สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>
สาระน่ารู้เรื่องดวงตา
เรียบเรียงโดย พ.ท.หญิง พรพิมล รักอาชีพ
ดวงตาเป็นอวัยวะที่สำคัญต่อชีวิต
ทุกคนต้องการให้ดวงตาอยู่คู่กับเราไปตลอดชีวิต
ฉะนั้นการดูแลรักษาดวงตาจึงมีความสำคัญควรดูแลตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยสูงอายุดังนี้
วัยแรกเกิด
ต้องระวังทารกแรกเกิดจากเชื้อหนองในซึ่งเป็นกามโรคชนิดหนึ่ง
ทารกจะได้รับเชื้อโรคขณะคลอดผ่านช่องคลอดของมารดาออกมา พออายุ 2 - 3 วัน
จะมีตาบวมแดง มีหนองข้นที่ตา ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา
ทารกจะตาบอดเพราะเชื้อโรคทำลายตาดำให้เป็นแผลทะลุ โรคนี้สามารถป้องกันได้ โดย
ขณะมารดาตั้งครรภ์ควรฝากครรภ์กับแพทย์ ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น ตกขาวมาก ปัสสาวะแสบ
ต้องบอกให้แพทย์ทราบเพื่อหาทางรักษา ที่สำคัญคุณพ่อต้องไม่ไปหาโรคมาให้คุณแม่
โดยทั่วไปเมื่อทารกคลอดใหม่ ๆ แพทย์ พยาบาลจะหยอดตาป้องกันเชื้อโรคหนองในทุกคน
สำหรับทารกแรกเกิดที่คลอดก่อนกำหนดมากมักพบปัญหาทางด้านสายตาได้บ่อย
ก็ควรจะมีการตรวจตา โดยจักษุแพทย์ผู้ชำนาญเป็นประจำ ตามที่แพทย์แนะนำใน ช่วง 6
เดือน ถึง ขวบปีแรกๆ แม้ว่าการตรวจตาในครั้งแรกจะไม่พบความผิดปกติ
วัยก่อนเรียน เด็กควรได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน
เพื่อป้องกันปัญหาทางดวงตาที่อาจเกิดจากการขาดอาหารโดยเฉพาะโปรตีนและวิตามินเอ
ทำให้เด็กตาแห้ง ตาดำด้านไม่เป็นเงา
ตาดำเปื่อยเป็นแผลอาจทะลุตาบอดได้สาเหตุการขาดอาหารโปรตีน วิตามินเอ
เนื่องจากการเลี้ยงลูกด้วยนมข้นหวานแทนนมแม่ หรือ เป็นที่ตัวเด็กเอง
กินแล้วไม่ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย เช่น ท้องเดิน ท้องเสีย มีไข้ เป็นหัด
ทำให้ร่างกายต้องการสารอาหารมากกว่าปกติ นอกจากนี้
เด็กทุกคนควรได้รับอาหารเสริมเมื่ออายุ 6 เดือนด้วย เช่น ไก่ ไข่ เนื้อสัตว์ ตับ
ผักสีเขียวฟักทอง มะละกอสุก
อันตรายอีกอย่างในวัยนี้คือการได้รับอุบัติเหตุบริเวณดวงตา
เนื่องจากเด็กวัยนี้มักซุกซนอยากรู้อยากเห็น
ถ้าขาดผู้ใหญ่ดูแลใกล้ชิดเด็กไปเล่นของมีคม หรือไปแหย่สัตว์เลี้ยงเช่น นก ไก่
อาจถูกของมีคมทิ่มตา หรืออาจถูกสัตว์เลี้ยงจิกตาได้
การสังเกตพัฒนาการของลูกก็เป็นสิ่งสำคัญ
คุณพ่อคุณแม่ต้องดูว่าลูกมีปัญหาเรื่องสายตาและการมองเห็นหรือเปล่า
โดยดูจากสัญญาณเตือนเหล่านี้เช่นตาเข ตาเหล่/ชอบเอียงศีรษะ ไปด้านใด
ด้านหนึ่ง/มีน้ำตาไหลเอ่อ ตลอด หรือมีการติดเชื้อ ของตาบ่อยๆ/มีแก้วตา หรือ เลนส์ตา
ขุ่น ตาแดง หนังตาบวม หรือ ลูกตา ดูใหญ่ผิดปกติ/หนังตาตก ปิดได้ไม่เท่ากัน เป็นต้น
ควรพบจักษุแพทย์
วัยเรียน วัยรุ่น ควรระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดต่อดวงตา
ที่พบมากคือการที่ตาถูกกระทบกระเทือนจากการเล่น อุบัติเหตุจากการทำงาน นอกจากนี้
ในวัยนี้ยังพบเด็กมีสายตามัวจากสายตาสั้นได้บ่อย แม้ว่าสายตาสั้นจะไม่ทำให้ตาบอดได้
แต่ทำความกังวลให้กับเด็กและพ่อแม่
การแก้ไขสายตาสั้นคือการสวมแว่นสายตาที่เหมาะสมปัจจุบันได้มีการพิสูจน์แล้วว่าสายตาสั้น
หรือ
สายตายาวเป็นลักษณะที่กำหนดตายตัวมาแล้วตั้งแต่อยู่ในท้องแม่การใช้สายตาดูหนังสือภายใต้หลอดไฟนีออนการดูโทรทัศน์
ไม่มีส่วนทำให้สายตาสั้นหรือสายตายาว ช่วงวัยนี้พ่อ แม่
สามารถสังเกตหรือสอบถามลูกถึงอาการผิดปกติได้ เช่น
บางครั้งลูกอาจมีอาการปวดศีรษะบ่อยๆ/มองเห็นภาพไม่ชัด มองเห็นภาพซ้อน /มีพฤติกรรม
เปลี่ยนไป หรือ การเรียนแย่ลง/ชอบหยีตา เขม่นตา หรือเข้าไป ดูใกล้ๆ ( ก้มหน้า
อ่านหนังสือ จนชิดโต๊ะ ฯลฯ) หรือไม่สามารถ บอกสี ได้ถูกต้อง
แยกของที่มีสีต่างๆได้ไม่ดีนัก (ตาบอดสี) ควรพาลูกไปพบจักษุแพทย์
วัยกลางคน บุคคลในวัยนี้ สายตาเริ่มเปลี่ยน
การมองเห็นที่ระยะใกล้จะไม่ชัดเหมือนเดิม การตรวจสายตามักจะพบสายตายาว
ควรตัดแว่นตาสวมใส่
วัยชรา โรคทางตาหลายอย่างเริ่มเบียดเบียน เช่น ต้อกระจก
ตาเสื่อมจากเบาหวาน ต้อหิน ม่านตาอักเสบ ประสาทตาลอก ศูนย์กลางประสาทตาเสื่อม
ฉะนั้นควรให้พบแพทย์ตรวจเช็คสุขภาพของตาทุกปี
ถ้าพบความผิดปกติแพทย์จะได้รักษาได้ทันก่อนที่จะเสียดวงตาไป
วิธีการถนอมดวงตา
- หลีกเลี่ยงโรคติดต่อที่มีอันตรายต่อตา เช่น โรคหนองใน ตาแดง
- เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และให้อาหารเสริมแก่เด็กตามวัย ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น เนื้อ นม ไข่ ตับ ผักใบเขียว ผลไม้
- กรณีผงเข้าตา ไม่ควรขยี้ตาเมื่อมีฝุ่นเข้าตา ให้ล้างด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำยาล้างตา ตามความเชื่อเกี่ยวกับการนวดบริเวณรอบดวงตานั้น ข้อเท็จจริงไม่จำเป็นต้องกดนวดดวงตา หรือกรอกตาไปมา ถ้ามีอาการเมื่อยตา ตาล้า จากการใช้สายตามาก ควรพักสายตาโดยการหลับตาชั่วครู่ หรือมองออกไปไกลๆ
- ควรสวมแว่นตาทุกครั้งที่ต้องเจอแสงแดด หรือขับขี่รถยนต์ เพื่อป้องกันแสงอัลตราไวโอเล็ต (UV) /ลมและฝุ่นละอองเข้าตา
- สวมแว่นว่ายน้ำ (goggled) ทุกครั้งขณะว่ายน้ำ เพื่อป้องกันน้ำยาคลอรีนและเศษผงเข้าตา
- ต้องใช้คอมพิวเตอร์ในที่แสงสว่างเพียงพอ และนั่งห่างจากจอ 50 -70 เชนติเมตร กะพริบตาบ่อยๆ ปรับแสงหน้าจอและขนาดตัวหนังสือให้พอเหมาะ
- สำหรับผู้หญิงไม่ใช้เครื่องสำอางปะปนกับผู้อื่น โดยเฉพาะเครื่องสำอางที่ใช้กับดวงตา และไม่ใช้เครื่องสำอางที่หมดอายุ
- ควรสวมแว่นป้องกันการกระแทก (protective eye glass) เมื่อต้องทำงานประกอบอาชีพบางชนิด หรือเล่นกีฬาบางอย่าง
- รับประทานอาหารที่มีคุณค่าอย่างครบถ้วน
- หมั่นรับการตรวจตาเป็นประจำโดยจักษุแพทย์
- สำหรับเด็ก ควรพบจักษุแพทย์อย่างน้อยในช่วงอายุ 3-5 ขวบก่อนเข้าโรงเรียน และหลังจากนั้นเป็นประจำในแต่ละช่วงระดับชั้น หรือเมื่อมีปัญหาเรื่องมองเห็นไม่ชัดซึ่งอาจเกิดจากปัญหาสายตา
- สำหรับผู้สูงอายุ เกิน 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจตาปีละ 1 ครั้ง
- ในกรณีพิเศษที่ต้องได้รับการตรวจตาบ่อยขึ้น ได้แก่ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคทางกาย เช่น โรคเบาหวาน หรือมีประวัติโรคตาในครอบครัว เช่น ต้อหิน มะเร็งจอประสาทตา เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
- การถนอมดวงตา. นายแพทย์ ธีระพงษ์ ทังสุบุตร โรงพยาบาลราชวิถี
- การทะนุถนอมดวงตา. นพ.ประสงค์ พฤกษานานนท์ .คลินิกเด็ก.คอม
- คำแนะนำในการถนอมดวงตา. รศ.พญ.สุดารัตน์ ใหญ่สว่าง หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- การดูแลถนอมดวงตา โดย คณะอนุกรรมการสภากาชาดไทย