สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

การทุ่มตลาดทางสังคม

(Social dumping)

ศิรยา เลาหเพียงศักดิ์

การทุ่มตลาดทางสังคม (Social dumping) เป็นศัพท์ที่มีความหมายลื่นไหล เดิมหมายถึง การขายสินค้าราคาถูก อันเป็นผลจากการใช้แรงงานนักโทษและแรงงานเด็ก ต่อมาขยายความรวมไปถึงการว่าจ้างแรงงานที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานแรงงานสากล อันเป็นเหตุให้ประเทศผู้ส่งออกสามารถส่งสินค้าออกได้ในราคาต่ำว่าราคาตลาด

“แรงงานราคาถูก” มิได้หมายความเฉพาะค่าจ้างแรงงานที่ได้รับในรูปตัวเงินซึ่งต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละประเทศเท่านั้น แต่รวมถึงผลประโยชน์และสวัสดิการต่างๆ ที่แรงงานควรได้ อาทิ ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนบุตร วันลาพักร้อน วันลาคลอด เป็นต้น

องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization: ILO) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2462 (ค.ศ.1919) เป็นองค์กรระหว่างประเทศองค์กรแรกที่ให้ความสำคัญกับมาตรฐานแรงงานอย่างจริงจัง ILO ออกหลักการ 3 ประการเพื่อสร้างมาตรฐานแรงงานสากลให้ภาคีสมาชิกของ ILO ปฏิบัติตาม คือ

  • Freedom of association and collective bargaining
  • Prevention of child and forced labors
  • Outlawing of discrimination

เมื่อมีการพยายามก่อตั้งองค์การการค้าระหว่างประเทศ (ITO) ขึ้นในปี พ.ศ.2490 (ค.ศ.1947) ได้มีการบรรจุเรื่องมาตรฐานแรงงานเข้าใน Havana Charter โดยแสวงหามาตรการในการแก้ไขปัญหาการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม และมีการกล่าวถึงการทุ่มตลาดทางสังคมในการประชุมครั้งนั้นด้วย ทว่าการก่อตั้ง ITO นั้นไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากสหรัฐฯ มิได้ให้สัตยาบันกฎบัตรฮาวานา



เมื่อมีการร่างความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้าขึ้นในปี พ.ศ.2490 (ค.ศ.1947) หรือที่เรียกว่า “GATT 1947” นั้น ไม่ได้บรรจุประเด็นเรื่องมาตรฐานแรงงานไว้เลย ยกเว้นในข้อ XX(e) ของ GATT 1947 ซึ่งอนุญาตให้ภาคีสมาชิกของแกตต์เลือกปฏิบัติต่อภาคีสมาชิกอื่นที่ใช้แรงงานนักโทษในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกได้ (กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์: 786) และข้อ XXIII ของการทุ่มตลาดซึ่งถือว่าการใช้มาตรฐานแรงงานที่ต่ำเกินไปในการผลิตสินค้าถือเป็นการทุ่มตลาดประเภทหนึ่งที่เรียกว่า “การทุ่มตลาดทางสังคม” (Social Dumping) (Global Trade Negotiation: 1)

อย่างไรก็ตาม การที่ภาคีสมาชิกทั้งหมดของ WTO มิได้เป็นภาคีสมาชิกของ ILO ด้วย ทำให้เกิดการเหลื่อมล้ำต่อการปฏิบัติตัวของผู้ประกอบการต่อแรงงาน จึงทำให้เกิดความแตกต่างในด้านต้นทุนการผลิต กล่าวคือ หากมีการปฏิบัติตามกฎกติกาอย่างเคร่งครัด ภาคีสมาชิกของทั้ง WTO และ ITO จะมีต้นทุนทางด้านแรงงานโดยเฉลี่ยสูงกว่าต้นทุนทางด้านแรงงานของภาคีสมาชิกของ WTO เพียงอย่างเดียว เนื่องจากกฎข้อบังคับเรื่องมาตรฐานแรงงานของ ITO นั้นเข้มงวดกว่าข้อบังคับของ WTO ในเรื่องมาตรฐานแรงงาน

ในช่วงหลังจากการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบอุรุกวัย (Post-Uruguay Round) ประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐฯ และประเทศในทวีปยุโรปพยายามผลักดันให้มีการเพิ่มมาตรฐานแรงงานและสภาพแวดล้อมไว้ในกฎกติกาของ WTO โดยอ้างว่า การกระทำดังกล่าวจะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชากรโลกดีขึ้น ทว่าประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่กลับเห็นว่า ความพยายามดังกล่าวเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาที่มีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบทางเศรษฐกิจจากการใช้แรงงานราคาถูก

อย่างไรก็ตาม ความพยายามของประเทศที่พัฒนาแล้วในการบรรจุมาตรฐานแรงงานไว้ในกฎกติกาของ WTO ยังไม่ประสบความสำเร็จ เห็นได้จากการที่ไม่มีการบรรจุวาระเรื่องมาตรฐานแรงงานเข้าในการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาที่เริ่มขึ้นในปี พ.ศ.2544 (ค.ศ.2001)

ในขณะนี้ การค้าระหว่างประเทศภายใต้องค์การการค้าโลกไม่มีมาตรการใดในการขจัดการทุ่มตลาดทางสังคม นอกเสียจากจะเป็นการทุ่มตลาดทางสังคมที่ใช้แรงงานนักโทษในการผลิตสินค้า ซึ่งภาคีสมาชิกผู้นำเข้าสามารถใช้ข้อ XX ของ GATT 1947 ในการตอบโต้ภาคีสมาชิกผู้ส่งออกได้

บรรณานุกรม

  • Goode, Walter, 2003, Dictionary of Trade Policy Terms, U.K., Cambridge University Press, 4th ed.
  • Global Trade Negotiations, December 2002, Labor Summary, //www.cid.harvard.edu/cidtrade/issues/labor.html
  • Golub, Stephen S., Finance and Development, December 1997, Are International Labor Standards Needed to Prevent Social Dumping?, www.worldbank.org/fandd/English/1297/articles/041297.htm
  • Sinn, Hans-Werner, National Bureau of Economic Research, 2001, Social Dumping in the Transformation Process?, //www.nber.org/papers/w8364
  • กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์, 2537, คำแปลกรรมสารสุดท้าย รวบรวมผลการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบอุรุกวัย

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย