วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>
นิราศเมืองสุพรรณของสุนทรภู่และเสมียนมี
บันทึกการเดินทางและการอ่านเพื่อเข้าถึงเรื่องเล่าท้องถิ่น
วารุณี โอสถารมย์
ตำนานท้องถิ่นสุพรรณ
ตำนานท้องถิ่นที่บอกเล่ากันในท้องถิ่นและมีฐานะเป็นประวัติของชุมชนเมือง
ซึ่งกวีทั้งสองเลือกบันทึกไว้ในนิราศสุพรรณมี 2 เรื่อง คือ
ตำนานขุนช้างขุนแผนและตำนานเมืองท้าวอู่ทอง
ไม่น่าแปลกที่เรื่องเล่าสองเรื่องนี้เป็นที่คุ้นเคยและเป็นส่วนหนึ่งของโลกทัศน์การับรู้ของผู้เขียนและผู้อ่านนิราศที่เป็นชาวกรุงอยู่แล้วผ่านเสภาและพงศาวดารฉบับชาวบ้าน
การนำมาเล่าซ้ำเพื่อยืนยันถึงความมีอยู่จริงในนิราศ ย่อมเป็นที่สนใจของผู้อ่าน
ตำนานขุนช้างขุนแผน
เรื่องราวขุนช้างชุนแผนนั้นเป็นที่คุ้นเคยสำหรับสุนทรภู่และเสมียนมีมาก่อนแล้ว
เพราะเป็นบทเสภาขุนช้างขุนแผนที่ราชสำนักกรุงเทพฯ
เขียนขึ้นด้วยการนำเอาเค้าเรื่องเดิมจากวรรณกรรมบอกเล่าของประชาชน
โดยใช้รูปแบบฉันทลักษณ์กลอนเสภาที่ถือว่าเป็นจารีตวรรณกรรมประชาชน (นิธิ
เอียวศรีวงศ์ 2527 : 16)
แต่เสภาขุนช้างขุนแผนฉบับลายลักษณ์ที่เป็นวรรณกรรมราชสำนักกรุงเทพฯนี้
มีเนื้อหาที่เป็นการเขียนเรื่องใหม่
แม้ว่าจะอิงเค้าโครงเรื่องพื้นฐานจากนิทานพื้นบ้านที่สืบทอดด้วยการบอกเล่า
ต่อมาพัฒนาเป็นเสภาซึ่งใช้การขับหรือด้นสดด้วยปากเปล่าและความทรงจำตั้งแต่ครั้งปลายอยุธยา
(นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2527 : 9, 20-32) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
บอกเล่าความเป็นมาของเสภาเรื่องนี้
โดยทรงค้นคว้าตามหลักการประวัติศาสตร์วิธีสมัยใหม่
อ้างอิงพงศาวดารฉบับชาวกรุงเก่าซึ่งทรงให้คุณค่าในฐานะเป็นหลักฐานที่ทรงเชื่อถือ
แม้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ฉบับบอกเล่าของชาวบ้าน
ข้อความที่ทรงอ้างอิง ระบุเพียงพระนามสามัญของกษัตริย์อยุธยาในยุคขุนช้างขุนแผน
คือ พระพันวษาโปรดให้ขุนแผนเป็นแม่ทัพไปตีเชียงใหม่ โดยมีอาวุธกับพาหนะ คือ
ดาบฟ้าฟื้นและม้าสีหมอก เห็นได้ว่า ไม่มีข้อความใดที่โยงเข้ากับสถานที่เมืองสุพรรณ
ทำให้มองไม่เห็นว่าเรื่องเล่าขุนช้างขุนแผนถูกเชื่อมโยงกับเมืองสุพรรณเมื่อใดและอย่างไร
ทราบแต่เพียงว่าเรื่องเล่าที่สืบทอดด้วยคำบอกเล่าปากต่อปากในรูปของการขับเพลง
ถูกทำให้อยู่เป็นฉบับตัวเขียนนั้นเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่สอง
แต่ต้นฉบับเก่าที่สุดถูกค้นพบในปัจจุบันเป็นฉบับคัดลอกสมัยรัชกาลที่ 3
ซึ่งต่อมาสมัยรัชกาลที่ 4 มีการแต่งเพิ่มจนจบ ส่วนฉบับพิมพ์เกิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5
ความเชื่อมโยงระหว่างกลอนเสภาขุนช้าง-ขุนแผนกับเมืองสุพรรณนั้น
ปรากฏชัดเจนอยู่ในหลักฐานลายลักษณ์ฉบับพิมพ์นี้เอง
เนื้อเรื่องกำหนดฉากและสถานที่ตอนต้นเรื่องที่เมืองสุพรรณ
โดยระบุบ้านเกิดของตัวละครเอก 3 คนและพ่อแม่ในเรื่องนี้
และสถานที่ที่พระพันวษากษัตริย์อยุธยาเข้าป่าล่าควายป่าตอนต้นเรื่องไว้ที่เมืองสุพรรณ
คือ บริเวณเขาพระ บ้านเกิดของขุนไกรพลพ่ายพ่อขุนแผนซึ่งเป็นคนบ้านพลับ
ส่วนนางทองประศรี ผู้เป็นแม่ขุนแผน เป็นคนวัดตระไกร ในขณะที่ขุนศรีวิไชย
ผู้พ่อขุนช้างมีตำแหน่งนายกรมช้างนอก มีบ้านอยู่ท่าสิบเบี้ย
ส่วนพันศรโยธาและนางศรีประจัน แม่นางพิม อยู่ท่าพี่เลี้ยง และวัดสำคัญ 2 วัด
ที่ใช้เป็นฉากสำคัญตามโครงเรื่องให้ขุนช้างขุนแผนและนางพิมเล่นด้วยกันในวัยเด็กคือ
วัดป่าเลไลย์ และให้เณรแก้วบวชเรียนวิชาอาคมที่วัดแค
รวมถึงชุมชนนอกเมืองซึ่งขุนแผนใช้เป็นฉากเดินทางพานางวันทองหนีจากขุนช้าง
โดยใช้ประตูตาจอมผ่านวัดตะลุมโปง ข้ามโคกกำยาน ผ่านป่ามาถึงลำน้ำบ้านพลับ บ้านกล้วย
ยุ้งทะลายและเขาพระ ชื่อสถานที่ในเมืองสุพรรณเหล่านี้
ถูกบันทึกไว้ในเสภาฉบับตัวเขียนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่สองชื่อสถานที่ในวรรณกรรมขุนช้างขุนแผนที่ใช้เป็นบทร้องเสภานี้
จึงถูกจารึกอยู่ในความทรงจำของชาวกรุงที่เสพย์วรรณกรรมเรื่องนี้
ดังนั้นเมื่อสุนทรภู่และเสมียนมีเดินทางถึงเมืองสุพรรณแวะเยือนสถานที่บางแห่งซึ่งมีชื่อตามที่ปรากฏในเสภาขุนช้างขุนแผน
จึงเป็นการปลุกความทรงจำที่พวกเขาเคยรับรู้
และสร้างจินตนาการเชื่อมโยงประวัติสถานที่ชื่อชุมชนและวัดเข้ากับเรื่องเล่าในวรรณกรรมขุนช้างขุนแผน
โดยเฉพาะช่วงเวลาขณะกำเนิดและชีวิตวัยหนุ่มสาวของตัวละครเอกทั้งสาม
ซึ่งเป็นฉากสำคัญของท้องเรื่อง
การพรรณนาสถานที่เหล่านั้นส่วนหนึ่งดูเป็นการตามหาร่องรอยและพิสูจน์การมีอยู่จริงของสถานที่นั้นในเสภาขุนช้างขุนแผนด้วย
การบรรยายเพื่อเชื่อมโยงประวัติสถานที่เมืองสุพรรณกับวรรณกรรมขุนช้างขุนแผน
เริ่มต้นเมื่อสุนทรภู่เข้าถึงถึงตัวเมือง เล่าถึงวัดโบราณและสถานที่บนฝั่งตะวันตก
หรือฝั่งซ้ายของแม่น้ำ คือ วัดพระรูป วัดประตูสาร และวัดกระไกร
โดยระบุว่าละแวกใกล้เคียงวัดเหล่านี้
เป็นที่ตั้งบ้านตัวละครสำคัญอย่างขุนช้างและนางศรีประจันต์ มารดานางพิมตัวเอก
และวัดแคก็เป็นละแวกบ้านนางทองประศรี
สุนทรภู่อ้างว่าชาวบ้านสุพรรณเป็นผู้ชี้ให้เขารู้จักสถานที่เหล่านี้
นิราศได้ทำให้เราเข้าใจว่าทั้งผู้เขียน
สุนทรภู่และเสมียนมีกับชาวเมืองล้วนแต่เชื่อว่า
เมืองของพวกเขาเป็นบ้านเกิดตัวละครวรรณกรรมขุนช้างขุนแผน
สุนทรภู่เองก็ยังวิจารณ์สภาพรกร้างของวัดแค ซึ่งเป็นวัดที่พลายแก้ว ขุนแผนวัยเด็ก
บวชเรียนวิชาอาคมที่นี่ และวัดฝาโถซึ่งเป็นวัดที่นางพิมในท้องเรื่องเป็นผู้สร้าง
ขณะที่สุนทรภู่เห็นนั้น รกร้างและทรุดโทรมหักพัง
เขาจินตนาการย้อนอดีตที่เป็นช่วงเวลาในวรรณกรรม
ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นเรื่องเล่าที่เป็นจริง ช่วงเวลาของขุนช้างขุนแผน
วัดแคน่าจะเป็นแหล่งชุมนุมผู้คนมากมายสนุกสนาน (สุนทรภู่ 2509 : 47)
เสมียนมีเองก็ไม่ต่างจากสุนทรภู่และผู้คนในสยามที่รับรู้เรื่องเล่าเสภาขุนช้างขุนแผนมีจินตนาการถึงเมืองนี้
ว่าเป็นเมืองขุนช้างขุนแผน ขณะไหว้พระป่าเลไลย์พระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองที่วัดป่า
ความสำนึกที่มีต่อองค์พระปฏิมาเป็นเสมือนการสร้างบุญ เหมือนได้พบพานองค์พระชินศรี
เพราะพระพุทธรูปโบราณเป็นที่นับถือเลื่องลือกันมานาน
เสมียนมีเชื่อมโยงเรื่องเล่าตำนานขุนช้างขุนแผนให้มีสถานะความเป็นจริง
โดยอ้างอิงว่าเมืองสุพรรณเป็นบ้านเมืองของเณรแก้ว หรือพลายแก้วขุนแผนวัยเด็ก
ที่วัดป่าเลไลย์แห่งนี้ เณรแก้วเคยบวชเรียนหนังสือกับอาจารย์
เสมียนมียังเล่าถึงเรื่องราวเหตุการณ์ความสัมพันธ์ตัวละครเณรแก้วซึ่งบวชอยู่พบกับนางพิม
ขณะเทศน์กัณฑ์มัทรีในงานบุญออกพรรษา จนเป็นความรักและการเกี้ยวพาราสี
(หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) 2544 : 74)
เสมียนมียังทำให้เรื่องเล่านิทานพื้นบ้านขุนช้างขุนแผน ตามคำบอกเล่าชาวบ้าน บางเภาทลาย หรือบ้านสำเภาทลาย มีสถานะเป็นส่วนหนึ่งประวัติชุมชนหมู่บ้านแห่งนี้โดยอ้างอิงว่า ผู้เฒ่าในหมู่บ้านเล่าเรื่องเก่าว่า ที่นี่เคยมีจระเข้ใหญ่ ดื้อและดุ หมู่บ้านนี้เคยอยู่ริมฝั่งทะเล เป็นที่จอดเรือสำเภาลูกค้า แต่ถูกจระเข้อาละวาด กระโดดกระแทกเรือสำเภาแตกล่มหายไป จระเข้ตัวนี้ คือ หลวงตาขวาด (เถรขวาด) ที่หลบหนีการปราบปรามของพลายชุมพล ปลอมเป็นจรเข้ออกมาอยู่ไกลถึงเขตลำน้ำและภูเขาที่มีชื่อตามจรเข้ว่า จระเข้สามพัน (ซึ่งเป็นชื่อลำน้ำสายเก่าสุพรรณหรือลำน้ำท่าว้า) เสมียนมีเห็นลำน้ำขาด บางแห่งเป็นห้วยแห้งและป่า จบเป็นทางน้ำและทางบกที่คดเคี้ยว เขาจึงคล้อยตามเรื่องเล่าจระเข้เถรขวาดของชาวบ้านว่า น่าจะจริง จิตใต้สำนึกและความทรงจำที่เขาคุ้นเคยกับสถานที่เมืองสุพรรณจากฉากตอนต้นเรื่องของเสภาขุนช้างขุนแผนยังกระตุ้นให้เขาเชื่อมโยงแบบอุปมาอุปมัยชื่อชุมชน บางไทร ที่เขาเดินทางผ่านช่วงดึกมากในคืนหนึ่งว่าเหมือนทั้ง พระไทร ที่บ้านและเปรียบได้กับขุนแผนและนางวันทอง พลอดรักพักผ่อนใต้ต้นไทรขณะเดินป่าตามท้องเรื่องเสภาขุนช้างขุนแผนอีกด้วย (หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) 2544 : 36) นิราศเมืองสุพรรณของเขาจึงช่วยตอกย้ำความน่าเชื่อถือถึงสถานะเป็นจริงของเรื่องขุนช้างขุนแผนกับพื้นที่เมืองสุพรรณ ที่มาของขุนช้างขุนแผนเป็นเพียงวรรณกรรมบอกเล่าของชาวบ้านและวรรณกรรมลายลักษณ์ในราชสำนักต้นรัตนโกสินทร์ ได้ถูกทำให้มีสถานที่เป็นจริงและได้รับการบันทึกไว้ในนิราศคำประพันธ์ลายลักษณ์ที่เชื่อถือกันว่าบอกเล่าประสบการณ์ที่เป็นจริงนั้นทำให้สุพรรณกลายเป็นเมืองขุนช้างขุนแผนที่ได้รับการสืบทอด จนกระทั่งกลืนกลายเป็นเรื่องเล่าประวัติท้องถิ่นที่มีพื้นที่เคียงคู่กับประวัติศาสตร์ชาติในยุคต่อมา
ตำนานท้าวอู่ทองตำนานเมืองสุพรรณ เรื่องเล่าตำนานท้าวอู่ทองในนิราศสุพรรณนั้นแตกต่างจากเรื่องเล่านิทานพื้นบ้านขุนช้างขุนแผน อย่างน้อยในเรื่องแหล่งที่มาของตำนาน เรื่องเล่าท้าวอู่ทองในเมืองนี้เป็นตำนานที่ชาวบ้านสุพรรณเชื่อถือและบอกเล่าร่วมกัน ผู้เขียนนิราศทั้งสองเป็นแต่บันทึกเรื่องเล่าที่ถ่ายทอดกันแบบปากต่อปากที่เป็นความทรงจำร่วมกันของชาวบ้านให้ปรากฏเป็นลายลักษณ์ครั้งแรกในนิราศ ความทรงจำเรื่องพระเจ้าอู่ทองของชาวกรุงและกวีทั้งคู่ อาจจำกัดเพียงแค่บุคคลที่เป็นกษัตริย์อยุธยาและเป็นความทรงจำอีกแบบหนึ่งไม่เหมือนกับเรื่องท้าวอู่ทองของชาวบ้านสุพรรณ
สำหรับเสมียนมีแล้วเขาจัดฐานะตำนานเมืองสุพรรณที่เป็นเรื่องเล่าขุนช้างขุนแผนไว้อยู่ในลำดับความสำคัญที่มีอายุก่อนตำนานเมืองที่เกี่ยวข้องกับท้าวอู่ทอง คำบอกเล่าที่เขารับฟังมาก็คือ เมืองนี้เป็นเมืองน้องท้าวอู่ทอง(4) ได้เป็นกษัตริย์ปกครองอยู่ ตัวเขาเองก็เชื่อถือคำบอกเล่านี้ เพราะมองเห็นร่องรอยสิ่งก่อสร้าง เชิงเทิน เนินวัง พระเจดีย์วิหาร รวมถึงบ้านเศรษฐีที่ยังหลงเหลืออยู่ บ้านเมืองในอดีตร่วงโรยหักพังเพราะขาดผู้อุปถัมภ์ ตกอยู่ในสภาพน่าหดหู่กลายเป็นเมืองอาภัพเป็นที่น่าเสียดาย ดังคำบรรยาย คือ
แต่ปางก่อนเมืองนี้มีกษัตริย์
ผ่านสมบัติปรีด์เปรมเกษมสันต์
คือน้องท้าวอู่ทองครองสุพรรณ
ท่านเล่ากันเนืองเนืองเรื่องก็มี
เห็นเชิงเทินเนินวังยังปรากฏ
ชนบทขอบเขตบ้านเศรษฐี
ภูมิประเทศเขตขัณฑ์ทุกวันนี้
กลายเป็นที่ท้องนาป่าระกำ
พระเจดีย์วิหารบูราณสร้าง
ก็โรยร้างร่วงหรุบสิ้นอุปถัมภ์
ทั้งพาราอาภัพยับระยำ
สุดจะร่ำเรื่องว่าน่าเสียดาย
(หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) 2544 : 74)
ในขณะที่สุนทรภู่เองบันทึกในนิราศสุพรรณของเขา ได้รับรู้คำบอกเล่าตำนานเมืองที่เกี่ยวข้องท้าวอู่ทอง เมื่อเขาเดินทางออกนอกเมืองเข้าเขต บ้านทึง ที่สามชุก ยายนากอายุ 118 ปี และตาทองอายุ 120 ปี สองสามีภรรยาชาวบ้านนี้ บอกเล่าประวัติชุมชนบ้านทึงและวัดขี้ทึ้ง ว่าเป็นเรื่องเล่าโบราณ ว่า ท้าวอู่ทองแวะมาถึงถิ่นนี้ ขอเชือกหนังจากชาวบ้านไปขึงกลอง ชาวบ้านไม่ไห้จึงสาปบ้านนี้ให้เต็มไปด้วยขี้ทึ้งซึ่งตรงกับชื่อวัดเวลานั้น นิทานท้าวอู่ทองที่เล่ากันในท้องถิ่นสะท้อนถึงความทรงจำของผู้คนที่โยงใยกับตำนานเรื่องนี้ พบว่าเรื่องเล่าในนิราศของสุนทรภู่อีกตอนหนึ่ง ยิ่งเพิ่มความสับสนให้กับการสร้างเรื่องเล่าท้องถิ่นรุ่นต่อมาด้วย ช่วงตอนปลายเรื่อง