วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>
นิราศเมืองสุพรรณของสุนทรภู่และเสมียนมี
บันทึกการเดินทางและการอ่านเพื่อเข้าถึงเรื่องเล่าท้องถิ่น
วารุณี โอสถารมย์
ไม้ ปลา นก แร่ : ธรรมชาติวิทยาในนิราศสุพรรณ
อย่างที่นิธิได้เคยศึกษาไว้ว่าเนื้อหานิราศส่วนหนึ่งแสดงถึงประสบการณ์ที่เป็นจริง
ปรากฏว่าบันทึกนิราศสุพรรณสองเรื่องนี้
นำเสนอภาพส่วนหนึ่งที่กวีมองเห็นจากภูมิทัศน์สองข้างทางที่อยู่ในธรรมชาติ
อันได้แก่เรื่องของไม้ ปลา นกและแร่ แต่ละเรื่องมีความหลากหลายพันธุ์และประเภท
กวีเลือกบันทึกตามสายตาที่มองเห็น
ข้อมูลส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการบอกเล่าของผู้นำทางท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็น กวั่ง สังบุเร
รอด หรือแม้แต่ชาวบ้าน ระหว่างทางที่คณะเดินทางจอดเรือพักแรม ที่น่าสนใจคือ
พันธุ์ไม้ ปลา นก และประเภทของแร่ที่ถูกบันทึกไว้ในนิราศ
ระบุชื่อและลักษณะแตกต่างไปตามสภาวะแวดล้อมในธรรมชาติแต่ละแห่งบนเส้นทางการเดินทาง
บันทึกธรรมชาติวิทยาในนิราศจึงเป็นเสมือนคำบอกเล่าถึงอดีตของธรรมชาติทั้งสี่ชนิดซึ่งมีอยู่หลายพันธุ์และประเภทในพื้นที่สองฟากฝั่งแม่น้ำและในป่าเมืองสุพรรณ
อาจไม่หลงเหลือในปัจจุบัน
พันธุ์ไม้กลุ่มแรก ที่ถูกระบุไว้ในนิราศของสุนทรภู่ คือ
พันธุ์ไม้น้ำเขตบางหวาย ชุมชนปลายเขตแดนนครไชยศรี-สุพรรณที่นี่เป็นพื้นที่
ทุ่งท่าป่าหญ้าชายน้ำ ที่แม้จะเต็มไปด้วยยุงที่รบกวนนักเดินทาง
แต่ก็เป็นแหล่งอุดมด้วยพืชน้ำ คือ ผักตบที่มีบอนขึ้นแซม
สุนทรภู่บอกเล่าถึงบอนที่สุพรรณว่า ชาวบ้านหั่นใส่แกงมีรดชาดอร่อย (สุนทรภู่ 2509 :
26) เช่นเดียวกับดอกต้นกุ่มที่เกสรบานร่วงโรยมากมายที่ บ้านกุ่ม นั้น
เสมียนมีบอกเล่าถึงการนำดอกกุ่มมาดองกินด้วยเกลือ ซึ่งเขาเองมีเกลือไม่พอ
หากแต่คิดว่าชาวบ้านคงทำกัน
เป็นภาพที่นอกจากทำให้เห็นว่าเป็นถิ่นที่มีต้นกุ่มขึ้นมาก
แล้วดอกกุ่มยังใช้ทำเป็นอาหารได้ด้วย (หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) 2544 : 38)
การพรรณนาพันธุ์ไม้เป็นการคัดเลือกของกวี
ต้นไม้ที่ขึ้นทั่วไปสองฟากฝั่งอาจเป็นต้นตาลและท้องนาจึงเกือบไม่มีการพูดถึงในนิราศ
เพราะเป็นภาพชินตา กวีบรรยายถึงพันธุ์ไม้อีกช่วงหนึ่งเมื่อเดินทางเข้ามายังชายป่า
สุนทรภู่บรรยายถึงต้นไม้เนื้อแข็งยืนต้น 3 ชนิด ที่ บ้านทึง เขตชายป่า คือ ประดู่
พะยอม และกะดึง (สุนทรภู่ 2509 : 73)
และเมื่อเข้าเขตป่าตั้งแต่ป่าโป่งแดงมาจนถึงคลองกะเสียว
ท้องน้ำช่วงนี้เป็นพื้นหินกรวดและทราย มีน้ำใส พันธุ์ไม้ในป่าแถบนี้เป็นต้นกระเบา
(ผลกระเบาใช้เป็นส่วยที่ราชสำนักต้องการเพื่อส่งออก) ต้นเงาะป่าออกผลสุกเต็มต้น
กระทุ่ม กระถิน ขึ้นสลับกับสำโรงป่า ออกดอกส่งกลิ่นหอม
พื้นที่ป่าแถบนี้เป็นที่อยู่ชาวกะเหรี่ยง
มีลำเหมืองท่ามกลางธรรมชาติที่ได้ยินเสียงลมและควายป่า
สุนทรภู่บันทึกถึงไม้ผลและไม้ดอกยืนต้นหลากหลายพันธุ์อย่างม่วงโมก โศก กรม กรวย
ซึ่งถูกนกเจาะกินไส้ สลับ เสลา สลอด สลัดได มะเฟือง มะไฟ ตะขบ ตขาบ (สุนทรภู่ 2509
: 83-84, 94)
พันธุ์ไม้กลุ่มสุดท้ายเป็นพืชพันธุ์ในป่าลึกประเภทสมุนไพรและว่าน
ที่นี่เป็นแหล่งผลิตผลส่วยของป่าที่ราชธานีต้องการนั่นเอง
สุนทรภู่กล่าวถึงป่าสมุนไพรแห่งนี้ว่า เป็นดงบาป่าฝิ่นฝาง ที่ส่งกลิ่นฟุ้งไปหมด
เขาสามารถให้ชื่อสมุนไพรได้มากมาย เพราะเป็นช่วงการเดินทางด้วยเท้าเปล่า
อย่างปรายปรู ปู่เจ้าเจิด ตพังคี ลักจั่น ขรรค์ไชยศรี มือเหล็ก ใครเครือ มะเดื่อ
ดีหมี เขามวก รวกรกฟ้า ฝิ่น คนจาม กทกรก กก กนาด ราชดัต สลัดได ไข่เน่า พิษนาด
ชิงช้าลาลี มหาสดำ หางตะเค่ ซ่มกุ้ง (เอาไว้ชะเลือด) กำยาน
(สุนทรภู่ได้กลิ่นหอมจนอยากเก็บไปทำน้ำอบ) ฉลูด โกฏเก้า ตาเสือ ขมิ้นเครือ กรันเกรา
ข้าวเย็นเหนือ หนอนตายยาก หวายตมอย ปอยหลู่ สมอไทย หนามหัน แพงแดง สหัศคุณ สมุลแว้ง
สลอด เสลา กระเจี้ยง
กลิ่นสมุนไพรเหล่านี้หอมจนคณะเดินทางอยากเก็บไว้ห่อผ้าให้คนนำทางสะพายไป
ภาพที่บรรยายไว้นี้แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของบทชมป่าในกลอนบทละคร
หากแต่พันธุ์ไม้ในป่าภาคตะวันตกมีความสำคัญต่อชุมชนท้องถิ่นและนครหลวงราชธานี
เพราะนอกจากเป็นสินค้าของป่าส่งออกแล้ว
เกือบทั้งหมดมีฐานะเป็นตัวยาสมุนไพรที่จำเป็นต่อชีวิตของผู้คนในแถบนี้ทั้งหมด
(สุนทรภู่ 2509 : 100-101, 129)
พื้นที่ป่าสมุนไพรแห่งสุดท้ายซึ่งสุนทรภู่และคณะเดินทางไปถึง
เป็นเขตป่าว่านซึ่งมีกลิ่นช่วยป้องกันสัตว์ร้ายพร้อมกับทำให้ผู้หลงอยู่ในป่าเมาว่าน
นิราศทำให้เรารู้ว่าสุนทรภู่สนใจและสามารถบอกถึงพันธุ์ไม้สมุนไพรในป่าได้
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้ข้อมูลจากผู้นำทาง
อีกส่วนหนึ่งสุนทรภู่บอกไว้ว่าเขามีครูสอนหลักการใช้ยาสมุนไพร การติดอยู่ในป่าว่าน
ทำให้เขาใช้ขมิ้นกินแก้เมาว่าน (สุนทรภู่ 2509 : 102-105)
ปลาได้รับการบันทึกในนิราศไว้หลากหลายพันธุ์ในน้ำจืด
พันธุ์ปลากลุ่มแรกที่เขาพบในแม่น้ำนครไชยศรีที่ชุมชนบางปลาดุกกลับเป็นปลาสลิดซ่อนตัวอยู่ริมฝั่ง
แทนที่จะเป็นปลาดุก เสมียนมีวิจารณ์รสชาติการนำปลาสองชนิด คือ
ปลาสลิดกับปลาดุกมาทำเป็นอาหารนั้น เขาเห็นว่าปลาดุกนั้นมีเงี่ยงยาว
กลิ่นเหม็นคาวไม่น่ากิน (หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) 2544 : 30)
ในแม่น้ำสุพรรณตั้งแต่คลองสองพี่น้องเรื่อยมาจนถึงตัวเมือง
ก็เป็นแหล่งปลาแม่น้ำหลากหลายพันธุ์ ตั้งแต่ สลิด สลาด ช่อน ดุก กระดี่ ซิว กระโสง
เสือ สร้อย ตะเพียน กริม กระตรับ เนื้ออ่อน แก้มช้ำ นวลจัน รวมถึงปลาขนาดใหญ่อย่าง
ปลาค้าว สวาย คางเบือนและกระโห้ ความชุกชุมของปลาจากท้องน้ำทำให้ผู้คนหลายหมู่บ้าน
(สุนทรภู่ 2509 : 38-39) มีอาชีพจับปลาเพื่อขายนอกจากการอาหารในครัวเรือน
ไม่แต่ปลาแม่น้ำ
สุนทรภู่ยังบอกเล่าถึงปลาน้ำจืดสายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในแถบปลายน้ำชายป่า
ก่อนถึงแก่งท้ายย่านก่อนบ้านทึง เขาเรียกว่าเป็นปลาใน น้ำถิ่นหินทราย เป็นต้นว่า
ปลาชนางที่มีลายคล้ายตุ๊กแก ปลาสร้อย ปลากา กด เพลี้ย ไอ้บ้า ซิว กรีม กราย กระ
เกราะ ฝักดาบ ตะเพียน เสือ หางไก่ หัวตะกั่ว ปักเป้า และปลาหลด (สุนทรภู่ 2509 :
15, 27, 73, 114-115)
นอกจากพันธุ์ไม้ ปลาแล้ว นกหลากหลายพันธุ์ในแถบแม่น้ำหรือแหล่งน้ำจืด
รวมไปถึงนกป่าก็ถูกบันทึกไว้ด้วย
นกแม่น้ำที่จับปลากินเป็นอาหารถูกบันทึกด้วยภูมิทัศน์สองฝั่งคลองที่เป็นพงหญ้าคาหรือหญ้าแฝก
และพุ่มไม้กก หลังจากผ่านคลองโยง เขามองเห็นนกตะกรุมทั้งฝูงเต็มท้องนา
กำลังยืนจับปลา บางตัวมีอาการขยอกปลาเต็มเหนี่ยวและบ้างก็แย่งปลากินกัน
นกกระทุงอีกหนึ่งฝูงก็ลอยเป็นคู่กลางหนองน้ำ ในขณะที่กาน้ำดำกำลังกินปลา
นกกระยางเกาะดอกบัว ส่วนเหยี่ยวก็ร่อนอยู่บนฟ้ามองหาปลา
ในแถบป่าลึกพันธุ์นกก็แตกต่างออกไป สุนทรภู่บรรยายนกไว้หลายชนิด อย่าง นกตะขาบ
บ้านปุน นกเค้า แซงแซว อีแอ่น กระแวน กางเขน แขกเต้า ขมิ้น กุลา เค้า ต้อยตีวิศ
และประเภทไก่ ทั้งไก่ป่า ไก่ฟ้า ไก่แก้ว พญาลอและนกยูง (สุนทรภู่ 2509 : 15,
116-119)
สิ่งมีชีวิตทั้งพันธุ์ไม้ ปลาและนกถูกบันทึกไว้
ระบุชื่อแตกต่างพันธุ์กันตามสภาพภูมิประเทศ
นี้อาจไม่ได้เป็นเพียงแค่แบบแผนการแต่งนิราศที่กำหนดให้ต้องเล่าถึงข้อมูลเหล่านี้เท่านั้น
หากยังบ่งบอกความหลากหลายของสายพันธุ์ที่มีอยู่ตามสภาพแวดล้อมทางธรรมชาตินั้น
บันทึกธรรมชาติของสุนทรภู่ยังครอบคลุมไปถึงแหล่งแร่ที่มีอยู่ในพื้นที่ป่าเมืองนี้ด้วย
สุนทรภู่ฟังคำเล่าลือจากชาวบ้านว่า ย่านคลองน้ำซับเลยจากบ้านกล้วย สามชุก
เป็นแหล่งแร่เหล็กชั้นดี เขาเห็นด้วยเนื่องจากสภาพภูมิประเทศ
มองเห็นหินแร่เต็มไปหมด
นอกจากนี้วังหินซึ่งเป็นป่าถัดมาก็พบแหล่งหินแลงขึ้นเป็นแท่งขิงแข็งอยู่ข้างคุ้ง
สุนทรภู่อ้างตำราว่าเป็นทองแดง ซึ่งก็ได้รับคำยืนยันจากนายรอด ในป่าแถบนี้
เขายังพบลำเหมือง มองเห็นสายแร่และก้อนแร่เป็นกะรัต สุดลำเหมือง
เขาและคณะพบแร่พลวงและเหล็กที่นี่
บันทึกแหล่งแร่ของสุนทรภู่อาจยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นแร่ชนิดใดแน่นอน
แต่ปัจจุบันเราคงไม่แปลกใจ
เพราะที่จริงแล้วพื้นที่ป่าแถบนี้ทอดเป็นผืนยาวต่อกับป่าเมืองกาญจนบุรี
ซึ่งความรู้ทางธรณีวิทยาระบุว่าเป็นแหล่งสายแร่เหล็ก และในช่วงคริสต์ศตวรรษที่
20 ก็มีการทำเหมืองแร่เหล็กที่นี่ด้วย (สุนทรภู่ 2509 : 63-64, 66, 93-94)
บันทึกธรรมชาติวิทยาที่เป็นเรื่องเล่าถึงพันธุ์ไม้ ปลา นกและแร่
เป็นข้อมูลที่บอกถึงความหลากหลายทางธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่ป่าและชายป่า
ซึ่งปัจจุบันอาจลดน้อยลง หลายสายพันธุ์อาจสูญไปก่อนหน้านี้
แต่บันทึกนิราศสุพรรณของสุนทรภู่
ให้ข้อมูลย้อนอดีตถึงชื่อสายพันธุ์ที่เคยมีอยู่
นิราศสุพรรณทั้งสองเรื่องได้บันทึกและสร้างเรื่องเล่าท้องถิ่นเมืองสุพรรณไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
แต่ด้วยฐานะทางคำประพันธ์ที่เป็นเพียงวรรณกรรมนิราศ
มาตรฐานความรู้ตามหลักเหตุผลสมัยใหม่กำหนดให้วรรณกรรมและนิทานเป็นเพียงจินตนาการ
มีคุณค่าสุนทรียรสทางวรรณศิลป์และเป็นเพียงเรื่องเล่าสนุก
ไม่ใช่หลักฐานยืนยันความเป็นจริงของอดีตตามวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่
20 เป็นต้นมา นิราศสุพรรณจึงไม่เคยถูกใช้อ้างอิงในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์
จนกระทั่งความก้าวหน้าทางวิชาการสังคมศาสตร์
ที่ทำให้นักประวัติศาสตร์และนักวรรณคดีหันมาทบทวนฐานะของวรรณกรรมนิราศขึ้นใหม่และมีการให้ความหมายเรื่องเล่าชุมชนที่ปรากฏในนิราศ
อย่างงานของ S.J Terweil (1989) หรือบทความของชลดา เรืองรักษ์ลิขิต (2530)
อย่างไรก็ตามพบว่า
ความหมายแฝงในนิราศสุพรรณที่เป็นเรื่องเล่าท้องถิ่นโดยเฉพาะตำนานชุมชนขุนช้างขุนแผนและน้องท้าวอู่ทองทั้งสองเรื่องนั้น
ปรากฏต่อมาว่ามีฐานะที่แยกจากกัน
ตำนานเรื่องขุนช้างขุนแผนยังคงมีพลังฝังรากอยู่กับความเชื่อของคนท้องถิ่นเมืองสุพรรณ
มีการปรับฐานะความเชื่อนี้ให้สืบทอดในชุมชน
ด้วยการปรับเปลี่ยนความหมายให้ผนวกเข้าไปเป็นชื่อของถนนและซอยสายหลักในตัวเมือง
การสร้างและตั้งชื่อถนนเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในทศวรรษ 2490
โดยใช้ชื่อตัวละครหลายคนตามท้องเรื่อง
แม้ว่ากระแสชาตินิยมของคณะรัฐบาลทหารหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
ได้พัฒนารูปแบบอุดมการณ์ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ขึ้นอย่างชัดเจนแล้วก็ตาม
แต่รัฐบาลส่วนกลางก็ยังยอมให้มีการตั้งชื่อถนนตามความเชื่อของคนในท้องถิ่น
ยกเว้นถนนสายรอบนอกเมืองเขตชุมชนบ้านค่ายเก่าหรือที่ตั้งวัดมหาธาตุ
กลับเป็นการนำพระนามกษัตริย์อยุธยา พระเพทราชา
ที่เชื่อกันตามพงศาวดารต้นรัตนโกสินทร์ว่า เป็นชาวสุพรรณ
มาตั้งชื่อถนนแถบนั้นแทน(5)
สำหรับตำนานท้าวอู่ทองหรือน้องนั้น
พบว่าได้มีการปรับเรื่องเล่านี้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเมืองสุพรรณใหม่
ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2411-2453) เมื่อชนชั้นนำราชสำนัก
อย่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงเป็นผู้เริ่มต้นโครงการเขียนประวัติศาสตร์ชาติ ด้วยการสำรวจทางน้ำสายเก่า
(ดู Craig J. Reynolds 2547 : 1-30)
ทั้งสองพระองค์ได้ปรับความเชื่อเรื่องท้าวอู่ทองซึ่งเป็นชื่อบุคคล
ให้มาเป็นความเชื่อที่เป็นเรื่องเล่าเมืองอู่ทอง
โดยทรงติดตามหาร่องรอยเมืองเดิมของพระเจ้าอู่ทอง
หรือที่ทรงมองว่ามีความหมายอย่างเดียวกับหรือเท่ากับท้าวอู่ทองในตำนานชาวบ้าน
ก่อนที่จะทรงย้ายราชธานีเพื่อหนีโรคห่าไปตั้งเมืองใหม่ที่อยุธยา
อาจเป็นไปได้ที่การปรับความหมายครั้งนี้
เป็นจุดเริ่มต้นผนวกเรื่องเล่าที่เป็นนิมิตฝันของสุนทรภู่
ขณะสำรวจเจดีย์เก่าในป่าละว้า
ที่มีกษัตริย์ผู้สร้างเจดีย์และเมืองที่ทิ้งร้างไปแล้วในความฝันของสุนทรภู่
ถูกเชื่อมโยงไว้กับชื่อและความหมายถึงพระเจ้าอู่ทอง
ส่วนบริเวณเมืองร้างเก่าที่รัชกาลที่ 5
ทรงสำรวจนั้นได้บริเวณเมืองอู่ทองบนเส้นทางน้ำจระเข้สามพันหรือแถบเขาพระนั้นทรงเชื่อว่าน่าจะเป็นเมืองท้าวอู่ทอง(จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว,
พระบาทสมเด็จพระ 2493 : 47) ทำให้สมเด็จฯ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสรุปต่อมาว่าเมืองนี้คือ เมืองเดิมของพระเจ้าอู่ทอง
ตามที่นิพนธ์ไว้ในนิทานโบราณคดี (ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา 2543: 306-317)
เรื่องเล่าเมืองอู่ทองจึงถูกยกฐานะให้มีพื้นที่อยู่ในโครงการเขียนประวัติศาสตร์ชาติ
แม้ว่าพัฒนาการการตีความและศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดีต่อมา
ได้สร้างข้อสรุปชัดเจนแล้วว่า
เมืองอู่ทองแห่งนี้มีอายุเก่ากว่าสมัยของพระเจ้าอู่ทองรามาธิบดี
และยังถูกทิ้งร้างไปก่อนหน้านั้นหลายศตวรรษ
การทบทวนคุณค่านิราศสุพรรณทั้งสองเรื่องในฐานะเรื่องเล่าท้องถิ่น
จึงน่าจะเป็นมิติใหม่ที่ทำให้นิราศทั้งสองเรื่องนี้มีความหมายต่อการศึกษาประวัติศาสตร์แบบใหม่ที่มีการตีความหลากหลายนอกเหนือจากโครงเรื่องแบบประวัติศาสตร์ชาติ
และการประเมินคุณค่าเพื่อการอ่านนิราศทั้งสองเรื่องก็เป็นเรื่องจำเป็นต้องทำกันเบื้องต้น















