ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>
ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของทวีปอเมริกาเหนือ
ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของดินแดนในทวีปอเมริกาเหนือ ส่วนใหญ่จะเป็นภูมิหลังของประเทศสหรัฐอเมริกา สรุปได้ดังนี้
- แหล่งอารยธรรมของชนเผ่าอินเดียนแดงในสมัยโบราณ
แต่เดิมก่อนที่ชนชาติยุโรปจะรู้จักทวีปอเมริกาเหนือ
ดินแดนในประเทศเม็กซิโกเคยเป็นถิ่นฐานที่อยู่ของพวกอินเดียนแดงเผ่าแอซแตก
(Aztecs) มาก่อน
- การสำรวจและตั้งถิ่นฐาน เมื่อโคลัมบัส (Christopher Columbus)
นักสำรวจทางทะเลชาวอิตาลี ได้ค้นพบ โลกใหม่ หรือทวีปอเมริกา ในปี ค.ศ. 1492
สเปนเป็นประเทศยุโรปชาติแรกที่เข้ามาสำรวจดินแดนทวีปใหม่แห่งนี้
ต่อมาได้ส่งกำลังเข้ายึดครองกรุงเม็กซิโก นครหลวงของจักรวรรดิแอซแตก
ทำให้ชาติยุโรปอื่นๆ ให้ความสนใจเข้ามาจับจองดินแดนต่างๆ
เป็นอาณานิคมของตนเช่นกัน
- การอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชนชาวยุโรป นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17
เป็นต้นมา
มีชาวยุโรปหลายเชื้อชาติอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน
โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ
เพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของตน เช่น
ต้องการจับจองที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ แสวงหาความมั่งคั่งจากทรัพยากรธรรมชาติ
และต้องการสิทธิและเสรีภาพ ทั้งในด้านการเมืองและการนับถือศาสนา
- การปฏิวัติของชาวอเมริกัน ในคริสต์ศตวรรษที่ 18
ชาวอังกฤษได้ตั้งถิ่นฐานเป็นอาณานิคมตามบริเวณชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกอย่างมั่นคง
แต่รัฐบาลอังกฤษปกครองอาณานิคมอย่างเอาเปรียบ เช่น บังคับให้ต้องจ่ายภาษี
ทำให้ชาวอาณานิคมเรียกร้องขอให้มีผู้แทนของตนในรัฐสภาอังกฤษ
แต่รัฐบาลอังกฤษกลับไม่ยินยอมและได้ออกกฎหมายบีบคั้นชาวอาณานิคมอีกหลายฉบับ
ในที่สุด ชาวอาณานิคมจึงทำสงครามประกาศเอกราชจากอังกฤษ เรียกว่า การปฏิวัติของชาวอเมริกัน (ค.ศ. 1776-1781) เมื่อได้รับชัยชนะจึงประกาศเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา - รูปแบบการปกครองของสหรัฐอเมริกาภายหลังได้รับเอกราช
เป็นการปกครองแบบสหพันธ์สาธารณรัฐ (Federal Republic) ประกอบด้วยมลรัฐ 13
มลรัฐมารวมกัน มีประธานาธิบดีเป็นประมุข
และมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ มีผลบังคับใช้ในปี ค.ศ. 1791
เป็นต้นไป
- การดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาในระยะเริ่มแรก คือ
แยกตัวอยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองของยุโรป ต่อมาในปี ค.ศ. 1823
ได้ประกาศ หลักการมอนโร (Monroe Doctrin)
โดยห้ามมิให้ประเทศในยุโรปเข้ามายุ่งเกี่ยวหรือแสวงหาผลประโยชน์ใดๆ
ในทวีปอเมริกา
- สงครามกลางเมือง (ค.ศ. 1861-1865)
เป็นสงครามระหว่างมลรัฐฝ่ายเหนือกับมลรัฐฝ่ายใต้
โดยมีสาเหตุเกิดจากการประกาศเลิกทาสของรัฐบาลประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น
(Abraham Lincoln) ซึ่งชาวอเมริกันทางใต้ไม่เห็นด้วย
เพราะจำเป็นต้องใช้แรงงานทาสในไร่ฝ้ายและยาสูบ
สมรภูมิของสงครามเกิดในมลรัฐทางใต้และสิ้นสุดลงด้วยความปราชัยของชาวอเมริกันทางใต้
เป็นผลให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในปี ค.ศ. 1865 ให้เลิกทาสทั่วประเทศ
รวมทั้งเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของภาคใต้
จากเดิมที่เคยทำไร่ในพื้นที่ขนาดใหญ่ต้องเปลี่ยนมาทำฟาร์มขนาดเล็กแทน
- การบุกเบิกดินแดนตะวันตก ภายหลังสิ้นสุดสงครามกลางเมือง
สหรัฐอเมริกาเริ่มพัฒนาความเจริญและขยายการผลิตของประเทศ
ทั้งในด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม มีการบุกเบิกพื้นที่ใหม่ๆ
ไปยังดินแดนตะวันตกของทวีป โดยเฉพาะบริเวณที่ราบเกรตเพลน (Great Plain)
ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุและป่าไม้
- สหรัฐอเมริกาก้าวสู่ความเป็นชาติมหาอำนาจ ในตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่มั่งคั่ง ขยายตลาดการค้าไปทั่วโลก และพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว สหรัฐฯ จึงเริ่มสร้างความสัมพันธ์กับประเทศในยุโรป มีบทบาทในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจการค้าของคนอเมริกัน และกลายเป็นชาติมหาอำนาจของโลกในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา
บทบาทของสหรัฐอเมริกาในสงครามโลก ครั้งที่ 1 และสงครามโลก ครั้งที่ 2
สงครามโลก ครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1914-1918) สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงครามในปี
ค.ศ. 1917 และมีบทบาทช่วยให้สงครามยุติลงโดยเร็ว เมื่อประธานาธิบดี วูดโร วิลสัน
(Woodrow Wilson) ได้ประกาศนโยบาย 14 ข้อ เป็นหลักในการยุติสงคราม
และเสนอให้จัดตั้ง องค์การสันนิบาตชาติ เพื่อรักษาสันติภาพของโลก
สงครามโลก ครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1936-1945) สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงครามในปี
ค.ศ. 1941
เพื่อช่วยเหลือประเทศพันธมิตรต่อต้านลัทธิเผด็จการทางทหารของเยอรมนีและญี่ปุ่น
เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง องค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อรักษาสันติภาพของโลก
ในช่วงตอนปลายของสงคราม สหรัฐฯ ได้ใช้ระเบิดปรมาณูทำให้ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายปราชัย
และสงครามโลก ครั้งที่ 2 จึงยุติลงในที่สุด