ขณะอยู่ในป่าลึกเพื่อตามหาเจดีย์โบราณ ซึ่งมี พระปรอท บรรจุอยู่ภายในถ้ำปิดตาย จนคณะเดินทางต้องทำพิธีตั้งเครื่องสังเวยวิญญาณผู้พิทักษ์ถ้ำเพื่อขอเปิดปากถ้ำ ขณะหลับพักด้วยความเหนื่อยอ่อน สุนทรภู่เกิดนิมิตขึ้นในความฝันว่า คณะเดินทางกำลังเฝ้ากษัตริย์พร้อมท้าวนางทั้งสี่และโอรสเล็กๆ ณ ท้องพระโรง กษัตริย์ในฝันขอให้สุนทรภู่ ซึ่งมีชื่อเสียงในการขับเพลงกล่อม ร้องเพลงชมจันทร์และดาว
หลังจากฟังแล้วโปรด จึงเล่าเรื่องแต่อดีตให้ฟังตอบแทนว่า
ทรงเป็นผู้สร้างปราสาทพระราชวัง ป้อมปราการและเมือง ต่อมาเกิดโรคห่าระบาด
บ้านเมืองร้างไป โขลงช้างป่าจึงเข้ามาพิทักษ์ทรัพย์สิน และบอกความลับว่า
เจดีย์ที่เชื่อกันว่ามีทองนั้นไม่จริง เป็นเพราะกษัตริย์ผสมปรอทเพชรปูนใส่ไว้
และให้โอรสสร้างปรางค์ทอง ด้วยการนำถั่ว นม เนื้อแปดมาผสม จึงไม่มียาอายุวัฒนะใดๆ
ทั้งสิ้น มีแต่ปรอทเท่าเพชร ที่ไม่ใช่พระปรอทศักดิสิทธิ์แต่อย่างใด ที่น่าสนใจคือ
เรื่องเล่าในความฝันของสุนทรภู่ บันทึกเพียงแค่ว่ากษัตริย์ได้สร้างเมืองและวัง
หลังจากนั้นเกิดโรคห่าจนบ้านเมืองร้าง
เรื่องเล่านี้ถูกดึงไปเป็นส่วนหนึ่งของการเขียนประวัติศาสตร์ชาติ
ด้วยทำให้กษัตริย์องค์นี้มีพระนามว่าท้าวอู่ทอง
ทั้งที่บันทึกนิราศของสุนทรภู่ไม่มีข้อความใดระบุชื่อกษัตริย์เป็นท้าวอู่ทองเลย
(สุนทรภู่ 2509 : 94-95)
ตำนานท้องถิ่นเมืองสุพรรณทั้งสองเรื่อง เรื่องเล่าขุนช้างขุนแผน
ถูกทำให้มีความสำคัญน้อยกว่า ด้วยการเป็นเพียงตำนานเมืองท้องถิ่นสุพรรณ
ปรากฏให้เห็นเป็นชื่อถนนสายต่างๆในตัวเมือง
ส่วนตำนานท้าวอู่ทองได้รับการปรับให้ขึ้นมาเป็นตำนานเมืองท้าวอู่ทองซึ่งจะกล่าวถึงในบทสรุปตอนท้าย
ได้ถูกผนวกเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของการเขียนประวัติศาสตร์ชาติ
นิราศสุพรรณ บันทึกความยากลำบากของการเดินทาง
โครงเรื่องนิราศสุพรรณ
กรุง
เส้นทางสู่เมืองสุพรรณ
เมืองสุพรรณ
ป่า
เรื่องเล่าท้องถิ่น
การผลิตและภาวะความเป็นอยู่
ด่านและศาลอารักษ์
ตำนานท้องถิ่นสุพรรณ
วัฒนธรรมชาวกรุงพบวัฒนธรรมชาวบ้าน
กลุ่มชาติพันธุ์
ไหว้พระและศรัทธาพุทธ
ไม้ ปลา นก แร่ : ธรรมชาติวิทยาในนิราศสุพรรณ
คำอธิบายเพิ่มเติม
บรรณานุกรม