ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

ศาสนาพุทธในทิเบต

พิธีกรรมและเทศกาลของศาสนาพุทธในทิเบต
พุทธศาสนสถานสำคัญในทิเบต

พิธีกรรมและเทศกาลของศาสนาพุทธในทิเบต

พิธีกรรมของชาวพุทธในทิเบตนั้นสามารถพบเห็นได้แทบทุกที่ของประเทศทิเบต ไม่ว่าพระสงฆ์หรือฆราวาสต่างต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาทั้งนั้น และไม่ว่าจะเป็นงานมงคลสำคัญหรือปกติธรรมเพียงใด พิธีกรรมก็มีส่วนสำคัญต่อชาวทิเบตเป็นอย่างยิ่ง

หากท่านได้มีโอกาสไปเยี่ยมหรือนอนค้างในวัดทิเบต ในวันนั้นทั้งวันท่านจะได้ยินแต่เสียงสวดมนต์และอุปกรณ์ดนตรีที่ต้องใช้ประกอบในงานพิธี เช่น ทรัมเป็ด, ฆ้อง, กลอง และฉาบ หรือหากวันใดท่านมีโอกาสเดินไปตามซอกซอยของหมู่บ้านในยามเช้า ท่านจะพบว่าชาวทิเบตได้เริ่มประกอบพิธีแต่เช้าโดยการจุดไฟเผา Juniper Twigs (ไม้พุ่มประเภทหนึ่งที่นำมาจุดเพื่อให้มีกลิ่นหอม) ตามชายคาของบ้าน บางคนก็ประกอบพิธีด้วยการทำความสะอาดบ้านเรือน บางบ้านก็จะทำพิธีถวายอาหารแก่เหล่าเทวดา ตลอดวันทั้งวันฆราวาสก็จะวุ่นอยู่กับการทำพิธีถวายอาหาร ดอกไม้ธูปเทียน หรือไม่ก็ถวายเงินแก่คณะสงฆ์เพื่อทำนุบำรุงศาสนสถาน ก่อนที่ชาวทิเบตจะทานอาหารในแต่ละมื้อ พระสงฆ์และภิกษุณี (แม่ชี) พร้อมด้วยเหล่าฆราวาสต่างก็ท่องบทสวดมนต์เพื่อเป็นการถวายอาหารมือนั้นให้กับพระรัตนตรัยคือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีชาวทิเบตจำนวนไม่น้อยที่ต้องพกพาสิ่งที่เรียกว่า “มาลาส” หรือประคำติดตัวในเวลาที่ต้องเดินทางไปไหนต่อไหน บ้างก็ทำเสียงพึมพำด้วยการสวดมนต์เบาๆ ขณะที่ก้าวย่างไปเรื่อยพร้อมกับมือที่ต้องนับลูกประคำไปด้วยในตัว

ในแต่ละเดือน จะต้องมีอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 7 วัน ที่ชาวทิเบตจะต้องจัดงานพิธีกรรมที่พิเศษเฉพาะขึ้นมา ชาวทิเบตเชื่อว่า ในช่วงของวันพิธีกรรมที่สำคัญอย่างนี้ ไม่ว่าจะสร้างกรรมดีหรือกรรมร้าย ผลของกรรมย่อมจะให้ผลอย่างอนันต์และอย่างมหันต์ ทุกๆวันพุธ ชาวทิเบตเชื่อว่าเป็นวันมงคลที่ต้องประกอบพิธี เพราะเชื่อว่าวันพุธคือวันประสูติขององค์ทะไลลามะ ในวันที่พระจันทร์เต็มดวงพระสงฆ์ก็จะร่วมกันสวดมนต์ให้พิเศษกว่าวันอื่นๆ และในวันประกอบพิธีสารภาพก็เช่นเดียวกัน คือจะมีการสวดมนต์ชนิดพิสดารกว่าปกติ ส่วนชาวบ้านก็จะประกอบพิธีพร้อมกับการรักษาศีลแปดติดต่อกันสองวัน



ตามกำหนดปฏิทินจันทรคติรายปีของชาวทิเบต จะเต็มไปด้วยเทศกาลของพิธีกรรมประจำปี ซึ่งเป็นประเพณีที่พระสงฆ์และฆราวาสแยกกันจัดพิธี พระก็จะทำพิธีกันในวัด ส่วนฆราวาสก็จัดพิธีกันเองตามบ้านเรือนของตน การเฉลิมฉลองเทศกาลขึ้นปีใหม่ของชาวทิเบตนั้น จุดเด่นของงานขึ้นปีใหม่ก็คือ การเต้นรำและการสวดมนต์ และมีการประกอบพิธีเพื่อระลึกถึงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของพระพุทธองค์ในวันขึ้น 15 ค่ำด้วย ในแต่ละปีจะมีพิธีกรรมหลายอย่างที่มีพระสงฆ์จำนวนมหาศาลเข้าร่วมประกอบพิธีด้วย ระหว่างเดือนที่สี่เดือนศักดิ์สิทธิ์ (ซากาดาวา) ตามปฏิทินของทิเบต จะมีการประกอบพิธีเพื่อเป็นการรำลึกถึงวันประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพานของพระพุทธองค์

ในทิเบตมีพิธีเฉลิมฉลองมากมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของพระพุทธเจ้าและของพระสงฆ์อันเป็นที่เคารพยิ่งของชาวทิเบต ในโอกาสพิธีเช่นนี้ การสวด บทสวดที่ใช้สวด สิ่งที่ต้องใช้ประกอบพิธี เช่น อาหาร ดอกไม้ และเครื่องอุปกรณ์ดนตรีย่อมจะพิเศษกว่าพิธีทั่วไป หากสังเกตตามปฏิทินย่อมพบว่า มีพิธีพื้นบ้านมากมายที่ชาวทิเบตจะต้องปฏิบัติ เช่น พิธีเพาะปลุก พิธีเก็บเกี่ยว พิธีขอให้เกิดความสวัสดิผลและปลอดภัยแก่ไร่นาและสัตว์เลี้ยง และการขอให้เกิดฝนฟ้าอากาศดีต่อพืชพันธุ์ ปัจจุบันนี้จะพบว่าดินแดนของชาวทิเบตได้ประสบกับทุกข์ยาก ชาวพุทธทิเบตก็เริ่มมีการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมของโลกสมัยใหม่ ซึ่งเราจะพบได้จากการเผยแผ่พิธีกรรมของตนตามอินเตอร์เน็ตหรือวีดีโอคลิป นอกจากนี้ เราสามารถหาซื้อเสียงซีดีสวดมนต์ของชาวทิเบตได้แทบทุกแห่งหนของโลก

การสังเกตการณ์พิธีกรรมของชาวทิเบต ย่อมไม่สามารถเข้าใจความหมายที่แท้จริงของพิธีได้ แต่ทุกพิธีล้วนจัดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ให้เกิดอานิสงส์ผลบุญ นำมาซึ่งความโชคดี และการได้มาซึ่งสิ่งที่ดีงามต่างๆ ผลที่ว่านี้ย่อมหมายความรวมถึงผลบุญที่เป็นโลกียะ (ความสุขทางโลก) และโลกุตระ (ความสุขทางธรรม) ด้วย หากมองประโยชน์ที่สามารถมองเห็นได้ คือพิธีช่วยให้เกิดความกลมเกลียวต่อชุมชน ผลสำเร็จบางประการที่จะเกิดแค่แต่ละคน แต่เป้าหมายขั้นสูงส่งของการประกอบพิธีคือการให้ได้มาซึ่งสภาวะใหม่ที่ดีกว่าของจิตใจ เป็นจิตที่ปราศจากกิเลสตัณหาอันเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ แม้จะเป็นที่ยอมรับกันว่า การฝึกสมาธิเท่านั้นที่จะช่วยให้เกิดอานิสงส์อย่างยิ่งต่อจิตและขจัดสิ่งไม่ดีงามออกจากจิตได้ แต่รูปแบบอื่นของการสร้างสิ่งดีงามให้แก่ชีวิตมีอยู่มาก เช่นการฝึกให้ทาน ก็นับว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งของการเข้าถึงคำสอน

อาจารย์ชาวพุทธทิเบตล้วนกล่าวว่า การสั่งสมบุญที่จะนำผู้ปฏิบัติไปสู่การรู้แจ้งได้นั้น คนผู้นั้นต้องมุ่งมั่นให้กระจ่างแจ้งในหลักการเกิดและดับของตัวตน (อัตตา) และการเกิดดับของปรากฏการณ์ต่าง ๆ (ปฏิจจสมุปบาท) ในความเป็นจริงขั้นปรมัตถ์ (ความจริงขั้นสูงสุด) แล้ว ทำให้เราเข้าใจว่า ตัวผู้ทำบุญไม่มี การทำบุญก็ไม่มี ผลของการทำบุญก็ย่อมไม่มี แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แม้ความจริงทุกสิ่งทุกอย่างล้วนว่างเปล่า การทำบุญก็ยังนับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่มีความจำเป็น เพราะเป็นปัจจัยและเป็นขั้นบันไดนำพาผู้ปฏิบัติไปสู่ภพและภาวะที่ดีกว่าเดิม สิ่งสำคัญในการประกอบพิธีนั้นไม่ได้อยู่ที่ว่า พิธีกรรมมีกระบวนการขั้นตอนอย่างไร แต่อยู่ที่ทัศนคติหรือสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นถูก) ที่เกิดขึ้นในจิตของเราเอง

แหล่งข้อมูล : เรียบเรียงโดย Zoran Lazovic และ Jampa Sengmo แปลเป็นภาษาไทยโดย อ.หอม พรมอ่อน

พิธีสวดมนต์
พิธีพระศรีอาริยเมตตรัย
พิธีมหาบูชา
พิธีวิสาขบูชา
วันประสูติของทะไลลามะ
พิธีฉลองธรรมจักร
พิธีเข้าพรรษา
พิธีฉลองการเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดุสิตพระพุทธเจ้า
กานเด็นงาชอด
พิธีศพ
งานขึ้นปีใหม่

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย