ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

ประวัติและความสำคัญของพระพุทธศาสนา

ความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะศาสนาประจำชาติ

พระธรรมปิฎก (2539 : 1 – 97) ได้กล่าวถึง ความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะเป็นศาสนาประจำชาติ ในประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชนชาติไทยนับตั้งแต่สมัยที่ชนชาติไทยมีประวัติศาสตร์อันชัดเจน ชาวไทยได้นับถือพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่องตลอดมา จนกล่าวได้ว่าประวัติศาสตร์ของประเทศเป็นประวัติศาสตร์ของชนชาติที่นับถือพระพุทธศาสนา

ในด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนไทยได้ผูกพันประสานกลมกลืนกับหลักความเชื่อและหลักปฏิบัติในพระพุทธศาสนาตลอดระยะเวลายาวนาน ชาวไทยทั้งประเทศตั้งแต่พระมหากษัตริย์ ลงมาจนถึงผู้ชายชาวบ้านสามัญชนทั้งหลาย ได้บวชเรียนรับการศึกษาจากสถาบันพระพุทธศาสนา กิจกรรมใหญ่ที่มีความสำคัญของรัฐของชุมชนล้วนแต่มีส่วนประกอบด้านพระพุทธศาสนาเป็นพิธีการ เพื่อเน้นย้ำความสำคัญ และเสริมคุณค่าทางจิตใจ จากความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะศาสนาประจำชาติมีเหตุผลพอที่จะประมวลได้ 10 ประการดังนี้

  1. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ พลเมืองที่นับถือ พระพุทธศาสนา ประมาณร้อยละ 95 หรือพูดได้ว่าคนไทยส่วนใหญ่เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา
  2. พระพุทธศาสนาเป็นแกนนำและเป็นรากฐานสำคัญของวัฒนธรรมไทย วิถีชีวิตของ คนไทยผูกพันอยู่อย่างแนบแน่นกับพระพุทธศาสนา หลักธรรมความประพฤติปฏิบัติ การดำเนิน ชีวิต และกิจกรรมต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนา ได้หล่อหลอมชีวิตจิตใจและลักษณะนิสัยของคนไทยให้เป็นผู้มีจิตใจกว้างขวาง และร่าเริงแจ่มใส เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่แสดงความเป็นมิตร ประเพณีและพิธีการต่าง ๆ ในวงจรชีวิตของแต่ละบุคคลในสังคมล้วนเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาโดยตลอด ภาษาเป็นส่วนประกอบสำคัญของวัฒนธรรม คำบาลี สันสกฤตเป็นส่วนประกอบสำคัญของภาษาไทย คำบาลีมาจากพระพุทธศาสนาโดยตรง ส่วนคำสันสกฤตมาจากพุทธศาสนาบ้างมาจากศาสนาฮินดูบ้าง รวมความแล้วพระพุทธศาสนาก็เป็นแหล่งใหญ่แห่งความเจริญงอกงามของภาษาไทย คำว่า อาหาร รถยนต์ บุตร ครู อาจารย์ ภรรยา อนุบาล มหาวิทยาลัย พิจารณา เกษตร ภัย สหกรณ์ การพาณิชย์ เกษตรกร ประสิทธิภาพ และบริหาร ก็เป็นคำบาลี สันสกฤตทั้งนั้น ยิ่งในภาษาราชการและภาษาทางวิชาการ ก็ยิ่งมีถ้อยคำที่มาจากภาษาบาลี สันสกฤตมากขึ้น
  3. พระพุทธศาสนาเป็นศูนย์รวมจิตใจทำให้เกิดความสามัคคีในหมู่ชนชาวไทย คนที่ จะอยู่ร่วมกันได้ดีมีความพร้อมเพรียงต่อเมื่อมีหลักความเชื่อหรือเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจอย่างหนึ่งอย่างเดียวกัน เป็นเหมือนแกนหรือสายเชือกที่ร้อยประสานกันไว้ หลักความเชื่อหรือเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจทั้งหลายนั้น กล่าวได้ว่า ศาสนาเป็นหลักความเชื่อที่มีกำลังมากที่สุด และเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจที่เหนียวแน่นลึกซึ้งที่สุด ประเทศใดประชาชนทั้งหมดหรือคนส่วนใหญ่นับถือศาสนาเดียวกันก็ต้องนับว่าประเทศชาตินั้นมีโชคดีอย่างยิ่งที่จะไม่ต้องประสบความยากลำบากในการที่จะทำให้ประชาชนมีจิตใจประสานรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และมั่นใจได้ว่าจะสามารถสร้างเสริมความพร้อมเพรียงสามัคคีขึ้นได้โดยง่าย
  4. พระพุทธศาสนามีหลักการที่ดำรงรักษาเสรีภาพในการนับถือศาสนา ประวัติศาสตร์ การนับถือพระพุทธศาสนาของประเทศไทย เสรีภาพของศาสนาเป็นสิ่งที่มีมาเอง ถ่ายทอดกันมาจาก หลักการของพระพุทธศาสนาที่เชิดชูเสรีภาพในการใช้ปัญญา โดยไม่มีการบังคับศรัทธา ประวัติของชนชาติไทยจึงไม่ต้องมีการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพในการนับถือศาสนา อย่างที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องรุนแรงมากในหลายประเทศในหลายสังคม แม้เพียงขันติธรรมต่อกันระหว่างศาสนาก็เป็นสิ่งที่ได้มาแสนยาก แต่สำหรับสังคมไทยชาวพุทธมิใช่มีเพียงขันติธรรมเป็นปกติธรรมดาเท่านั้น แต่ยังมีความสัมพันธ์เชิงบวก คือถึงกับช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน หรือประสานร่วมกันด้วยเมตตา กรุณาช่วยเหลือศาสนาต่าง ๆ ที่แตกต่างหลากหลาย สามารถอยู่ร่วมกันด้วยดี ถ้าไม่มีพระพุทธศาสนาคอยเอื้ออยู่เป็นบรรยากาศทั่วไปของสังคมที่คอยช่วยประสานไว้ ความขัดแย้งระหว่างศาสนาต่าง ๆ จะมีโอกาสเกิดได้มากขึ้น การที่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของประชาชนส่วนใหญ่จึงเป็นเครื่องช่วยรักษาเสรีภาพของศาสนา และช่วยส่งเสริมให้ศาสนาต่าง ๆ อยู่ร่วมกันด้วยดี

    ในจดหมายเหตุ การเดินทางของพระสังฆราชแห่งเบริธ ประมุขมิสซัง เข้าสู่อาณาจักรโคจินจีน (กรมศิลปากร. 2530) ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บาทหลวงฌอง เดอบูรซ์ ได้บันทึกไว้ตอนหนึ่ง (หน้า 52) ว่า “ ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าจะมีประเทศใดในโลก ที่มีศาสนาอยู่มากมายและแต่ละศาสนาสามารถปฏิบัติพิธีการของตนได้อย่างเสรีเท่ากับประเทศสยาม ” และอีกตอนหนึ่ง (หน้า 52) ว่า “ ความคิดของชาวสยามที่ว่าทุกศาสนาดี ดังนั้นพวกเขาจึงไม่แสดงตนเป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนาอื่นใด หากศาสนานั้น ๆ สามารถยืนหยัดอยู่ได้ภายในกฎหมายของรัฐ”

    ในสมัยรัตนโกสินทร์เช่นกัน ในหนังสือบันทึกเรื่องมิสซังแห่งกรุงสยาม (กรมศิลปากร. 2524) โดยมุขนายกฌอง แบปตีสต์ ปาลเลอกัลซ์ ก็ได้เขียนไว้ว่า “ นับแต่โบราณกาลผู้ปกครองของไทยมีเจตนารมณ์อันดีงามที่จะปล่อยให้แต่ละชาติปฏิบัติพิธีการทางศาสนาของตนได้อย่างเสรี นี่เองคือเสรีภาพในส่วนที่เกี่ยวกับการนับถือศาสนา อันเป็นสิ่งที่คนทั้งหลายได้ชื่นชมกันอยู่ในราชอาณา จักรแห่งนี้ ”

    พระพุทธศาสนา มีท่าทีที่ดีแสดงออกถึงความเอื้อเฟื้อต่อศาสนาอื่นทุกศาสนา ตลอดมา เป็นศาสนาที่ยึดถือหลักการแห่งเสรีภาพในการใช้ปัญญา การที่พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำ ชาติ ทำให้มั่นใจได้ว่า พระพุทธศาสนาจะดำรงอยู่ได้ และช่วยให้ศาสนาอื่นๆ ทั้งหลายอยู่ร่วมกันได้ด้วยดีในบรรยากาศแห่งความมีเสรีภาพทางศาสนาด้วย
  5. พระพุทธศาสนาเป็นสถาบันคู่ชาติไทย ชนชาติไทยได้นับถือพระพุทธศาสนาสืบต่อ กันมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน กิจการและเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ มากมายในบ้านเมือง เรื่องราวพระพุทธศาสนาเกี่ยวข้องกับวัด ในยุคปัจจุบันก็ยังมีคำขวัญที่ถือกันต่อ ๆ มาว่า ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ อันเป็นความหมายที่แสดงโดยสีทั้งสามของไตรรงค์ซึ่งเป็นธงชาติไทย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นสถาบันหลักของประเทศ ที่ดำรงอยู่คู่เคียงกันโดยเฉพาะ ศาสน์ หรือ ศาสนานั้นย่อม หมายถึง พระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสถาบันหลักคู่กับประวัติศาสตร์ชาติไทย พระมหากษัตริย์ ทุก ๆ พระองค์ทรงตรัสในฐานะผู้นำของประเทศ แทนเสียงของพสกนิกรของพระองค์ พระพุทธศาสนาเป็นเครื่อง หมายแห่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศไทย ของคนไทย และกล่าวได้โดยชอบธรรมว่า พระพุทธศาสนาเป็นสถาบันคู่ชาติของประเทศไทย
  6. พระพุทธศาสนาสอดคล้องกับลักษณะนิสัยของคนไทยที่รักความเป็นอิสรเสรี ชาวไทย เป็นชนชาติที่รักความเป็นอิสรเสรี ไม่ยอม และทนไม่ได้ที่จะอยู่ใต้อำนาจบังคับของใครชนชาติไทยรักษาเอกราชของชาติมาได้โดยตลอด รอดพ้นจากความเป็นเมืองขึ้นของประเทศนักล่าอาณานิคมมาได้ ชาวไทยรักความเป็นอิสระส่วนตัวชอบเป็นตัวของตัวเอง ความเป็นชาติและเป็นชนที่รักอิสรเสรีภาพ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งอิสรภาพ จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาเรียกว่า วิมุติ

    คำว่า วิมุตติ แปลว่า ความหลุดพ้นจากสิ่งผูกรัดบีบคั้น ครอบงำ ไม่ต้องขึ้นต่อใคร การประพฤติปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนา เป็นการดำเนินในแนวทางของความเป็นอิสระ ศรัทธาจะต้องมีปัญญาควบคุม และต้องนำไปสู่ปัญญา เพราะปัญญาทำให้พึ่งตนเองได้เป็นอิสระ ตามหลักการที่ว่า ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน พุทธพจน์บทหนึ่งแสดงคติขอพระพุทธศาสนาว่า สพฺพํ ปรวสํ ทุกฺขํ สพฺพํ อิสฺสริยํ สุขํ แปลว่า การอยู่ใต้อำนาจคนอื่นเป็นทุกข์ทั้งสิ้น อิสรภาพเป็นสุขทั้งสิ้น (ขุ.อุ. 25/63/99)
  7. พระพุทธศาสนาเป็นแหล่งสำคัญที่หล่อหลอมเอกลักษณ์ของชาติไทย เอกลักษณ์ไทย ได้แก่ ความมีน้ำใจ เมตตาอย่างเป็นสากล ความรู้สึกผ่อนคลาย สบาย ๆ เรื่อย ๆ ปลงใจได้ ไม่ชอบความรุนแรง และความรู้จักประสานประโยชน์ พระพุทธศาสนาเป็นแหล่งสำคัญที่หล่อหลอมให้เกิดเอกลักษณ์เป็นแกนร้อยประสานเอกลักษณ์เหล่านี้ ความมีน้ำใจเป็นไมตรีอย่างสากลไม่แบ่งพวกแบ่งหมู่ ไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา พระพุทธศาสนาถือว่ามนุษย์ และสัตว์ล้วนเป็นเพื่อนทุกข์ มีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดาเสมอกันทั้งสิ้น ต่างก็มีกรรมเป็นของตน เป็นไปตามอำนาจของกรรมที่ตนกระทำเช่นเดียวกัน คนไทยมีจิตใจที่ไม่ยึดติดถือมั่นอย่างรุนแรงต่อสิ่งทั้งหลาย แม้จะเกิดความเสื่อมความสูญเสีย ความพลัดพราก ก็ยอมรับความจริงได้ง่าย ปลงใจได้ ไม่เศร้าโศกเสียใจมากเกินไป เรื่องที่ถูกเบียดเบียนบีบคั้นข่มเหงก็ลืมง่าย ไม่ผูกใจโกรธนาน ไม่เครียด ไม่พยาบาทจองเวร ไม่ชอบความรุนแรง คุณลักษณะทั้งหลายจะเป็นที่ยอมรับเชื่อถือปฏิบัติกันจนเคยชิน ได้รับการปลูกฝังถ่ายทอดเป็นเอกลักษณ์ของชาติ
  8. พระพุทธศาสนาเป็นมรดก และเป็นคลังสมบัติอันล้ำค่าของชนชาติไทย ความเชื่อและ คุณธรรมต่าง ๆ เป็นสมบัติประจำตัวของชาวพุทธ เป็นมรดกทางจิตใจ นอกจากนั้นพระพุทธศาสนา ยังเป็นมรดก และคลังสมบัติด้านรูปธรรมที่มีคุณค่าของชนชาติไทย อาทิ โบราณสถาน โบราณวัตถุ เป็นหลักฐานเพื่อสืบค้นทางประวัติศาสตร์ของชาติ มีคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม และคุณค่าทางเศรษฐกิจ แรงศรัทธาของชนในชาติก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานทั้งด้านวัตถุสถาน และโบราณสถาน ทำให้ดึงดูดความสนใจของคนต่างถิ่น และต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวนำเงินตราเข้ามาซื้อสินค้า และบริโภคอาหาร ทำให้ประชาชนจำนวนมากมีงานทำ และช่วยเพิ่มพูนรายได้ของประเทศชาติ ประวัติศาสตร์ของชาติไทย ได้อาศัยโบราณสถาน และโบราณวัตถุในพระพุทธศาสนา เป็นหลักฐานสืบค้น นอกจากนั้นยังมีวรรณกรรม ตำนาน หรือวรรณคดีต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนา หรือนิพนธ์ขึ้นโดยพระภิกษุ ศิลปะไทยทุกสาขาทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม วรรณศิลปในกวีนิพนธ์ วรรณกรรมพื้นบ้าน ดนตรี ส่วนมากเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ใน พระพุทธศาสนา แสดงถึงเอกลักษณ์ของชาติ เป็นมรดก และเป็นคลังสมบัติอันมีค่ายิ่งของชาติไทย

     
  9. พระพุทธศาสนาเป็นหลักนำทางในการพัฒนาชาติไทย การพัฒนาประเทศให้บรรลุ ความสำเร็จที่ดีงาม ไม่ใช่พัฒนาด้านวัตถุเพียงอย่างเดียว ความรุ่งเรืองมั่งคั่ง มั่นคง และเกิดสันติสุขได้นั้น ต้องพัฒนาทางด้านจิตใจไปพร้อม ๆ กันด้วย จากปัญหาที่เกิดขึ้นทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ได้ทวีความรุนแรงขึ้น เศรษฐกิจตกต่ำ สถิติคนว่างงานเพิ่มขึ้น ความยากจนขยายไปทั่วทั้งในเมือง และชนบท สาธารณสุขมูลฐานยังขาดแคลน สุขภาพกาย และสุขภาพจิต เสื่อมโทรมลง คนเป็นโรคจิตโรคประสาทมากขึ้น ผู้คนขาดระเบียบวินัย การจราจรเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น ความไม่ปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน ปัญหาอาชญากรรม การฉ้อราษฎร์บังหลวง ความเสื่อมโทรมทางด้านวัฒนธรรมมีกระแสรุนแรงเกิดค่านิยมที่ไม่พึงปรารถนา และไม่เอื้อต่อการพัฒนา อาทิ ค่านิยมบริโภค นิยมความฟุ้งเฟ้อ ปัญหายาเสพติด

    เยาวชนจำนวนมากทำลายอนาคตของตนเอง และก่อปัญหาแก่สังคมโดยเป็นผลสืบเนื่องจากการติดยาเสพติด ปัญหาสิ่งแวดล้อม แหล่งต้นน้ำลำธารถูกทำลาย ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ผลิตผลทางการเกษตรตกต่ำ เกิดปัญหาการตลาด มีการเอารัดเอาเปรียบกันมากขึ้น แม้ในประเทศที่พัฒนาแล้วก็ส่งเสริมด้านวัตถุ ส่วนด้านจิตใจก็พัฒนาเฉพาะที่เกี่ยวกับรูปธรรม เช่น นิสัยการทำงาน และการเคารพกฎเกณฑ์ เป็นต้น แต่ปัญหาทางด้านจิตใจเพิ่มมากขึ้นเป็นความทุกข์ใจ ความเครียดกระวนกระวาย ความรู้สึกแปลกแยก เร่าร้อนเพราะกิเลส มีโลภะ โทสะ โมหะ เมื่อแก้ไข และหาทางออกไม่ถูกต้องก็ย้อนกลับไปสู่ปัญหาสังคม เช่น โรคจิต เกิดการฆ่าตัวตายสูงขึ้น เยาวชนมั่วสิ่งเสพติด เกิดพฤติกรรมวิปริตทางเพศ เกิดการละทิ้งสังคม และกฎเกณฑ์ของสังคม เกิดการแข่งขัน และหวาดระแวงกัน บทเรียนจากการพัฒนาสอนให้รู้ว่าการพัฒนาจะต้องกระทำทุกด้าน ไม่ใช่ด้านวัตถุอย่างเดียว ต้องหันมาเน้นด้านการพัฒนาคนโดยเฉพาะจิตใจ ให้เกิดคุณธรรมจริยธรรม และมีสุขภาพจิตที่ดี คำสอนในพระพุทธศาสนามีศูนย์รวมอยู่ที่การพัฒนาคน สถาบันศาสนา คือ พระสงฆ์และวัด มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ เป็นศูนย์กลางการศึกษาศิลปวัฒนธรรม คนมีการศึกษาใช้ความรู้หลักธรรมวินัย และความรู้ทางวิชาการ นำไปใช้ในการดำเนินชีวิต ประกอบอาชีพให้เกิดความเจริญก้าวหน้า และเกิดความสงบร่มเย็นในสังคม วัฒนธรรมจากประเทศตะวันตกได้รับการสถาปนาเป็นหลักของบ้านเมือง มุ่งเน้นการพัฒนาด้านวัตถุ ทำให้บทบาทของวัด พระสงฆ์ และพระพุทธศาสนาลดน้อยลง เหลือบทบาทเพียงการให้บริการด้านสถานที่ อุปกรณ์ของวัด การให้กำลังใจ และการประกอบพิธีกรรมเท่านั้น ปัจจุบันวัด และพระสงฆ์จะได้รื้อฟื้นบทบาทในการพัฒนา โดยปรับตัวปรับวิธีการ ปรับบทบาท ให้ชัดเจนมีขอบเขตมีหลักธรรมนำทาง ต้องประสานสอดคล้องรวมกำลังนำหลักธรรมหมวดใหญ่ ไปพัฒนาคน พระพุทธศาสนาสอนให้พัฒนาคนทั้ง 4 ด้าน ได้แก่

    กายภาวนา คือ การพัฒนาร่างกาย โดยสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ได้แก่ ปัจจัย 4 ความสัมพันธ์กับอาหาร ได้แก่ การรับประทานตามหลักโภชนาการ ไม่ใช่เพื่อความอร่อย แสดงฐานะสัมพันธ์กับโทรทัศน์ก็เพื่อดูข่าวสารแสวงหาความรู้ ส่งเสริมปัญญา ไม่ใช่หมกมุ่นความสนุกสนานเพลิดเพลิน

    ศีลภาวนา คือ การพัฒนาศีล ไม่ก่อการเบียดเบียนให้ผู้อื่นเดือดร้อน ประพฤติตนมี ระเบียบวินัย ขยันหมั่นเพียร ฝึกอบรมกายวาจาให้เป็นประโยชน์

    จิตภาวนา คือ การพัฒนาจิต ให้มีคุณธรรม มีเมตตากรุณา มีความกตัญญู เสียสละ มีความเพียร มีขันติ มีสมาธิ มีสัจจะ และเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ต่อจุดหมาย มีความร่าเริงแจ่มใส

    ปัญญาภาวนา คือ การพัฒนาปัญญา มีความรู้ความเข้าใจรู้แจ้งชัด ใช้ความรู้แก้ไข ปัญหาทำให้เกิดความสุขได้ รู้เข้าใจโลก และชีวิตตามความเป็นจริง ตามเหตุปัจจัย ทำให้จิตใจเป็นอิสระหลุดพ้นจากกิเลส และความทุกข์โดยสิ้นเชิง การศึกษาพระพุทธศาสนาให้เข้าใจชัดเจนรู้จักเลือกจับธรรมให้ถูกหลักแล้วนำมาใช้อย่างฉลาด ปฏิบัติให้รอบด้านครบวงจร การพัฒนาทางวัตถุและจิตใจเป็นการพัฒนาทั้งคน และสิ่งที่ตนไปพัฒนา เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดในอดีตและเสริมสิ่งที่ขาดในปัจจุบัน ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทใน ธรรมเอาใจใฝ่ธรรมขวนขวายที่จะแก้ไขและสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลามีการพัฒนา ก็ยากที่จะล้มเหลว พระพุทธศาสนา เป็นแกนนำพัฒนาประเทศไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง เกิดความเจริญ และ สันติสุขอย่างแท้จริง
  10. พระพุทธศาสนาเป็นแหล่งของดีมีค่าที่ชนชาติไทยมอบให้แก่อารยธรรมของโลก ชนชาติไทยเป็นชนชาติเก่าแก่ มีวัฒนธรรมที่เจริญก้าวหน้ามาตลอดระยะเวลายาวนาน มีส่วนในการสร้างอารยธรรมของโลก คือศิลปวัฒนธรรมไทย มีเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ศิลปวัฒนธรรมไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นแหล่งกำเนิดใหญ่

    สังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไปมากคนไทยหันไปสนใจสิ่งที่แปลกใหม่ ที่ยอมรับกันว่าเป็นความเจริญจากตะวันตก และรับเอาวัฒนธรรมภายนอกเข้ามาจำนวนมาก ทั้งระบบการต่าง ๆ และเทคโนโลยี สิ่งบริโภค ศิลปวัฒนธรรมไทยถูกเมินเฉยละเลย ทอดทิ้งบางส่วนได้เลือนรางหดหาย หรือถูกตัดตอนหมดไป ส่วนวัฒนธรรมใหม่จากภายนอกหลั่งไหลเข้ามาอย่างรวดเร็ว การพัฒนาสภาพสังคมไทยปรากฏเด่นชัดในปัจจุบัน คือมีค่านิยมตามแบบอย่างของวัฒนธรรมตะวันตก โดยการตกอยู่ในภาวะเป็นผู้ตาม

    การรับเอาโดยไม่คิดตามไม่เป็นตัวของตัวเองทำให้เป็นผู้เสพหรือผู้บริโภค ไม่ได้ช่วยพัฒนาแม้แต่วัฒนธรรมหรือของใหม่ที่รับเข้ามา แทบไม่มีส่วนในการสร้างเสริมอารยธรรมของโลก ของที่รับมาจากเขาหรือทำตามอย่างเขา เขาเองก็มีอยู่แล้วหรือมีดีเหนือกว่า เมื่อจะแสดงอะไรที่เป็นของตนเองแก่คนพวกอื่น ก็หันไปหยิบยกศิลปวัฒนธรรมสมัยเก่า ๆ มาอวด คนพวกอื่นจากภายนอกเข้ามาเยี่ยมเยือนศึกษามองหาความเป็นไทยของดีของไทยก็ชื่นชมเห็นคุณค่าแต่เฉพาะศิลปวัฒนธรรมไทยที่สืบกันมาหลงเหลือจากอดีต พากันนำไปเผยแพร่กล่าวขวัญ ไม่ได้ชื่นชมตึกระฟ้า รถยนต์โอ่อ่ารุ่นล่าสุด เครื่องบินยักษ์จัมโบ้ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

    ซึ่งพวกเขาก็มีเห็นได้ที่อื่น และดีกว่าก้าวหน้ากว่า การมีวัตถุอุปกรณ์และระบบต่าง ๆ ที่จัดว่าทันสมัย มีคุณค่ามีประโยชน์เป็นสิ่งที่ดี แต่การที่จะให้เขาเห็นคุณค่าเคารพนับถือจริง และได้ชื่อว่ามีส่วนร่วมสร้างเสริมอารยธรรมของโลกนั้น จะต้องมีดีที่เขามีแล้ว มีดีที่เขาไม่มีหรือทำให้ดีเหนือ กว่าในสิ่งที่เขามี คนไทยจะต้องช่วยกันคิดพัฒนาประเทศอย่างไร ให้เรามีสิ่งที่ดีมีคุณค่าจากภูมิธรรม ภูมิปัญญาของเราเอง พระพุทธศาสนาช่วยให้ชนชาติไทยมีศิลปวัฒนธรรมที่เจริญก้าวหน้าและเป็นสถาบันหลักของชาติ ในปัจจุบันรอเวลาความสามารถของคนไทยที่จะนำศักยภาพ พระพุทธศาสนาที่มีอย่างสูง เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการร่วมพัฒนาภูมิธรรม ภูมิปัญญาของมนุษยชาติ ประเทศที่เจริญแล้วได้เห็นว่าประเทศจะเจริญก้าวหน้าด้านวัตถุ และระบบการต่าง ๆ เต็มไปด้วยปัญหามาก มายนานัปการ ที่ยังแก้ไขไม่ได้ และที่เกิดขึ้นมาใหม่ ไม่สามารถบรรลุสันติสุขที่แท้จริง วัฒนธรรม และอารยธรรมของเขาได้ดำเนินมาผิดพลาด คงขาดปัจจัย หรือองค์ประกอบสำคัญบางอย่างไป และได้พากันแสวงหาวิถีทางที่ถูกต้องหรือปัจจัยที่สำคัญที่ขาดไป ในที่สุดก็ได้มาพบคำตอบในพระพุทธ ศาสนา มองเห็นว่าพระพุทธศาสนาสามารถชี้และชักจูงไปสู่วิถีทางแห่งการพัฒนาที่ถูกต้อง เข้าถึงชีวิตที่มีความหมาย และความสุขที่แท้จริงได้ สิ่งที่ขาดไปในอารยธรรมของชนชาติที่พัฒนาแล้ว ก็คือ พัฒนาด้านจิตปัญญา หรือการพัฒนาจิตใจและพัฒนาปัญญา จะทำให้การพัฒนาอารยธรรมได้ดำเนินไปอย่างถูกต้องสมบูรณ์ ส่งผลให้มนุษยชาติประสบความสันติสุข และอิสรภาพได้ตามความมุ่งหมาย

    ในทางตรงกันข้ามประเทศที่ด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา กลับปล่อยให้พระพุทธศาสนาเสื่อมโทรมสูญหายไปจากประเทศของตนถึงกับตั้งเจตนาตัดรอนหรือทำลายล้างเสียก็มี ที่เป็นเช่นนี้เพราะประเทศด้อยพัฒนานับถือพระพุทธศาสนาตั้งแต่ครั้งที่คนยังมีความเจริญน้อย การยอมรับนับถือในครั้งนั้นก็คือ ตกลงที่จะปฏิบัติจากจุดที่ตนยังอยู่ห่างไกลจากหลักการของพระพุทธศาสนา ให้ก้าวหน้าไปในทิศทางที่จะเข้าถึงพระพุทธศาสนามากขึ้นตามลำดับ ได้รับเอาแต่หลักการและคุณค่าบางประการ ที่ตนรู้เข้าใจและใช้ประโยชน์ได้ในเวลานั้นหรือเท่าที่ผู้เผยแพร่หลักธรรมในยุคนั้นจะสามารถนำเสนอได้ ต่อมาเมื่อปฏิบัติเจริญก้าวหน้าไปบ้างระยะหนึ่งก็กลับเสื่อมคลายลง ด้วยเหตุการณ์ทางการเมือง มีศึกสงคราม ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมที่ไม่เอื้ออำนวยบ้าง ศาสนศึกษา และสถาบันศาสนาเสื่อมโทรมบ้าง ความเชื่อถือหรือลัทธิศาสนาอื่นเข้ามาปะปนบ้าง รวมทั้งภูมิหลัง ซึ่งไม่มีพื้นฐานที่หนักแน่นเพียงพอ ที่จะประสานต่อเนื่องกับคุณค่าใหม่ได้ดี

    เมื่อมีความเจริญก็ต้องมีความเสื่อมสลับตลอดระยะเวลายาวนาน ปัจจุบันสภาพการนับถือพระพุทธศาสนา ได้อยู่ในสภาพที่เฉื่อยชา แสดงถึงความเสื่อม ศาสนิกชนอยู่ห่างไกลจากหลักการพระศาสนา หรือดึงเอาหลักการของพระศาสนาลงมาปรับให้เข้ากับสภาพของตน ความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงในพระศาสนามีน้อย พระพุทธศาสนาถูกพอกด้วยความเชื่อถือ และข้อปฏิบัติที่เข้ามาปะปนจากภายนอกเป็นอันมาก เมื่อมีวัฒนธรรมจากประเทศตะวันตก ได้หลั่งไหลเข้ามาประชาชนเห็นว่าดีเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่ตนไม่มี โดยเฉพาะความเจริญด้านวัตถุได้หันให้ความสนใจรับเอามาใช้อย่างชื่นชม เป็นเหตุให้ละเลยไม่เอาใจใส่ศาสนาศิลปวัฒนธรรมของตน

    การที่ไม่ใส่ใจและไม่รู้จักจะใช้ประโยชน์จากพระพุทธศาสนาเพราะตนเองไม่มีความรู้และไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจ ถือว่าไม่ได้ประโยชน์จากสิ่งที่ดีที่ตนเองมีในที่สุดก็มองไม่เห็นคุณค่า พระพุทธศาสนาจึงค่อย ๆ เสื่อมโทรมลง ประเทศเหล่านี้สนใจแต่สิ่งดีที่ตนไม่มี ไม่ใส่ใจสิ่งดีที่ตนมี ซ้ำร้ายยังไม่เพียรพยายามทำสิ่งที่ดีที่ตนไม่มี ให้มีขึ้นเป็นของตนเองโดยไม่ต้องคอยรับเอาจากพวกอื่น จากสภาพที่เป็นไปของประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศด้อยพัฒนาทั้งสองฝ่ายเป็นบทเรียนที่มีค่าสำหรับคนไทย

    ฝ่ายแรก
    มีสิ่งดีที่ตนทำได้เป็นของตนเอง คือ มีความเจริญด้านวัตถุ และระบบการต่าง ๆ แสวงหาสิ่งดีที่ตนไม่มี หรือมีไม่พอ คือ การรับเอาคุณค่าทางจิตปัญญา จากพระพุทธศาสนา เพื่อต่อเติมส่วนที่ตนยังขาดอยู่ให้บริบูรณ์

    ฝ่ายหลัง สิ่งดีที่ตนไม่มี ตนอยากจะได้ คือ อยากได้คอยรับเอาความเจริญทางวัตถุที่ตนไม่มี และที่ตนทำไม่ได้ ส่วนสิ่งดีที่ตนมีก็ไม่อยากจะได้ หรือไม่ใส่ใจ ละเลยทอดทิ้งคุณค่าทางจิตปัญญา ในพระพุทธศาสนาที่ตนมีอยู่แล้ว ไม่รู้จักศึกษานำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ฝ่ายแรกกำลังจะมี หรือทำให้มีครบทั้งสองอย่าง ส่วนฝ่ายหลังกำลังจะหมด หรือทำให้ไม่มีทั้งสองอย่าง จะเห็นว่าฝ่ายแรกปฏิบัติถูกต้อง และกำลังจะก้าวเข้าสู่ความสมบูรณ์ ฝ่ายหลังปฏิบัติผิด และกำลังจะไม่มีอะไรเหลือเป็นของตนเองแม้แต่อย่างเดียว
พระรัตนตรัย
ประวัติพระพุทธศาสนาโดยสังเขป
โครงสร้างหลักของพระพุทธศาสนาและความสำคัญของพระพุทธศาสนา
ความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะศาสนาประจำชาติ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย