วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>

นิราศเมืองสุพรรณของสุนทรภู่

นิราศเมืองสุพรรณของสุนทรภู่และเสมียนมี
บันทึกการเดินทางและการอ่านเพื่อเข้าถึงเรื่องเล่าท้องถิ่น

วารุณี โอสถารมย์

        นิราศในการศึกษาวรรณกรรมร้อยกรองไทยอย่างสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพลงมาจนถึงเปลื้อง ณ นคร มักเข้าใจกันว่า นิราศเป็นคำเรียกกวีนิพนธ์ประเภทหนึ่งที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 มีเนื้อหาสื่อถึงอารมณ์ความรู้สึกเป็นทุกข์ หวั่นวิตกและความกลัว ที่ต้องแยกหรือพรากจากสถานที่และผู้คนอันเป็นที่รัก เนื่องจากต้องมีการเดินทาง แบบแผนการเขียนนิราศจึงมีแก่นเรื่องของการพลัดพรากจากกัน-ความรัก-การเดินทางไกล (ดูเปลื้อง ณ นคร ในคำนำนิราศเมืองสุพรรณฉบับสมบูรณ์ของสุนทรภู่ , 2509 : ข) จนกระทั่งต้นทศวรรษ 2520 มนัสจึงได้ชี้ให้เห็นถึงวิวัฒนาการความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบและเนื้อหานิราศ ว่า มีอยู่ 2 ประเภท คือ นิราศที่เดินเรื่องด้วยเวลาตามวัฏจักรฤดูกาล และนิราศชนิดที่เป็นเพียงการเดินทางในจินตนาการ เป็นนิราศสมมุติ

อาศัยข้อมูลจากวรรณคดีเป็นตัวเดินเรื่องไม่มีการเดินทางจริง จนถึงยุครัตนโกสินทร์ นิราศได้พัฒนาการประสมกลมกลืนรูปแบบคำประพันธ์ทั้งสองประเภท จนเป็นนิราศชนิดใหม่ที่เดินเรื่องตามลำดับระยะเวลาของการเดินทางที่เกิดขึ้นจริง และสัมพันธ์กับกระบวนการเดินทางของกวีผู้เขียนนิราศนั้น นิราศแบบใหม่จึงเป็นบันทึกการเดินทางของผู้เขียนตามระยะเวลา นิราศไม่ได้เป็นแค่เพียงการเดินทางในจินตนาการ แต่เป็นการพรรณนาถึงการเดินทางจริง โดยบันทึกเล่าเรื่องตามที่ตัวเองเห็นว่าสำคัญ หรือน่าสนใจ ได้แก่ ฉากทางภูมิศาสตร์เส้นทาง ชุมชน และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน โดยสร้างความสัมพันธ์กับตัวตนกวี นิราศจึงเป็นเรื่องที่เล่าถึงตัวเองเป็นหลัก แก่นเรื่องความรัก ความโหยหา แม้จะไม่ได้หายไป แต่ก็มีความสำคัญเป็นเรื่องรอง มนัสถือว่า กวีที่ประสบความสำเร็จและเป็นครูต้นแบบการเขียนนิราศชนิดนี้ จนเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายและสืบทอดมาจนทุกวันนี้ คือ สุนทรภู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถในการสร้างรูปแบบและเทคนิคการประพันธ์เนื้อหาที่ต้องการสื่ออารมณ์โหยหาความรัก และการพรากจาก ด้วยการเลือกชื่อสถานที่ พันธุ์ไม้ และธรรมชาติ แล้วสร้างความหมายของภาษาให้มี 2 นัย จากนั้นก็เคลื่อนย้ายรูปแบบและความหมาย ให้จบลงด้วยการสื่อความรู้สึกที่เป็นทุกข์ หรือสื่อความทรงจำในอดีตที่เป็นประวัติชีวิตตัวเอง รวมถึงความรักที่เป็นความสัมพันธ์ของเขากับหญิงคนรักที่มีตัวตนจริงและมีความสัมพันธ์ในชีวิตจริงของเขา (Manas, 1972 : 139 - 149)

ในขณะที่นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์คนแรกๆ ที่ใช้วรรณกรรมเป็นข้อมูลหลักฐานเขียนประวัติศาสตร์สังคมไทย ได้วิเคราะห์ถึงลักษณะพัฒนาการนิราศอีกด้านหนึ่ง ระบุว่า “นิราศ” เป็นคำใช้เรียกบทร้อยกรองที่มีโครงเรื่องการพลัดพราก จากหญิงคนรักในสมัยต้นรัตนโกสินทร์นี้เอง โดยมีพัฒนาการจากกำเนิดสมัยปลายอยุธยา นำเอา “เพลงยาว” ซึ่งเป็นการฝากรักในวรรณกรรมชาวบ้าน มาใช้แต่งจดหมายเหตุระยะทางกวี หรือบันทึกจดหมายเหตุ เหตุการณ์สำคัญในชีวิตกวี ซึ่งจดหมายเหตุเป็นวิวัฒนาการเขียนแบบราชสำนักอย่างหนึ่ง หากแต่เนื้อหาไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเดินทางมากไปกว่าเรื่องความรัก จนถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ นิราศจึงใช้เรียกคำประพันธ์ที่มีรูปแบบกลอนเพลงยาวผสมผสานกับจดหมายเหตุ หากแต่มีเนื้อหาพรรณนาการเดินทางที่เป็นเรื่องของเวลา สถานที่ และประสบการณ์ที่ดูเหมือนจริง ประสานกับการรำพันถึงหญิงคนรัก วรรณกรรมนิราศที่เกิดจากฉันทลักษณ์ร่วมระหว่างวรรณกรรมราชสำนักกับวรรณกรรมประชาชน จึงเป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่ประชาชน

 

นิธิอธิบายเหตุผลนี้ ว่าเป็นเพราะนิราศยุคนี้ เกิดขึ้นภายใต้จารีตแบบใหม่ที่สอดคล้องกับชีวิตของกระฎุมพีคนเมืองในกรุง พวกเขาเป็นกระฎุมพียุคเริ่มแรก ถือกำเนิดภายใต้บริบทเศรษฐกิจสังคมที่มีการขยายตัวของการค้าในกรุง และเมื่อมีการเดินทางกว้างขวางขึ้น ทำให้ขอบข่ายชีวิตผู้คนกว้างขวาง ผู้คนในเมืองจึงอยากรู้เรื่องราวพื้นที่อื่นที่พวกเขารู้ว่ามีอยู่จริงนอกกรุงเทพฯ เช่น เพชรบุรี ภูเขาทอง แกลง พระแท่นดงรัง และพระปฐมเจดีย์ นิธิถือว่าการเดินทางครั้งนั้นเป็นการให้ภาพผจญภัยที่ไม่เป็นอันตราย หากแต่มีสีสัน ความสนุกสนาน รวมถึงการเขียนถึงก็ทำให้ผู้ที่ไม่ได้ไปด้วยได้ลิ้มรสความสนุกสนานขึ้น ด้วยเนื้อหาความสนุกที่บรรยายถึงทิวทัศน์ การผจญภัยจริงบ้างเท็จบ้าง ภาษิตคำคมที่เข้าใจง่าย มีทำนองกลอนอ่อนหวาน ฟังเพลิดเพลิน โดยไม่ต้องคำนึงถึงความหมายมากนัก ทำให้นิธิวิเคราะห์ว่านิราศแบบใหม่นี้จึงเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของวรรณกรรม “เพื่อการอ่าน” ที่มีไว้ตอบสนองกระฎุมพี กลุ่มคนที่อ่าน-เขียนได้ มีเวลาว่าง เพราะมีฐานะดีพอที่จะแสวงหาความเพลิดเพลินจากการอ่านได้มากขึ้น ที่สำคัญนิราศยังมีลักษณะเด่นที่สะท้อนความเป็นสัจนิยมและมานุษยนิยมด้วย นิธิเองยอมรับว่าสุนทรภู่ เป็นกวีที่ประสบความสำเร็จในการสร้างสรรค์วรรณกรรมประเภทนี้ (นิธิ เอียวศรีวงศ์. 2527. ข. : 198-200 , 246-249 และ 290 และ ก. : 36 , 65 และ 71)

ประเด็นนี้สมบัติ จันทรวงศ์ นักรัฐศาสตร์ผู้เคยศึกษาวิจัยประวัติศาสตร์ความคิดไทยก่อนหน้านี้ ได้ใช้กรณีศึกษาโลกทัศน์สุนทรภู่ อธิบายฐานะความเป็นกวีของสุนทรภู่ว่ามีลักษณะพิเศษ เพราะเป็นสามัญชนที่บังเอิญมีชีวิตใกล้ชิดกับทั้งราชสำนักและประชาชน เขาจึงเป็นทั้งกวีผู้เขียนงาน และเป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินผู้อยู่ใต้การปกครอง งานเขียนของเขาจึงสะท้อนความคิดของสังคมไทยได้ดี และกว้างขวางกว่ากวีส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ปกครอง ผลงานของเขาจึงเป็นที่นิยมของคนทุกยุคทุกสมัย การใช้ฉันทลักษณ์ชนิด “กลอนตลาด” ยังทำให้เป็นที่นิยมติดตลาดผู้อ่าน ผลงานเขียนประเภทหนึ่งของสุนทรภู่นั้น คือ นิราศซึ่งสมบัติมองเห็นว่า นอกจากมีแก่นเรื่องคร่ำครวญถึงหญิงคนรักและพรรณนาสิ่งที่เห็นในการเดินทาง แล้วยังเป็นคำประพันธ์แสดงความรู้สึกที่แท้จริง ซึ่งเขาคิดว่านิราศเป็นบทประพันธ์ประเภทที่สุนทรภู่และกวีคนอื่นๆ แสดงออกถึงภาวะความเป็นจริงได้มากกว่าบทร้อยกรองชนิดอื่น (สมบัติ จันทรวงศ์. 25. 274-275, 277)

ในแง่นี้ดูเหมือนว่านักวิชาการไทยปัจจุบันต่างเห็นพ้องกันถึงสถานะทางวรรณกรรมนิราศ ว่าเป็นเสมือนบันทึกเล่าเรื่องการเดินทางที่เกิดขึ้นจริงหรือมีอยู่จริง จึงไม่น่าแปลกใจที่นักประวัติศาสตร์ปัจจุบัน ต่างให้ความสำคัญกับนิราศ ในฐานะข้อมูลบันทึกการเดินทางแบบจารีตของนักเดินทางชาวไทย S.J. Terweil เป็นหนึ่งในนักวิชาการนั้น ที่ประมวลข้อมูลการเดินทางทั้งชาวไทยและชาวตะวันตก รวมถึงนิราศที่เขียนในยุคต้นรัตนโกสินทร์เข้าไปด้วย เขายอมรับความเป็นจริงที่มีอยู่ในนิราศ เพื่อให้ความสำคัญแก่นิราศในฐานะการเป็นข้อมูลท้องถิ่น โดยเฉพาะเรื่องของการผลิตในชุมชน จำนวนประชากร และเส้นทางการเดินทางตลอดจนภูมิทัศน์ชุมชน (Terweil.B.J.1989)

ความเป็นจริงในนิราศนั้นตรงไปตรงมาอย่างไม่มีข้อจำกัดเลยหรือ ธงชัย วินิจจะกูล ก็เป็นนักประวัติศาสตร์ไทยคนแรกๆ ที่พยายามชี้ข้อจำกัดนี้ ด้วยการวิเคราะห์ความหมายการเดินทางและบันทึกการเดินทางในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ใหม่ ซึ่งรวมเอานิราศเข้าไว้ด้วย ว่าการเดินทางเป็นวาทกรรมที่สื่อให้มีการสร้างตารางลำดับความศิวิไลซ์เชิงมานุษยวิทยา โดยผ่านการมองเห็นของชนชั้นนำสยาม บันทึกการเดินทางจึงเป็นโครงร่างชาติพันธุ์วิทยาในลักษณะนามธรรม จัดวางตำแหน่งแห่งที่ และความสัมพันธ์ของ “ผู้คน” ที่อยู่ในภูมิศาสตร์ตัวตนของสยาม โครงร่างความคิดนี้ถูกปฏิบัติการผ่านการเดินทางและความคิดเกี่ยวกับชาติพันธุ์ สิ่งที่ถูกมองเห็นและจับวางอยู่ในตำแหน่งทางชาติพันธุ์ ที่เป็น “ความเป็นอื่น” มีอยู่ 2 ชนิด คือ “ชาวป่า” ป่าหรือคนป่า กับ “ชาวบ้านนอก” (Thongchai Winichakul, 1993 : 41.)

นิราศเสนอเรื่องราวที่เป็นจริงถึงสถานที่ ผู้คน เหตุการณ์และเรื่องเล่าที่อยู่ในท้องถิ่นโดยผ่านสายตาของกวีผู้เดินทางตามที่นักวิชาการก่อนหน้านี้เคยวิเคราะห์ไว้ ถ้าหากมีการอ่านเพื่อสร้างความหมายใหม่ ความเป็นจริงที่เกี่ยวกับท้องถิ่น ภายใต้แนวทางอธิบายแบบอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการทำความเข้าใจถึงเจตนคติของกวีผู้บันทึกข้อมูลก็อาจทำให้เราเข้าใจเรื่องเล่าท้องถิ่นที่ปรากฏอยู่ในนิราศอีกแบบหนึ่งได้ บทความนี้จึงต้องการอ่านนิราศใหม่ เพื่อดูว่านิราศได้สร้างเรื่องเล่าท้องถิ่นที่เป็นจริง ในเรื่องใดและลักษณะใด เรื่องเล่าใดถูกเลือกสรรเพื่อสืบทอดขยายความ และรักษาให้คงอยู่ถึงปัจจุบัน เพื่อให้การศึกษานี้มีตัวอย่างกรณีศึกษาชัดเจน จึงขอใช้การวิเคราะห์ตัวบทนิราศสุพรรณสองเรื่องที่แต่งโดยสุนทรภู่และหมื่นพรหมสมพัตสร (เสมียนมี) ซึ่งเล่ากันว่าเป็นศิษย์ทางการประพันธ์คนหนึ่งของสุนทรภู่ วรรณกรรมนิราศทั้งสองแม้จะใช้สถานที่ปลายทางเมืองท้องถิ่นและเส้นทางการเดินทางเดียวกัน เป้าหมายการเดินทางอาจต่างกัน หากแต่ในที่สุดแล้วด้วยเจตนคติเบื้องหลังโครงเรื่องนิราศสุพรรณ นั้นมองเห็นเมืองท้องถิ่นในแบบเดียวกัน ข้อมูลที่เป็นเรื่องเล่าท้องถิ่นเมืองสุพรรณจึงมีแนวการอธิบายคล้ายคลึงกัน และเรื่องเล่าในนิราศยังถูกคัดสรรจากผู้ปกครองส่วนกลางยุคต่อมาในศตวรรษที่ 20 ด้วยการเชื่อมโยงขยายความ สร้างสถานะความเป็นจริงโดยอ้างอิงเข้ากับหลักฐานลายลักษณ์ส่วนกลาง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเขียนประวัติศาสตร์ชาติ

นิราศสุพรรณ บันทึกความยากลำบากของการเดินทาง
โครงเรื่องนิราศสุพรรณ
กรุง
เส้นทางสู่เมืองสุพรรณ
เมืองสุพรรณ
ป่า
เรื่องเล่าท้องถิ่น
การผลิตและภาวะความเป็นอยู่
ด่านและศาลอารักษ์
ตำนานท้องถิ่นสุพรรณ
วัฒนธรรมชาวกรุงพบวัฒนธรรมชาวบ้าน
กลุ่มชาติพันธุ์
ไหว้พระและศรัทธาพุทธ
ไม้ ปลา นก แร่ : ธรรมชาติวิทยาในนิราศสุพรรณ
คำอธิบายเพิ่มเติม
บรรณานุกรม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย