกมา
  2. โรงงานไฟฟ้าพลังงานความร้อน การผลิตกระแสไฟฟ้าแบบนี้ต้องใช้เชื้อเพลิง เพื่อต้มน้ำให้มีความร้อนสูงไอน้ำที่ได้มีแรงดันพอที่จะไปดันกังหันให้หมุนได้ บางทีโรงไฟฟ้าชนิดนี้อาจเรียกตามเชื้อเพลิงที่ใช้ในการต้มน้ำให้เดือด เช่น โรงไฟฟ้าลิกไนต์, โรงไฟฟ้าถ่านหิน, โรงไฟฟ้าน้ำมันเตา, โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น หลักการในการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้เชื้อเพลิงนั้นอาศัยการ ต้มน้ำให้เดือดที่ความดันสูงไอน้ำที่ได้จะมีความดันสูง และมีแรงพอที่จะไปหมุนกังหันน้ำ เมื่อกังหันน้ำหมุนแกนของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าก็จะหมุนตามก็จะได้กระแสไฟฟ้าออกมา
  3. โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซ เป็นการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้แรงดันจากก๊าซที่ร้อนจัดความดันสูงไปหมุนแกนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ก๊าซที่มีคุณสมบัติดังกล่าวทำให้ได้โดยการอัดอากาศให้มีปริมาตรเล็กลงจะทำให้อากาศมีอุณหภูมิสูง และเมื่อถึงจุดนี้จึงฉีดเชื้อเพลิงเข้าไป อาจจะเป็นน้ำมันหรือก๊าซก็ได้เชื้อเพลิงที่ฉีดเข้าไปจะถูกเผาไหม้อย่างรวดเร็วทำให้ได้ก๊าซที่ร้อนจัด และแรงดันสูง เมื่อผ่านก๊าซนี้เข้าไปยังกังหัน ๆ จะหมุนได้ และทำให้แกนเครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้าหมุนตามจะได้กระแสไฟฟ้าตามต้องการ หลักการของโรงไฟฟ้ากังหันก๊าซนี้ ถ้าพิจารณาแล้ว เป็นหลักการเดียวกันกับเครื่องยนต์ดีเซลที่ใช้กับรถยนต์
  4. โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ร่วมกันสองระบบ คือ โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซ กับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนโดยใช้ไอเสียของก๊าซที่ยังร้อนอยู่นำมาต้มน้ำให้เดือน พลังงานไอน้ำที่ได้นำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้อีกเป็นการใช้เชื้อเพลิงให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
  5. โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ โรงไฟฟ้าชนิดนี้จำเป็นต้องมีเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูอยู่ใกล้เพื่อเป็นแหล่งผลิตพลังงานความร้อนนำไปหมุนกังหัน เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ความร้อนที่ได้จากเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูนี้มีมาก ซึ่งได้มาจากปฏิกิริยาการแตกตัวของนิวเคลียร์ เรียกว่า นิวเคลียร์ฟิชชั่น เกิดได้โดยการยิงอนุภาคนิวตรอนเข้าไปชนกับนิวเคลียส เช่น ยูเรเนียม 235 นอกจากจะได้พลังงานความร้อนจากปฏิกิริยาแล้วยังได้นิวตรอนใหม่เกิดขึ้นด้วย และนิวตรอนที่เกิดใหม่นี้จะไปชนนิวเคลียสอื่น ๆ ของเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ต่อไปเช่นนี้เรื่อย ๆ เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ทำให้ได้พลังงานคามร้อนออกมาจำนวนมหาศาล และพลังงานดังกล่าวนี้สามารถนำไปต้มน้ำหรือสารเคมีเหลวที่ความดันสูงทำให้น้ำหรือสารเคมีเหลวที่ถูกต้มมีความร้อนสูงมาก (super heated) แล้วนำน้ำส่วนนี้ไปต้มน้ำอีกระบบหนึ่ง ซึ่งไอน้ำที่พลังงานมากพอที่จะไปหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

4.วงจรไฟฟ้า

เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ทำงานได้เพราะกระแสไฟฟ้าเดินทางจากแหล่งกำเนิดผ่านสายไฟหรือลวดตัวนำ มายังหลอดไฟหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าก่อนย้อนกลับสู่แหล่งกำเนิดไฟฟ้าครบเป็นวงจร ดังนั้นวงจรไฟฟ้าจึงประกอบด้วยแหล่งกำเนิดไฟฟ้า ลวดตัวนำ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

  1. การต่อเซลล์ไฟฟ้าแบบอนุกรมเป็นการต่อเซลล์ไฟฟ้าขั้วบวกกับขั้วลบเรียงกันไปตามลำดับเพื่อให้กระแสไฟฟ้าเดินทางเดียวทำให้หลอดไฟสว่างกว่า
  2. การต่อเซลล์ไฟฟ้าแบบขนานซึ่งเป็นการต่อเซลล์ไฟฟ้าขั้วบวกกับขั้วบวกขั้วลบกับขั้วลบทางเดินไฟฟ้าจะแยกออกเป็น 2 ทางทำให้หลอดไฟสว่างน้อยกว่าแบบอนุกรม

5.ตัวนำไฟฟ้าและฉนวนไฟฟ้า

ถ้าลองปอกสายไฟฟ้าดูข้างในจะเห็นสายเล็กๆ ข้างในทำด้วยลวดทองแดง วัตถุที่ยอมให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านได้เรียกว่า ตัวนำไฟฟ้า ตัวนำไฟฟ้าที่ดีที่สุด คือ เงิน รองลงมาคือ ทองแดง โลหะต่างๆ เป็นตัวนำไฟฟ้าที่ดีส่วนวัตถุที่ไม่ยอมให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านเรียกว่า ฉนวนไฟฟ้า เช่น ยาง พลาสติก กระดาษ และไม้ ส่วนที่หุ้มสายไฟฟ้าไว้เป็นยางหรือพลาสติกเพื่อสะดวกในการใช้และป้องกันอันตรายจากการถูกไฟฟ้าดูด

6.อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ควรรู้จัก

การเดินทางของไฟฟ้าภายในบ้านเรือนนั้นต้องไหลผ่านอุปกรณ์ไฟฟ้าหลายชนิด ดังนี้

  1. มิเตอร์ไฟฟ้า ไฟฟ้าที่ต่อจากเสาไฟฟ้าหน้าบ้านเราจะต้องเดินทางผ่านมิเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นเครื่องวัดพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในบ้าน
  2. แผงไฟ เป็นศูนย์รวมของสายไฟในบ้านและฟิวส์
  3. สะพานไฟ หรือ สวิตช์ตัดตอน ( Cut Out ) เมื่อกระแสไฟฟ้าในบ้านมากเกินไป เครื่องจะตัดไฟโดยอัตโนมัติ
  4. ฟิวส์เป็นลวดหรือแผ่นโลหะที่เป็นตัวนำไฟฟ้าแต่มีจุดหลอมเหลวต่ำ เช่น ดีบุกผสมตะกั่ว ต่อไว้ในวงจรไฟฟ้า ถ้ากระแสไฟฟ้า ถ้ากระแสไฟฟ้าเกินกำหนดหรือไฟฟ้าลัดวงจรฟิวส์จะขาดทำให้วงจรเปิดซึ่งเป็นการป้องกันอุบัติเหตุเพลิงไหม้
  5. ปลั๊กไฟฟ้าเป็นส่วนเชื่อมจากสายไฟสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทต่างๆ ประกอบด้วย เต้าเสียบหรือปลั๊กตัวผู้และเต้ารับหรือปลั๊กตัวเมีย
  6. สวิตช์เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ปิดเปิดวงจรไฟฟ้า มีรูปร่างลักษณะหลายแบบ
  7. หลอดไฟ เป็นอุปกรณ์ให้ความสว่างมีหลายชนิด เช่น หลอดไส้ หลอดฟลูออเรสเซนต์ (นีออน) หลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ (หลอดชนิดนี้กันไฟน้อยกว่าหลอดไส้ อายุการใช้งานนานกว่าและมีความร้อนน้อยกว่าจึงไม่ถ่ายเทความร้อนให้สิ่งแวดล้อมเท่าหลอดไส้แต่มีราคาค่อนข้างแพง)

ความหมายของพลังงาน
ประเภทของพลังงาน
ความสำคัญของพลังงานต่อสิ่งมีชีวิต
พลังงานจากซากดึกดำบรรพ์ (Fossil Fuel)
ปิโตรเลียม (Petroleum)
ก๊าซธรรมชาติ
ถ่านหิน
หินน้ำมัน (Oil Shale)
แก๊สโซฮอล์ (Gasohol)
พลังงานหมุนเวียน
พลังงานน้ำ
พลังงานความร้อนใต้พิภพ
พลังงานแสงอาทิตย์
มวลชีวภาพหรือชีวมวล (Biomass)
พลังงานลม
พลังงานไฟฟ้า
พลังงานนิวเคลียร์
การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน
เครื่องใช้ไฟฟ้า
การประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงจากการใช้จักรยานยนต์
การอนุรักษ์พลังงาน
นโยบายพลังงาน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย