ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>

แนวคิดและทฤษฎีทางสังคม

ทฤษฎีโครงสร้าง – หน้าที่ (Structural – Functional Theory)
ทฤษฎีการขัดแย้ง (Conflict Theory)
ทฤษฎีปริวรรตนิยม (Exchange Theory)
ทฤษฎีการกระทำระหว่างกันด้วยสัญลักษณ์ (Symbolic Interactionism)
ทฤษฎีปรากฎการณ์นิยม (Phenomenology)
สังคมวิทยากับการศึกษา (Sociology of Education)

ทฤษฎีโครงสร้าง – หน้าที่
(Structural – Functional Theory)

ความคิดระบบสังคมของพาร์สัน

เนื่องจากจุดสนใจของพาร์สันอยู่ที่ระบบสังคม ดังนั้นเขาจึงสนใจเรื่องบูรณาการในระบบสังคม และระหว่างระบบสังคมกับระบบวัฒนธรรมและระบบบุคคล ตามความคิดของเขา บูรณาการของระบบสังคมจะเกิดขึ้นได้ขึ้นอยู่กับความต้องการจำเป็นเชิงหน้าที่ (Functional Requisite) คือ

1. ระบบสังคมจะต้องมีคนหนึ่ง ซึ่งเพียงพอที่จะแสดงบทบาทต่างๆที่ระบบต้องการ

2. ระบบสังคมจะต้องพยายามหลีกเลี่ยงแบบแผนวัฒนธรรม ที่ทั้งไม่รักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย และกำหนดบังคับให้คนต้องกระทำการอันเป็นไปไม่ได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการเบี่ยงเบนและการขัดแย้งขึ้น

หลังจากนั้นพาร์สันได้สร้างกรอบความคิดกับความต่อเนื่องสัมพันธ์กันของระบบสังคม คือ สังกัปเรื่องกลายเป็นสถาบัน ซึ่งหมายถึง แบบแผนที่ค่อนข้างถาวรของการกระทำระหว่างกันของบุคคลในสถานภาพต่างๆ แบบแผนเหล่านั้นอยู่ในกรอบของวัฒนธรรม การยึดค่านิยมของคนเกิดขึ้นได้สองทาง คือ บรรทัดฐานทางสังคมที่บังคับพฤติกรรมจะสะท้อนค่านิยมทั่วไปและระบบความเชื่อของวัฒนธรรม ส่วนค่านิยมและแบบแผนอื่นๆอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งในระบบบุคคล ซึ่งย่อมจะก่อผลกระทบหรือสนองต่อความต้องการจำเป็นของระบบ ซึ่งเป็นตัวกำหนดความยินดีเต็มใจในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลในระบบสังคมอีกทอดหนึ่ง

สำหรับพาร์สัน การกลายเป็นสถาบันเป็นทั้งกระบวนการและโครงสร้าง กระบวนการกลายเป็นสถาบันมีขั้นตอนง่ายๆดังนี้

  1. ผู้กระทำซึ่งมีภูมิหลังต่างกัน เข้าสู่ความสัมพันธ์ทางสังคม
  2. สิ่งที่ผู้กระทำได้รับการขัดเกลามาก่อน เป็นผลจากความต้องการ การจำเป็นและวิธีการมีความต้องการจำเป็นเหล่านี้จะได้รับการตอบสนอง ตอบด้วยการรับเอาแบบแผนวัฒนธรรม
  3. โดยผ่านกระบวนการกระทำระหว่างกันนี่เอง บรรทัดฐานทางสังคมจะก่อรูปขึ้น เมื่อผู้กระทำปรับการขัดเกลาที่ได้รับมาก่อนเข้าหากัน
  4. บรรทัดฐานเหล่านั้นเกิดเป็นแนวทางปรับการขัดเกลาเข้าหากันของผู้กระทำแต่ขณะเดียวกัน ก็ถูกหล่อหลอมโดยวัฒนธรรม
  5. บรรทัดฐานเหล่านี้จะทำหน้าที่ควบคุมการกระทำระหว่างกัน อันจะทำให้เกิดเสถียรภาพขึ้น

การกลายเป็นสถาบันเกิดขึ้นได้ตามขั้นตอนที่กล่าวมานี้ แต่ทำนองเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงและการบำรุงรักษาสถาบันก็อาศัยขั้นตอนเหล่านี้ด้วย

เมื่อการกระทำระหว่างกันกลายเป็นสถาบันขึ้นมาแล้ว ระบบสังคมก็เกิดขึ้น ระบบสังคมนี้อาจไม่ได้หมายถึง สังคมทั้งสังคมตามความคิดของพาร์สัน แต่อาจหมายถึง องค์การสังคมขนาดใดก็ได้ ไม่ว่าขนาดเล็กหรือใหญ่ เวลาพาร์สันจะพูดถึงระบบสังคมที่หมายถึงระบบสังคมมนุษย์ระบบสังคมเล็กเขาจะใช้ระบบสังคมย่อย (Subsytem)

สรุปได้ว่า การกลายเป็นสถาบันเป็นกระบวนการที่ทำให้โครงสร้างสังคมเกิดขึ้นและดำรงอยู่ กลุ่มบทบาทที่กลายเป็นสถาบัน แล้วรวมกันเข้าเป็นระบบสังคม (พูดอีกอย่างในระบบสังคม คือ การกระทำระหว่างกันที่เป็นแบบแผนและมั่นคง) เมื่อระบบสังคมใดเป็นระบบใหญ่มีสถาบันหลายอย่างผสมผสานกันอยู่ แต่ละสถาบันนั้นจะได้ชื่อว่าระบบย่อย สังคมมนุษย์ คือ ระบบใหญ่ที่ประกอบด้วยสถาบันที่สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันหลายสถาบัน เวลาใดก็ตามที่จะวิเคราะห์ระบบสังคม จะต้องคำนึงเสมอว่าระบบสังคมอยู่ในกรอบของวัฒนธรรมและสัมพันธ์กับระบบบุคคล

ในช่วงที่พัฒนาความคิดเรื่องระบบสังคม พาร์สันได้สร้างสิ่งที่เรียกว่า Pattern Variables ขึ้น ซึ่งเป็นระบบสังกัป แสดงคุณลักษณะของระบบสังคมต่างๆ ระบบสังกัปชุดนี้ สามารถใช้จำแนกประเภทแบบของแผนภูมิ (Modes of Orientafion) ในระบบบุคคล ระบบค่านิยมของวัฒนธรรมต่างๆ และความคาดหมายเชิงบรรทัดฐานของระบบสังคมได้ สังกัปชุดนี้สร้างขึ้นมาโดยมีตัวแปรเป็นคู่ที่มีลักษณะตรงกันข้าม เวลาวิเคราะห์อาจนำไปใช้จำแนกแนวการตัดสินใจของผู้กระทำ ระบบค่านิยม หรือความคาดหมายตามบทบาทก็ได้ ดังนี้

  1. Afectivity-Affective Neutrality เกี่ยวกับปริมาณของอารมณ์หรือความพึงพอใจ ตามแต่สถานการณ์ที่ใช้ ควรแสดงอารมณ์หรือความรักมากหรือน้อย
  2. Diffuseness-Specificity แสดงถึงว่ากรณีนั้นๆควรมีความผูกพันในการกระทำระหว่างกันมากน้อยเพียงใด ความผูกพันควรแคบและเจาะจงหรือความผูกพันควรกว้างขวางไร้ขอบเขต
  3. Universalism-Particularism เป็นตัวแปรที่กล่าวถึงหลักการประเมินค่าการกระทำของผู้อื่นในการกระทำระหว่างกันว่า ควรใช้หลักการวัดค่าสากลอันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป หรือจะใช้หลักจิตวิสัยเฉพาะกรณี
  4. Achievement-Ascription เกี่ยวกับการประเมินผู้อื่นว่าควรประเมินจากผลงานเป็นหลักหรือดูจากเชื้อสายเป็นหลัก เช่น จากเพศ อายุ เชื้อสาย หรือสถานภาพทางครอบครัว
  5. Self-Collectivity แสดงถึงว่าการกระทำนั้นควรมุ่งประโยชน์ส่วนรวม หรือประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก

พาร์สันถือว่าสังกัปเหล่านี้เป็นระบบค่านิยมที่ควบคุมบรรทัดฐานของระบบสังคมและควบคุมการตัดสินใจของระบบบุคคล ดังนั้น รูปของระบบ การกระทำแท้จริงสองระบบคือ บุคคลและสังคมเป็นภาพสะท้อน สองระบบค่านิยมในวัฒนธรรม ความสำคัญของระบบวัฒนธรรมในการควบคุมระบบการกระทำอื่นๆจะยิ่งชัดเจนขึ้นเมื่ออภิปรายงานชิ้นอื่นต่อมา

พาร์สันพยายามตอบปัญหาที่ว่า ระบบบุคคลผสมผสานเข้าไปในระบบสังคมได้อย่างไร ซึ่งจะทำให้เกิดดุลยภาพมีกลไกสองตัว คือ การขัดเกลาทางสังคมและการควบคุมทางสังคม ช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์ การขัดเกลาทางสังคมทำให้ระบบบุคคลมีโครงสร้างที่เหมาะเจาะกับระบบสังคม การควบคุมทางสังคม ทำให้ลดบทบาทตามสถานภาพได้รับการจัดระเบียบในระบบสังคม เพื่อลดความตึงเครียดและการเบี่ยงเบน กลไกสำคัญสองอย่างช่วยแก้ปัญหาของระบบสังคมได้ คือ ปัญหาเรื่องเสถียรภาพหรือบูรณาการ ยอมรับว่ากลไกนี้อาจล้มเหลวซึ่งอาจนำไปสู่การเบี่ยงเบนและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมซึ่งก็เป็นสิ่งจำเป็น ทำให้เกิดบูรณาการและดุลยภาพในระบบสังคม



3. ความต้องการจำเป็นพื้นฐานของระบบ

พาร์สันเห็นว่า ระบบการกระทำมีความต้องการพื้นฐาน 4 ประการ คือ การปรับตัว การบรรลุเป้าหมาย บูรณาการหรือเสถียรภาพ และกฎระเบียบ การปรับตัวเป็นเรื่องของการแสวงหาสิ่งจำเป็นต่างๆจากสภาพแวดล้อม แล้วแจกจ่ายไปทั่วระบบ การบรรลุเป้าหมาย หมายถึง การกำหนดเป้าหมายใดเป็นเป้าหมายก่อนหลัง แล้วระดมทรัพยากรของระบบเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมาย บูรณาการ หมายถึง การประสานงานและการบำรุงรักษาความสัมพันธ์ระหว่างหน่อยต่างๆของระบบกฏระเบียบประกอบด้วยสองเรื่องใหญ่ๆ คือ การบำรุงรักษาระเบียบและการจัดการกับความตึงเครียด การบำรุงรักษาระเบียบเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีการ ทำให้ระบบสังคมมีลักษณะอันเหมาะสม การจัดการกับความตึงเครียด เกี่ยวข้องกับความตึงเครียดและแรงกดของลักษณะภายในระบบสังคม

พาร์สัน กำหนดให้ระบบสังคม 4 ระบบ ทำหน้าที่แก้ปัญหาหรือสนองความต้องการจำเป็น คือ ระบบวัฒนธรรมแก้ปัญหากฎระเบียบ ระบบสังคมแก้ปัญหาเสถียรภาพ ระบบบุคคลแก้ปัญหา การบรรลุเป้าหมาย และระบบอินทรีย์แก้ปัญหาการปรับตัว ความสัมพันธืระหว่างระบบก็จะถูกมองว่าเป็นเรื่องสัมพันธ์กับการแก้ปัญหา แต่ละระบบและระบบย่อยจะต้องมีหน้าที่แก้ปัญหาต่างๆเหล่านี้ด้วย ดังนั้นในการทำความเข้าใจหรือศึกษาระบบใดๆก็จำเป็นต้องศึกษาหรือทำความเข้าใจระบบหรือระบบย่อยอื่นประกอบด้วย จึงทำให้เกิดความเข้าใจดี เมื่อถึงจุดนี้เขาเชื่อว่าจะทำให้ระบบสังคมสังกัปสะท้อนความจริงทางสังคมหรือใกล้เคียงกับความเป็นจริง

4. ลำดับขั้นของข่าวสารในการควบคุม

พาร์สัน หันมาสนใจความสัมพันธ์ระหว่างระบบการกระทำ 4 ระบบ ซึ่งแต่ละระบบจะต้องแก้ไขปัญหาสำคัญ 4 ปัญหา ณ จุดนี้เองที่พาร์สันเริ่มพูดถึงระบบย่อย ระบบวัฒนธรรม ระบบสังคม ระบบบุคคล และระบบอินทรีย์ คือ ให้ระบบย่อยทำหน้าที่แก้ปัญหา 1 ใน 4 ปัญหาหลัก คือ ระบบวัฒนธรรมจะควบคุมข่าวสารของระบบสังคม สังคมควบคุมข่าวสารระหว่างบุคคล บุคคลควบคุมข่าวสารของระบบอินทรีย์ พาร์สันแนะว่าแต่ละระบบอาจถือเป็นแปล่งพลังงานให้กับระบบที่สูงขึ้นไป คือ ระบบอินทรีย์เป็นแหล่งพลังงานให้ระบบบุคคล บุคคลเป็นแปล่งพลังงานให้ ระบบสังคม ระบบสังคมเป็นแปล่งพลังงานให้ระบบวัฒนธรรมอีกทอดหนึ่ง เท่ากับว่าต่างระบบต่างควบคุมกัน กระบวนการนี้เรียกว่า Cybernetic hierarchy

5. สื่อกลางการปริวรรต (แลกเปลี่ยน)

พาร์สัน สนใจในเรื่องความสัมพันธ์ภายในแต่ละระบบ และระหว่างระบบให้ชื่อว่า สื่อสัญลักษณ์กลางในการปริวรรต Generalized Symbolice Media of Exchange ในกระบวนการแลกเปลี่ยนหรือปริวรรตระหว่างกัน มักจะต้องนำเอาสื่อกลางมาใช้ เช่น เงิน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ในการสื่อสารติดต่อ ในเชิงทฤษฎี คือ ตัวเชื่อมระหว่างระบบการกระทำ ในท้ายที่สุดก็คือข่าวสาร โดยข่าวสารมีตัวแทนเป็นสัญลักษณ์ คนเราจะต่อรองกันโดยใช้สัญลักษณ์เป็นสื่อ ความคิดนี้สอดคล้องกับเรื่องการควบคุมข่าวสารในการแลกเปลี่ยนที่กล่าวมาแล้ว การแลกเปลี่ยนข่าวสารระหว่างกันของระบบการกระทำต่างๆเป็นไปได้ 3 ทาง คือ ทางแรก การแลกเปลี่ยนระหว่างระบบ การกระทำโดยใช้สิ่งเป็นสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น อำนาจ อิทธิพล และความผูกพัน ทางสองการแลกเปลี่ยนภายใน ระบบใดระบบหนึ่งราคาของสื่อจะมีค่าเช่นเดียวกับที่ใช้กัน ระหว่างระบบนั่นเอง และทางสุดท้ายหน้าที่เฉพาะของแต่ละระบบจะเป็นตัวดกำหนดสื่อกลางที่จะใช้ในระบบหรือระหว่างระบบ

6. การเปลี่ยนแปลงสังคม

ความคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของพาร์สันต่อเนื่องกับความคิดเรื่อง ลำดับขั้นของการควบคุมข่าวสาร โดยในกระบวนความสัมพันธ์เกี่ยวกับข่าวสาร พลังงานระหว่างและภายในแต่ละระบบนี่เองจะเป็นแหล่งกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม แหล่งหนึ่งในกระบวนการดังกล่าว คือ การมีข่าวสาร-พลังงานมากเกินไป ซึ่งจะส่งผลให้มีข่าวสารหรือพลังงานเป็นผลออกของระบบมากเกินไป ซึ่งจะเป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมขึ้น อีกแหล่งหนึ่งคือ การมีข่าวสารหรือพลังงานน้อยเกินไป จะทำให้บรรทัดฐานขัดกันหรือเกิดการเสียระเบียบขึ้น ก็จะก่อผลกระทบต่อระบบบุคคลและระบบอินทรีย์ ดังนั้นระบบการควบคุมข่าวสารนั้นเป็นทั้งแหล่งที่จะทำให้เกิดความสมดุลและการเปลี่ยนแปลงได้ในตัว

เพื่อให้เกิดความคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น พาร์สันได้นำเอาแนวความคิดเรื่องวิวัฒนาการมาประกอบความคิดของเขาด้วย เกี่ยวกับเรื่องนี้เขาอาศัยแนวความคิดของเดิกไฮม์ และสเปนเซอร์นำมาผสมกับทฤษฎีการกระทำของตน ทำให้ได้ความจริงเกี่ยวกับวิวัฒนาการ 4 ประการ คือ

  1. วิวัฒนาการทำให้เกิดการจำแนกความแตกต่างระหว่างระบบทั้ง 4
  2. วิวัฒนาการทำให้เกิดการจำแนกความแตกต่างในแต่ละระบบ
  3. วิวัฒนาการทำให้เกิดความเร่งในเรื่องบูรณาการ เกิดหน่วยหรือโครงสร้างด้านบูรณาการใหม่
  4. วิวัฒนาการทำให้พิสัย สามารถในการดำรงอยู่ของแต่ละระบบมีมากขึ้นรวมทั้งของสังคมนุษย์ด้วย

ดังนั้นแนวความคิดหรือทฤษฎีเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของพาร์สันจึงเป็นการผสมผสานระหว่างความคิดเรื่องวิวัฒนาการและทฤษฎีการกระทำ โดยความสัมพันธ์ระหว่างระบบการกระทำเป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมขึ้น

หน้าที่นิยมและประเพณีความคิดทางมานุษยวิทยา
แนวความคิดโครงสร้าง-หน้าที่นิยม ของพาร์สัน
ความคิดระบบสังคมของพาร์สัน
แนวคิดโครงสร้าง-หน้าที่นิยมของเมอร์ตัน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย