ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>
นิทานเปรียบเทียบ
โดยทั่วไป
คนเราเชื่อว่าการรับรู้ที่เกิดจากประสาทสัมผัสหรือจิตเป็นบ่อเกิดของความรู้
ภาพที่เราเห็น เสียงที่เราได้ยิน เป็นของจริงแท้โดยไม่ต้องสงสัย คำสอนของ
เพลโต้จึงอาจสวนทางกับความเชื่อของคนทั่วไปในสมัยกรีกโบราณ
เพื่ออธิบายทฤษฎีความรู้ของเพลโต้ให้แจ่มชัด เพลโต้จึงผูกนิทานเรื่อง "ถ้า" (The
Cave) ขึ้น นิทานเรื่องนี้มีอยู่ว่า
คนหลายคนถูกกักขังอยู่ภายในถ้ำแห่งหนึ่งมาตั้งแต่วัยเด็ก
พวกเขาถูกบังคับให้นั่งหันหน้าเข้าหาผนังถ้ำด้านในสุด ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับปากถ้ำ
คนเหล่านั้นนั่งหันหลังให้กับปากถ้าตลอดเวลา
พวกเขาต้องนั่งเป็นรูปปั้นเพราะถูกล่ามโซ่ที่ขาและใส่ขื่อคาที่คอ
จึงไม่สามารถแม้จะเหลียวมองเพื่อนนักโทษที่นั่งอยู่ข้าง ๆ
พวกเขานั่งประจันหน้าผนังถ้ำเหมือนผู้ชมหันหน้าเข้าหาจอภาพยนตร์
บริเวณด้านหลังนักโทษเหล่านั้น
มียกพื้นลาดสูงขึ้นไปจนถึงปากถ้ำที่มีแสงสว่างจากโลกภายนอกสาดเข้ามารำไร
ใกล้กับปากถ้ำมีกองไฟลุกโชนอยู่ แสงไฟแผ่ออกไปจับที่ผนังถ้าด้านหน้านักโทษ
และในบริเวณระหว่างด้านหลังนักโทษกับกองไฟ มีคนอีกกลุ่มหนึ่งเดินไปมาขวักไขว่
ในมือคนเหล่านั้นมีภาชนะรูปปั้นและหุ่นจำลองของสัตว์ต่าง ๆ
เงาของคนที่เดินและสิ่งของในมือที่ไปทาบอยู่ที่ผนังถ้ำด้านหน้านักโทษทั้งหลาย
พวกนักโทษเห็นเพียงเงาที่ผนังถ้ำ แต่ไม่อาจเหลียวมองดูที่มาของเงา
เนื่องจากนักโทษเห็นเงาเหล่านั้นมาตั้งแต่วัยเด็ก
พวกเขาจึงไม่ได้คิดว่าภาพที่เห็นเป็นแค่เงา
พวกเขาถือว่าสิ่งที่เห็นเป็นจริงในตัวเอง และเมื่อคนที่เดินอยู่ด้านหลังพูดคุยกัน
นักโทษก็คิดว่าเป็นเสียงที่เปล่งออกมาจากภาพที่ผนังถ้ำ
ถ้านักโทษคนหนึ่งถูกปลดปล่อยจากพันธนาการ เขาสามารถหันกลับไปด้านหลัง
และมองเห็นกลุ่มคนอันเป็นที่มาของเงาบนผนังถ้ำ เขาประหลาดใจมากที่พบว่า
คนเหล่านั้นกับเงาที่ผนังถ้ำเคลื่อนไหวไปมาพร้อมกัน เขาจะสรุปตามความเคยชินว่า
สิ่งที่เขาค้นพบใหม่เป็นภาพลวงตา สิ่งที่ปรากฏอยู่บนผนังถ้ำต่างหากที่เป็นของจริง
ต่อเมื่อคนอื่นมาอธิบายชี้แจงจึงเข้าใจว่า
ตัวเองได้หลงผิดอยู่นานที่เคยเชื่อว่าเงาบนผนังถ้าคือของจริง
เขาเดินออกจากถ้ำไปสู่โลกภายนอก ได้เห็นคน สัตว์ สิ่งของ และพระอาทิตย์
เขาได้รู้จักโลกดีกว่าแต่ก่อน แล้วหวนนึกถึงเพื่อนนักโทษผู้ยังติดอยู่ในถ้ำ
เขาจึงกลับเข้าถ้ำไปหาคนเหล่านั้น
แล้วพยายามชี้แจงแก่พวกชาวถ้ำว่าภาพที่พวกเขากำลังเห็นอยู่บนผนังถ้ำเป็นเพียงเงา
จึงไม่ใช่ของจริงอย่างที่เขาเชื่อกันในสังคมชาวถ้ำ
แต่เพื่อนนักโทษจะไม่ฟังคำพูดของเขา
แล้วเพื่อนนักโทษกลับชี้ไปยังผนังถ้ำและบอกว่าสิ่งที่พวกเขาเห็นบนผนังถ้ำทั้งหมดเป็นความจริง
ทั้งยังคิดว่าเขาเสียสติไปแล้ว ท้ายที่สุดนักโทษเหล่านั้นก็ฆ่าเขา
นิทานของเพลโต้เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
คนส่วนมากก็เหมือนชาวถ้ำที่หลงนิยมชมชื่นอยู่กับ "เงา"
วัสดุสิ่งของที่เราพบเห็นอยู่ในชีวิตประจำวันเป็นเพียงสิ่งจำลองมาจากของจริงต้นฉบับ
สิ่งที่เป็นแม่แบบหรือต้นฉบับนั้นได้แก่ "แบบ" (Forms) หรือ "มโนภาพ" (Ideas)
จากนิทานที่เล่ามา เงามีความเป็นจริงน้อยกว่าของจริงเบื้องหลังนักโทษฉันใด
สิ่งเฉพาะที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวันมีความเป็นจริงน้อยกว่าแบบหรือมโนภาพฉันนั้น
ทั้งนี้เพราะสิ่งเฉพาะเป็นสิ่งจำลองของมโนภาพ
การรับรู้ที่เกิดจากประสาทสัมผัสหรือจิต
ซึ่งเป็นกระบวนการรับรู้โดยตรงที่ไม่ผ่านกระบวนการคิด (สัญชาน) นั้น
ให้เพียงแต่ความรู้เกี่ยวกับ สิ่งเฉพาะแต่ไม่ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับมโนภาพแก่เรา
อภิปรัชญาของเพลโต้
นิทานเปรียบเทียบ